เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
แอปแจปแอปใจjustalazygurl
09_ชีวิตชีใจ : ความมีชีวิตในภาษา?【アニマシー】
  • สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่านทุกท่าน!

    ยินดีต้อนรับเข้าสู่เอ็นทรี่ที่เก้าของบล็อกแอปแจปแอปใจนะคะ ◡̈


    ทุกคนเคยสังเกตกันไหมคะ ว่าเราใช้คำว่า "เอา" กับคำว่า "พา" ต่างกันอย่างไร


    1. อย่าลืมเอาขวดน้ำไปด้วยนะ

    2. อย่าลืมพาขวดน้ำไปด้วยนะ


    ประโยคที่ฟังดูลื่นหูกว่าคงเป็นประโยคที่ 1 ใช่ไหมล่ะคะ 


    แล้วถ้าเป็นแบบนี้ล่ะ?


    1. อย่าลืมเอาน้องไปด้วยนะ

    2. อย่าลืมพาน้องไปด้วยนะ


    ประโยคที่ลื่นหูกว่าในกรณีนี้คงจะเป็นประโยคที่ 2 เนอะ

    ทุกคนเห็นความแตกต่างอะไรในนี้ไหมคะ?

    พอพูดว่า "พาขวดน้ำไป" แล้วเรานึกถึงภาพจูงมือพาขวดน้ำเดินทันทีเลยค่ะ (ฮา) ในขณะที่ถ้าพูดว่า "เอาน้องไป" ในหัวก็ไม่ค่อยมีภาพน้องเดินเตาะแตะ ๆ เท่ากับตอนใช้คำว่า "พา"

    ที่สังเกตได้ชัดจากตัวอย่างนี้คงจะเป็นการที่ "ขวดน้ำ" เป็นสิ่งไม่มีชีวิต แต่ "น้อง" เป็นสิ่งมีชีวิต


    ลักษณะเหล่านี้เรียกว่า Animacy (ความมีชีวิต) ในภาษา ค่ะ


    ภาษาไทยเป็นภาษาที่ให้ความสำคัญกับ Animacy อยู่บ้างประมาณหนึ่ง แล้วภาษาอื่น ๆ เป็นยังไงบ้างนะ?

    เราลองมาดูภาษาอังกฤษกันค่ะ ลองเทียบกับคำว่า "พา" และ "เอา" ในภาษาไทย ภาษาอังกฤษจะมีคำว่า take กับ bring ซึ่งการใช้ในที่นี้ไม่ได้แยกโดยดูว่าเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่ แต่จะแยกใช้ตาม "ทิศทาง" ค่ะ โดย take จะแปลว่านำหรือพาบางอย่างไปไกลจากผู้พูด ส่วน bring แปลว่านำหรือพาบางอย่างมาหาผู้พูด โดยภาพรวมแล้ว ภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาที่ให้ความสำคัญกับ Animacy น้อยค่ะ


    ต่อมาเรามาดูที่ภาษาญี่ปุ่นกันบ้างดีกว่า ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่ให้ความสำคัญกับ Animacy สูงมากที่สุดในบรรดา 3 ภาษาที่เรายกมาเลยค่ะ อย่างคำว่า "เอา" กับ "พา" ของญี่ปุ่นก็จะมี 持っていく กับ 連れていく คำว่า "ตาย" กับ "เสียชีวิต" ของญี่ปุ่นก็จะมี 死ぬ กับ 亡くなる แล้วก็จะมีอีกอันนึงที่ละเอียดยิบย่อยกว่าในภาษาไทย ก็คือ ある กับ いる นั่นเองค่ะ


    ある กับ いる ในภาษาไทย แปลออกมาว่า "มี" ทั้งคู่ แต่ในภาษาญี่ปุ่นใช้ต่างกันยังไงนะ?

    ถ้าตามที่ผู้เรียนภาษาญี่ปุ่นทุกคนได้เรียนมาตั้งแต่การเรียนในชั้นต้น ก็คือสามารถแยกใช้โดยดูว่าเป็น "สิ่งมีชีิวิต" หรือ"สิ่งไม่มีชีวิต" เช่น「本がある」「妹がいる」ใช่ไหมคะ แต่บางกรณี สิ่งที่ดูน่าจะไม่มีีชีวิตก็ใช้ いる และสิ่งมีชีวิตก็ใช้ ある ได้เช่นกัน เพราะว่าจริง ๆ แล้วมันมีปัจจัยอื่นนอกเหนือจากนี้ด้วยค่ะ


    และหนึ่งในนั้นก็คือ "การเคลื่อนไหว" ค่ะ สิ่งที่ไม่มีชีวิตก็ใช้ いる ได้เช่นกัน ถ้าสิ่งนั้นเคลื่อนที่ได้ไวตามใจนึก เช่น

    「そこにバスがいるよ」ตรงนั้นมีรถประจำทางอยู่นะ (รถอาจจะวิ่งอยู่)

    「そこにバスがあるよ」ตรงนั้นมีรถประจำทางอยู่นะ (รถอาจจะจอดนิ่ง)

    「すずめがいる」มีนกกระจอกอยู่ (นกบินได้อย่างอิสระ)

    「すずめがある」มีนกกระจอกอยู่ (นกอาจจะโดนขังอยู่ในกรง)


    อีกปัจจัยหนึ่งคือ "ความเป็นรูปธรรม/นามธรรม" ของสิ่งที่เราพูดถึงค่ะ โดยปกติแล้วเราจะใช้ いる กับสิ่งมีชีวิต แต่ถ้าเราต้องการจะกล่าวถึงสิ่งนั้นในแง่ของการบอก "สถานภาพ" จะมีความเป็นนามธรรมขึ้นมา ทำให้ใช้ ある ได้ ดังนี้ค่ะ

    「僕には子供がいます」ผมมีลูก (กล่าวถึงลูกปกติ เป็นเชิงรูปธรรม)

    「僕には子供があります」ผมมีลูก (กล่าวถึงสถานะว่าตนมีลูกแล้ว แสดงถึงการครอบครองในเชิงนามธรรม)


    และอย่างสุดท้ายคือขึ้นกับ "มุมมองของผู้พูด" เลยค่ะ อย่างเด็ก ๆ ที่ชอบเล่นตุ๊กตา ก็จะมองว่าตุ๊กตาเป็นเพื่อนเล่นของตัวเองที่มีชีวิตจิตใจจริง ๆ กรณีนี้เด็ก ๆ ก็จะใช้ いる กับตุ๊กตานั้น ๆ ค่ะ เช่น

    「お母さん!ぼーちゃんどこにいるかわかる?」แม่คะ! รู้มั้ยว่าโบจัง(ชื่อตุ๊กตา)อยู่ไหน


    ก่อนจะจากไป เรามาสรุปรวบยอดกันอีกทีดีกว่า!

    Animacy (ความมีชีวิต) ในภาษาญี่ปุ่น ในหัวข้อของการใช้ いる・ある มีหลักในการแยกใช้ดังนี้ค่ะ

    • สิ่งที่มีชีวิต / ไม่มีชีวิต
    • การเคลื่อนไหวไวตามใจนึก / ไม่เคลื่อนไหว หรือเคลื่อนไหวช้า
    • ความเป็นรูปธรรม / นามธรรม
    • ความมีชีวิต / ไม่มีชีวิตที่ขึ้นอยู่กับมุมมองผู้พูด

    สำหรับเอ็นทรี่ที่เก้าก็ขอจบไว้ที่เท่านี้ค่ะ และนี่ก็น่าจะเป็นเอ็นทรี่สุดท้ายของบล็อกแอปแจปแอปใจนี้แล้ว ขอบคุณคุณผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามกันมาถึงตอนนี้นะคะ หวังว่าบล็อกของเราจะทำให้คุณผู้อ่านสนใจภาษาญี่ปุ่นหรือภาษาศาสตร์ได้มากขึ้น และสามารถเป็นประโยชน์ได้ไม่มากก็น้อยนะคะ 🤍 หากมีข้อผิดพลาดประการใดก็ขอน้อมรับ และจะนำไปปรับปรุงต่อไปค่ะ ขอบคุณจริง ๆ ค่ะ 🙏🏻


    หวังว่าจะได้พบกันใหม่ค่ะ ◡̈

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
k.l.k (@k.l.k)
animacy เป็นอะไรที่ ญี่ปุ๊น ญี่ปุ่นมาก (ไม่รู้ภาษาอื่นเขามีไหม) คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญแยกเรื่องมีชีวิต จริงๆ การสรุปเริ่มจากไอเดียหลักและเข้าที่ตัวอย่างที่น่าสนใจ ทำให้เข้าใจง่ายมากค่ะ blog นี้ลงอย่างต่อเนื่อง เลือกหัวข้อหลากหลาย ดีมากเลยค่ะ
ある、いる เป็นอะไรที่ยากเหมือนกันนะคะ ตอนเริ่มเรียนแรก ๆ ก็เข้าใจว่าแค่แยกสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต แต่ถ้าอย่างสิ่งมีชีวิตที่อยู่นิ่ง ๆ แบบต้นไม้ก็น่าจะต้องใช้ ある อีก เพิ่งรู้เลยค่ะว่าต้องพิจารณาเรื่องอื่น ๆ หรือบางครั้งก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้พูดด้วย😂