“ตื่นได้แล้วเด็กๆ เรามาเที่ยวนะ นอนกันอยู่นั่นแหละ” เสียงแม่จากลำโพงรถ ดังแหวกเข้ามาในห้วงฝัน ฉันรู้สึกเดจาวูพิลึก
ตั้งแต่เมื่อไหร่นะที่พ่อแม่ถอดใจเลิกขุดเราออกจากที่นอนตอนเช้า?แน่นอนความสุขของวัยรุ่นคือการนอนดึก ยิ่งดึกได้เท่าไหร่ยิ่งเท่ ยิ่งตื่นสายได้เท่าไหร่ยิ่งคูล แต่อุดมการณ์ของเรามักจะโดนก่อกวนด้วยพ่อแม่ผู้เข้านอนแต่หัวค่ำและตื่นแต่เช้าตรู่ พวกเขาชอบโผล่เข้ามาในห้องยามสาย—ช่วงเวลาที่เรากำลังหลับอย่างเอร็ดอร่อยที่สุด เข้ามาก็ส่งเสียงดัง “ตื่นๆ!จะนอนกินบ้านกินเมืองไปถึงไหนกัน” (ประโยคนี้คลาสสิกจริงๆ) ขณะเดียวกันก็ไล่เปิดม่านทุกผืน หน้าต่างทุกบาน ให้แสงแดดเข้มๆ ของยามสายลอดเข้ามาแยงตา แล้วจากไปพร้อมเปิดประตูทิ้งไว้อ้าซ่า ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก แต่ทรงพลังร้ายแรง เพราะในที่สุด เราก็ต้องลุกจากเตียงอย่างจำใจฉันว่านอนฟังเสียงฟ้าผ่าตอนกลางคืนยังไม่ได้ผลเท่านี้เลย
ในช่วงปิดเทอม ความขัดแย้งระหว่างวัยยิ่งทวีความเข้มข้น ถึงขั้นมีการออกกฎประจำบ้าน
“ห้ามตื่นสายเกินเก้าโมงเช้า” พ่อยื่นคำขาด
นานๆ ทีที่พ่อจะบังคับ แน่นอนว่าไม่มีใครกล้าขัด เพราะนั่นเป็นสัญญาณว่าเหลืออดแล้ว น้านาฏที่อยู่บ้านตรงข้ามก็อาศัยจังหวะนี้ขยายพื้นที่บังคับใช้กฎไปถึงบ้านตัวเองด้วย สร้างความหนักอกหนักใจให้กับบิ๊มผู้รักการนอนรองมาจากการกินของอร่อย แต่บ้านเราก็ประกาศใช้กฎนี้ได้ไม่นาน ความขี้เกียจของเราและความอ่อนใจของพ่อแม่ทำให้กฎหย่อนยานและพอถึงเวลาเปิดเทอม เราก็มีข้ออ้างว่าตื่นเช้าไปโรงเรียนห้าวันแล้ว เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อยมากเลยนะคะ/ครับ เสาร์-อาทิตย์ขอพักเหอะ กฎนี้จึงถูกยกเลิกไปโดยปริยาย
เมื่อคิดย้อนกลับไปถึงปิดเทอมนั้น จากวัยของฉันตอนนี้ที่เริ่มจะง่วงเร็วขึ้น เพราะต้องตื่นแต่เช้าเพื่อฝ่ารถติดไปทำงาน เวลาเก้าโมงถือว่าเป็นเวลาตื่นของวันที่ป่วยการเมืองเท่านั้น
ตายล่ะ หรือการเริ่มนอนเร็วและตื่นเช้าจะเป็นสัญญาณของความแก่?
เช้าวันหนึ่ง ฉันจับเข่าพ่อมาชนกับเข่าของฉัน แล้วถาม “พ่อรู้สึกยังไงเวลาเห็นพวกหนูนอนตื่นสาย”
“มันขัดหูขัดตา เหมือนว่าพวกเธอกำลังทิ้งชีวิตไปเปล่าๆ” พ่อตอบ
“มีเวลานอนอีกมากในหลุมฝังศพ” แม่เสริมอย่างคมคาย
“แล้วตอนพ่อแม่เด็กๆ ไม่นอนตื่นสายกันเลยเหรอ”
“ไม่เคย!” ทั้งสองคนประสานเสียงกันเป็นปี่เป็นขลุ่ย
แน่ล่ะสิ ในยุคที่ชาวเบบี้บูมเมอร์อย่างพ่อกับแม่ยังเป็นเด็ก สงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งจบลงไปไม่นาน บางบ้านยังไม่มีทีวี ถึงมีก็ยังไม่ฉาย 24 ชั่วโมง โทรศัพท์ก็มีแต่โทรศัพท์บ้าน แน่นอนว่าอินเทอร์เน็ตก็ยังไม่เกิด ต้องนอนร่วมมุ้งกับพี่น้องคนอื่นๆ แถมยังต้องตื่นเช้ามาเลี้ยงน้อง ช่วยยายขายของอีก แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เด็กในยุคนั้นจะนอนดึกหรือตื่นสาย
พ่อแม่เติบโตขึ้นมาด้วยการรับรู้ความลำบากของปู่ย่าตายาย จึงมีแนวคิดว่ามีชีวิตเพื่อการทำงานหนัก ขยัน อดทน ทุ่มเทกับการทำงาน ไอ้กฎเกณฑ์เล็กน้อยอย่างตื่นเก้าโมงเช้า ช่างเป็นอะไรที่ขี้ปะติ๋วสำหรับพ่อแม่แต่มันเป็นกำแพงสูงตระหง่านของเด็กเจนวายอย่างพวกเรา
คิดดู แค่สไลด์อ่าน news feed พลางกดไลค์ก็ปาเข้าไปเที่ยงคืนแล้วจะนอนเลยก็ไม่ได้ เพราะยังไม่ทันแต่งรูปที่ถ่ายมาวันนี้แล้วอัปขึ้นเฟซบุ๊คเลย ไหนจะหนังที่โหลดมาอีก เพื่อนก็ชวนออกไปเที่ยว ราตรีนี้ยังอีกยาวไกลแล้วก็ไม่มีงานหรือเหตุอะไรที่เป็นเงื่อนไขให้เราต้องรีบตื่นไม่ใช่เหรอ พ่อแม่ไม่เข้าใจหรอกว่ามันยากแค่ไหน—ตอนนั้นฉันคิดอย่างนั้น
กว่าจะรู้ว่าเวลาเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ใช้แล้วหมดไป ก็เหลือเวลาเพียงครึ่งชีวิตเสียแล้ว (ภายใต้สมมติฐานที่ประชากรมีอายุเฉลี่ย 60 ปี)
“แต่พ่อกับแม่เหงานะ ที่ต้องตื่นมากินข้าวเช้ากันแค่สองคน”
ไม่หรอก ชาวเบบี้บูมเมอร์เขาไม่พูดกันตรงๆ แบบนี้ เสียฟอร์มหมด
บนโต๊ะอาหารค่ำมื้อหนึ่ง...
“ช่วงนี้ไม่ค่อยเห็นหน้าเลยนะ” เสียงพ่อหนักแน่นเข้มงวด
เอาแล้วสิ ช่วงนี้ฉันกลับบ้านดึก แถมตื่นสาย ตื่นมาเขาก็ไปทำงานกันหมดแล้ว
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in