เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
My Travel LogDaffodil
วัดเทพธิดาราม: เมื่อติ่งพระอภัย ไปเยือนกุฏิสุนทรภู่!
  • เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นโดยบังเอิญค่ะ จากการเดินทัวร์กรุงเทพของเรา วันนั้นเป็นวันเสาร์ เรานัดกับเพื่อนมาวอล์คแลนลี่กันที่เกาะรัตนโกสินทร์ ที่แรกที่เราไปก็คือวัดราชนัดดาราม ที่ตั้งของโลหะปราสาทนั่นเองค่ะ หลังจากตามล่าถ่ายรูปแมววัดจนพอใจ เราสองคนก็ตั้งใจจะไปภูเขาทอง

    เข้าสู่ช่วง สินค้าไทร์อิน
    ขอบคุณคุณลุงขายไอติมที่เข็นรถผ่านมาและช่วยเล่นมุกคลายเครียดให้เราตื่นนะคะ

    เจ้าตัวการทำให้เราต้องวิ่งจนเหนื่อย สีหน้าเหม็นเบื่อมนุษย์มากๆ

    แต่ระหว่างทาง เมื่อเดินผ่านวัดๆ หนึ่ง เราเผลอจ้องลายกรอบประตูของศาลาการเปรียญของวัดนี้แล้วก็เกิดเอ๊ะขึ้นมาว่า ทำไมลายมันแปลกๆ จัง เรากับเพื่อนนึกสงสัยก็เลยเดินเข้าไปดู

    ลายกรอบประตูที่ว่า จนตอนนี้เราก็ยังไม่รู้เลยว่าลายแบบนี้เรียกว่าอะไร ถ้าหาข้อมูลเจอจะมาอัพเดตนะคะ

    วัดที่ดึงความสนใจเราคือวัดเทพธิดารามค่ะ

    วัดเทพธิดารามเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2379 และสร้างเสร็จเรียบร้อยในปีพ.ศ.2382 แต่แรกสร้างเรียกกันว่าวัดพระยาไกรหลวง แตต่อมาเมื่อสร้างแล้วเสร็จรัชกาลที่สามจึงพระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดเทพธิดาราม" เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชทานแก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าหญิงวิลาส) พระธิดาพระองค์ใหญ่ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาบาง 

    เมื่อเดินเข้าไปในบริเวณวัด สิ่งต่อมาทีี่ดึงดูดความสนใจของเราก็คือแผ่นป้ายเล็กๆ ที่เขียนว่า 'พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่' พร้อมลูกศรบอกทาง

    จะรออะไรล่ะค่ะ เจ้าลัทธิกวักมือเรียกขนาดนี้แล้ว เราในฐานะติ่ง เอ้ย แฟนคลับ ก็ต้องวิ่งเข้าไปล่ะ!

    เดินๆ ตามป้ายบอกทางเล็กๆ จะมาเจอป้ายใหญ่แบบนี้ เป็นอันแน่ใจแล้วว่าเราไม่หลงทาง (แบบที่มักจะเกิดขึ้นประจำ)

    เข้ามาทางนี้ อาคารอยู่ทางขวามือค่ะ คอยมองหาป้ายไว้ ไม่หลงแน่นอน!

    ดอกหางนกยูงหน้ากุฏิสุนทรภู่ค่ะ บริเวณหน้ากุฎิมีดอกไม้เยอะมากเลย ถ่ายรูปเพลินเลยค่ะ

    ตัวพิพิธภัณฑ์คืออาคารที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นกุฏิของสุนทรภู่ แบ่งออกเป็นสี่โซนด้วยกัน โซนแรกเป็นศาลา มีวีดีทัศน์ที่เกี่ยวกับสุนทรภู่ ให้ผู้เข้าชมนั่งพักผ่อนหย่อนใจระหว่างรอเข้าชมห้องอื่นๆ ค่ะ

    ห้องแรกที่เราเข้าไปคือห้องแรงบันดาลใจไม่รู้จบค่ะ ด้านในจัดแสดงไทม์ไลน์ประวัติของสุนทรภู่ พร้อมเปิดเพลงคำมั่นสัญญาของชรินทร์ นันทนาครคลอไปด้วย เพลงๆ นี้ดัดแปลงมาจากพระอภัยมณีตอนที่พระอภัยจีบนางละเวงค่ะ

    ‘ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร
    ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
    แม้อยู่ในใต้หล้าสุธาธาร
    ขอพบพานพิศวาทไม่คลาดคลา
    แม้นเนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ
    พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
    แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา
    เชยผกาโกสุมประทุมทอง
    เจ้าเป็นถ้ำอำไพใคร่เป็นหงส์
    จะร่อนลงสิงสู่เป็นคู่สอง
    ขอติดตามทรามสงวนนวลละออง
    เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป’
    (ส่วนที่ทำตัวหนาคือเนื้อหาที่ถูกเปลี่ยนนะคะ)
    (พูดก็พูดเถอะ พระอภัยนี่เป็นตัวอย่างของผู้ชายขี้จุ๊เชื่อไม่ได้นะคะ มารยาสาไถสารพัดล่ะคนนี้ นางไม่ใช่คนโปรดของเราหรอกนะ แต่ความกะล่อนของนางนี่ที่หนึ่ง)

    เนื่องจากวันที่เราไปเป็นวันที่มีน้องๆ มาทัศนศึกษา ดังนั้นเราจึงใช้เวลาหลบร้อนอยู่ในห้องนี้นานเป็นพิเศษ ฟังเพลงวนไปเลยค่ะ

    มาถึงห้องถัดไปบ้าง ห้องนี้ชื่อว่ามณีปัญญา เป็นห้องที่ให้เราได้เล่นเกมกันค่า 
    แต่เป็นพิพิธภัณฑ์ของกวีเอกแห่งรัตนโกสินทร์ทั้งที จะเป็นเกมธรรมดาได้ยังไง! เกมที่ทางพิพิธภัณฑ์จัดให้เป็นเกมต่อโคลง กลอน ฉันท์ค่ะ ก็คือทางพิพิธภัณฑ์จะให้ป้ายคำกลอนมาเป็นวรรคๆ หน้าที่ของเราก็คือเอากลอนแต่ละวรรคมาเรียงต่อกันให้เป็นกลอนที่สมบูรณ์ เราใช้วิธีอ่านคำแปลภาษาอังกฤษเป็นไกด์ไลน์ค่ะ สนุกดี

    เล่นเกมเสร็จแล้วพี่มัคคุเทศก์ก็พาเราไปที่ห้องถัดไปค่ะ เป็นโซนให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมของรันตโกสินทร์ตอนต้นที่สะท้อนอยู่ในงานเขียนของสุนทรภู่ จากนั้นก็ตบท้ายด้วยวีดีทัศน์ประวัติของสุนทรภู่ เสร็จสรรพแล้วไม่เกินสิบห้านาทีค่ะ

    จากนั้นพี่ไกด์ก็พาเราไปที่ห้องสุดท้ายคือห้องใต้ร่มกาสาวพักตร์ซึ่งเป็นกุฏิของสุนทรภู่ พี่ไกด์บอกว่าของทุกอย่างในนั้นเป็นของจริงที่สุนทรภู่ใช้ตอนอุปสมบทเป็นพระ และได้ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรเรียบร้อยแล้ว

    ข้าวของเครื่องใช้ของสุนทรภู่ที่ทางพิพิธภัณฑ์เก็บรักษาไว้

    หลังจากชมกุฏิเสร็จเรียบร้อยเราก็ออกมาข้างนอก ตรงกึ่งกลางระหว่างอาคารจัดแสดงทั้งสาม มีต้นชมพู่สูงๆ อยู่ต้นหนึ่งค่ะ จังหวะนั้นเอง ลำโพงที่ศาลาพักก็เปิดกลอนบทหนึ่ง

    ‘ชมพู่แลแต่ละต้นมีผลลูก
    ดูดั่งผูกพวงระย้านึกน่าฉัน
    ทรงบาดาลบานดอกรีบออกทัน
    เก็บทุกวันเช้าเย็นไม่เว้นวาย’

    น่ากันจริงๆ ด้วย!!!

    กลอนข้างต้นเป็นกลอนที่สุนทรภู่เขียนถึงต้นชมพู่ต้นนี้ไว้ในรำพันพิลาปค่ะ

    รำพันพิลาปเป็นนิราศเชิงกำสรวล สุนทรภู่เขียนนิราศเรื่องนี้ขึ้นมาหลังจากที่ตัวเองตื่นจากฝันร้าย ถ้าให้เปรียบเทียบกับสมัยเราก็คงเหมือนการพร่ำรำพันใส่โซเชียลมีเดียนั่นแหละค่ะ แต่สมัยนั้นไม่มีทั้งเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์ เขาก็เลยเขียนออกมาเป็นกลอน ซึ่งในรำพันพิลาปนี้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับชีวประวัติของสุนทรภู่พอสมควรเลยค่ะ

    การเรียนวรรณคดีในโรงเรียนดูเป็นเรื่องน่าเบื่อนะคะ อย่างน้อยคนส่วนใหญ่ก็คิดแบบนั้น เราคิดว่าการเรียนวรรณคดีทำให้เราซึมซับสิ่งที่เรียกว่า ความสุนทรีย์ ซึ่งอาจจะไม่ได้มีประโยชน์แบบที่จับต้องได้ แต่มันก็ช่วยจรรโลงใจได้นะคะ การเรียนการสอนภาคบังคับอาจทำให้เราเกลียดวรรณคดี หรือถ้าไม่ถึงขั้นเกลียดก็ไม่ได้ทำให้ชอบหรือสนใจ ออกจะน่าเบื่อด้วยซ้ำต้องมานั่งอ่านอะไรก็ไม่รู้เข้าใจยาก แต่ถ้ามีโอกาส เพื่อนๆ ลองเปิดใจมองวรรณคดีในฐานะ ‘หนังสือ’ เล่มหนึ่งดูนะคะ เราอาจจะได้มุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับชีวิตก็ได้

    ขอปิดท้ายด้วยน้องทีชาลา (แมวดำที่เราตั้งชื่อเอง) น้องนั่งเฝ้าอยู่ตรงทางเข้าตอนที่เราเดินออกมาพอดี แถมยังนิ่งเป็นนายแบบให้ซะด้วย!


    แหล่งอ้างอิง
    http://vajirayana.org/รำพันพิลาป/รำพันพิลาป
    http://www.watthepthidaramqr.com/web/about.php#top
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in