เพิ่งดูSocial Dilemma จบมา เลยสงสัยว่าเวลาคนในไทม์ไลน์เราหรือคนที่เราติดตามมีความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกับเรา แล้วเราจะยังไง จะตามเขาอยู่มั้ย จะอันฟอล จะมีแนวโน้มไปในทิศทางไหน ตอนแรกตั้งใจจะทำเป็นโพลสั้นๆถามชาวเน็ตที่ผ่านไปผ่านมาหน้าไทม์ไลน์ แต่มานั่งคิดดูดีๆกลับรู้สึกว่ามันไม่ง่ายขนาดนั้น ผลที่ได้ออกมาก็อาจจะโอนเอียง หรือ ตัวเรา นี่แหละที่อาจจะทำให้มันโอนเอียงโดยไม่รู้ตัว เลยคิดว่ามาเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ในนี้น่าจะดีกว่า
Social Dilemma เป็นสารคดีบนเน็ตฟลิกซ์ที่พูดถึงผลกระทบของโซเชียลมีเดียต่อมนุษย์เราทั้งปวง ไม่ว่าคุณจะใช้มันหรือไม่ใช้เลยก็ตาม เพราะไม่ว่ายังไงมันก็ยังคงจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ตัวเราและสังคมที่เราอาศัยอยู่ปัจจุบันและในอนาคตต่อๆไปอยู่ดี เรียกได้ว่าเป็นปัญหาเอเนอจี้เดียวกันกับการมีอยู่ของปัญหาภาวะโลกร้อนเลยทีเดียว
ตลอดทั้งสารคดีมีการตีแผ่และเจาะลึกปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโซเชียลมีเดีย เช่น หลังจากที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในชีวิต สถิติการฆ่าตัวตายของเด็กวัยรุ่นเพิ่มขึ้นมากกว่า100% ฯลฯ แน่นอนว่ามีคนไม่นิ่งเฉยและอยากจะเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น มีการเรียกร้องขอให้มีกฎหมายมาควบคุมดูแลบังคับใช้ อีกทั้งมีการโปรโมทเรื่องจริยธรรมให้ผู้สร้าง ผู้พัฒนาทั้งหลายคำนึงถึงผลกระทบที่เป็นไปได้อีกด้วย หากที่จะหักดับยกเลิกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้งหมดและบอกให้คนกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมก็ดูจะเป็นไปไม่ได้ We can't put genie back in the bottle! ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือการออกมายอมรับว่ามันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆในสังคม มาคุยกัน มาจัดการให้อยู่ในขอบเขต เรียกได้ว่าพอดูจบแล้วทำให้เราตระหนักและรับข้อมูลในหลายแง่มุม ดูไปช่วงแรกๆก็เบื่อแต่ผ่านแปปๆนึงก็พบว่ามันน่าสนใจมากๆในหลายๆจุด
มีการพูดถึง Digital Footprint ความรู้สึกที่เหมือนโดนจับตามองตลอดเวลาผ่านแอพต่างๆไม่ใช่สิ่งที่เราคิดไปเองอีกต่อไป เป็นเรื่องที่เหล่าผู้พัฒนาแข่งขันกันพัฒนาอัลกอริทึมของตัวเองเพื่อในการนี้โดยเฉพาะ มีการแอบสอดแนมแอบดูอยู่ทุกย่างก้าวของเราบนโลกอินเทอร์เน็ต ดังนั้นทุกclickbaitที่เด้งมา ทุกการแจ้งเตือนที่ดูไม่เกี่ยวกับเราแม้แต่น้อย เขาไม่ได้ส่งผิดและมันก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญเช่นกัน ทุกอย่างมีการวางแผนมาเป็นอย่างดีแล้ว ของฟรีไม่มีในโลกยังสามารถใช้ได้ดีในบริบทนี้ ตอนเด็กกว่านี้เคยสงสัยว่าทำไมแอพที่เปิดให้ดาวน์โหลดฟรีถึงมีมูลค่ามากมายมหาศาลขนาดนั้น เขาขายอะไร เงินจากที่ไหนที่ทำให้เหล่าceoทั้งหลายรวยติดอันดับกันเป็นแถว ตอนเด็กน้อยก็นึกว่ากำไรนั้นได้มาจากการเติมเกม แฮปปี้คนเลี้ยงหมูอะไรพวกนั้น แต่เมื่อโตขึ้นจึงรู้ว่ามันคือ Big Data ข้อมูลทั้งหลายแหล่ที่เขาได้ไปจากเราโดยสมยอมแต่โดยดีนี่แหละ ที่เป็นรายได้หลักและหัวใจสำคัญของบริษัทประเภทนี้
"If you don't pay for the product, then you are the product." ข้อมูลของuserกลายเป็นแหล่งขุมทรัพย์ ที่ธุรกิจทุกภาคส่วนในยุคโซเชียลมีเดียขับเคลื่อนนี้อยากจะเข้ามาล่วงรู้ บางคนคิดว่ามันก็แค่ในเรื่องของการตลาด การใช้ข้อมูลในเชิงธุรกิจ จริงๆแล้วมันมากกว่านั้น การที่userสามารถดูวิดิโอคล้ายๆกันได้จากระบบแนะนำของอัลกอริทึม สิ่งนี้นี่แหละสามารถนำไปสู่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ป้อนความคิดที่อยากให้เป็นได้เช่นกัน ในสารคดีมีการพูดถึงโซเชียลมีเดียถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองทั้งในและระหว่างประเทศ พอมาเป็นเรื่องนี้มันก็เรื่องใหญ่ เพราะการเมืองแทรกซึมอยู่ทุกที่และมีผลต่อชีวิตคนทุกคน มิใช่ใครเลือกที่จะไม่ยุ่งก็ได้ตามที่เขาหลอกลวง (แหะๆ)
ถ้าให้ยกตัวอย่างเห็นภาพชัดก็คงเป็นการรับข่าวสารบนโซเชียลมีเดีย ตัวเราเองก็เคยสงสัยว่าทำไมนะ พ่อแม่ไม่ได้รับข่าวสารแบบเดียวกันกับเราเลย ทำไมนะทำไม ทำไมเขากับเราถึงมีความคิดเห็นในเรื่องเดียวกันต่างกันล่ะ ในสารคดีบอกว่า นั่นก็เพราะหน้าไทม์ไลน์โซเชียลของเขาและเราไม่เหมือนกัน เราเลยได้รับสารต่างกัน เลยนำไปสู่ความคิดเห็นที่ต่างกัน ซึ่งมันก็เนื่องมาจากการแสดงผลที่เกิดจากการติดตามเก็บข้อมูลเฉพาะบุคคล มาจากดิจิตอลฟุตปริ้นท์ที่พูดถึงไปก่อนหน้านี้แล้วนั่นแหละ เปลี่ยนจากการที่เราโดนยิงโฆษณาสินค้าที่เราอยากได้(เพียงเพราะเคยพิมพ์ในแชทส่วนตัวกับเพื่อน) เป็นเรื่องข่าวสารบ้านเมืองแทนข่าวที่เจาะจงอยู่มุมมองที่เราสนใจ ที่เคยเสิร์ชอยู่บ่อยๆแทน ความสามารถของระบบอัลกอรึทึมนี้จึงเป็นสิ่งที่ควรตระหนักและระลึกถึงอยู่เสมอ เวลารับข่าวสารอะไรต้องเปิดใจให้แก่หลายๆมุมมองได้เข้ามา ไม่งั้นละก็ได้ตกเป็นทาสวังวนเจ้าอัลกอริทึม โดนป้อนความคิดชุดเดิมซ้ำๆโดยที่ไม่ได้ทันคิดว่ามีโลกก็มุมมองความคิดอื่นเป็นแน่
เทคโนโลยีเหล่านี้อนุญาตให้เราได้ดูสิ่งที่เราต้องการจะดู ความเคยชินกับระบบon demandบวกกับระบบอัลกอริทึมฉายซ้ำพวกนั้นจึงสามารถก่อให้คนในสังคมเดียวกันแตกแยกได้ คนสื่อสารกันและdiscussน้อยลงเพราะต่างคนต่างอยู่ในความจริงของตัวเอง อยู่ในความจริงที่ตัวเองเลือกที่จะได้รับเพียงเท่านั้น(confirmation bias) อยู่ไปนานๆไปมันก็มีผลกับพฤติกรรมและความคิด เทคโนโลยีช่วยทำให้ชีวิตเราให้ดีขึ้นแต่ถ้าไม่ใช้ให้ดีมันก็ไม่ต่างอะไรกับการขุดหลุมฝังตัวเอง
อ่านจนถึงตรงนี้ดูเหมือนมันจะมีผลเสียมากกว่า แต่ใช่ว่าผลดีจะไม่มีและเราก็รู้ๆกันอยู่ว่าคืออะไร หลังจากนี้รู้สึกว่าทุกการใช้โซเชียลมีเดียของตัวเองต้องมีสติ คีพทุกอย่างให้อยู่ในบาลานซ์ อะไรที่มากไปมันก็ไม่เคยดีกับเราทั้งนั้นแหละ ฟีลเหมือนปฏิบัติธรรมเหมือนกันนะเนี่ย ต้องมีจิตตั้งมั่นอยู่กับตัวเสมอว่ากำลังทำอะไรอยู่ สุดท้ายนี้ก็ ซ้ายหนอขวาหนอ ปิดโนติหนอ ล้างcookkiesบ่อยๆหนอ ไม่เสียเวลาให้กับมันมากเกินจำเป็นหนอนะคะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in