เมื่อ 30 ปีก่อน ของชำร่วยยอดฮิตในงานแต่งงาน คือ บุหงารำไป ที่ทำจากดอกไม้แห้ง ถุงบุหงาจะเป็นผ้าโปร่งเย็บประกบกับผ้าสำลีทรงหัวใจสีแดงแจ๊ด อัดแน่นไปด้วย ดอกไม้แห้งอาทิเช่น ดอกบานไม่รู้โรย ดอกรัก ดอกมะลิ ดอกกุหลาบ ใบเตยหั่นหรือใบเนียม ดอกรักและดอกบานไม่รู้โรยเป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์แทนความรักที่มั่นคงที่มอบให้แก่กัน และถือเป็นเคร็ดที่จะทำให้หนุ่มสาวมีความรักที่ยืนยง ตัวถุงจะมีหูเป็นดิ้นทอง หรือเย็บพวงกุญแจติดไว้สำหรับคล้อง ส่วนหางหัวใจจะติดกระดิ่งทอง ส่งเสียงกรุ๊งกริ๊งไปมาเวลาเคลื่อนไหว กรรมวิธีในการทำบุหงารำไปคือ น้ำดอกไม้ ใบไม้ที่จะทำบุหงา ไปพึ่งลมให้แห้งแทนวิธีการตาก เพราะเนื่องจากหากตากกลางแจ้ง แดดจะเลีย! ทำให้สีซีดและดอกไม้ ใบไม้ไม่หอมเท่าที่ควร เมื่อแห้งดีแล้วให้หาผอบหรือโหลที่มีฝาปิดให้สนิท อบด้วยควันเทียนหลายยก (รอบ) ตามที่ต้องการ การอบควันเทียนนอกจะทำให้หอมแล้ว ยังเป็นการทำให้ดอกไม้แห้งไม่ขึ้นราและอยู่ได้นานขึ้น พรมด้วยหัวน้ำปรุง เมื่อบุหงาซึมซับน้ำมันหอมดีแล้ว อาจปรุงพิมเสนเพิ่ม กลิ่นที่เรียกว่าบุหงารำไป จะเป็นกลิ่นที่รวมกัน 5 กลิ่นคือ มะลิแห้ง กุหลาบแห้ง เนียมหอมหรือเตยหอมแห้ง กลิ่นกำยานจากควันเทียน กลิ่นชะมดเช็ดจากหัวน้ำปรุง หากเพิ่มพิมเสน ก็จะได้มิติของความ สดชื่น ซ่าเย็น เป็นที่ชื่นใจมาก หากบ้านงานมีฐานะ บางงานจะใช้บุหงาสดแทน ซึ่งค่อยข้างจะวุ่นวายในการเย็บบรรจุเพราะต้องใช้แรงคนในการทำมาก และเนื่องด้วยความจำกัดของเวลา ดอกไม้บางชนิดถึงให้กลิ่นหอม กลับเหี่ยวเฉาไม่สวยงาม ดอกไม้สดที่เพิ่มเติม อาจเพิ่มสายหยุด กระดังงา จำปี จำปา พิกุล บุนนาค ตามช่วงเวลาที่หาได้ ของชำร่วย อีกชนิดที่ฮิตมากคือ ตุ๊กตาคู่เซรามิค /งานเซรามิคเขียนสีอะคลิริค บีบจากปลายกรวยเป็นลายเส้นดอกไม้พริ้วไหว วันวานที่ผ่านไป การได้กลิ่นหออมจากเครื่องหอมไทย ได้นำพามาซึ่งความสุขในช่วงวันวิวาห์เพราะหากได้กลิ่นนี้ ก็จะทำให้นึกถึงกลิ่นในวันแต่งงานทันที ช่วงเวลาที่บ่าวสาวเดินแจกของชำร่วย กลิ่นจะกำจายมาก (สมัยก่อนนิยมแต่งงานในช่วงหน้าหนาว และอากาศก็หนาวเย็นจริงๆ ) ยิ่งนานวันวัฒนธรรมในการใช้เครื่องหอมตัวนี้ยิ่งน้อยลง เด็กสมัยใหม่คงสงสัยว่าทำไม ต้องชื่อบุหงารำไป แล้วคลาน หรือวิ่งไปไม่ได้เหรออออออออ