เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เพียงชายคนนี้เป็นอาจารย์พิเศษSALMONBOOKS
คาบที่ 1 “มึงเนี่ยนะจะเป็นอาจารย์?!”

  • “มึงเนี่ยนะจะเป็นอาจารย์?!”

    นั่นคือปฏิกิริยาแรกจากเพื่อน หลังจากผมบอกมันว่ากำลังจะไปเป็นครูสอนหนังสือในมหา’ลัยแห่งหนึ่ง

    อย่าว่าแต่เพื่อนจะตกใจเลยครับ แม้กระทั่งพ่อแม่ผม หรือกระทั่งตัวผมเองก็แทบไม่อยากจะเชื่อเหมือนกัน เพราะมองย้อนไปแล้ว ก็แทบไม่มีวี่แววเลยว่าตัวผมจะมาลงเอยกับการเป็นอาจารย์ได้

    .

    .

    .

    สมัยเด็กๆ หนึ่งในสิ่งที่ผมเบื่อมากที่สุดคือการที่พวกครูชอบถามว่า “โตขึ้น หนูอยากเป็นอะไรจ๊ะ” แม้คุณครูจะถามด้วยน้ำเสียงสดใสขนาดไหน แต่ผมก็จะรู้สึกเซ็งอยู่ในใจ “มาอีกแล้วเหรอคำถามนี้ กูจะไปรู้ได้ยังไงวะ” ดังนั้นเวลาตอบก็จะตอบส่งๆ ไปอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์บ้าง นักบินอวกาศบ้าง ตำรวจบ้าง ยอด-มนุษย์บ้าง 

    แต่มีอยู่เหตุการณ์หนึ่งที่ประหลาด จนทุกวันนี้ผมก็ยังไม่เข้าใจ ตอนนั้นผมอยู่ ป.4 วันดีคืนดี อาจารย์ประจำชั้น ก็ถามคำถามยอดฮิตนี้อีกครั้ง (มันมาอีกแล้ว...) 
  • “คันฉัตรโตขึ้นเธออยากเป็นอะไร”

    “อยากเป็นครูครับ”

    “ทำไมล่ะ”

    “เพราะจะได้ตีเด็กได้ครับ”

    ผมพูดพร้อมกับหัวเราะขำๆ เพื่อนบางคนก็หัวเราะตามด้วย ส่วนอาจารย์ก็ทำหน้าเหนื่อยใจ “แหม เหตุผลเธอเนี่ยนะ...” จากนั้นอาจารย์ก็หันไปถามเพื่อนคนอื่นต่อ 

    สารภาพตามตรงว่าทุกวันนี้ผมก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมตัวเองตอบไปแบบนั้น เป็นการตอบแบบเล่นๆ ส่งๆ ตามเคย? ตอบจากจิตใต้สำนึก? หรือมันจะเป็นการทำนายอนาคตตัวเองล่วงหน้า?! (ตกลงนี่มันหนังสือชีวิตอาจารย์หรือรวมเรื่องลึกลับเนี่ย ทำไมบรรยากาศชักจะไปทางนั้นแล้ว) 

    หลังจากนั้นหลายปี ชีวิตของผมดูห่างไกลจากการเป็นอาจารย์โดยสิ้นเชิง ผมเข้าเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ ด้วยเหตุผลสิ้นคิดว่าดันสอบตรงติด และขี้เกียจเอ็นทรานซ์แล้ว ก็เรียนคณะนี้ไปเลยแล้วกัน โดยที่ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเศรษฐศาสตร์คืออะไร เรียนวิชาอะไร หรือเรียนจบไปแล้วจะทำมาหากินอะไรได้ (เยาวชนที่เผลอซื้อหนังสือเล่มนี้มา ไม่ควรลอกเลียนแบบนะครับ)

    แต่ยิ่งเรียน ผมก็ยิ่งรู้ตัวว่าไม่ชอบเศรษฐศาสตร์ ความชอบของผมหันเหไปทางด้านการดูหนังและเขียนวิจารณ์หนัง เริ่มแรกก็เขียนลงตามเว็บไซต์พันทิป ตามบล็อก แต่ตอนหลังก็มีผลงานได้ลงตามนิตยสารนั่นนี่ ในช่วงปีท้ายๆ ของการเรียน กลายเป็นว่าผมทุ่มเทให้กับการดูหนัง-เขียนถึงหนัง-อัปบล็อกมากกว่าการเรียนที่มหา’ลัยเสียอีก

    อย่างไรก็ดี ตอนเรียนจบใหม่ๆ ผมก็ยังไม่มีความกล้าพอที่จะมุ่งหน้าสู่งานด้านวิจารณ์หรือการทำงานหนังสือ เพราะมีแต่คนขู่ว่ามันเป็นงานที่เลี้ยงชีพไม่ได้ ผมก็เลยไปสมัครงานตามธนาคารหรือบริษัทนู่นนี่ไปเรื่อย แต่ในที่สุดผมก็เกิดอาการติสท์แตกในขณะที่สอบข้อเขียนของธนาคารแห่งหนึ่ง ผมก็รู้สึกทนไม่ไหว “นี่มันไม่ใช่กู!มันไม่ใช่กู!!” สุดท้ายเลยเขียนนิยายเรื่องสั้นแต่งสดลงไปแทน (เรื่องนี้ยังไม่เคยบอกพ่อแม่เลยถือโอกาสสารภาพเอาตรงนี้นี่แหละ) 
  • ท้ายสุด ผมจึงทำอารยะขัดขืนไม่ยอมไปตามเส้นทางของมนุษย์เงินเดือนหรือพนักงานบริษัท แต่เลือกหนทางการเป็นฟรีแลนซ์รับงานเขียนหรือจ๊อบนั่นนี่ไปเรื่อย ในด้านหนึ่งก็มีความสุขที่ได้ใช้ชีวิตที่ค่อนข้างอิสระ แต่เมื่อเปิดสมุดบัญชีทีไรก็จะพบความจริงอันโหดร้าย ...เดือนนี้ใช้เงินหมดอีกแล้ว ...ชาตินี้จะมีเงินเก็บมั้ย ...ดีแล้วล่ะที่กูไม่มีลูกมีเมีย ตัวเองยังเอาไม่รอดเลย ยิ่งมองดูเพื่อนๆ ที่จบมารุ่นเดียวกันก็ยิ่งเศร้าหนัก หลายคนมีหน้าที่การงานที่รุ่งเรือง เพื่อนมันโพสต์รูปโฉนดคอนโดฯ ลงเฟซบุ๊คแล้ว ส่วนกูยังโพสต์ซีดีเกิร์ลเจนฯ ที่ซื้อมาอยู่เลย เฮ้อ 

    ระหว่างที่จิตตกกับชีวิตตัวเอง ช่วงนั้นผมเริ่มสังเกตว่ารุ่นพี่นักวิจารณ์หลายคนมีจ๊อบเสริมเป็นอาจารย์พิเศษตามมหา’ลัย ผมเองก็รู้สึกว่ามันเป็นหนทางที่น่าสนใจ เปล่า ตอนนี้ไม่ได้อยากตีเด็กแล้ว (เพราะถ้าไปตีเด็กมหา’ลัย อาจจะโดนมันต่อยกลับหน้าหงาย) แต่อยากสอนเพื่อความอยู่รอด! เพราะเท่าที่ไปสืบมารายได้ของอาจารย์พิเศษก็ดีพอควร อย่างน้อยก็เยอะกว่างานเขียนหนังสือ 

    แต่...ทำยังไงถึงจะได้สอนกับเขาบ้าง อยู่ดีๆ จะเดินไปที่มหา’ลัยแล้วบอก “เฮ้ย! ผมอยากสอนหนังสือว่ะ” มันก็ไม่ได้ หรือจะไปอ้อนพวกพี่ๆ ว่า “พี่จ๋า ผมอยากสอนหนังสือกับเขาบ้างง่า” ก็รู้สึกเกรงใจ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ คนอย่างกูจะมีปัญญาสอนคนอื่นหรือเปล่าวะ ความรู้กูมีพอมั้ย? กูพูดรู้เรื่องเปล่า? แล้วจะแน่ใจได้ยังไงว่ากูจะไม่เผลอฟิวส์ขาดกระโดดบีบคอเด็ก?  

    ด้วยความไม่มั่นใจหลายๆ อย่าง ผมก็เลยเลิกล้มความคิดที่จะเป็นอาจารย์

    ถึงกระนั้น ผมก็ถูกชักชวนไปทำงานวิทยากรอยู่เรื่อย ไม่ว่าจะเสวนา บรรยาย หรือทำเวิร์กช็อป ด้วยความที่นักวิจารณ์ภาพยนตร์ในประเทศเรามีนับคนได้ ประกอบกับตอนนั้นผมค่อนข้างว่าง ก็เลยไปมันหมดทุกงาน (ความจริงก็เห็นแก่เงินนั่นแหละ ฮ่าๆๆ) 

    ครั้งแรกๆ นี่ตื่นเต้นมาก ตอนไปยืนหน้าห้องแทบจะเป็นลม แถมพูดไปยังลืมว่าต้องพูดอะไรต่อ แต่พอผ่านไปสามสี่ครั้ง ก็เริ่มคล่องขึ้น พูดได้สบายบรื๋อ จนบางทีแอบคิดว่า เอ๊ะ นี่เราก็พอจะมีความรู้ประมาณหนึ่ง แล้วเราก็ดูจะมีทักษะการสอนนี่หว่า
  • จุดเปลี่ยนในชีวิตผมมาถึง เมื่อรุ่นพี่คนหนึ่ง (ขอสมมติว่าชื่อพี่นาเดีย) ที่รับจ๊อบเป็นอาจารย์พิเศษมาชวนผมไปช่วยสอนในหัวข้อการวิจารณ์หนัง เธอบอกว่ามันไม่ใช่หัวข้อที่เธอถนัด เลยอยากให้นักวิจารณ์จริงๆ มาสอน แน่นอนว่าผมดีใจมาก และคิดว่านี่จะเป็นโอกาสที่ควรคว้าไว้ แต่ก็ยังรู้สึกไม่มั่นใจอยู่ดี

    “พี่...แล้วผมจะสอนได้เหรอ”

    “พี่ว่าต่อทำได้จ้ะ”

    “เอาวะ! ในเมื่อมึงบ้าจี้กล้าให้กูสอน กูก็จะสอนให้ดู” (อันนี้ไม่ได้พูดออกไป คิดในใจ)

    แม้จะมีประสบการณ์งานวิทยากรมาพอสมควร แต่คืนก่อนวันสอน ผมตื่นเต้นจนทำอะไรไม่ถูก เกิดอาการวิตกจริตไม่หยุดหย่อน...ตรงนี้พูดยังไงให้มันเข้าใจง่ายๆ วะ ...มุกนี้ถ้าเล่นไปแล้วไม่ตลกจะทำไงเนี่ย ...กูแต่งตัวแบบนี้มันดูสะเหล่อมั้ยวะ ...แล้วที่สำคัญ แม่งให้สอนตั้งสามชั่วโมง ให้กูพูดเหี้_อะไรเยอะแยะเนี่ยยยยย

    แต่ผมก็รอดชีวิตมาจากการสอนสามชั่วโมงนั้นได้...

    มองย้อนไปมันก็เป็นการสอนที่แย่ทีเดียวแหละครับ ผมทั้งพูดเร็ว พูดรัว บางจังหวะก็ตื่นเต้นจนทำไมค์หล่น หรือเวลาเห็นเด็กฟุบหลับหรือคุยไม่หยุดก็รู้สึกเสียเซลฟ์มาก 

    แต่มันก็พอจะมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะการที่เด็กบางคน(ซึ่งน้อยมาก) ตั้งใจฟังเราตลอดทั้งสามชั่วโมง เด็กหลายคนช่วยกันตอบคำถาม หรือตอนเลิกเรียนแล้วมีเด็กมาขอยืมหนังไปดูต่อที่บ้าน

    สำคัญที่สุดคือการที่เด็กเรียกเราว่า “อาจารย์” ...มันเป็นความรู้สึกที่แปลก ไม่คุ้นเคย แต่ก็รู้สึกดีอยู่ลึกๆ ...อืม ในที่สุด กูก็เป็นอาจารย์กับเขาบ้างแล้วนะ ถึงจะแค่สามชั่วโมงก็เถอะ
  • หลังจากวันนั้น พี่นาเดียถามว่าผมสนุกกับการสอนมั้ย ผมบอกว่าสนุก แล้วแย็บๆ กับแกไปว่า “พี่ช่วยเป็นเจ๊ดันให้ผมหน่อยสิ คุยกับหัวหน้าภาคให้หน่อย ผมอยากลองสอนแบบเต็มๆ เทอมดูบ้าง” ผมพูดแบบทีเล่นทีจริงแบบไม่ได้หวังอะไรมากนัก ส่วนพี่นาเดียก็คงรับคำไปแบบขำๆ

    หลายเดือนถัดมา พี่นาเดียโทร.มาบอกผมว่า เทอมหน้าเตรียมตัวไปสอนได้เลย หัวหน้าภาคตกลงแล้ว!!

    ฮะ!!?? อะไรกัน!? ผมอึ้ง ช็อค งง แม้จะแอบหวังอยู่ลึกๆ แต่ก็ไม่นึกว่าจะได้จริงๆ ผมถามพี่นาเดียว่า ผมจบเศรษฐศาสตร์นะ ไม่ได้จบด้านภาพยนตร์มาโดยตรง ทำไมหัวหน้าภาคถึงยอมให้สอนล่ะ พี่แกก็อธิบายว่าหัวหน้าภาครู้จักผมอยู่แล้ว แกอ่านทั้งบทความ หนังสือและบล็อกของผม แกก็เลยคิดว่าผมสอนได้ ...เพิ่งจะรู้ซึ้งถึงประโยค “ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน” ก็วันนี้นี่แหละ

    แต่ถึงจะดีใจมากเพียงใด อาการวิตกจริตก็กลับมาเยือนอีกครั้ง เพราะคราวนี้เราจะไม่ได้เป็นอาจารย์แค่สามชั่วโมง แต่มันจะเป็นหนึ่งเทอมเต็มๆ มีค่าเท่ากับเวลาสี่เดือน สอนหนึ่งครั้งเท่ากับสามชั่วโมง คิดเป็นชั่วโมงรวมทั้งหมดก็คือ 48 ชั่วโมง หรือ 2,880 นาที คนบ้าอะไรมันจะพูดคนเดียวได้ตั้ง 2,880 นาทีวะ!? 

    แล้วไหนจะเรื่องออกข้อสอบ เรื่องตรวจการบ้าน แล้วถ้าเด็กหลับจะทำยังไง ไม่สิ ถ้าหลับก็ยังดี แต่ถ้ามันมาคุกคามเราล่ะ ได้ข่าวว่าเด็กสมัยนี้น่ากลัวอยู่ ถ้าดุไปมันจะต่อยกูมั้ย หรือกูจะเจอแก๊งเด็กโฉดยกห้องแบบในการ์ตูน GTO หรือเปล่า จะมีใครเรียกไปหาที่ห้องอ้างว่ามีเหตุฉุกเฉิน แต่ความจริงคือวางแผนถ่ายรูปแบล็คเมลอาจารย์มั้ยเนี่ย ...อ้ากกกกกกกกก เครียดดดดดดดดดดด (สติแตกโดยสมบูรณ์แบบ)

    เวลาเปิดเทอมกระชั้นเข้ามาเรื่อยๆ ระหว่างที่เตรียมการสอน คำพูดของเพื่อนที่ว่า “มึงเนี่ยนะจะเป็นอาจารย์?!” ก็ยังคงลอยก้องอยู่ในหัว บางทีผมก็เผลอถามตัวเองว่า “นี่กูจะเป็นอาจารย์จริงๆ เหรอเนี่ย” แต่พอคิดถึงความรู้สึกดีๆ ที่ได้รับจากการสอนครั้งแรก มันก็ทำให้คำถามเหล่านั้นเลือนหายไปได้บ้าง

    ว่าแต่...เปิดมาคาบแรกก็สอนตั้งสามชั่วโมง จะให้พูดอะไรมากมายวะ!

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Kaotamm2017 (@Kaotamm)
อยากอ่านเลยครับ 5555 ฮามากก แก๊กการ์ตูนยิ่งฮา