- Henry Ford Hospital, 1932
หลังจากจำเป็นต้องทำแท้งลูกคนแรกด้วยปัญหาสุขภาพ ฟรีด้าค้นพบว่าอุบัติเหตุที่เธอประสบเมื่อครั้งยังเยาว์วัยทำให้เธอไม่สามารถตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยได้ ฟรีด้าจึงวาดภาพตัวเธอเอง นอนเปลือย และมีอาการตกเลือดบนเตียงในโรงพยาบาลเฮนรี่ ฟอร์ด (Henry Ford Hospital) เพื่อเป็นการระบายความเศร้าโศก และเจ็บปวดออกมา ร่างกายที่ถูกวาดให้บิดงอ ให้ความรู้สึกอับจนหนทางและการจำยอมตัดขาด ความทุกข์ทรมานที่มีถูกแสดงออกผ่านการวาดรูปเอวที่บิดงอไปคนละทางกับใบหน้า
ภาพวาดชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกที่ฟรีด้ามีต่อการแท้งลูกของเธอและดิเอโก โดยเธอได้วาดสิ่งของหกชิ้นลอยรอบ ๆ ตัว ผูกมันไว้ด้วยด้ายสีแดง ที่เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงสายสะดือ และทุกเส้นถูกผูกติดไว้กับท้องด้วยมือข้างซ้าย ตัวอ่อนมนุษย์เพศชาย สื่อถึงลูกที่เธอและดิเอโกกำลังจะสูญเสียไป และไม่อาจมี ทารกในครรภ์ในมุมข้าง เป็นภาพประกอบทางการแพทย์ที่เธอเห็น ดอกกล้วยไม้ อันมีรูปร่างคล้ายมดลูก และหอยทาก อันเป็นการสื่อโดยนัยถึงความล่าช้าในการผ่าตัด
Henry Ford Hospital เป็นผลงานชิ้นแรกที่ฟรีด้าสร้างสรรค์บนโลหะดีบุกแผ่นบาง โดยมีดิเอโกเป็นที่ค้ำจุนอารมณ์ และให้กำลังใจเธอ ในการบำบัดความโศกเศร้าหลังการแท้งลูก เขาแนะนำให้ฟรีด้าวาดภาพชีวิตในปีที่ผ่านมา หากเธอยังไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าต้องการวาดอะไร ภาพวาดชิ้นนี้จึงเป็นการเล่าเรื่องราวที่เธอประสบพบเจอในรูปแบบการผสมผสานระหว่างศิลปะสัจนิยม ความเหนือจริง และภาพวาดพอร์ตเทรท อย่างตรงไปตรงมาที่สุด
โศกนาฏกรรมชีวิตของฟรีด้านั้นทุกข์ทรมานมากเสียจนเธอไม่สามารถสื่อสารมันออกมาได้ เธอจึงพยายามสะท้อนความโศกเศร้าภายในใจผ่านการวาดภาพหายนะที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงคนอื่น โดยการวาดภาพสตรีร่างเปลือยเปล่า ชุ่มโชกไปด้วยเลือด วางตัวนอนลงเบื้องหน้าฆาตกรที่ถือมีด เช่นเดียวกับภาพวาดชิ้นก่อนของเธอ Henry Ford Hospital (1932) ร่างกายของหญิงสาวถูกวาดให้บิดเบี้ยวจนเสียรูป ร่างกายส่วนบน และส่วนล่างหมุนไปคนละทิศละทางแสดงถึงความทุกข์ทรมานอย่างถึงที่สุด
ผลงานชิ้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากข่าวที่ฟรีด้าอ่านเจอบนหนังสือพิมพ์ ข่าวชายหนุ่มที่ทำการฆาตกรรมแฟนสาวของเขาด้วยการแทงด้วยมีดซ้ำ ๆ และให้การที่ชั้นศาลว่า เขาเพียงแค่เสียบเธอไม่กี่ทีเอง ด้วยอารมณ์ขันอันตลกร้าย เธอค้นพบว่าเรื่องราวนี้ทั้งน่าขยาดและน่าสนใจไปพร้อม ๆ กัน เห็นได้ชัดว่าการฆาตกรรมคดีนี้ทำให้ฟรีด้ารู้สึกเชื่อมโยงอย่างน่าประหลาดกับความเจ็บปวดของเหยื่อ คงเป็นเพราะการได้รู้ความจริงที่ว่าดิเอโก สามีของเธอได้เล่นชู้กับคริสตินา น้องสาวแท้ ๆ นั้น ปวดร้าวราวกับถูกแทงด้วยมีดบนหน้าอก
ความเจ็บปวดร้าวรานในครั้งนี้ทำให้ฟรีด้าสร้างสรรค์ผลงานอันเรียกได้ว่าเป็นที่สุดของความชอกช้ำ และโหดร้าย เมื่อเทียบกับในบรรดาผลงานทั้งหมดกว่าร้อยชิ้นของเธอ ในระหว่างนั้นเอง เธอก็ได้เริ่มทำการตัดผม และสวมใส่เสื้อผ้าในแบบที่เธอรู้ว่าดิเอโก อดีตสามีของเธอจะไม่ชอบมัน พร้อมทั้งวาดภาพไปเรื่อย ๆ เพื่อรักษาหัวใจที่แตกสลายของตัวเองเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี
เธอยังเสริมอีกด้วยว่า ระหว่างที่กำลังวาด A Few Small Nips (1935) เธอได้คำนึงถึงความจริงที่ว่าชีวิตของเธอถูกย่ำยีซ้ำแล้วซ้ำอีก ฟรีด้าได้ทำการแก้ไขผลงานชิ้นนี้อยู่หลายครั้งด้วยการเพิ่มรอยเลือดตามร่างกายของเหยื่อ และแต้มสีแดงบนกรอบรูปรอบนอกให้ดูเหมือนเป็นเลือดที่กระเซ็นออกมา เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่ได้รับชมรู้สึกเหมือนเป็นพยานในเหตุฆาตกรรม และโชคชะตาอันโหดร้าย พร้อมทั้งหวาดกลัว รวมถึงตระหนักถึงความเลวร้ายของสิ่งที่เธอ และเหยื่อประสบพบเจอ
ภาพวาดพอร์ตเทรท Memory, the Heart (1937) เกิดจากการตกตะกอนความโศกเศร้าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างดิเอโก อดีตสามี และคริสตินา น้องสาวของฟรีด้า รายละเอียดในรูปวาดชิ้นนี้ ใบหน้าของฟรีด้าไม่ได้สื่อถึงอารมณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น มีเพียงหยาดน้ำตาที่ล้นเอ่อไหลรินลงมาอาบแก้มแต่เพียงเท่านั้น เธอตัดผมของตัวเองให้สั้น และแต่งกายเลียนแบบชาวยุโรป ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงสไตล์การแต่งตัวใหม่ หลังจากที่เธอเลิกรากับดิเอโกไปแล้ว
และเช่นเคย เธอได้สื่อบาดแผลความบอบช้ำทางจิตใจของตัวเอง ผ่านการวาดภาพบาดแผลทางกายที่ทิ่มแทงหน้าอกข้างซ้าย โดยภาพประกอบพื้นหลังเป็นชุดนักเรียนและชุดพื้นบ้านตีฮัวนา ซึ่งแต่ละชุดประกอบด้วยแขนหนึ่งข้าง และตัวฟรีด้าเองยืนอยู่ตรงกลาง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ไร้ซึ่งแขนทั้งสอง เท้าข้างหนึ่งวางบนพื้นดิน อีกข้างที่ดูเหมือนกำลังสวมอุปกรณ์ช่วยเหลือหลังการผ่าตัดวางบนทะเล
ผลงานชิ้นนี้สื่อสารถึงความเจ็บปวดของเธออย่างตรงไปตรงมา ด้วยการเจาะรูบริเวณหน้าอกข้างซ้ายซึ่งควรเป็นที่ของหัวใจ และนำหัวใจ ที่ควรจะอยู่ภายในร่างกายออกมาวางไว้บนพื้นดินริมหาด ปล่อยให้เลือดรินไหลสู่พื้นดิน พื้นทรายโดยรอบ และลอยลงสู่ทะเล
ผลงานชิ้นนี้เสร็จสิ้นไม่นานนักหลังจากหย่าร้างกับดิเอโก เป็นภาพ Portrait ที่แสดงให้เห็นถึงบุคลิคที่แตกต่างกันของฟรีด้าทั้งสองคนในภาพวาด ทางขวามือคือฟรีด้าในชุดพื้นเมืองเม็กซิกันตีฮัวนา นั่งอยู่บนเก้าอี้พร้อมกับหัวใจที่แตกสลาย จับมือกับฟรีด้าด้านซ้าย ที่ใส่ชุดทันสมัย นั่งบนเก้าอี้ตัวเดียวกัน พวกเธอทั้งคู่มีหัวใจซึ่งสามารถมองเห็นได้จากภายนอกร่างกาย และเชื่อมต่อกัน หัวใจของฟรีด้าที่สวมใส่เสื้อผ้าพื้นเมืองนั้นถูกตัด และเปิดเป็นช่องโหว่ ส่วนเส้นเลือดแดงใหญ่ของตัวเธอทางด้านซ้าย ถูกตัดด้วยกรรไกรผ่าตัดปากคีบ มีเลือดสีแดงไหลหยดลงบนชุดเดรสสีขาว และกำลังจะตายจากการตกเลือด ฉากหลังของภาพเป็นท้องฟ้าที่ถูกเติมเต็มด้วยเมฆครึ้ม ทำให้บรรยากาศดูอึมครึม ปั่นป่วน แสดงออกถึงความวุ่นวายใจที่ฟรีด้ามีขณะที่กำลังวาดภาพนี้
ในสมุดบันทึกของเจ้าตัวกล่าวถึงภาพวาด The Two Fridas (1939) ไว้ว่ามันมาจากความทรงจำของเธอที่จำได้เกี่ยวกับเพื่อนในจินตนาการในวัยเด็ก หลังจากนั้นไม่นานเธอก็ยอมรับว่ามันสื่อถึงความเครียด และอาการซึมเศร้า จากความรู้สึกโดดเดี่ยวเมื่อต้องแยกทางกับดิเอโก
แม้ว่าจะปรับความเข้าใจกันได้ใหม่อีกครั้ง แต่ดูเหมือนว่าดิเอโกก็ยังปรับเปลี่ยนนิสัยและพฤติกรรมของตัวเขาเองไม่ได้ ฟรีด้าต้องพบกับความเจ็บช้ำน้ำใจอีกครั้งเมื่อสามีของเธอ นอกใจไปมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับมาเรีย เฟลิกซ์ (Maria Felix) นักแสดงหนัง เพื่อนสนิทอีกคนของฟรีด้า และเกือบจะทำการหย่ากับเธออย่างเป็นทางการ
ถึงแม้ว่าฟรีด้าจะแสร้งทำเป็นว่านี่เป็นอีกหนึ่งเรื่องตลก — อย่างที่เธอทำมาตลอดกับความไม่ซื่อสัตย์ครั้งก่อน ๆ ของดิเอโก แต่ภาพวาด Diego and I (1949) ก็ได้แสดงความรู้สึกเจ็บปวดของเธออย่างซื่อตรง เส้นผมในภาพวาดที่พันหลวม ๆ อยู่รอบลำคอนั้น แสดงให้เห็นต่อความอึดอัด และการถูกบีบรัดที่เธอมี สายตาของฟรีด้ามองตรงมายังข้างหน้า ในขณะที่ดิเอโก สามีของเธอมองเฉไปในทิศทางอื่น
เห็นได้ชัดว่าดิเอโกนั้น เป็นเพียงคนเดียวที่เธอคิดถึงเสมอมา ซึ่งความคิดนี้ได้ถูกยืนยันโดยบันทึกของเธอที่เปิดเผยถึงจดหมาย และบทกวีรักที่เธอเขียนให้เขา
"Diego: Nothing is comparable to your hands
and nothing is equal to the gold-green of your eyes.
My body fills itself with you for days and days.
You are the mirror of the night. The violent light of lightning.
The dampness of the earth. Your armpit is my refuge.
My fingertips touch your blood.
All my joy is to feel your life shoot forth from your fountain-flower
which mine keeps in order to fill all the paths of my nerves which belong to you."
- Viva la Vida, Watermelons, 1954
Viva la Vida เป็นภาพวาดสุดท้ายในช่วงชีวิตของฟรีด้า เธอแต่งเติมผลงานชิ้นนี้จนเสร็จเพียงไม่กี่วันก่อนวาระสุดท้ายของเธอในปี 1954 ด้วยเอกลักษณ์อย่างสีสันสดใสพร้อมกับข้อความ Long Live Life อันเป็นข้อความสุดท้ายที่ฟรีด้าต้องการจะสื่ออย่างตรงไปตรงมา ถูกสลักบนแตงโมลูกตรงกลางนับจากด้านล่างสุด
นี่คงเป็นอีกหนึ่งอารมณ์ขันอันตลกร้ายของชีวิตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเจ็บปวดของฟรีด้า ตั้งแต่เกิดมาพร้อมกับอาการโปลิโอ ซ้ำยังประสบอุบัติเหตุทางรถรางเมื่อครั้งเป็นวัยรุ่น และยังจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดอีกหลายสิบครั้งหลังจากนั้นอีก ยังไม่นับรวมถึงความเจ็บปวดทางใจการที่ถูกทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากคนรัก และความผิดหวังจากการแท้งลูกที่ฟรีด้ายังต้องเผชิญ
ภาพวาดแตงโมจึงเปรียบได้กับตัวเธอเองที่ต้องแข็งแกร่งขึ้นเพื่อโอบอุ้มความชอกช้ำภายในเอาไว้ไม่ให้บุบสลาย จากทั้งความบอบช้ำทางกาย ความบอบช้ำทางใจ และการถูกวิพากษ์วิจารย์ผลงานอย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ให้ความเห็นกับผลงานชิ้นนี้ว่าเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่เป็นเครื่องยืนยันว่าการตายของฟรีด้าไม่ได้เป็นการตายอย่างเป็นธรรมชาติ แต่ก็ไม่มีเครื่องมือใดยืนยันได้ว่าเธอกระทำการอัตวินิบาตกรรมตนเอง และถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่ลงตัวได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผลงานที่เธอสร้างไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่นั้นทรงคุณค่ามากเหลือเกิน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in