ทุกวันนี้วงการวรรณกรรมพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากพอหรือยัง? สิ่งนี้เป็นคำถามเมื่อก้าวขาเข้ามาเรียนในวิชาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ได้สังกัดอยู่ในคณะสายวิทยาศาสตร์ แต่กลับมาเป็นบทเรียนอยู่ภายใต้ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบที่คณะอักษรศาสตร์แทน สำหรับคำตอบของคำถามในตอนแรก เราคงไม่สามารถพูดได้ว่าตอนนี้วรรณกรรมว่าด้วยเรื่องธรรมชาติมันผลิตมาด้วยจำนวนมากพอแล้ว เพราะตัวแปรสำคัญที่จะบอกได้ว่าพอหรือยัง คือความตระหนักรู้ในใจคนที่เกิดขึ้นคนเมื่ออ่านเรื่องราวในวรรณกรรมจบต่างหาก
เราได้เห็นการเล่าเรื่องธรรมชาติอยู่บ่อยครั้งผ่านการบรรยายบรรยากาศ แต่มีหลายครั้งที่ธรรมชาติและการแปรผันของมันกลายไปเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบมาเล่นในเนื้อเรื่อง หลายร้อยปีที่ผ่านมามีหนังสือที่เกิดมาเพื่อวิจักษ์วิจารณ์การกระทำของมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติมากมายหลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแต่ง เรื่องจริง เรื่องแต่งอิงเรื่องจริง เช่น Walden ของ Henry David Thoreau ที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้เขียนเองผสานกับปรัชญาที่ตกตะกอนจากประสบการณ์ของเขาเอง เป็นหนังสือที่ถูกอ่านเพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งแวดล้อมจนถึงทุกวันนี้ หรืองานทางฝั่งญี่ปุ่นอย่างหัวใจที่สูญหายและต้นไม้แห่งการเริ่มต้น ที่พาผู้อ่านไปทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างชาวญี่ปุ่นและธรรมชาติ ผ่านตัวเอกที่ต้องเรียนรู้โลกผ่านเลนส์ของคติชนวิทยา
วันนี้เรามีวรรณกรรมเยาวชนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอีกเล่มหนึ่งที่อยากพูดถึง ในฐานะที่มันอยู่ในลิสท์หนังสืออ่านนอกเวลาของนักเรียนหลายคนมาก่อน มันเป็นหนังสือที่เข้าใจง่าย อ่านไม่ยากและเล่มไม่หนา แต่เมื่อวิเคราะห์ดูแล้ว มีมุมมองมากมายเหลือเกินที่ Little tree สะท้อนให้เราเห็น
***บทความเป็นการวิเคราะห์เนื้อหาในวรรณกรรมและมีการสปอยล์เนื้อหาของวรรณกรรมด้วย
Introduction to the story
Little Tree เป็นวรรณกรรมเยาวชนเกี่ยวกับเด็กชายวัยห้าขวบที่ถูกเรียกว่า Little Tree หลังจากสูญเสียพ่อแม่ไป เขาถูกรับอุปการะโดยปู่และย่า ปู่เป็นลูกครึ่งเชโรกี-สวีเดน ส่วนย่าเป็นชาวเชโรกีเต็มตัว(เชโรกีคือชื่อของชนเผ่าพื้นเมืองเผ่าหนึ่งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน) เราจะได้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของ Little Tree โดยส่วนสำคัญในวรรณกรรมเรื่องนี้ คือการถ่ายทอดเรื่องราวของเด็กชาย และเพราะการที่เขาถูกเลี้ยงดูโดยปู่กับย่าชาวเชโรกี ทำให้เราได้เห็นการสั่งสอนและการถ่ายทอดความรู้ในครอบครัว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดเกี่ยวกับธรรมชาติของชาวเชโรกีไปตลอดทั้งเรื่อง ประเด็นที่ปรากฏให้เห็นในท้องเรื่องมีหลายประเด็น
ประเด็นแรกของชาวเชโรกีที่สะท้อนความผูกพันกับธรรมชาติ คือ การทำให้ธรรมชาติมีความเป็นแม่ แม้เทคโนโลยีจะกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ผลักดันภาคการผลิตจนกลายเป็นเหมือนองค์ประกอบหลักที่หล่อเลี้ยงผู้คนในยุคสมัยใหม่ แต่แท้จริงแล้วสิ่งสำคัญของชาวเชโรกีคือธรรมชาติ ป่าไม้และสายน้ำในมุมมองของชาวเชโรกีเปรียบเสมือนแหล่งกำเนิดของชีวิต ตลอดเรื่องตัวละครจะเปรียบเปรยธรรมชาติเป็นผู้หญิง ซึ่งความเป็นผู้หญิงเกี่ยวพันกับการเป็นมารดา ธรรมชาติสำหรับชาวเชโรกีจึงเป็นสิ่งที่มีจิตวิญญาณ มีความหมายสำคัญต่อสรรพสิ่งทั้งปวงในฐานะผู้ให้กำเนิดและควรค่าที่จะได้รับความเคารพเสมือนเป็นคนในครอบครัว
ประเด็นที่สอง คือ ความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณและการให้คุณค่ากับคุณธรรม วิธีการให้คุณค่าแบบชาวเชโรกีเชื่อมต่อกับการวางตัวเองให้เกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติ ตัวอย่างของแนวคิดเรื่องคุณธรรม เช่น ย่ากล่าวว่าจิตใจที่เลวทรามและโลภในผลประโยชน์ จะทำให้จิตวิญญาณหดเล็กลงเหลือขนาดเท่าลูกฮิคกอรี่นัท หรือ การเปรียบเปรยว่าคนจิตสกปรกก็เหมือนคนตายที่เมื่อมองเห็นต้นไม้จะมองเห็นแต่ผลกำไร มิใช่ความงาม การที่ชาวเชโรกีเลือกที่จะเปรียบเปรยประเภทของคนกับเมล็ดผลไม้ ตันไม้หรือพืชพรรณ เพราะคติความเชื่อของพวกเขาได้รับอิทธิพลจากลักษณะของธรรมชาติ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเชโรกียอมรับความเป็นปกติของธรรมชาติพวกเขาจึงมองเห็นความตายเป็นสัจธรรมที่เลี่ยงไม่ได้ แม้ความตายจะโศกเศร้า แต่สุดท้ายแล้วสิ่งมีชีวิตจะเหลือเพียงจิตวิญญาณ
ประเด็นต่อมา คือ การเข้าใจธรรมชาติ เชโรกีตระหนักว่าป่าไม้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลและรู้ว่าประเภทของพืชที่โตได้ดีจะขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง ไปจนถึงเรื่องสัตว์ป่าและพืชมีพิษ การสะสมความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติเกิดจากการสังดกตของชาวชนเผ่า เมื่อมีการเรียนรู้ชาวเชโรกีจะส่งต่อข้อมูลแก่ลูกหลาน ทำให้ความเข้าใจในธรรมชาติถูกถ่ายทอดต่อไปเรื่อยๆ สิ่งนี้สร้างประโยชน์ในการดำรงชีพ เพราะพวกเขาสามารถใช้มันในการหาอาหารหรือทำธุรกิจได้ แต่ในขณะเดียวกันการดำรงชีพของเชโรกีก็ไม่ระรานสิ่งอื่นในธรรมชาติ เพราะเมื่ิอยังคำนึงถึงการเคารพต้นกำเนิด การใช้ประโยชน์จากธรรมชาติของเชโรกีจึงไม่ทำลายสมดุลของวัฏจักร เช่น ในบทผจญภัย ชนพื้นเมืองจะหยุดวางกับดักในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน เนื่องจากเป็นเวลาผสมพันธุ์และเลี้ยงลูก ถ้าเชโรกีล่าสัตว์ในฤดูนี้สุดท้ายอาหารก็จะเหลือน้อยและพวกเขาจะอดตายในที่สุด
อัตนิยม รัฐสมัยใหม่และโลกาภิวัตน์
เหตุการณ์สำคัญที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของชาติสหรัฐฯ คือการอพยพเข้าสู่ดินแดนใหม่ของชาวยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 แม้สหรัฐฯจะถูกเรียกว่าดินแดนใหม่ แต่พื้นที่นี้เป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าต่างๆมาก่อนหน้านี้เป็นเวลานานแล้ว รวมถึงชนเผ่าเชโรกีด้วย การกล่าวว่าอเมริกาเป็นดินแดนใหม่จึงเป็นการมองประวัติศาสตร์โดยยึดเรื่องราวของคนขาวเป็นศูนย์กลาง อย่างไรก็ดี การอพยพครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนต่อชีวิตของคนในพื้นที่ที่ภายหลังจะถูกเรียกว่าคนอเมริกันพื้นเมือง
Little Tree อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างชาวพื้นเมืองกับผู้มาเยือนจากต่างทวีป เราจะเห็นว่าชาวยุโรปมาพร้อมกับการแบ่งเขาแบ่งเรา โดยคนขาวมองว่าชาติพันธุ์ของตัวเองอยู่เหนือกว่าชนพื้นเมือง ชาวชนเผ่าเช่นชาวเชโรกีไม่ได้มีความเป็นคนเท่ากับพวกเขา หนังสือได้สื่อว่าคนขาวมีความเป็นอัตนิยมซึ่งมองเห็นคุณค่าจากลักษณะเพียงแบบเดียว อัตนิยมทำให้คนขาวมองว่าสิ่งที่แตกต่างไปจากพวกเขาเป็นสิ่งเลวร้าย ชาวเชโรกีที่มีรูปพรรณภายนอกและวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนคนขาวจึงถูกตีกรอบว่าเป็นพวกป่าเถื่ิอน นอกรีตและไร้อารยะ ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลในยุคปัจจุบัน อัตนิยมเป็นวิธีปฏิบัติที่ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์และแสดงการเหยียด เหตุการณ์ในหนังสือสะท้อนวิธีคิดดังกล่าว เช่น ในบทด้วยรักและเข้าใจ เมื่อมีผู้หญิงคนหนึ่งถามทางจากปู่ ปู่ต้องเจอกับคำพูดที่ก้าวร้าวและรุนแรงจากผู้หญิงคนนั้น มีการใช้ประโยค "แกเป็นใคร เป็นคนต่างชาติทั้งสองคนเลยเรอะ" ที่แสดงให้เห็นว่าคนขาวแบ่งแยกชนพื้นเมืองออกจากตัวเองและแปะป้ายการเป็นคนอื่นให้กับชาวเชโรกี
การแบ่งแยกระหว่างคนขาวกับชนพื้นเมือง ทำให้แนวคิดเรื่องการเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติของชาวเชโรกีไม่ได้ถูกยอมรับและธรรมชาติเองก็ไม่ได้ถูกให้ความเคารพ คนขาวไม่ได้มีสำนึกเข้าใจธรรมชาติ พวกเขามาพร้อมกับการก่อสร้าง การผลิต การจัดตั้งนิคม ทั้งหมดเป็นวิถีชีวิตที่ยึดวัตถุเป็นศูนย์กลาง ซึ่งแพร่หลายมากขึ้นหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่เกิดขึ้นในทวีปยุโรปตั้งแต่ก่อนการอพยพ แม้ชีวิตที่เจริญทางวัตถุจะสะดวกสบาย แต่ก็ส่งผลต่อแนวคิดและลดความใกล้ชิดระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ คนขาวกลายเป็นกลุ่มคนที่ไม่เข้าใจสภาพของโลก แตกต่างจากแนวคิดที่สืบทอดกันมาในชนเผ่าเชโรกี ตัวอย่างเช่น ในบทที่ Little Tree ต้องไปขึ้นเขาพร้อมคนเมือง ระหว่างพักผ่อนคนเมืองเข้าไปนั่งในพุ่มไอวีสีเขียวสวยแต่มีพิษ การกระทำนี้เป็นสัญลักษณ์ในการแสดงถึงความไม่มีความรู้ของคนขาว
รูปแบบของรัฐสมัยใหม่ก็เป็นปัญหาในตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องกฎหมาย ซึ่งมีไว้เพื่อให้คนในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข แต่ความสงบสุขดังกล่าวไม่ได้รวมชนพื้นเมืองเข้าไปด้วย กฎหมายทำร้ายชาวเชโรกีเพราะมันกลายเป็นเครื่องมือของรัฐในหารใช้เบียดเบียนชนพื้นเมือง ให้อยู่ในกรอบและระเบียบที่คนขาวกำหนด แม้กฎหมายที่คนขาวเขียนจะไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ของคนพื้นเมือง แต่ชนพื้นเมืองก็ต้องเคารพกฎหมายที่คนขาวเขียนอยู่ดี ซึ่งในหลายแง่มุมกฎหมายแบบนี้เอาเปรียบพวกเขา เช่น ในบทรูปเงาบนกำแพง จอร์จ วอชิงตันจะออกกฎหมายภาษีคนทำเหล้าและกำหนดว่าใครจะทำเหล้าได้ ซึ่งส่งผลต่อคนจนเพราะชาวนาที่ยากจนบนภูเขาไม่สามารถปลูกข้าวโพดได้มากเท่าเจ้าของที่ดินรายใหญ๋บนพื้นราบ วิธีที่ได้ประโยชน์จากข้าวโพดคือการเอามันมาทำเหล้า นอกจากกฎหมายจะไม่ได้เขียนโดยคำนึงถึงพวกเขาแล้ว มันยังกดทับให้ต้องลำบากและยากจนด้วย หรือ ในช่วงท้ายของเรื่องที่เจ้าหน้าที่ออกหมายเรียกปู่กับย่าเพราะเป็นเรื่องการศึกษาของ Little Tree และแจ้งว่าหลังจากนี้หลานชายต้องไปอยู่สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า แม้การสนใจในการศึกษาจะเป็นเรื่องที่ดี แต่การแยกเด็กออกจากผู้ปกครองชาวเชโรกีเพราะมองว่าพวกชนพื้นเมืองไม่มีความสามารถที่จะเลี้ยงเด็กก็เป็นการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ทั้งยังเป็นการดูแคลนวิถีชีวิตแบชาวเชโรกีที่เหมือนว่าจะไร้อารยะในสายตาคนขาว
เหตุการณ์หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการใช้อำนาจเอารัดเอาเปรียบชนพื้นเมืองที่ได้รับการบรรยายในท้องเรื่อง คือ เหตุการณ์ Trail of Tears ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1837 - 1839 (ในหนังสือแปลว่า เส้นทางสายน้ำตา) เป็น Forced Migration ภายใต้นโยบายของประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็คสัน นโยบายนี้ถูกขับเคลื่อนจาก Indian Removal Act ซึ่งบัญญัติในปี 1830 เนื้อความของมันคือรัฐบาลต้องการย้ายที่อยู่ของชนพื้นเมือง 5 เผ่าไปอยู่ในเขตที่เรียกว่า Indian Territory ชนเผ่าพื้นเมืองจึงถูกบังคับให้ออกจากที่อยู่เดิมที่อยู่อาศัยเป็นเวลานานด้วยวิธีการเดินเท้า โดยเชโรกีเป็น 1 ใน 5 เผ่าที่ต้องอพยพออก ในส่วนของที่อยู่เดิมก็ถูกยกให้คนผิวขาวแทน การเดินทางที่ยาวไกลดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากกว่า 4,000 คน
ความเจ็บปวดจาก Trail of Tears ได้ถูกกล่าวถึงในวรรณกรรมด้วย แม้ว่าเนื้อเรื่องโดยตัวละครเอกจะดำเนินหลังเหตุการณ์ไปหลายปี แต่ผู้เขียนนำเสนอในลักษณะของการย้อนอดีตให้ Little Tree ได้สัมผัสความเจ็บปวดที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นในชนเผ่า บทที่เล่าเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา คือ บทรู้จักอดีตที่เป็นเรื่องของพ่อของปู่ซึ่งเป็นผู้ถูกบังคับให้อพยพ หนังสือบรรยายถึงการถูกทำร้ายระหว่างทางแต่จิตวิญญาณของชาวเชโรกีก็ไม่ได้สิ้นหวัง แม้พื้นดินกับบ้านเรือนจะถูกแย่งชิงไป แต่รัฐบาลไม่สามารถฉกชิงจิตวิญญาณของพวกเขาไปได้ นอกจากจะแสดงแนวคิดและความยึดมั่นของชาวเชโรกีแล้ว บทนี้ยังเป็นการแสดงถึงความโหดร้ายที่คนขาวกระทำต่อชาวชนเผ่า ตอกย้ำความไม่เป็นธรรมอันเกิดจากสีผิวในประวัติศาสตร์ชาติอเมริกา
เรื่องที่น่าวิเคราะห์ คือ หากเปรียบเทียบวรรณกรรมเรื่องนี้กับชีวิตจริง เราสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนว่าวิถีชีวิตแบบชาวเชโรกีมีความขัดแย้งกับวิถีชีวิตในยุคโลกาภิวัตน์เป็นอย่างมาก ซึ่งทุนนิยมมีความสัมพันธ์กับเรื่องนี้ คนขาวให้ความสำคัญกับเงินมาก เมื่อสังคมกำหนดให้ชีวิตที่ดีขึ้นอยู่กับเงินตรา การหากำไรด้วยวิธีต่างๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็น ธรรมชาติถูกลดทอนกลายเป็นสิ่งแวดล้อม ความสำคัญของธรรมชาติกลายเป็นเรื่องการสร้างผลประโยชน์ให้อุตสาหกรรมได้เติบโต ซึ่งอุตสาหกรรมก็ทำให้ทุนนิยมเติบโตตามไปด้วย ชาวเชโรกีไม่ได้มีแนวคิดแบบนั้นเพราะมันไม่ต่างจากการเหยียบย่ำแม่ของตัวเอง แต่ด้วยความที่ผู้ถืออำนาจหลักในยุคหลังของโลกเป็นคนขาว แนวคิดของเชโรกีจึงไม่เคยเป็นกระแสหลักของโลก ปัจจุบันโลกาภิวัตน์และทุนนิยมเติบโตมากกว่ายุคสมัยที่ปรากฎในวรรณกรรมอย่างเหลี่ยงไม่ได้
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in