เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
LONELY LAND ดินแดนเดียวดายBUNBOOKISH
คำนำ

  • 1.

    “นี่จะกลับบ้านหรือออกไปทำงานครับ”

    ขึ้นมานั่งในรถแท็กซี่ได้ไม่กี่นาที คุณลุงคนขับก็เอ่ยปากทักทาย นาฬิกาที่หน้าจอโทรศัพท์บอกว่าอีกไม่กี่นาทีจะตีสี่ เวลาแบบนี้ใครจะออกไปทำงาน เราคิดในใจ...

    “กลับบ้านค่ะ”

    “โห...”

    เสียงตอบจากลุงคนขับเหมือนในใจกำลังคิดว่า เวลาแบบนี้ใครจะเพิ่งกลับบ้าน (ทีลุงก็ยังทำงานอยู่เหมือนกัน)

    “ทำงานอะไรเนี่ย” ลุงถามต่อ

    แต่เวลาแบบนี้นี่แหละที่อย่าว่าแต่ให้อธิบายว่าทำงานทำการอะไร แล้วทำไมถึงเพิ่งมากลับเอาป่านนี้ แค่จะเอ่ยปากบอกลุงว่า ที่จริงถ้าเราเลี้ยวขวาตรงแยกเมื่อกี้เราจะออกถนนใหญ่ได้เร็วขึ้น ก็ยังไม่มีแก่ใจ

    เราทำเป็นไม่ได้ยินคำถาม (นิสัยไม่ดี) แล้วก็กดโทรศัพท์เล่นเรื่อยเปื่อยแต่ลุงก็ดูไม่หมดความพยายามที่จะชวนคุย

    “ปกติลุงขับกลางวัน นี่เพิ่งเปลี่ยนมาขับหลังเที่ยงคืน สบายกว่าเยอะ”

    “อ่อ ค่ะ”

    หลังจากนั้นไม่ว่าลุงแกจะคุยหรือส่งคำถามอะไรมา เราก็ทำ เป็นได้ยินบ้างไม่ได้ยินบ้าง ตอบกลับไปแบบขอไปทีบ้าง ทั้งที่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับลุง จะมีก็แต่ปัญหากับความง่วงของตัวเองนี่แหละ

    “แต่ขับกลางคืนมันเหงา ผู้โดยสารเขาไม่ค่อยคุยด้วย”

    โห... (อันนี้แค่คิดในใจ) จะมีกี่ครั้งกันที่คนเราจะได้ใช้เวลานั่งอยู่กับคนแปลกหน้า แล้วได้ยินเขาบอกว่าเหงา อยู่ๆ ก็เหมือนลุงเปลี่ยนบรรยากาศรอบตัว ตั้งแต่ในรถ ไปจนถึงถนนหนทาง และทุกอย่างที่รถวิ่งผ่านให้กลายเป็นฉากหนึ่งในหนังของหว่อง การ์ ไว
    —ผู้กำกับที่หยิบจับอะไรก็ดูจะเหงาไปเสียหมด

    2.

    ตอนเบลล์บอกว่าอยากเขียนหนังสือเดินทางอย่างคนอื่นเขาบ้าง และว่าจะเขียนเกี่ยวกับฮ่องกง... เราหาความเชื่อมโยงระหว่างผู้ชายอย่างเบลล์กับประเทศที่ส่วนมากมีแต่คนบอกว่าจะไปช้อปปิ้งอย่างฮ่องกงไม่ออก จนกระทั่งเบลล์บอกว่า ผมไปเยี่ยมญาติที่ฮ่องกงบ่อยครั้ง น่าจะเหมือนที่คนอื่นเขากลับบ้านต่างจังหวัดช่วงวันหยุดยาวอะไรแบบนั้น ถึงได้เข้าใจ คำว่าเดินทางของเบลล์ ไม่ได้หมายถึงการออกไปเที่ยว แต่หมายถึงการกลับไปหา

    “แล้วฮ่องกงมีอะไรอีก”

    “มันเหงาๆ ดีนะพี่”

    คนอะไร ไม่เหงาแต่ชอบกลับไปที่ที่ตัวเองบอกว่าเหงา

    3.

    เคยอ่านเจอว่า ‘ความเหงา’ มีอันตรายกับคนเรามากกว่าที่คิด ถึงขนาดมีงานวิจัยออกมารองรับว่า มันสามารถบั่นทอนจิตใจและร่างกายของคนเหงาได้พอๆ กับที่เขาเป็นโรคอ้วนหรือสูบบุหรี่เลยทีเดียว

    ไม่ยุติธรรมเลย เพราะโรคอ้วนเรายังรู้สาเหตุและป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นกับตัวเองได้ หรืออย่างการสูบบุหรี่ แค่เลือกที่จะไม่สูบแต่แรกก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่กับความเหงา เราไม่เห็นจะรู้ตัวว่ามันจะเกิดหรือไม่เกิดกับเราได้ยังไง

    ดูอย่างคุณลุงคนขับแท็กซี่สิ ขับรถอยู่ดีๆ ยังเหงาได้เลย



  • บางสิ่งจะปรากฏชัดต่อเมื่อเราถอยออกมามองมันจากระยะไกล—ความคิดถึงเป็นหนึ่งในนั้น

    ตอนนี้ผมคิดถึงฮ่องกงเหลือเกิน

    หากเปรียบฮ่องกงเป็นใครสักคน, เมื่อแรกเริ่ม ก่อนที่ตัวอักษรแรกในหนังสือเล่มนี้จะถูกพิมพ์ ความสัมพันธ์ระหว่างเรานั้นอยู่ในระดับปกติ

    เป็นคนที่คล้ายจะรู้จักกันดีแต่ก็ไม่เคยทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างเรา เป็นคนคุ้นเคยแต่ก็ไม่ได้เรียกร้องโหยหา เป็นคนที่ได้เจอก็ดี แต่ไม่ต้องพบเจอก็ได้ จนเมื่อตัวอักษรสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ถูกพิมพ์ ความรู้สึกของผมที่มีต่อฮ่องกงก็กลับกลายเป็นอีกอย่าง

    ด้วยอาชีพการงานทำให้ผมได้พบเจอพูดคุยกับผู้คนมากมาย หน้าที่หนึ่งของผมที่ต้องรับผิดชอบประจำทุกเดือนคือการทำบทสัมภาษณ์

    ไปพบเจอ พูดคุย แล้วอัดเสียงกลับมา เพื่อเรียบเรียงส่งต่อสารอันมีพลัง

    ฟังดูเหมือนไม่มีอะไรยุ่งยาก—แต่ก็ไม่ง่าย

    ในกระบวนการทั้งหมด มีขั้นตอนหนึ่งที่เหมือนจะใช้แต่ความอึด ไม่ต้องเปลืองสมอง คือการถอดเทป

    คนทำนิตยสารหลายคนร้องยี้กับขั้นตอนนี้ บางคนถึงกับไหว้วานให้คนอื่นช่วยทำ เพราะต้องนั่งพิมพ์ทุกประโยคที่ผู้ถูกสัมภาษณ์พูด ยิ่งคุยนานยิ่งกินความยาวหลายหน้ากระดาษ จากประสบการณ์ส่วนตัว คอลัมน์สัมภาษณ์ใหญ่ ผมต้องถอดเทปออกมาไม่ต่ำกว่าสี่สิบหน้าเอสี่

    แต่สิ่งที่ผมค้นพบจากการถอดเทปคือ เรามักพบเจอประโยคที่เราไม่ได้ยินขณะพูดคุย

    หรือบางประโยคที่เราได้ยินอยู่แล้ว แต่เมื่อได้ฟังซ้ำเรากลับรู้สึกกับมันมากกว่าเดิม และบ่อยครั้ง เรามักสงสัยบางอย่าง ทั้งที่ตอนฟังเราไม่สงสัย

    เพราะฉะนั้น ในแง่หนึ่งการถอดเทปจึงเป็นการทบทวน ซึ่งการทบทวนไม่ได้ใช้ความอึดเพียงอย่างเดียว

    มันต้องใช้ทั้งสมอง เรียกร้องทั้งหัวใจ

    การกลับมานั่งเขียนถึงฮ่องกงไม่แตกต่างกัน ในขณะที่ไล่ดูภาพถ่ายผมก็ได้เห็นในสิ่งที่ไม่ได้เห็นขณะหยิบกล้องขึ้นมาถ่าย เมื่อกลับมาอ่านบันทึกที่จดไว้ในสมุดผมก็รู้สึกบางอย่างเพิ่มเติมและแตกต่างออกไปจากที่เคยรู้สึก

    ดินแดนเดียวดาย จึงไม่ใช่เพียงบทบันทึกความรู้สึกของผมขณะอยู่ที่ฮ่องกงเท่านั้น แต่มันยังเป็นบทบันทึกความรู้สึกจากการย้อนกลับไปทบทวนสิ่งที่พบเจออีกครั้งด้วย

    ท้ายที่สุด—สำคัญที่สุด, จากการเขียนหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมพบว่า การทบทวนเท่านั้นที่ทำให้เราได้ฟังในสิ่งที่เราได้ยิน การทบทวนเท่านั้นที่ทำให้เราได้เห็นในสิ่งที่เราได้มอง การทบทวนเท่านั้นที่ทำให้เราได้สัมพันธ์ในสิ่งที่เราได้สัมผัส

    และการทบทวนเท่านั้นที่ทำให้เราได้เห็นสิ่งพิเศษในดินแดนแสนคุ้นเคย

    ขอให้ทุกคนเดินทางและทบทวนโดยสวัสดิภาพใน
    ดินแดนเดียวดาย


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in