เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ธีสิสคือของหวานThanaphon R.
Loading…30%
  • ผลงานเกมขนมที่แสนหวาน 
    กลับกลายเป็นยาขม
    เมื่อได้ลิ้มรสของธีสิส

    หลังจากได้ลงมือทำงานใน 5 สัปดาห์ที่ผ่านมาก็พบปัญหาและอุปสรรคมากมาย ทุกคนมักจะบอกว่า การทำอะไรก็ตามในช่วงแรกมักจะยากเสมอ จากที่ครูแนะนำให้ปรับแนวให้สามารถเข้าถึงได้ทุกเพศ งานก็เปลี่ยนไปจากขนมหวานเป็นยาขม เนื้อหาที่มีความรุนแรงและภาพชวนขนลุก กลุ่มเป้าหมายก็เพิ่มอายุเป็น 14 ปีขึ้นไป 


    แก่นหลักที่ไม่ได้มีแค่ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น แต่ยังแสดงถึงความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นความเหนื่อยล้าจากการต้องช่วยเหลือและรับฟังเรื่องราวความเจ็บปวดของผู้อื่นอยู่เสมอ ส่งผลกระทบเป็นบาดแผลทางจิตใจของผู้รับฟังเสียเอง จนเกิดเป็นความชินชาต่อความเจ็บปวดของผู้อื่น เพื่อเป็นการตระหนักถึงการช่วยเหลือผู้อื่นเป็นสิ่งที่ดีแต่ต้องไม่เดือดร้อนถึงตนเอง เพื่อที่จะไม่เป็นคนประเภทเอาอกเอาใจคนอื่น แต่ฝืนใจตัวเอง (People Pleaser)


    โครงเรื่อง

    เกมได้เล่าถึงเรื่องราวของเด็กหญิงผู้มาจากต่างโลกเดินทางมาสู่ดินแดนแห่งขนมหวาน เธอสูญเสียความทรงจำ แต่มีเพียงความปรารถนาสุดท้ายที่เธอต้องตามหาใครสักคนที่สำคัญต่อเธอ แล้วอยู่มาวันหนึ่งมีมอนสเตอร์แปลกประหลาดรุมทำร้าย ซูก้า ก้อนน้ำตาลหน้าจ๋อย เธอสามารถโค่นล้มเจ้ามอนสเตอร์ได้เขาจึงขอร่วมออกเดินทางไปกับเธอ ทำให้ชาวบ้านแต่งตั้งให้เธอเป็น “นักรบผู้กล้า” ช่วยปกป้องดินแดนขนมหวาน เธอต้องเผชิญเหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อรวบรวมของสิ่งของบางอย่าง ซึ่งอาจจะเป็นกุญแจนำไปสู่การไขคำตอบของเรื่องราวของโลกขนมหวาน รวมถึงตามหาความทรงจำที่หายไปของเธอ


    จักรวาลโลกขนมหวาน

    หลังจากที่ลองวางโครงเรื่องซึ่งแบ่งบทตามจำนวนเมืองจากเนื้อเรื่อง 7 บท 7 เมือง ขนาดงานที่ใหญ่เกินไป ทำให้ใช้เวลาเล่นนานและทำให้ผู้เล่นรู้สึกเบื่อได้ จึงปรับเนื้อเรื่องและลดขนาดเมืองลงเหลือ 3 บท 3 เมือง ได้ดังนี้

    **วาดแผนที่ผิด เมืองหิมะอยู่ทิศเหนือ เมืองคัพเค้กอยู่ทิศตะวันออก

    ปฐมบท การกำเนิดโลกขนมหวาน

    เป็นบทเกริ่นถึงที่มาของโลก ในครั้งอดีตกาลก่อนสิ่งมีชีวิตถือกำเนิดขึ้น มีเทพีผู้เมตตามาเยือนโลกอันว่างเปล่า เทพีจึงเนรมิตสรรพสิ่งจากส่วนผสมของเกล็ดน้ำตาล ครีมนม ฝักวานิลลา และผงแห่งชีวิต สร้างสรรค์เป็นผู้ปกครองเพื่อช่วยสานต่อเจตนารมณ์ที่จะสร้างโลกให้มีสีสัน สร้างอารยธรรม เนรมิตบ้านเมือง พัฒนาเรื่อยมาจนเป็นโลกเช่นปัจจุบัน

    บทที่ 1 งานฉลองของพระราชา 

    เป็นบทเกี่ยวกับพระราชาคัพเค้ก มาเจนต้า (Megenta) พระราชาผู้เอาแต่ใจและหลงตัวเอง เป็นผู้ปกครองดินแดนทางทิศตะวันตก มีสัตว์เลี้ยงคู่ใจคือ นกที่ร้องไพเราะที่สุดในโลก อ้างอิงจากนิทานจักรพรรดิกับนกไนติงเกล ของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน 

    บทนี้จะเกี่ยวกับความหลง เพราะความไม่รู้หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาณาจักรคัพเค้กเป็นอาณาแห่งความสุขและการสังสรรค์ มีการจัดงานเลี้ยงฉลองทุกเดือน ซึ่งอยู่มาวันหนึ่งพระราชาอยากจัดงานฉลองอย่างยิ่งใหญ่ เปิดตัวของขวัญเป็นกล่องดนตรีอัญมณีรูปนก(ไนติงเกล) เหมือนสัตว์เลี้ยงของพระราชา งานเลี้ยงดำเนินไปได้ด้วยดีจนกระทั่ง เมื่อโชว์อัญมณี อัญมณีกลายร่างเป็นปีศาจกินนกของพระราชา แล้วทั้งเมืองก็เกิดความวุ่นวาย


    บทที่ 2 อำพันสีน้ำผึ้ง

    เป็นบทเกี่ยวกับราชินีชีสเค้กน้ำผึ้ง เมดัลเลี่ยน (Medallion) ราชินีผู้หลงใหลเงินทองและความหรูหรา ผู้ปกครองทิศตะวันออก ดินแดนทะเลน้ำตาลทราย บทนี้จึงเกี่ยวกับความโลภ เมืองทะเลทราย นครแห่งการค้าขาย เหมืองแร่และทองคำ มีข่าวลือว่ามีอำพันสีน้ำผึ้งเป็นอัญมณีน้ำงาม มีค่าสุดใคร ๆ ต่างก็อยากได้มาครอบครอง จึงเป็นที่สนใจของพ่อค้าและนักพจญภัย แต่หารู้ไม่ว่าอัญมณีที่ล้ำค่าก็นำมาซึ่งหายนะและคำสาป 

    ของที่มีค่านำมาซึ่งบทลงโทษของสวรรค์
    หรืออาจจะไม่ใช่อัญมณีที่มีค่าอะไร แต่ผู้คนตีราคากันไปเอง

    โดยอ้างอิงจากนิทานอาลีบาบากับโจร 40 คน จากนิทานอาหรับราตรี ซึ่งเรื่องมีฉากบรรยากาศเมืองเป็นทางฝั่งตะวันออกกลาง จึงเลือกนิทานเรื่องนี้มาใช้ และเป็นนิทานที่เกี่ยวกับสมบัติ การขโมย และความโลภ

    บทที่ 3 หัวใจแห่งแดนเหนือ

    เป็นบทเกีี่ยวกับพระราชาไอศครีม ไซอัน (Cyan) พระราชาผู้สุขุมและเยือกเย็น เป็นผู้ปกครองทิศเหนือ ดินแดนเมืองหนาวหรือขั้วโลกเหนือ บทนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรัก รักทำให้จิตใจโน้มเอียง ไม่เป็นกลาง นำมาซึ่งความอิจฉาและริษยา พระราชาผู้เย็นชากับหลงรักนักเดินทางพเนจร หลังจากสูญเสียความรัก ยิ่งจมกับความรู้สึกเศร้า จนกลายเป็นคนไร้ความเมตตา สิ่งมีชีวิตถูกสาปให้กลายเป็นน้ำแข็ง ดินแดนเหมันต์จึงกลายเป็นพื้นที่แห่งความว่างเปล่า ไร้ซึ่งสิ่งมีชีวิต มีเพียงความหนาวอันเยือกเย็นจนถึงกระดูก

    อ้างอิงจากนิทานราชินีหิมะ ของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน และตำนานผีญี่ปุ่นเรื่องยูกิ ออนะ จึงเป็นความรักที่เดินทางฝ่าฟันอุปสรรค์เพื่อพิสูจน์รักแท้แล้วสมหวังในความรัก แต่ปรับเนื้อเรื่องให้ตัวละครเกิดความรัก ต่อมาพบอุปสรรค์ แล้วไม่สมหวังในความรักจากการสูญเสีย

    บทสุดท้าย ความปรารถนาครั้งสุดท้าย

    เป็นบทที่เฉลยเรื่องปมครอบครัวของตัวละครหลัก ซึ่งเกี่ยวกับความโกรธ เพราะการตายอย่างไม่เป็นธรรมของพี่ชาย ทำให้กลายเป็นวิญญาณที่จิตใจถูกครอบงำด้วยความแค้น

    อ้างอิงจากนิทานต้นอัลมอนล์ จากนิทานกริมม์ เป็นบทที่ช่วยสร้างเป้าหมายให้ตัวเอกออกผจญภัยเพื่อตามหาพี่ชาย แต่ในระหว่างนั้นต้องรวบรวมกระดูกไปฝัง เป็นการช่วยสิ่งสุดท้ายเพื่อให้พี่ชายละทิ้งความแค้นและไปสู่สุคติ
    **จากแก่นเรื่องในแต่ละบทมาจาก อคติ 4 
    หากเกิดขึ้นในตัวผู้ใดแล้ว ความเดือดร้อนก็จะตามมา

    ตัวละคร

    จากเดิมมีแผนให้ผู้เล่นสามารถเลือกตัวละครเป็นหญิงหรือชายได้ ปัญหาที่ตามมาคือสรรพนามที่ใช้เรียกแต่ต่างกัน ทำให้ลำบากในการเขียนบรรยายหรือบทสนทนา จึงเปลี่ยนให้ตัวดำเนินเรื่องเป็นเด็กหญิงที่ออกเดินทางตามหาพี่ชาย 
    ตัวละครเอกเวอร์ชันแรก ยังขาดจุดเด่นให้น่าจดจำ ไม่สื่อถึงความเป็นธีมขนม ตัวละครดูไม่มีชีวิตชีวา

    ตัวละครเอกเวอร์ชันปรับแก้ให้มีความน่าสนใจมากขึ้น ชุดธรรมดาสื่อถึงคนที่มาจากต่างโลก และเพิ่มการออกแบบชุดจากขนมดาราทอง หลังจากได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กล้าหรือก็คือได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกขนมหวาน อาวุธที่ใช้เป็นส้อมศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยมอบพลังให้ผู้ใช้

    ผู้ปกครองทั้ง 3 ได้แนวคิดมาจากสี CMYK และเค้กชนิดต่าง ๆ

    มาเจนต้า พระราชาผู้เอาแต่ใจจึงมีความเป็นเหมือนเด็ก ตัวเล็กน่าเอ็นดู แต่มีความแสบซน ได้แบบมาจากคัพเค้ก องค์ประกอบของวิปครีม สตอเบอร์รี่ และมีสีสันของเกร็ดน้ำตาล
    เมดัลเลี่ยน ราชินีผู้งดงามและชื่นชอบการสะสมของมีค่า ลักษณะจึงเป็นหญิงสาวผู้สูงศักดิ์ แต่งกายชุดหรูหรา ได้แบบมาจากชีสเค้กน้ำผึ้งและผลไม้

    ไซอัน พระราชาผู้เก่งกาจด้านการต่อสู้ แต่ไม่เก่งเรื่องเข้าสังคม จึงชอบอยู่ลำพังเหมือนหมาป่าเดียวดาย ได้แบบมาจากไอศครีมและมาร์ชเมลโล่


  • ปัญหาของคนสร้างเกมครั้งแรก

    พอวางโครงเรื่องเสร็จจึงเริ่มวาดรูปที่ต้องนำไปใช้สำหรับตัวเกม ตามที่ครูแนะว่าให้ลองทำตัวอย่างสักฉากหนึ่งให้คณาจารย์เข้าใจรูปแบบเกมของเรา ซึ่งตอนแรกคิดว่าจะลองใช้ลายเส้นแบบปกติ แต่ผลออกมาว่า มีปัญหาเรื่องขนาดภาพและโปรแกรม ต้องปรับแก้เยอะ และต้องลงปลั๊กอิน(โค้ดเสริม) ซึ่งกว่าจะแก้ได้อาจจะใช้เวลานาน จึงกลับไปวาดเป็น Pixel art แต่แบบพื้นฐานของเกม จากนั้นก็วาด ๆ และปรับแก้ไปเรื่อย ๆ

    จากคนที่คุ้นชินกับการวาดภาพขนาดใหญ่ แต่พอวาดพิกเซลก็รู้สึกว่าวาดยากกว่าปกติเสียอีก จอเกม 16:9 (ขนาดพิกเซลหาร 48 ลงตัว) ซึ่งมารู้ที่หลังว่าปรับขนาดจอได้ที่ไหน ก็สายไปแล้วเพราะเริ่มทำไปฉากหนึ่งแล้ว


    วิดีโอตัวอย่างเกม

    ถ้ามีข้อเสนอแนะได้ คงอยากบอกว่า อย่าหาสร้างเกมคนเดียว เพราะ หนึ่ง กระบวนการสร้างเกมหนึ่งเกมนั้นมีหลายส่วนและหลายขั้นตอน เริ่มต้นเหมือนงานอื่นทั่วไปคือ คิดเนื้อเรื่อง วางโครงเรื่อง Mood board คิดองค์ประกอบของแต่ละเมือง ออกแบบตัวละคร และมีขั้นตอนหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาคือ Flowchart เพื่อเป็นการวางแผนก่อนเขียนโปรแกรม 

    สอง แต่ละขั้นตอนใช้เวลาเยอะพอสมควร ถ้าไม่มีพื้นฐานทำเกมจะเสียเวลาศึกษาข้อมูลและต้องลองทดลองโปรแกรมอยู่นาน แต่เวลาไม่ได้มีให้เยอะขนาดนั้น ดังนั้นจึงต้องใช้ความขยันและอดทนในระดับหนึ่ง มีไฟในการทำงานตลอดเวลา

  • สิ่งที่ต้องปรับแก้

    • เนื้อเรื่องยังดูเป็นเฟมมินิม มีความโรแมนติก
    • ฟอนต์ตัวหนังสือในเกม อ่านยากนิดหนึ่ง อาจจะใชัตัวหนังสือที่บางลง
    • ตัวละครผู้ปกครองเมืองอาจจะปรับลดรูปร่างที่เป็นคนลงได้

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in