005 ทองหล่อ
“พ่อทำงานในโรงงานปูนซีเมนต์ แม้ไต่เต้าจนได้เป็นหัวหน้าช่าง แต่ตำแหน่งก็ไม่ได้ใหญ่โต เขาเลยอยากให้เราเรียนและทำงานในสายช่าง แต่ผมชอบศิลปะ อยากเรียนต่อทางนี้ เลยแอบตามเพื่อนไปสมัครเรียนด้านศิลปกรรม เดินทางจากบ้านที่สระบุรีไปราชมงคลโคราช (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน) ปรากฏว่าสอบได้ แต่เขาไม่อนุญาต ตลอดมาพ่อใช้ระบบระเบียบแบบทหาร ไม่คือไม่ คำพูดไม่มีอุทธรณ์ ถ้าแสดงการต่อต้าน เขาสวนกลับทันที เคยถึงขั้นทำร้ายร่างกาย ผมอยากออกจากบ้านมาตลอด ครั้งนั้นเลยตัดสินใจหนีออกจากบ้าน เริ่มเรียนที่โคราชปี 2534 เวลาผ่านไปไม่นาน ปี 2539 พ่อก็เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ
“พ่อถูกรถสิบล้อทับในโรงงานปูนซีเมนต์ ที่ที่พาเราไปเป็นประจำ เหมือนเป็นสวนสนุกในวัยเด็ก ที่นั่นแหละทำให้เขาต้องตาย ลูกน้องถ่ายภาพร่างของพ่อไว้สำหรับสู้คดี เมื่อคุณเปิดอัลบั้มภาพ คนเคยมีอำนาจยิ่งใหญ่ บิดดัดให้คุณเป็นอย่างที่ต้องการ ตอนนี้อยู่ในสภาพถูกบิดดัดจนไม่เป็นร่างมนุษย์ เวลาป่วย เวลาเจอเรื่องกระทบใจ เวลาอ่อนแอทางความรู้สึก ภาพเหล่านั้นจะพุ่งเสียบเข้ามา เราเกิดคำถามตลอดว่า วินาทีที่ฝุ่นดินลูกรังฟุ้งกลบรถสิบล้อเขารู้สึกยังไง พอควันจางแล้วเห็นหน้ารถค่อยๆ พาร่างไปอยู่ใต้ล้อ เขาห่วงอะไรบ้าง เจ็บนานหรือเปล่า แม้จะเผาอัลบั้มไปแล้ว แต่ภาพเหล่านั้นได้ติดตาเราไปตลอดชีวิต มันเป็นภาวะยอกย้อนทางความรู้สึก ผมไม่อยากบอกว่าเป็นความรักเพราะคงไม่ใช่ (เงียบนึก) แต่เพราะคุณห่วงเขา ห่วงฉิบหาย ความตายได้สร้างความพันผูกที่เจ็บปวด
“ปมเรื่องพ่อกระทบกระเทือนจิตใจผมมาก ไม่เชื่อใช่ไหมว่าเอาดีทางศิลปะได้ เดี๋ยวทำให้ดูพยายามพิสูจน์มาตลอด แต่ตอนที่จากไปเขายังไม่ทันได้เห็น และไม่มีทางได้เห็นแล้ว เป็นความรู้สึกค้างเติ่ง ความตายได้พรากความไม่เต็มที่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะถมให้เต็มได้ ต่อให้พิสูจน์ตัวเองทั้งชีวิต คนที่คุณอยากให้รู้ เขาไม่อยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ว่าเขาไม่อยู่แล้ว เราเลยหมดหน้าที่ ไม่ใช่ เราจะทำต่อไป ทำให้ดีที่สุด และไม่เหนื่อยที่จะพุ่งไปหาความปรารถนานั้น”
_____________________________________
“พอจบปวช. จากราชมงคลโคราช ที่สุดของการเรียนศิลปะต้องศิลปากร สอบครั้งแรกไม่ติด ผมเลยกลับมาเรียน ปวส. ปีต่อมาสอบใหม่ถึงติดคณะจิตรกรรม ระหว่างเรียนได้จ๊อบจากรุ่นพี่เป็นค่าใช้จ่าย พอมีโครงการกู้ กยศ. ก็กู้มาจ่ายค่าเทอม ปกติคณะนี้เรียนห้าปี แต่ผมจบห้าปีครึ่ง (หัวเราะ) ตอนนั้นความตั้งใจคืออยากเป็นศิลปิน อยากทำงานศิลปะ ผมสนใจ Installation Art แต่การทำงานค่าใช้จ่ายสูงมาก แล้วสมัยนั้นยากที่จะมีคนซื้อ เลยต้องหารายได้โดยการเป็นผู้กำกับศิลป์ภาพยนตร์ไทย งานโฆษณา ดีเจเปิดเพลง และเขียนบทวิจารณ์ภาพยนตร์
“ระหว่างนั้นผมพยายามหาสื่อมาถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด เลยเขียนเรื่องสั้นออกมา ส่งไปสยามรัฐ ครั้งแรกก็ได้ตีพิมพ์ ส่งไป จุดประกายวรรณกรรม และนิตยสาร จีเอ็ม ก็ได้ตีพิมพ์ตอนนั้นคิดว่า ‘วรรณกรรม กูมาแล้ว!’ เป็นคนมีความมั่นใจในตัวเองสูงในระดับที่มากไปไหม (หัวเราะ) แต่พลังงานแบบนั้นแหละที่ขับเคลื่อน คนหนุ่มสาว เอาตามตรง ช่วงนั้นอยู่ได้เพราะแฟนเลี้ยง เขาเคยอ่านเรื่องสั้นที่ผมเขียน และเชื่อว่าคนคนนี้มีแรงระเบิดในตัว ผมจะไปทำงานโฆษณา เขาไม่อยากให้ไป ไม่พอใจด้วย บอกว่า ‘โฆษณาจ้างเท่าไหร่ ฉันจ้าง อยู่บ้านเขียนหนังสือไป’ แต่เขาไม่ได้ห้ามไปทุกอย่าง ผมเลยหางานที่เกี่ยวข้อง ทำงานพิสูจน์อักษรและบรรณาธิการหนังสือเล่ม
“ผมส่งซีไรต์มาแล้วสองครั้ง ปี 2552 เป็นครั้งที่สาม ถ้าไม่ได้คิดว่าจะหยุด ปรากฏว่าปีนั้นได้รางวัล (นวนิยายเรื่อง ลับแล, แก่งคอย) ชีวิตเปลี่ยนเลย หนังสือได้รับการพิมพ์ซ้ำ มีคนเชิญไปบรรยายที่ต่างๆ มีเงินเป็นก้อน การได้รางวัลทำให้สิ่งที่พูดด้วยปากเปล่าสบโอกาส นั่นคือการได้แต่งงาน เทียบกับตอนได้รางวัลใหม่ๆ ช่วงที่ผ่านมารายได้ลดลงพอสมควร ผมเอานิยายที่เขียนไปเสนอนิตยสารรายสัปดาห์ พิมพ์หนังสือขายเอง งานแบบที่เราเขียนมีคนอ่านไม่มาก ก็หล่อเลี้ยงคนกลุ่มนั้นทำงานเต็มสติปัญญาของตัวเอง ใครมาว่าอะไรก็พูดได้ว่า เราทำเต็มที่แล้ว”
สิ่งที่ดีที่สุดของอาชีพนักเขียนคืออะไร
“คือการได้เขียนหนังสือ (เงียบนึก) เป็นที่ที่รับฟัง โอบกอด และปกป้องคุณจากความวินาศต่างๆ ของประเทศและของโลก หากมีเรื่องว้าวุ่น กังวล สับสน ขณะเขียนหนังสือคุณจะลืมทุกอย่าง ยิ่งทำจนเป็นชีวิตประจำวัน ทำจนเป็นภาวะแน่นอน คุณจะรู้ว่ามีที่หลบภัยเสมอ และมีความสุขด้วย การได้ตื่นมาอยู่กับมันทุกๆ เช้า แค่นี้ก็โคตรดีแล้ว ต่อให้ปีนั้นไม่ได้รางวัล ผมก็ยังจะเขียนหนังสือต่อไป”
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in