จบหน้าสุดท้ายจึงเข้าใจเหตุใดถึงต้องตั้งชื่อว่า We should all be feminists 'เราทุกคนควรเป็นเฟมินิสต์' หนังสือเล่มนี้ชีควรป๊อบ ชีควรได้เรตติ้งทั่วไป และได้สโลแกนว่าคุณค่าที่คุณคู่ควร
หากเปรียบความก้าวหน้าด้านต่างๆ ของมนุษย์ เช่น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี แพทย์ การศึกษา มีความเร็วเท่ากับเครื่องบิน
ความก้าวหน้าเรื่องความเท่าเทียมทางเพศคงเปรียบเป็นจักรยาน อะ เพื่อไม่ให้ดูขมขื่นเกินไป ในบางวัฒนธรรมหรือบางประเทศอาจจะเป็นรถยนต์
เป็นความจริงที่ว่าโครงสร้างทางกายภาพทำให้ผู้ชายมีความแข็งแกร่งมากกว่าผู้หญิง จึงเหมาะสมกว่าหญิงสำหรับบทบาทผู้นำ ที่ส่งผลต่อการเอาชีวิตรอดในยุคสังคมล่าสัตว์
แต่ตอนนี้มนุษย์หญิงชายส่วนใหญ่ที่อยู่ในสังคมเมืองต่างซื้อเนื้อสัตว์จากตลาดหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตกันทั้งนั้น ไม่มีใครเอาหอกไปจิ้มหมูคุโรบุตะอีกต่อไป ทว่าคตินิยมชาย (ชายเป็นใหญ่) ซึ่งเป็นกระแสหลักของโลก ยังเนื้อหอมอยู่ในหลายประเทศ หลายวัฒนธรรม เพราะมันเป็นสิ่งที่เราทำต่อๆ กันมา จากรุ่นสู่รุ่น เป็นเรื่องใกล้ตัวจนลืมปัดฝุ่น
ขอยกตัวอย่างบางย่อหน้าในหนังสือมาขยายความ
‘แต่เรื่องเลวร้ายที่สุดที่เราทำกับผู้ชายคือการทำให้พวกเขามีอีโก้แสนเปราะบางจากการถูกบังคับว่าต้องแข็งแกร่งยิ่งผู้ชายถูกบังคับให้แข็งแกร่งมากเท่าไหร่ เขาก็จะมีอีโก้ที่เปราะบางมากขึ้นเท่านั้น
และหลังจากนั้นเราก็มาทำสิ่งที่แย่ลงไปอีกกับเด็กผู้หญิงเพราะเราเลี้ยงดูพวกเธอมาเพื่อรองรับอีโก้อันเปราะบางนี้ของผู้ชาย’
ซึ่งย่อหน้านี้ทำให้เราคิดว่า ถ้าผู้ชายที่อี๋แหวะกับคำว่าเฟมินิสต์ได้อ่านน่าจะชวนให้เอ๊ะว่าเขา-ผู้ชายเป็นกลไกหนึ่งในความเหลื่อมล้ำอย่างไรบ้าง
ขอยกมาแค่นี้พอ เพราะหนังสือมีแค่ 56 หน้า ยกมาเยอะกว่านี้เกรงใจคนซื้อมาอ่านเอง สำนวนอ่านง่าย ใช้เวลาสั้นๆ ก็อ่านจบแล้ว
ขณะอ่านจะรู้สึกเหมือนเพื่อนเม้าท์ชีวิตโลดโผนให้ฟัง เธอเป็นเพื่อนชาวไนจีเรียแต่บางเรื่องที่เธอเล่า เราซึ่งเป็นหญิงสาวชาวไทยกลับรู้สึกมีประสบการณ์ร่วม นั่นทำให้เรา-ในฐานะผู้อ่านสามารถเห็นภาพใหญ่ของความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศมากขึ้น และเชียร์สุดใจหากใครจะโอบรับคำชวนที่ร้องบอกว่าเราทุกคนควรเป็นเฟมินิสต์-ในนิยามที่ผู้เขียนกล่าวไว้ว่า ชายและหญิงคนใดก็ตาม ยอมรับว่าในปัจจุบันนี้เรามีปัญหาเรื่องเพศสภาพ ร่วมกันแก้ไขมัน และทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม
###
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in