เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
หนังหนึ่งคืน | OnenightCinemaOnenightz.
The Truman Show : อนาคตที่เกิดขึ้นแล้วของนายทรูแมน
  • The Truman Show (1998) ?⛵?
    Director : Peter Weir
    Genres : Comedy ,Drama
    My Score : 9 / 10
    [ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความยาว 1 ชั่วโมง 43 นาที สามารถรับชมได้ใน TrueID]
    .
    ℹ บทความมีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วน ถ้าหากท่านยังไม่ได้รับชมเรื่องราวชีวิตของนายทรูแมน อยากให้ข้ามไปก่อน
    .
    ⏩ Prologue : บทเกริ่น

    - นับตั้งแต่ Descartes นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสได้ทิ้งคำถามต่อมวลมนุษย์ไว้ว่า 'เราจะวางใจได้อย่างไรว่าโลกนี้มีอยู่จริง?' และ 'เราเชื่อได้อย่างไรว่าไม่ได้กำลังถูกใครสักคนชักใยอยู่เบื้องหลัง?' ก็มีนักเขียนบทภาพยนตร์คนหนึ่งนามว่า Andrew Niccol ที่นำคำถามนั้นมาขยายเป็นภาพเสมือนในปี ค.ศ. 1998 ผ่านภาพยนตร์เรื่อง The Truman Show เขาได้สถาปนาจอมวายร้ายที่สามารถหลอกล่อชายคนหนึ่งให้คิดว่าโลกสมมติที่ตัวเองอาศัยคือโลกความจริงผ่านสื่อต่างๆรอบตัวเขา และยิ่งแย่ไปกว่านั้น เพราะในปัจจุบัน วายร้ายพวกนั้นได้มีอิทธิพลครอบงำเราแล้วในชีวิตจริง
    - “มนุษย์มักจะยอมรับความจริงเท่าที่ตาเห็น” ประโยคนี้ถูกอธิบายโดย Christof (Ed Harris) ผู้กำกับรายการโชว์ซึ่งอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง The Truman Show เป็นเวลากว่าสองทศวรรษตั้งแต่การพลิกบทบาทอันน่าทึ่งของ Jim Carrey ที่รับบทเป็นตัวละครเอกที่ยากจะลืมลงในรายการเรียลลิตี้ที่ถูกจำลองขึ้นเพื่อทั้งชีวิตของเขา ภาพยนตร์เรื่อง The Truman Show ยังทำหน้าที่เป็นนอสตราดามุส (นักพยากรอนาคต) ในยุคดิจิทัลอีกด้วย มีนักวิจารณ์หลายคนที่ได้วิเคราะห์ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ตีแผ่อภิปรัชญา ความเชื่อทางศาสนา โลกยูโทเปีย โลกเสมือนจริง และพลังของสื่อ นอกจากนี้ ภาพยนตร์ยังทำให้เกิดอาการทางการแพทย์ที่ยังหาสาเหตุไม่ได้ นั่นคือภาวะภาพหลอนทรูแมนโชว์ (The Truman Show Delusion) ซึ่งเป็นอาการที่ผู้ป่วยเชื่อว่าชีวิตของพวกเขาเป็นเพียงการแสดงละครหรือคิดว่าพวกเขากำลังถูกจับตามองจากกล้องสักตัวอยู่
    - กว่า 20 ปี นับตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เข้าฉายต่อสายตาคนทั้งโลก เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตัวละคร Truman Burbank เริ่มมีความสมจริงมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพิจารณาถึงการเพิ่มขึ้นของรายการเรียลลิตี้โชว์ โซเชียลมีเดีย ความจริงเสริม (AR) รวมถึงการแพร่หลายของข่าวปลอมทั่วสื่อต่างๆ จนทำให้เกิดคำถามว่าหนังเรื่องนี้ทำนายอนาคตได้แม่นยำแค่ไหน? ซึ่งในบทความนี้ เราจะได้มาร่วมพิสูจน์ไปพร้อมกัน
    .

    ▶️ Reality Show in Reality World : เรียลลิตี้โชว์เป็นความบันเทิงสื่อหลัก

    - รายการทีวีที่มีการซ่อนกล้อง ใช้คนในชีวิตจริงในการถ่ายทำ ร่วมกับสถานการณ์ที่ไร้บท เกิดขึ้นมาตั้งแต่ในช่วงทศวรรษที่ 50s - 60s นับตั้งแต่รายการ Candid Camera และ The Dating Game จนถึงช่วงต้นทศวรรษ 00s ความสำเร็จของรายการ Survivor, Big Brother และ American Idol ที่เป็น 'รายการเรียลลิตี้' ได้เข้าสู่ความบันเทิงกระแสหลัก อย่างในซีซันล่าสุดของ Big Brother ที่เราสามารถชำระค่าสมัครและตามติดชีวิตผู้เข้าแข่งขันได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือในประเทศไทย รายการเรียลลิตี้ชื่อดังในอดีต True Academy Fantasia ก็มีรูปแบบที่คล้ายกันนี้เช่นกัน
    - Christof สรุปมันไว้ตั้งแต่ในฉากแรกของภาพยนตร์ The Truman Show “เราเบื่อแล้วกับการแสดงอารมณ์ปลอมๆของพวกนักแสดง ... ถึงแม้ว่าโลกที่เขาอาศัยอยู่มันก็เป็นของปลอมซะส่วนใหญ่ แต่ไม่มีอะไรปลอมในตัว Truman เลยสักนิดเดียว ไม่มีบท ไม่คิวกล้อง มันไม่ใช่ละครเช็คสเปียร์ แต่เป็นของแท้ มันคือชีวิต
    - แต่ต่างจากรายการเรียลลิตี้ในชีวิตจริง ที่ผู้เข้าแข่งขันรู้ว่าพวกเขากำลังโดนถ่ายทอดออกอากาศ และมีการตบรางวัลให้กับพรสวรรค์หรือพฤติกรรมที่ถูกกำหนด ตัวทรูแมนไม่รู้ว่าทุกคนในชีวิตเขาเป็นนักแสดง และโลกทั้งใบของเขาคือฉากที่สร้างขึ้น เขาได้รับการจัดฉากตั้งแต่เรื่องของมิตรภาพ อาชีพการงาน รวมไปถึงชีวิตสมรส ในขณะที่กล้องกว่า 5,000 ตัวเฝ้าดูทุกย่างก้าวในชีวิตของเขา
    - The Truman Show ได้ทำนายการเติบโตของรายการเรียลลิตี้ทีวี ในปัจจุบันไว้อย่างแม่นยำ จนรู้สึกถึงความไร้การเสื่อมคลายที่เกิดจากแนวคิดนั้นในปัจจุบัน Jim Carrey แสดงบททรูแมนได้อย่างสมบูรณ์แบบ และเขาได้ตีแผ่ความ 'จริงแท้' ของรายการเรียลลิตี้โชว์ได้อย่างดีเยี่ยม ความนิยมของทรูแมน เบอร์แบงก์ในฐานะตัวละครในรายการโชว์ แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของสื่อมีต่อชีวิตของผู้คน ผ่านผู้ชมหลายคนที่ได้ดูรายการ เราจะเห็นได้ว่าตัวละครทรูแมนเป็นเพียงแค่สินค้าเท่านั้น ซึ่งฉากจบของภาพยนตร์ได้ฉายภาพให้เห็นว่าถึงแม้ตัวทรูแมนจะเลือกปลดแอกจากการเป็นตัวละครเอกในรายการโชว์เป็นบุคคลทั่วไปในชีวิตจริง แต่คนดูบางกลุ่มก็ได้เปลี่ยนช่องเพื่อหาอย่างอื่นดูเพื่อสนองความบันเทิงของตนต่อไป 
    - The Truman Show ได้สะท้อนภาพที่แท้จริงของชีวิตคนที่ติดอยู่หน้าจอโทรทัศน์หรืออุปกรณ์พกพาในปัจจุบันได้อย่างเผ็ดแสบ ภาพยนตร์ได้พูดถึงความกระหายต้องการ 'ของจริง/ความจริง' ของเหล่าผู้คนในสื่อบันเทิงเป็นอย่างมาก เรื่องราวที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของผลกระทบจากรายการเรียลลิตี้โชว์ที่มีต่อผู้คนในสังคม รวมถึงตีแผ่วิธีที่เรามองหาความพึงพอใจบนหน้าจอขนาดเล็กในมือของเรา
    .
    ▶️ Shows for Another Shows : จากโชว์หนึ่งสู่อีกโชว์หนึ่ง

    - ยังไม่ทันที่ภาพยนตร์จะฉายไปถึงครึ่งเรื่อง เราก็ได้เห็นความยิ่งใหญ่ของรายการเรียลลิตี้โชว์ 'The Truman Show' จากคำกล่าวของโฆษกความว่า "ผู้ชม 1.7 พันล้านเป็นพยานการเกิดของเขา! 220 ประเทศจับตาดูก้าวแรกของเขา!" เป็นคำเปิดรายการทอล์คโชว์ในนาม 'TruTalk' ซึ่งเป็นรายการถ่ายทอดสดที่นำเสนอข้อมูลเชิงลึกเบื้องหลังและเป็นเวทีเพื่อเปิดโอกาสให้คนภายนอกได้ถามไถ่หรือตั้งข้อคำถามเกี่ยวกับปัญหาและเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นภายในรายการเรียลลิตี้นี้ การมีอยู่ของรายการนั้นคือส่วนหนึ่งที่ทำให้เราการเข้าใจโลกที่ยิ่งใหญ่กว่าในความคิดที่ Truman เข้าใจ และส่วนหนึ่งมีไว้สำหรับผู้ชมสมมติในเรื่องราวของภาพยนตร์ ซึ่งรับชมชีวิตของนายทรูแมนไปพร้อมกับเรา ภายในบ้านของพวกเขา ในบาร์ที่พวกเขากำลังสังสรรค์ ในอ่างอาบน้ำที่เขาแช่ หรือในระหว่างงานที่พวกเขากำลังทำหน้าที่อยู่
    - ซึ่งในอุตสาหกรรมบันเทิงในสมัยนี้ โดยเฉพาะในสหรัฐและสหราชอาณาจักร เมื่อมีภาพยนตร์หรือซีรีส์เรื่องใดที่ได้รับกระแสและความนิยมอย่างล้นหลาม ทางผู้ผลิตก็ย่อมจะพัฒนารายการเพื่อต่อยอดสื่อบันเทิงนั้นๆ เพื่อตอบรับความร้อนแรงและขยายเรื่องราวให้แก่แฟนคลับ รวมถึงเป็นการเปิดกระเป๋ารับทรัพย์ก้อนโตที่สามารถผลิตได้จากวัตถุดิบที่มีแล้วได้เพิ่มขึ้นไปอีก
    - อย่างเช่นรายการ Talking Dead ของช่อง AMC ซึ่งเป็นรายการที่สรุปเรื่องราวที่เกิดขึ้น (Recap) ในตอนที่เพิ่งออกอากาศของซีรีส์ The Walking Dead รวมไปถึงการสร้างซีรีส์เพื่อต่อยอดเรื่องราวอย่างซีรีส์เรื่อง Fear the Walking Dead ที่ได้เปิดตัวไปในปี ค.ศ. 2011
    - ภายในรายการ พิธีกรและแขกรับเชิญจะร่วมพูดคุยเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในตอนที่ออกอากาศ ซึ่งเป็นวิธีที่จะกระตุ้นทำให้ผู้ชมติดตามและช่วยสร้างบรรยากาศความตึงเครียดให้เกิดขึ้นในตอนต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากซีรีส์ดังกล่าวเป็นที่ขึ้นชื่อเรื่องการฆ่าตัวละครหลักหรือมีเนื้อเรื่องที่สุดหักมุม มีรายการที่คล้ายกับ Talking Dead นี้มากมาย อย่างเช่น The Last Watch (Game of Thrones), Hogwarts Tournament of Houses (Harry Potter) ,Friends : The Reunion (Friends) เป็นต้น
    .
    ▶️ 24 Hours Broadcast : ถ่ายทอดสดตลอด 24 ชั่วโมง

    - นับตั้งแต่ 24 ชั่วโมงแรกที่ Ted Turner เปิดตัวช่องเคเบิลข่าว CNN ในปี ค.ศ. 1980 ในเวลาต่อมาช่องดังกล่าวได้กลายเป็นช่องที่โด่งดังหลังจากนำเสนอข่าวในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี ค.ศ 1991 เนื่องจากเป็นช่องทางเดียวที่สามารถติดตามข่าวสารจากภายในประเทศอิรักในช่วงชั่วโมงแรกในการทิ้งระเบิดของอเมริกา จึงทำให้การรายงานข่าวสดที่สามารถทำได้ตลอด 24 ชั่วโมงมีอิทธิพลในวงการสื่อนับตั้งแต่นั้น
    - ในทุกวันนี้ สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นบรรทัดฐานปกติที่เห็นได้เมื่อเปิดโทรทัศน์ เราสามารถเปิดดูช่องข่าว CNN ,MSNBC หรือ Fox News ได้ทุกช่วงเวลาของวัน ไม่ว่าจะมีการรายงานข่าวพาดหัวหรือไม่ก็ตาม ความเอนเอียงทางการเมืองฝ่ายขวาหรือฝ่ายซ้าย ทำให้เกิดอคติในการรับรู้แก่ผู้ชมได้เสมอ เนื่องจากช่องข่าวต่างๆ สามารถเลือกว่าต้องการนำเสนอข่าวในทิศทางไหน ซึ่งในบางโอกาส สำนักข่าวเหล่านี้ก็นำเสนอข้อมูลโดยไม่คำนึงถึงจรรยาบรรณสื่อสักเท่าไหร่
    - ในทำนองเดียวกัน Truman ไม่จำเป็นต้องทำอะไรที่ดูโดดเด่นน่าสนใจ เขาอาจจะแค่กินหรือแค่นอน แต่คนดูก็ยังคงติดตามชีวิตของเขา “ผู้ชมเปิดทีวีไว้ทั้งคืนแล้วจะสบายใจ” Christof ได้กล่าวไว้ ปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดคนดูให้ยังคงติดตามรายการ 'The Truman Show' คือพวกเขาพร้อมให้บริการถ่ายทอดสดชีวิตของทรูแมนตลอด 24 ชั่วโมง เช่นเดียวกันกับทรูแมนที่ติดอยู่ในโลกใบเล็กๆทั้งชีวิตของเขา ผู้ชมของเขาก็ติดอยู่กับรายการนี้ตลอด 24 ชั่วโมงเช่นกัน
    .
    ▶️ Staged The (Real) Events : เหตุการณ์(จริง)จัดฉาก

    - หากใครได้ดูภาพยนตร์เรื่อง The Truman Show เป็นครั้งแรก คงจะเกิดอาการสับสนว่าสิ่งที่ได้เห็นนั้นคือชีวิตจริงของ Truman Burbank หรือถูกจัดฉากขึ้น ซึ่งเรื่องราวจะค่อยๆเผยความผิดปกติให้เรารับรู้ จนเราอาจจะ (เกือบ) แน่ใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือสิ่งที่ถูกจัดฉากมาตั้งแต่ต้นแล้ว
    - ภาพยนตร์ได้เปิดตัวเป็นสารคดี (ซึ่งอาจจะเป็นช่วงหนึ่งของรายการ TruTalk) และมีเครดิตแนะนำนักแสดงปลอมๆอย่าง "Truman Burbank แสดงเป็น ตัวเขาเอง, Hannah Gill แสดงเป็น Meryl" นอกเหนือจากนั้น ตัวละครในเรียลลิตี้โชว์ยังมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์อย่างโจ่งแจ้ง อย่างเช่น อุปกรณ์ทำครัว Chef's Pal (“นี่คือครบครัว ใช้หั่น ปอก ขูด สารพัดนึกไม่ต้องลับ ใส่เครื่องล้างจานได้ด้วยนะคะ!”) ในขณะที่มุมกล้องก็ทำทิศทางซึ่งทำให้การพ่วงขายผลิตภัณฑ์ (Tie-In) ที่เกิดขึ้นในฉากนั้นดูน่าสนใจจนเหมือนตัวละครได้ขายผลิตภัณฑ์นั้นให้กับเรา ภาพยนตร์ทำให้เรามีส่วนร่วมควบคู่ไปกับ 'ผู้ชม' คนอื่นๆที่กำลังดูรายการ The Truman Show ซึ่งเกิดจากการวางแผนและจัดฉากมาเป็นอย่างดีโดยผู้สร้าง Christof และทีมของเขา ที่ได้กำหนดทิศทางของเหตุการณ์ภายในเมืองจำลอง Seahaven รวมถึงทิศทางของอารมณ์ของคนดูทั้งในและนอกจอไปพร้อมกัน
    - หลังจากที่เราโดนทิ้งระเบิดด้วยการเล่าเรื่องหลายชั้นที่แยบยลเหล่านี้ ความคิดเราจึงถูกกลั่นกรองเพื่อค้นหาความจริง ว่าใครคือ 'ตัวจริง' และใครที่เป็นนักแสดง? เมื่อทรูแมนเริ่มสงสัยเกี่ยวกับโลกของเขาและพยายามจะหนีไป เราจะเห็นสิ่งกีดขวางมากมายที่เกิดขึ้นเพื่อพยายามจะหยุดเขา ไม่ว่าจะเป็น การจราจรที่ติดขัดอย่างฉับพลัน ไฟป่าที่เกิดขึ้นเองอย่างไม่มีเหตุมีผล และโรงไฟฟ้านิวเคลียส์ที่อยู่ๆก็เกิดระเบิดโดยไม่มีการแจ้งข่าว ซึ่งนับจากนั้น ไม่มีอะไรที่เป็นความจริงที่น่าเชื่อถือสำหรับทรูแมนอีกต่อไป
    - คำโกหกที่มาในรูปแบบผลประโยชน์ ที่ตัวละครคริสทอฟได้กอบโกยกำไรจากการชีวิตของทรูแมน เขาพยายามทำทุกอย่างเพื่อควบคุมชีวิตและความคิดของทรูให้อยู่ในเกาะ Seahaven แห่งนั้น ซึ่งเป็นการจัดฉากให้มีความสมจริงเพื่อให้เกิดความเชื่อผิดๆ พอที่เขาจะควบคุมชีวิตคนๆหนึ่งได้ หากเปรียบเทียบกับในโลกความเป็นจริง การใช้ข่าวปลอม 'Fake News' หรือการจัดฉากเพื่อสร้างสถานการณ์ก็มีมาเนิ่นนานพอตัว ตัวอย่างที่เราหลายคนน่าจะคุ้นเคยมากที่สุด คงจะเป็น 'ทฤษฎีสมคบคิดการไปเหยียบดวงจันทร์' (ในปัจจุบันยังไม่มีการพิสูจน์ที่แน่ชัด) ซึ่งเป็นการกระทำของรัฐบาลสหรัฐในการแต่งเรื่องหลอกลวงคนทั้งโลก โดยการจัดฉากโครงการอะพอลโลและการลงจอดบนดวงจันทร์ โดยมีจุดประสงค์ในการเป็นผู้นำสูงสุดในด้านเทคโนโลยีในสมัยนั้น
    - แต่ในปัจจุบัน สิ่งนี้เริ่มแพร่หลายเป็นวงกว้างมากขึ้นจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆที่ควบคุมความจริงและความคิดของกลุ่มคนวงกว้างในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการแปลงเสียง เทคโนโลยีการสลับหน้า เทคโนโลยีการดัดแปลงรูปภาพ ที่ใช้ในทางที่ผิดเพื่อสร้างข่าวปลอมและข้อมูลเท็จ ซึ่งมีมากมายนับไม่ไหวในหน้าฟีดบนสื่อโซเซียลของเรา จนทำให้ในบางที ตอนนี้เราก็ไม่ต่างอะไรจากตัวละครทรูแมน ที่ชีวิตโดนบงการโดยใครสักคนที่จับจ้องดูเราอยู่ทุกแห่งหนตลอด 24 ชั่วโมงอยู่ก็เป็นได้
    .
    ▶️ Digital Surveillance : เทคโนโลยีกำลังจับตามองคุณ

    - เกือบจะเป็นเรื่องปกติของพลเมืองโลกที่จะมีอาการหวาดระแวงเกี่ยวกับหน่วยงานหรือรัฐบาลของตนว่ากำลังแอบจับตาดูเราอยู่ ในยุค 40s มีแนวคิดที่ว่าชาวญี่ปุ่นใช้คลื่นวิทยุ ในยุค 50s คิดว่าโซเวียตใช้ดาวเทียม ในยุค 70s คิดว่า CIA ได้ฝังชิปคอมพิวเตอร์ไว้ในสมองของประชาชน และในยุค 90s ผู้คนคิดว่าพวกเขาถูกควบคุมโดยโทรทัศน์ กล้องถ่ายภาพ ข้อมูลดิจิทัล และอินเทอร์เน็ต
    - ในภาพยนตร์ The Truman Show ผู้กำกับ Peter Weir และผู้กำกับภาพ Peter Biziou ได้ค้นคว้าเทคนิคการจับภาพของกล้องวงจรปิด เพื่อให้ได้ภาพฟุตเทจของกล้องวงจรปิด รวมถึงกล้องกระดุมที่ซ่อนอยู่บนตัวของนักแสดงที่อยู่ในโชว์ ซึ่งภาพทุกภาพจากกล้องทุกตัวถูกควบคุมจากศูนย์สั่งการที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังดวงจันทร์ บนชั้นที่ 221 ของระบบนิเวศขนาดมหึมาที่มนุษย์สร้างขึ้น (ใหญ่พอจนสามารถมองเห็นได้จากอวกาศ)
    - รายการเรียลลิตี้โชว์ 'Big Brother' เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในศตวรรษที่ 21 ด้วยการสอดแนมทางดิจิตัลอันไม่จำกัดผ่านการขยายตัวของเทคโนโลยีดาวเทียม เทคโนโลยีโดรน จึงเกิดข้อเท็จจริงที่ว่าข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลทางการเงินส่วนใหญ่ของเรานั้น สามารถเข้าถึงได้อย่างสมบูรณ์ผ่านเครือข่ายดิจิทัลที่ถูกแฮ็กได้อย่างง่ายดาย 
    - The NSA, Google, Facebook และเกือบทุกองค์กรที่ครอบครองเทคโนโลยีสอดแนมเหล่านี้ สามารถติดตามการเคลื่อนไหวและการสนทนาของเราได้ตลอดเวลา ซึ่งพวกเขาสามารถใช้ข้อมูลที่ได้เพื่อกล่าวหาใครบางคน หรืออาจจะเอาข้อมูลไปขายได้ง่ายพอๆกับที่พวกเขาสามารถกำหนดความต้องการของเราด้วยโฆษณาที่ขึ้นในหน้าฟีด
    .
    ▶️ Anyone can be Famous : ใครๆก็ดังได้

    - ในขณะที่แนวคิดในการใช้ชีวิตภายใต้การสอดส่องและสอดแนมตลอด 24 ชั่วโมงโดยผู้ติดตามที่เรามองไม่เห็น อาจเป็นฝันร้ายในช่วงปี ค.ศ. 1998 แต่ก็กลับกลายเป็นที่นิยมในช่วงทศวรรษที่ 10s
    - เราแต่ละคนมีความสามารถในการแสดงและถ่ายทอดเหตุการณ์ในชีวิตของเรา ไม่ว่าจะ ไร้สาระหรือสร้างสรรค์ ผ่านการโพสต์รูป แชร์ข้อความจากทุกความคิด หรือจะสตรีมวิดีโอบนสื่อโซเซียลอย่าง Facebook, Instagram หรือ TikTok แม้ว่าผู้ชมและผู้ติดตามอาจจะเป็นคนรอบตัวในชีวิตประจำวันของเราเท่านั้น
    - การเกิดชุดความคิดของเซเลบริตี้ (Celebrity) และอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ได้เปลี่ยนสังคมของกลุ่มไฮโซที่ยากในการเข้าถึงให้เป็นสังคมคนข้างบ้านที่จับต้องได้ มีหลายร้อยหลายพันคนได้ยึดอาชีพเป็น Vloggers หรือ YouTuber อย่างเช่น Justin Bieber ที่แจ้งเกิดครั้งแรกจากสื่อโซเชียลมีเดีย อย่า.รายการทอล์คโชว์ในปัจจุบัน ก็จะนำนักแสดงมาเล่นเกมปาร์ตี้หรือแกล้งกันซึ่งเป็นกิจกรรมทั่วไปเมื่อเราเล่นกับเพื่อนในงานสังสรรค์เพื่อโปรโมตโปรเจกต์ใหม่ๆของพวกเขา หรืออย่างบนฟีด Twitter และ Instagram จะแสดงมุมมองที่ไม่ผ่านการกรองเกี่ยวกับชีวิตและความคิดเห็นของเหล่าคนดัง ทำให้เราเห็นความขาดวิจารณญานหรือความตระหนักรู้ในสถานการณ์จากชุดความคิดของเหล่าคนดังกลุ่มนั้นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นผลเสียต่ออาชีพการแสดงของพวกเขาในเวลาต่อมา
    - The Truman Show นำเสนอเพื่อเชิงพาณิชย์โดยไม่หยุดชะงัก โดยอาศัยการจัดวางผลิตภัณฑ์ที่ซุกซ้อนตามฉากต่างๆไว้อย่างแยบยล ซึ่งในชีวิตจริง เราก็ชื่นชอบโปรโมตตนเองเช่นกัน ดังนั้นการโฆษณาจึงแทรกซึมในทุกอณูของทุกคอนเทนต์ที่พวกเราดู อาจจะในรูปแบบโพสต์บนฟีดที่ผ่านการคัดกรองจากข้อมูลส่วนตัวหรือสิ่งที่เราคลิก หรืออาจจะมาในรูปแบบการแนะนำผลิตภัณฑ์ผ่านอินฟลูเอนเซอร์บนโลกโซเชียลมีเดียที่เราติดตาม  เหมือนอย่างบทพูดที่ว่า “ฉันไม่แยกหรอกนะ เรื่องส่วนกับสาธารณะน่ะ” ของตัวละครของ Laura Linney ผู้ที่แสดงเป็นภรรยาของ Truman ได้กล่าวไว้
    .
    ▶️ The Truman Show Delusion : ภาพหลอนของทรูแมน

    - ในปี ค.ศ. 2002 ณ โรงพยาบาล Bellevue จิตแพทย์นามว่า Joel Gold ได้รักษาผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่าพวกเขากำลังโดนแอบถ่ายโดยกล้องที่มองไม่เห็น คนหนึ่งบอกว่าเขาเคยทำงานในการผลิตรายการเรียลลิตี้โชว์ซึ่งเขาคิดว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเขา อีกคนเชื่อว่าเพื่อนและครอบครัวของเขาเป็นนักแสดงที่สวมบทบาทเพื่อหลอกเขา คนที่สามเดินทางข้ามประเทศเพื่อดูว่าตึกแฝด (World Trade Center) ยังคงมีอยู่หลังจากสงสัยว่าการโจมตี 11 กันยายนเป็นแผนการสมคบคิดในโชว์ของเขาเอง ภายในสองปี นายแพทย์โกลด์ได้สัมภาษณ์ผู้ป่วยเกือบ 50 ราย จนในปี ค.ศ. 2012 เขาและ Ian น้องชายของเขา นักปรัชญาจากมหาวิทยาลัย McGill ได้ร่วมกันตีพิมพ์บทความใน Cognitive Neuropsychiatry เกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า 'ภาวะภาพหลอนทรูแมนโชว์ (Truman Show Delusion)' ซึ่งเป็นความผิดปกติที่ผู้ป่วยเชื่อว่าเขากำลังถูกถ่ายทำโชว์อยู่ และกำลังออกอากาศเพื่อความบันเทิงของผู้อื่น
    - The Truman Show ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดอาการหลงผิดแต่กับผู้ป่วยเหล่านี้เท่านั้น ยังมีภาพยนตร์และสื่ออื่นๆที่ทำให้คนที่รับชมเกิดความหลงเชื่อผิดๆอีกไม่น้อย อย่างภาพยนตร์เรื่อง Invasion of the Body Snatchers (1978) ทำให้เกิดความหวาดระแวงลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือในภาพยนตร์ The Manchurian Candidate (2004) ที่ปลุกความกลัวสงครามเย็นให้เกิดขึ้นอีกครั้ง เช่นเดียวกับภาพยนตร์เหล่านี้ The Truman Show ก็ได้สร้างความตื่นตระหนกและความวิตกกังวลของยุคดิจิตัลที่กำลังจะมาถึง
    .

    ⏩ Epilogue : บทส่งท้าย

    - ภาพยนตร์เรื่อง The Truman Show ซึ่งออกฉายเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ได้ทำหน้าที่เป็นอุปมานิทัศน์ที่แสดงให้เห็นว่าสังคมมีการความตื่นตัวอย่างไรในโลกดิจิตัลยุคปัจจุบัน ด้วยอิทธิพลของสื่อที่ส่งผลอย่างมากกับประชากรในยุคปัจจุบัน ที่ชีวิตของเราแทบจะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิตัลเหล่านี้เกือบ 24 ชั่วโมง ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นการส่งสัญญานเตือนทางอ้อมว่าในไม่ช้า โลกเราคงจะมีสังคมแบบใน The Truman Show เข้าสักวัน บางทีในวันหนึ่งเราอาจจะเป็นตัวละครหลักแทน Truman ไม่ก็เป็นส่วนหนึ่งของเหล่าคนดูติดขอบจอกลุ่มนั้นก็เป็นได้ ซึ่งหมดนี้อาจจะเป็นเรื่องน่ากังวลและเราต้องเก็บมาทบทวนถึงผลกระทบนอกจอนี้ในไม่ช้าสักวัน
    - ก่อนจากกัน ขอบคุณทุกคนที่ติดตามอ่านผลงานที่ผมตั้งใจเขียนมาเสมอ หากมีข้อติติงสามารถวิจารณ์ เพื่อจะได้เอาไปพัฒนาผลงานต่อๆไปในอนาคต และสุดท้าย วันนี้ถ้าไม่เจอกันอีก สวัสดีตอนบ่าย สวัสดีตอนเย็น สวัสดีตอนค่ำด้วย ?

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in