เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
แอปแจปแอปใจjustalazygurl
07_สื่อสารสื่อใจ : สื่อสารกับคนญี่ปุ่นยังไงให้ราบรื่น!【コミュニケーション】
  • สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่านทุกท่าน!

    ยินดีต้อนรับเข้าสู่เอ็นทรี่ที่เจ็ดของบล็อกแอปแจปแอปใจนะคะ ◡̈


    เวลาเราคุยกับคนต่างชาติ หลาย ๆ ครั้งอาจจะต้องเจอกับปัญหา miscommunication ที่เกิดจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน จนอาจจะนำไปสู่การผิดใจกันขึ้นมาได้บ้าง บางคำพูดในภาษาไทยอาจจะไม่แปลก แต่พอแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นแล้วมันอาจจะดูแปลก หรือเสียมารยาทสำหรับคนญี่ปุ่นก็ได้!

    เพราะฉะนั้น วันนี้เราจึงอยากจะมาแนะนำทริคในการสื่อสาร 5 ข้อที่รู้ไว้แล้วจะช่วยให้คุยกับคนญี่ปุ่นได้อย่างราบรื่นค่ะ ซึ่งจะมีทั้งทริคในการพูดคุยและการสื่อสารผ่านการเขียนรวมไว้อยู่ใน 6 ข้อนี้ จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเล้ย


    1. อย่าพูดว่า "ห๊ะ" หรือ "หา"!

    คำอุทานอย่าง "ห๊ะ" หรือ "หา" คงจะเป็นคำที่ได้ยินทั่วไปในชีวิตประจำวันในไทยใช่ไหมคะ ตอนที่เราได้ยินฝ่ายตรงข้ามไม่ชัด ก็อาจจะพูดว่า "ห๊ะ" เพื่อให้อีกฝ่ายรับรู้และพูดอีกที ไม่ก็เวลาได้ฟังอะไรที่น่าตกใจ เราก็อาจจะเผลออุทาน "ห๊ะ" หรือ "หา" ออกมาเป็นปกติ แต่ทุกคนรู้ไหมคะว่า「はぁ?」สำหรับคนญี่ปุ่นนั้น ถือว่าเป็นคำสั้น ๆ ที่กระทบต่อจิตใจและได้รับ emotional damage ไม่เบาเลยทีเดียว!


    การอุทานว่า「はぁ?」ในภาษาญี่ปุ่นนั้น จะทำให้ผู้ฟังมีความรู้สึกว่าตัวเองกำลังโดนหาเรื่องอยู่และรู้สึกไม่ดีค่ะ ให้ฟีลว่าคนพูดกำลังโกรธ อารมณ์แบบพวกแยงกี้หรือยากูซ่าหาเรื่องกันอะเนอะ เพราะฉะนั้นเรามาเลี่ยงการอุทานว่า "ห๊ะ" เวลาสนทนากับคนญี่ปุ่นกันนะคะ แนะนำให้อุทาน「え?」ไว้ให้ติดปาก จะดูเป็นนิฮงจินที่สุดค่ะ 😂

    อิมเมจของการอุทานว่า หา? ในภาษาญี่ปุ่นเป็นยังไง ลองดูจากท่อนก่อนเข้าฮุก (นาทีที่ 0:50) ของเพลง うっせぇわ ของคุณ Ado ได้นะคะ 😂

    2. ไม่ควรบอกข้อมูลส่วนตัว (ที่ไม่เกี่ยวและไม่จำเป็น) ให้ผู้ฟังรู้

    สมมติว่าเราจะลาเรียนเพราะท้องเสีย สำหรับคนไทยแล้ว การบอกเหตุผลให้อาจารย์รู้ตรง ๆ ไปเลยว่าท้องเสีย ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกใช่ไหมล่ะคะ? (หรือบางทีถ้าบอกแค่ว่าไม่สบาย อาจจะถูกซักเพิ่มด้วยซ้ำว่าเป็นอะไร ไม่สบายตรงไหน)

    แต่กับคนญี่ปุ่น เราไม่จำเป็นจะต้องไปแจ้งรายละเอียดให้เขาทราบขนาดนั้นค่ะ แค่แจ้งภาพรวมว่าเราไม่สบาย คอนดิชั่นไม่ดีก็เพียงพอแล้ว ใช้คำว่า 体調不良 ก็เพียงพอ ไม่ต้องไปถึงขั้น 下痢 ค่ะ 😅


    3. อย่าแสดงความรู้สึกทางลบออกมาชัดเจน

    ในขณะที่คนไทยอาจจะชอบการปฏิเสธให้ชัดเจน ให้รู้ไปเลยว่าอะไรได้ไม่ได้ แต่ถ้าคุยกับคนญี่ปุ่น คงต้องพยายามเลี่ยงการแสดงออกที่ negative สักหน่อยค่ะ ซึ่งในที่นี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะปฏิเสธอะไรไม่ได้เลยนะคะ แต่หมายถึงการที่ควรใช้คำที่อ้อมมากกว่าคำที่ให้ความหมาย negative ตรง ๆ ค่ะ! สมมติถ้าเราต้องการจะบอกกับอาจารย์ว่าเราไม่สามารถไปหาอาจารย์ได้ในวันที่เขากำหนดมา เราก็ไม่ควรพูดตรง ๆ ว่าวันนั้นเรา 無理 แต่ควรใช้คำอ้อม ๆ อย่างเช่น วันนั้นเรามีธุระ...แล้ว พร้อมเสนอทางเลือกไปว่า ถ้าเป็นวันที่...จะสะดวกไหม แทนค่ะ


    4. ไม่ควรพูดถึงการกระทำหรือความรู้สึกของผู้ฟังโดยตรง

    เมื่อเราต้องการจะพูดถึงการกระทำของฝ่ายตรงข้าม ในภาษาญี่ปุ่นควรพูดจากมุมมองของตัวเองมากกว่า อย่างเช่น ถ้าเราอยากจะบอกว่า เราส่งเมลหาอาจารย์ไป แต่ดูเหมือนว่าอาจารย์ยังไม่ได้รับเมล ในภาษาไทยเราคงจะพูดตรง ๆ แบบนี้ได้เลยใช่ไหมคะ แต่พอเป็นภาษาญี่ปุ่น เราไม่ควรใช้อาจารย์เป็นประธานของประโยคแล้วกล่าวตรง ๆ ว่า「先生はメールをもらわなかったそうです」แต่ควรเปลี่ยนให้ประธานของประโยคเป็นเมล แล้วพูดว่า「メールが先生に届かなったそうです」เพื่อความสุภาพยิ่งขึ้นค่ะ อาจจะดูเป็นเรื่องหยุมหยิม แต่มันก็เป็นความต่างทางวัฒนธรรมที่ทำให้คนเราคิดต่างกันแหละเนอะ


    5. อย่าเพิ่งขอบคุณ ถ้าอีกฝ่ายยังไม่ตกลงจะทำให้

    คนไทยเราเวลาขอให้อีกฝ่ายทำอะไรให้ เราก็คงพูดคำว่า "ขอบคุณ" กันติดปากเป็นปกติใช่ไหมล่ะคะ? เราสามารถพูดว่า "ช่วย...ให้หน่อยได้ไหมคะ ขอบคุณค่ะ" โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องรออีกฝ่ายตอบรับคำขอ แต่ในภาษาญี่ปุ่น เราไม่ควรจะพูด「ありがとうございます」ไปก่อน เพราะมันจะกลายเป็นการ assume ว่าอีกฝ่ายยินดีจะทำให้เราแล้ว จึงทำให้ดูไม่สุภาพค่ะ

    ทีนี้อาจจะสงสัยกันว่างั้นเราควรพูดว่าอะไรแทนขอบคุณกันนะ คำตอบก็คือ「お願いします」หรือ「お願い致します」ค่ะ! ถ้าอีกฝ่ายตอบรับที่จะทำหรือทำตามคำขอเสร็จเมื่อไหร่ค่อยพูด「ありがとうございました」จะดูสุภาพและเป็นธรรมชาติมากกว่าในภาษาญี่ปุ่นค่า


    ก็จบกันไปแล้วนะคะกับทริคสื่อสาร 5 ข้อที่รู้ไว้แล้วจะช่วยให้คุยกับคนญี่ปุ่นได้อย่างราบรื่นในเอ็นทรี่นี้ เป็นอย่างไรกันบ้างคะ? จะเห็นได้ว่าบางอย่างที่ดูปกติในวัฒนธรรม ในภาษาเรา พอไปอยู่กับวัฒนธรรมที่ต่างกันแล้ว คนเราก็จะมีความคิดที่ต่างออกไปจริง ๆ เนอะ


    เราคงยกตัวอย่างกรณีการสื่อสารกับอาจารย์ หรือคนที่อาวุโสกว่าเราไปค่อนข้างเยอะใช่ไหมคะ ในที่นี้เราเลยอยากทิ้งท้ายเกี่ยวกับประเด็นนี้อีกสักหน่อยค่ะ สำหรับคนไทย ไม่ว่าอีกฝ่ายจะมีอายุมากกว่าหรือมีสถานะสูงกว่าเรายังไง แต่ถ้าเราสนิทกันแล้ว แนวโน้มที่อีกฝ่ายจะยอมให้เราพูดหยอกล้อโดยละทิ้งสถานะสูงต่ำไปจะค่อนข้างสูงค่ะ อาจารย์กับนักเรียนบางคนอาจจะพูดคุยกันได้เหมือนเพื่อนเลย แต่สำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว ไม่ว่ายังไงสถานะ(上下関係)ก็สำคัญกว่าความสนิทสนมค่ะ สถานะจะยังเป็นสถานะ ความอาวุโสก็ยังเป็นความอาวุโสอยู่ ถึงจะสนิทกันแต่ก็ไม่สามารถละทิ้งความสุภาพและมารยาทตามสถานะไปได้ค่ะ เพราะฉะนั้นอาจจะต้องระวังกันนิดนึงเนอะ!


    สำหรับวันนี้เราขอฝากไว้เท่านี้นะคะ หากมีข้อผิดพลาดประการใดหรือมีข้อเสนอแนะอย่างไรสามารถทิ้งไว้ได้ที่ใต้คอมเมนต์เลยค่ะ! ขอบคุณคุณผู้อ่านทุกท่านอีกครั้งนะคะ 🤍


    แล้วพบกันใหม่ค่ะ ◡̈

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
ตอนอยู่ปี 1 เคยเขียนเมลล์หาอาจารย์คนญี่ปุ่น (ส่งงานให้เขาตรวจ) แล้วใส่ ありがとうございます ลงท้ายไป โดนอาจารย์ดุเลยค่ะฮือ (ก็คนไทยเราพูดว่าขอบคุณตลอดเนอะ) จำไม่ลืมเลย5555 การสื่อสารภาษาต่างประเทศกับคนต่างชาติเนี่ยมีข้อควรระวังเยอะจริง ๆ ค่ะ🥲
k.l.k (@k.l.k)
เทคนิคเหล่านี้น่าจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดข้ามวัฒนธรรมได้ สรุปความผิดที่มักเจอบ่อยๆนะคะ มีประโยชน์มากค่า