เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Kashmir if you can
BUNBOOKISH
Why India?


  • อินเดียเป็นประเทศที่น่าค้นหา มีหลากหลายวัฒนธรรมให้เรียนรู้ เป็นแหล่งกำเนิดของศาสนาสำคัญๆ ของโลกหลายศาสนา พวกเราจึงอยากไปเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากเดิม…

    เปล่า—เราไม่ได้มีเหตุผลเท่ๆ แบบนั้น

    วันนึงเรากับแอม—เพื่อนสนิท คิดกันว่าอยากไปเที่ยวช่วงปลายปีกันสักทริป แต่จะไปไหนดี? จะเริ่มยังไงดี? ว่าแล้วเราสองคนเลยตรงเข้าร้านหนังสือ ตกลงกันว่าจะหาหนังสือท่องเที่ยวหลายๆ ประเทศมาดูข้อมูลและจัดอันดับในใจคนละสามอันดับ ก่อนเอามาเลือกว่าจะไปประเทศไหนกันดี

    เราสองคนเดินสำรวจชั้นหนังสือหมวดท่องเที่ยว เลือกหยิบเล่มที่เป็นประเทศที่อยากไป (บางเล่มตอนแรกก็ไม่ได้อยากไป แต่เห็นว่าปกสวยเลยหยิบมาด้วย) มีทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เกาหลี ญี่ปุ่น แอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ด้วยความที่เวลามีน้อย เราใช้วิธีเปิดดูรูปผ่านๆ เล่มไหนยังไม่โดนก็เอาไปเก็บ ตอนเอาไปเก็บ ถ้าเจอเล่มไหนน่าสนใจก็หยิบมาเพิ่มอีก สรุปว่าเอาไปเก็บเล่มหนึ่งได้กลับมาอีกสามเล่ม วนเวียนอยู่แบบนี้เป็นชั่วโมง

    แล้วเราสองคนก็จัดอันดับประเทศที่อยากไปของตัวเองได้ แต่มีประเทศเดียวที่เราทั้งคู่อยากไปเหมือนกันคือ ‘อินเดีย’ ทั้งที่ไม่มีใครหยิบหนังสือกี่ยวกับอินเดียมาเลือกเลยด้วยนะ แล้วจะเข้าไปเลือกทำไมตั้งนานสองนาน…

  • ถึงจะเริ่มต้นด้วยการมีอินเดียเป็นตัวเลือกสำคัญ แต่คืนนั้นเราสองคนก็กลับบ้านมานั่งหาข้อมูลประเทศอื่นๆ ในอินเทอร์เน็ตต่ออยู่ดี ด้วยความตื่นเต้นเลยอดไม่ได้ที่จะตั้งสเตตัสบอกเพื่อนฝูงในเฟซบุ๊คให้อิจฉาเล่นว่ากำลังหาทริปไปเที่ยวปลายปีอยู่

    “ไปทริปเล็กกับพี่ก่อนมั้ย” พี่กิ๊ก (พี่ที่รู้จักกันตอนเรียนคอร์สสั้นๆ สำหรับเขียนหนังสือ) มาคอมเมนต์ทิ้งไว้เป็นคำถาม ไม่รู้ตอนนั้นพี่กิ๊กคิดจะชวนจริงจังมั้ย แต่มันเป็นจุดเริ่มต้นให้เราพิมพ์ถามกลับไปทันทีว่า “พี่กิ๊กจะไปไหนเหรอคะ เผื่อแพรขอติดไปด้วย”

    แล้วก็ได้คำตอบกลับมาว่า “พี่จะไปแคชเมียร์ (Kashmir)”

    ‘แคชเมียร์’ แวบแรกที่เราคิด—มันคือที่ไหนวะ?


  • •    เสิร์ชชื่อ ‘แคชเมียร์’ ในอินเทอร์เน็ตก็พบว่า เป็นแคว้นหนึ่งในประเทศอินเดีย (แคว้นก็น่าจะคล้ายๆ กับรัฐของสหรัฐอเมริกา) แต่แคชเมียร์อาจจะไม่อินเดี๊ยอินเดียซะทีเดียว เพราะดูจากแผนที่แล้วอยู่เลยขึ้นไปทางเหนือ ห่างไกลจากนิวเดลี (New Delhi) เมืองหลวงของอินเดียพอสมควร

    •    พอคนรอบตัวรู้ว่าเราจะไปแคชเมียร์ หลายคนบอกตรงกันว่าวิวสวย (ลองเสิร์ชรูปภาพดูแล้ว
    แคชเมียร์ก็มีภูเขากับแม่น้ำดูสวยดี)

    •    คงมีอาหารหลักเป็นแกงกะหรี่กับมะตะบะ

    •    พี่กิ๊กบอกว่าคนที่นู่นเป็นอิสลาม ห้ามพกหมูหยองไปเด็ดขาด

    •    อาจจะมีโอกาสได้ปลดทุกข์ตามท้องถนน ป่าเขาลำเนาไพรบ้าง เดี๋ยวหากางเกงถอดง่ายไปดีกว่า เผื่อเอาเข้าจริงจะได้ไม่ลำบาก

    •    พรมแคชเมียร์…น่าจะเป็นของดังอยู่นะ

    ป.ล. ทั้งหมดนี้เป็นการนึกเอาเองก่อนเดินทางทั้งนั้น อย่าเพิ่งเชื่อนะ…ขอร้อง



  • เพื่อนซี้ตั้งแต่มัธยมต้น ชอบเดินทางท่องเที่ยวเหมือนกัน เราเลยทำแบรนด์เสื้อผ้าเล็กๆ ร่วมกัน เพื่อหาเงินไว้ไปเที่ยวด้วยกันบ่อยๆ


    เจ้าของบริษัททัวร์ที่รู้จักตอนเรียนคอร์สสั้นๆ ด้วยกันเมื่อสามสี่ปีก่อน หลังจากนั้นเราก็ติดต่อกันทางเฟซบุ๊คเป็นระยะๆ



  • ปกติการทำวีซ่าเข้าประเทศอินเดียสามารถยื่นเอกสารผ่านตัวแทน (เอเจนซี่) จ่ายเงินและรอรับวีซ่าไปกินโรตีได้สบายๆ แต่ช่วงที่เราจะไป ประเทศพี่เขาเกิดเปลี่ยนกฎกติกามารยาท เรียกทุกคนที่จะเดินทางเข้าประเทศอินเดียให้มาสแกนนิ้วระบุตัวตนในการขอวีซ่าก่อน ซึ่งกฎกติกานี้เพิ่งจะมาเปลี่ยนเอาสี่วันก่อนที่เราจะยื่นขอวีซ่าด้วยนะ…เป็นโชคดีของอีนี่ฉันจริงๆ นะนาย

    วันขอวีซ่า เรา แอม และพี่กิ๊กนัดเจอกันที่ศูนย์รับทำวีซ่าประเทศอินเดีย (อยู่ในอาคารใกล้รถไฟฟ้าใต้ดินสถานีเพชรบุรี) มีเอกสารที่ต้องยื่นแค่ของเราและแอมเท่านั้น ส่วนพี่กิ๊กมีวีซ่าอยู่แล้ว เพราะวีซ่าของอินเดียเป็นแบบ Double Entry คือสามารถเข้าออกได้สองครั้งภายในหกเดือน พี่กิ๊กเพิ่งใช้ไปแค่ครั้งเดียวเมื่อไม่กี่เดือนก่อน เลยยังสามารถใช้เข้าประเทศเขาได้อีกครั้ง

    น่าจะเป็นเพราะกฎใหม่ที่คนขอวีซ่าต้องมาสแกนนิ้วด้วยตัวเอง คนที่มายื่นเอกสารแทนคนอื่นจึงต้องหันหลังกลับตั้งแต่หน้าประตู วันนั้นเลยมีคนไม่มากนัก (หรือน้อยทุกวันก็ไม่รู้) เรากับแอมเห็นทางโล่งก็เลยเดินเข้าไปยื่นเอกสารอย่างหน้าชื่นตาบาน แต่ปรากฏว่าโดนปฏิเสธตั้งแต่ด่านแรก เพราะรูปถ่ายของเราใช้ไม่ได้ทั้งคู่ คือทางสถานทูตกำหนดให้ใช้รูปขนาด 2 นิ้ว แต่รูปของเราถึงจะสูง 2 นิ้ว แต่ดันกว้าง 1.835 นิ้ว ขาดไปอีก 0.165 นิ้ว…

    ที่จริงด้านที่ขาดไปก็เป็นแค่พื้นหลังขาวๆ เราก็ไม่ทราบว่าพี่เขาจะเอาด้านขาวๆ ขนาด 0.165 นิ้ว นั้นไปทำอะไร แต่อาหมวยตัวเล็กๆ อย่างเราจะไปอ้อนวอนอะไรเขาได้ เมื่อพี่เขาให้ไปถ่ายใหม่เราก็ต้องไปถ่ายใหม่ แต่โชคดีที่ไม่ต้องไปไหนไกล เพราะที่นี่มีบริการตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติ (หน้าตาคล้ายตู้ถ่ายสติ๊กเกอร์) ที่สามารถปริ๊นต์รูปขนาดจัมโบ้ (ที่ปกติตามร้านอัดรูปคิดใบละ 3 บาท) เอามาตัดเป็นรูป 2x2 นิ้ว ได้ 6 รูป ในราคา 200 บาท โห! แต่ก็ต้องยอมจ่ายไปแบบไม่เต็มใจเท่าไหร่นัก

    ไม่เป็นไร ถ่ายใหม่ทั้งทีขอยิ้มแฉ่งเลยแล้วกัน



  • หลังจากเรากับแอมยื่นเอกสารและสแกนนิ้วเป็นที่เรียบร้อย พี่กิ๊กเกิดเอะใจว่าวีซ่าของตัวเองยังใช้ได้มั้ย เลยลองส่งให้เจ้าหน้าที่เขาดูหน่อย เจ้าหน้าที่รับวีซ่าไปเปิดดู แล้วก็ได้คำตอบกลับมาว่า… “วีซ่านี้ใช้ไม่ได้แล้วค่ะ” จากที่กะถามไปงั้น เลยกลายเป็นเรื่องจริงจังขึ้นมา

    “อ้าว ทำไมล่ะคะ มันต้องได้สองครั้ง นี่เพิ่งไปมาแค่ครั้งเดียว แล้วยังไม่ถึงหกเดือนด้วย” พี่กิ๊กโวยวาย ก่อนจะได้คำตอบว่าเพราะบนวีซ่ามีแสตมป์อยู่ก็ถือว่าใช้ไม่ได้แล้ว เราสามคนหันมองหน้ากันไปมา พี่กิ๊กพยายามอธิบายว่าแสตมป์เจ้าปัญหานี้ ก็ได้มาจากต.ม. ตอนที่ไปอินเดียครั้งก่อน ยังไม่ถึงหกเดือนเลยด้วยซ้ำ แต่พูดไปยังไงก็ดูเหมือนเจ้าของประเทศเขาจะยืนยันว่าใช้ไม่ได้ สุดท้ายพี่กิ๊กเลยต้องรีบทำเรื่องขอวีซ่าใหม่ให้ทันวันเดินทางอยู่ดี

    จนถึงตอนนี้ แสตมป์เจ้าปัญหาบนวีซ่าพี่กิ๊กนั้นคืออะไร และทำไมถึงทำให้เข้าประเทศอินเดียรอบสองไม่ได้ ก็ยังเป็นปริศนาคาใจที่ไม่มีใครรู้






  • ก่อนเดินทาง หลายคนอาจต้องเตรียมพร้อมเรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก่อนเสมอ แต่เราคิดว่าเสื้อผ้านี่ไปที่ไหนก็มีขาย ถ้าเอาเสื้อผ้าไปไม่ครบจริงๆ ก็ไม่เห็นจะน่ากังวลเท่าไหร่

    แต่ทุกครั้งที่มีแผนจะออกเดินทาง สิ่งแรกที่เราต้องเตรียมพร้อมเอาไปด้วย คือ ‘สมุด’ รวมไปถึงอุปกรณ์ในการจด วาด ตัด แปะ ต่างๆ โดยเลือกจากฟังก์ชั่นการใช้งานของตัวเองเป็นหลัก เช่น เลือกสมุดขนาดประมาณ A5 เพื่อจะได้มีพื้นที่สำหรับแปะ วาด และเขียนสบายๆ ไม่ใหญ่เกินไปสำหรับพกพาและไม่เล็กเกินไปที่จะวาดหรือเขียนอะไรลงไป ส่วนกระดาษเนื้อในก็อยากได้หนากว่ากระดาษสมุดทั่วไปสักหน่อย เอาไว้วาดรูปสีน้ำได้ด้วย ส่วนปกก็ต้องมีความแข็งแรงพอที่จะพกหรือหยิบใช้ได้สะดวกและทนทานไม่พังง่าย

    หลังจากหาสมุดและอุปกรณ์ต่างๆ หลายแบบมาลองใช้ก่อนเดินทาง สุดท้ายทริปนี้ อุปกรณ์วาดเขียนที่เราจะแพ็คลงกระเป๋าไปด้วยก็คือ


  • สมุดสเก็ตช์ของ monologue ขนาด A5 ไม่ใหญ่ไม่เล็กเกินไป กระดาษหนา 140 แกรม กำลังเหมาะกับการวาดสีน้ำ



    สำคัญไม่แพ้สมุด ด้ามโปรดของเราคือ Lamy ขนาดหัว EF (จับถนัดมือและเขียนสนุกมาก)



    เป็นหมึกดำกันน้ำยี่ห้อ Sailor ฝากน้องสาวซื้อจากร้าน Tokyu Hands ที่ญี่ปุ่น ตอนจัดกระเป๋าเราพยายามสูบหมึกให้เต็มหลอดอยู่เสมอ แต่ก่อนไปสนามบินก็ยังต้องหยิบมาสูบอีกครั้ง (ทั้งที่ก่อนนั้นก็ยังไม่ได้ใช้)

  • นอกจากปากกาด้ามหลักแล้ว ปากกาที่เอาไว้สำรอง (ในกรณีที่ Lamy หมึกหมด) และวาดรูป คือ Sakura Pigma Micron ขนาดหัว 0.5, 01, 02, 03 และ 04 (แทบจะครบทุกเบอร์เอาไปให้หมด)



    สำหรับรูปที่ไม่กล้าลงปากกาก็ใช้ดินสอวาดนำไปก่อน แต่ส่วนใหญ่จะไม่ได้ใช้ พกให้สบายใจไว้ก่อน


  • อันนี้สำคัญมาก เอาไว้ติดแปะสิ่งของต่างๆ ลงสมุด ทริปนี้เราเอาไปสี่ม้วนสี่สีและแบบแผ่นเล็กๆ ที่แบ่งขายอีกหนึ่งแผ่น (ซื้อแบบแบ่งขายเพราะเป็นลายลิมิเต็ดที่แพงจนซื้อทั้งม้วนไม่ไหว) หรือถ้าขยันหน่อย ก่อนเดินทางจะใช้วิธีพันเทปไว้กับดินสอเพื่อแบ่งไปใช้ในทริปก็จะสะดวกมาก



    สำหรับติดแปะในจุดที่ไม่อยากใช้เอ็มทีเทปเช่น ถ้าจะแปะดอกไม้ เราจะใช้เอ็มทีเทปแปะตรงก้าน แต่ส่วนของกลีบดอกจะใช้กาวน้ำแปะ

  • เราเลือกใช้สีน้ำตลับที่ข้างในเป็นสีน้ำอัดเป็นก้อน ง่ายต่อการพกพา


    เป็นพู่กันที่บรรจุน้ำไว้ข้างใน  (Waterbrush) สามารถหยิบมาเปิดฝา จุ่มสีใช้ได้เลย สะดวกมากๆ หาซื้อได้ตามร้านเครื่องเขียน



    สำหรับติดรูปถ่ายโพลารอยด์หรือโปสการ์ดลงในสมุด และสามารถหยิบออกมาได้โดยง่ายและไม่เลอะเทอะ ซื้อได้ตามแผนกเครื่องเขียน



  • ใช้เขียนบนรูปโพลารอยด์ เช่น เวลาถ่ายรูปคนท้องถิ่นก็ให้เขาเขียนชื่อตัวเองลงบนรูปได้เลย


    จริงๆ มีกล้องโพลารอยด์มานานแล้วก็ไม่ค่อยได้ใช้ แต่พอเริ่มทำ Scrapbook กล้องโพลารอยด์ก็เริ่มมีความจำเป็นขึ้นเรื่อยๆ เพราะบางอย่างเราต้องการเก็บใส่สมุดตอนนั้นเลย ซึ่งกล้องดิจิตอลทำไม่ได้ 


  • เอากล้องไปแล้วก็ควรเอาฟิล์มไปให้พอดีหรือเกินๆ เข้าไว้ คำนวณง่ายๆ ถ้าถ่ายวันละสามสี่รูป คูณด้วยจำนวนวัน เป็นจำนวนฟิล์มขั้นต่ำที่ควรเตรียมไป หรือเตรียมไปเผื่อมากกว่านั้น เพราะคนท้องถิ่นที่เจอส่วนใหญ่พอเห็นเราถ่ายรูปเขา เขาก็อยากได้เก็บไว้บ้าง ซึ่งถ้าเรามีแบ่งให้เขา ก็จะเป็นวิธีผูกมิตรที่ดีทีเดียว



    เอาไว้ใช้เป็นโปสการ์ด เลยควรมีความหนา 300 แกรมขึ้นไป เพราะมันต้องเดินทางไกล ต้องแข็งแรงสักหน่อย




  • บางทีพอไปถึงแล้วอยากเขียนหาคนนั้นคนนี้ แต่ไม่รู้จะส่งอย่างไร เพราะไม่มีที่อยู่เขา ทางที่ดีควรขอที่อยู่ติดไว้ด้วย ไม่ส่งครั้งนี้ก็เผื่อส่งครั้งหน้า เราใช้วิธีจดไว้ด้านหลังสมุดที่จะเตรียมไป เพื่อให้ทุกอย่างรวมอยู่ในเล่มเดียวกัน



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in