คำนำผู้เขียน
เกือบสามปีก่อน
จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นง่ายมาก มิตรสหายท่านหนึ่งแนะนำให้รู้จักเพจเฟซบุ๊คที่ชื่อว่า ‘Humans of New York’
ผมเข้าไปดู พอได้อ่าน (ออกบ้างไม่ออกบ้าง) เนื้อหาว่าด้วยเรื่องราวชีวิตคนทั่วๆ ไป ความคิดแรกคือ ‘เฮ้ย น่าสนใจ’ ความคิดต่อมา ผมอยากทำเนื้อหาแบบนั้นบ้าง ชั่วอึดใจ ความอยากเปลี่ยนเป็นความลังเล เพราะแม้โดยอาชีพจะอยู่กับการทำงานเขียนและเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์มาตลอด แต่พอจินตนาการว่าต้องลงพื้นที่โดยปราศจากองค์กรสังกัด และตั้งคำถามโดยไม่รู้ภูมิหลังมาก่อน คงเป็นงานที่ยากแน่ๆ โดยเฉพาะกับเรื่องส่วนตัวลึกๆ ที่น้อยคนจะอยากเปิดใจ
ทำ ไม่ทำ ทำ ไม่ทำ คิดวนแบบนั้นไม่กี่วัน เดือนมิถุนายน 2557 ผมตัดสินใจสร้างเพจชื่อ ‘มนุษย์กรุงเทพฯ’ ขึ้นมาแบบงงๆ (ถ้าคิดอย่างถี่ถ้วนอาจตัดสินใจว่าไม่ทำแล้วก็ได้) และเริ่มโพสต์แรกในไม่กี่วันต่อมา
เกือบสามปีที่ผ่านมา
สำหรับคนไม่รู้จัก...
เพจ ‘Humans of New York’ เกิดขึ้นจาก Brandon Stanton อดีตคนทำงานสายเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนมาสะพายกล้องออกบันทึกภาพผู้คน สร้างบทสนทนา และนำมาถ่ายทอดไว้ในเพจ สิ่งที่เขาทำตั้งแต่ปี 2553 เปลี่ยนการถ่ายภาพ Street Portrait ที่มีมากมายในโลกออนไลน์ให้มีชีวิต และนำเสนอเรื่องราวของคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสีผิว ทุกสถานะได้อย่างมีพลัง ขณะที่ผมกำลังกดแป้นพิมพ์ เพจนี้มีคนติดตามกว่าสิบแปดล้านคน
บางคนเห็นความเหมือนของ ‘มนุษย์กรุงเทพฯ’ และ ‘Humans of New York’ ก็เกิดความสงสัย ผมไม่เคยตอบโดยใช้คำว่า ‘แรงบันดาลใจ’ แต่มักใช้คำว่า ‘ลอก’ เพื่อพูดถึงจุดเริ่มต้น
ของเพจ
ใช่ ผมลอกวิธีการนำเสนอ (โดยไม่มองเป็นเรื่องน่าอายแต่อย่างใด)
เดิมทีผมตั้งใจหาทีมมาทำด้วย เนื่องจากตัวเองไร้ทักษะในการถ่ายภาพ คิดไว้ว่าผมสัมภาษณ์ อีกคนถ่ายภาพ และอีกคนช่วยเกี่ยวกับงานกราฟิกต่างๆ (ภาพโปรไฟล์และคัฟเวอร์โฟโต้) หลังจากทดลองอยู่ช่วงสั้นๆ ปรากฏว่าจังหวะการทำงานค่อนข้างติดขัด หลายการสัมภาษณ์เกิดขึ้นโดยไม่ได้วางแผน ผมเลยตัดสินใจนำกล้องคอมแพ็กต์บ้านๆ มาพกติดตัวไว้ และค่อยๆ ทำเท่าที่ทำได้ โดยมีเธอ (มิตรสหายผู้ชักชวนทำเพจนั่นแหละ) เป็นเพื่อนร่วมทาง พร้อมกับช่วยเหลือสารพัดอย่าง ทั้งในด้านกราฟิก คำปรึกษา การรับฟัง และกำลังใจ
ช่วงแรกๆ ผมถูกปฏิเสธเยอะมาก (ทั้งปฏิเสธเพราะเขินอาย ส่ายหัวไม่สนใจ วิ่งหนีโดยไว ไปจนถึงตะโกนผลักไสไล่ส่ง) หลังจากทำซ้ำๆ ก็เริ่มรู้ว่าควรเข้าหาด้วยท่าทีอย่างไร และคนแบบไหนน่าจะยินดีให้สัมภาษณ์
ผมเคยคิดว่าเขียนแค่สั้นๆ คงไม่ยากหรอก ทำไปสักพักเริ่มรู้ว่าเข้าใจผิด เรื่องเล่าที่ดีไม่เกี่ยวกับปริมาณคำพูดและไม่ใช่เพราะลีลาทางภาษา แต่อยู่ที่ผู้ถามและผู้ตอบจะพาตัวเองไปสู่บรรยากาศการเปิดใจได้มากแค่ไหน
ผมเริ่มจากสุ่มคนในที่สาธารณะ การไม่รู้ล่วงหน้าว่าคนตรงหน้าเป็นเจ้าของเรื่องราวแบบไหน ทำให้การนำเสนอมีข้อจำกัดอยู่บ้าง หากอยากนำเสนอประเด็นไหนเป็นพิเศษ บางครั้งผมเปลี่ยนมาเป็นการนัดสัมภาษณ์ ทั้งกับคนที่ไม่รู้จักมาก่อน เพื่อนของเพื่อน และคนที่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว
หลังจากผ่านไปสักพักใหญ่ๆ ผมลงทุนซื้อกล้องคุณภาพดีมาใช้งาน (แต่ฝีมือก็น่าจะไม่ต่างจากเดิมเท่าไหร่)
การสัมภาษณ์คนหลายร้อยคนไม่ใช่งานง่าย ผมต้องลงพื้นที่ไปพูดคุย ถ่ายภาพ ถอดเทป เรียบเรียง และโพสต์ด้วยตัวเอง (ยิ่งเพจที่ลอกมาคุณภาพสูงขนาดนั้น ยิ่งต้องเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ) แม้การทำอะไรด้วยตัวเองจะมีความคล่องตัว แต่มันก็นำพาความโดดเดี่ยวมาเยือนอยู่เป็นระยะ จนบางครั้งบางคราวผมจวนเจียนจะถอดใจ
ย้อนกลับไปวันแรกๆ เนื่องจากเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด ผมเลยคิดว่าตัวเองรู้จักเมืองแห่งนี้พอสมควร ผมรู้ว่ากรุงเทพฯ ไม่ใช่จังหวัด แต่เป็นเขตการปกครองพิเศษ กรุงเทพฯ ขึ้นชื่อเรื่องการจราจรคับคั่ง หากต้องเดินทางในเวลาเร่งด่วน คุณต้องเผื่อเวลาในระดับไปจังหวัดข้างเคียงได้ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เห็นคุณค่าของสายไฟมากกว่าต้นไม้ใหญ่ กรุงเทพฯ มีประชากรหลายล้านคนเข้ามาแสวงหาโอกาส…เพื่อชีวิตที่ดีกว่า ฯลฯ
การได้พูดคุยกับ ‘มนุษย์กรุงเทพฯ’ ทีละคนเป็นเวลาเกือบสามปี ทำให้ผมพบว่า แท้จริงตัวเองรู้จักกรุงเทพฯ น้อยมาก บทสนทนาอันหลากหลายค่อยๆ ต่อเติมความเข้าใจที่มีอยู่เดิมให้รอบด้าน เปลี่ยนแปลงบางเรื่องที่เคยคิดไปเอง โดยเฉพาะการได้รับรู้ตัวตนของ ‘มนุษย์กรุงเทพฯ’ อย่างลึกซึ้งไปยังอารมณ์ความรู้สึก
กรุงเทพฯ มีมิติขึ้นมาจากหลากหลาย ‘มนุษย์กรุงเทพฯ’ ที่ผมได้สนทนาด้วย
ที่เห็นและเป็นอยู่ในกรุงเทพฯ สะท้อนสัจธรรมอย่างหนึ่ง นั่นคือ ความแตกต่างจำนวนมากไม่ใช่เรื่องของถูกหรือผิด เพราะ ‘มนุษย์’ นั้นมีความหลากหลายเกินกว่าใช้นิยามความดีงามแบบเดียวมากำกับได้อย่างครอบคลุม แม้ทำไม่ได้ตลอดเวลา ผมมองผู้คนและเหตุการณ์ต่างๆ อย่างตัดสินถูก-ผิดน้อยลง และเปลี่ยนมาให้เวลากับการรับฟังและรับรู้รายละเอียดของแต่ละบุคคลอย่างที่เขาเป็น—ไม่ใช่อย่างที่ผมอยากให้เป็น
นั่นแหละครับ นอกจากผู้อ่านจะได้อ่านเรื่องราวในเพจ รู้ตัวอีกที ผมเองเกิดการเปลี่ยนแปลงไม่น้อยเลย
ตอนเริ่มทำเพจได้ไม่นาน ผมกับเธอคุยกัน แล้วเขียนเป้าหมายไว้ในหน้า About ของเพจว่า
1. เราสนใจออกไปเรียนรู้ชีวิตของผู้คนผ่านบทสนทนาอันหลากหลาย และมันคงจะดีไม่น้อย หากสามารถนำมาถ่ายทอดให้คนทั่วไปได้รับรู้ด้วย
2. จากการพูดคุยกับผู้คนหลากหลาย ความจริงประการหนึ่งก็คือ ทุกคนมีความน่าสนใจในแบบตัวเอง เรื่องเล่าของคนธรรมดาๆ สามารถมีพลังได้ไม่ต่างจากบุคคลมีชื่อเสียง หากนำถ้อยคำนั้นมาขยายให้กว้างขึ้น บางทีคนรอบๆ ตัวที่เราเคยละเลยอาจเปลี่ยนเป็นคนสำคัญขึ้นมา
3. จะด้วยที่มาอย่างไรก็ตาม เรารู้สึกว่าเดี๋ยวนี้ผู้คนฟังกันน้อยลง เมื่อฟังกันน้อยลง เราจึงเผลอเข้าใจว่าสิ่งที่ตัวเองคิดถูกต้องที่สุด ถ้าพื้นที่นี้จะจุดประกายให้คนฟังกันมากขึ้น ยอมรับความคิดเห็นที่หลากหลายได้มากกว่าเดิม เราคงยินดีเป็นที่สุด
กลับมาอ่านอีกครั้ง ผมว่าความพยายามของตัวเองประสบความสำเร็จ อาจไม่ใช่ทั้งหมด แต่บางโพสต์เกิดการรับรู้เรื่องราวใหม่ๆ บางโพสต์เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยน บางโพสต์กระตุ้นให้คนอ่านไปพูดคุยกับคนรอบๆ ตัว และบางโพสต์มีสื่อกระแสหลักนำไปสื่อสารต่อ
มองย้อนกลับไปวันแรกที่เคยลังเล พื้นที่แห่งนี้มาไกลมากๆ
แน่นอน ผมโคตรดีใจ
วันนี้
การส่งต่อข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียทั้งฟรี ง่าย และทรงพลังหากทำได้โดนใจ เรื่องเล่าต่างๆ จะแพร่กระจายไปในวงกว้าง บางเรื่องเล่าของ ‘มนุษย์กรุงเทพฯ’ มีคนกดแชร์หลายร้อย กดไลก์หลายพัน และถูกอ่านหลายหมื่นถึงหลายแสน ซึ่งในฐานะคนทำงาน ผมพอใจมากๆ กับการใช้เครื่องมือนี้
เมื่อเนื้อหาบางส่วนของเพจเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นหนังสือ ในฐานะคนทำงาน นับเป็นความสำเร็จอีกขั้น ที่เรื่องเล่าจะออกเดินทางไปสนทนากับผู้อ่านใหม่ๆ ด้วยวิธีการสื่อสารใหม่ๆ
การสื่อสารผ่านเฟซบุ๊คมีวิธีการอ่านแบบแยกทีละเรื่อง ขณะที่หนังสือมีการรวบรวม คัดเลือก และร้อยเรียง คนอ่านจึงค่อยๆ ละเลียด เชื่อมโยง และแลกเปลี่ยน (ในใจ) ไปกับเหล่ามนุษย์กรุงเทพฯ แต่ละคน
ผมคาดเดา (เพราะไม่เคยอ่านแบบรวดเดียวเช่นกัน) ว่าคงสร้างการรับรู้ที่ต่างออกไป
เมื่อหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ พร้อมๆ กับทุกท่านที่กำลังจะเปิดอ่าน ผมคงได้รู้ว่าที่คาดเดาไว้จะเป็นจริงหรือไม่
ยินดีต้อนรับทุกท่าน
สู่ ‘มนุษย์กรุงเทพฯ’ พื้นที่เรียนรู้ความหลากหลายของผู้คน
ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ
มนุษย์กรุงเทพฯ
(facebook.com/bkkhumans)
มกราคม 2560
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in