ไม่ค่อยบ่อยหนักที่เราจะได้เห็นหนังสือที่เล่าเรื่องในวงการหนังสือเอง ยิ่งหนังสือดังกล่าวมาพร้อมกับการตีแผ่ประเด็นเรื่องเชื้อชาติและการเสียดสีสังคม ก็ยิ่งไม่ค่อยได้เห็นมากเข้าไปอีก แต่ Yellow Face (ในชื่อภาษาไทย คือ วรรณกรรมสลับหน้า) โดยนักเขียนชาวอเมริกัน เชื้อสายจีน อย่าง R.F. Kuang กลับหยิบยกเอาองค์ประกอบของนิยายดราม่าเสียดสีสังคมมาบอกเล่าผ่านลีลาการเขียนชวนเร้าใจ จนทำให้ผลงานเล่มนี้กลายเป็นหนังสือมาแรงประจำปี 2023
Yellow Face เล่าเรื่องของนักเขียนสองคน คือ จูน เฮย์เวิร์ด นักเขียนผิวขาวแสนธรรมดาที่มีผลงานจืดชืดไร้ซึ่งความโดดเด่นและ อะธีนา หลิว นักเขียนเชื้อสายเอเชียที่ประสบความสำเร็จเหมือนเป็นดาวดวงใหม่แห่งวงการวรรณกรรม แม้ทั้งสองจะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นในมหาวิทยาลัย แต่นั้นก็ไม่ได้ทำให้ความอิจฉาที่จูนมีต่ออะธีนาลดลงได้ โดยจูนโทษว่ามันเพราะวงการหนังสือสมัยนี้ต้องการขายเรื่องราวอันเปี่ยมไปด้วยความหลากหลาย การเป็นนักเขียนเอเชียเลยทำให้ให้อะธีนาได้เปรียบมากกว่าตน
เมื่ออะธีนาดันโชคร้ายเสียชีวิตไป ในขณะที่กำลังทานแพนเค้กอยู่กับจูน จูนที่ได้อ่านต้นฉบับนิยายเรื่องใหม่ของอะธีนาจึงชิงเอามันมาปรับแก้สำนวนและตีพิมพ์เป็นหนังสือของเธอเอง แถมจูนยังเปลี่ยนนามปากกาของเธอเป็น จูนิเปอร์ ซอง ซึ่งกำกวมว่าอาจเป็นชื่อคนเอเชียก็ได้อีกต่างหาก เมื่อหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ของเธอตั้งแต่ต้น จูน เฮย์เวิร์ด จึงต้องเจอกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่พาเราไปเจอกับประเด็นความขัดแย้งทางความคิดและดราม่าวงการสิ่งพิมพ์ที่ทั้งเจ็บแสบ เสียดสีและลึกซึ้ง
เราซื้อนวนิยายเล่มนี้มาจากงานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ผ่านมาและอ่านมันจบอย่างรวดเร็วในช่วงวันหยุด ฉบับที่อ่านเป็นฉบับแปลไทยโดยคุณทศพล ศรีพุ่มและจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Biblio ซึ่งสามารถแปลได้อย่างไหลลื่นไร้จุดสะดุดตามมาตรฐานเดิมของสำนักพิมพ์ โดย Yellow Face เป็นหนังสือที่เปี่ยมไปด้วยการเล่าเรื่องที่มีอรรถรสและลำดับเหตุการณ์อันแสนเร้าใจ แม้กระทั่งเราเองก็ยังต้องยอมรับว่าค่อนข้างประทับใจมากเมื่ออ่านจบ นอกจากนี้หนังสือยังไม่ได้ทิ้งไว้เพียงแค่ความสนุก แต่ยังมีประเด็นมากมายที่ชวนขบคิดเหลือเอาไว้อีกด้วย จากนี้จะขอพูดถึงประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจในหนังสือเล่มนี้
***บทความมีการสปอยเนื้อเรื่องอยู่บ้าง ฉะนั้นใครที่เป็นกังวลว่านี่จะทำลายประสบการณ์แรกในการอ่านของคุณ ก็ขอให้ปิดหน้าเว็บไซต์นี้ลง แล้วค่อยกลับมาอ่านอีกทีในภายหลัง***
โลกโอบรับความหลากหลาย จนชาวเอเชียเป็นใหญ่กว่าคนขาวจริงหรือ?
จริงอยู่ที่เราเห็นเรื่องราวของผู้คนสีผิวต่างๆหลากหลายมากขึ้น แต่บางทีเรื่องเหล่านั้นอาจเป็นแค่การตลาดในโลกทุนนิยม เพราะการพยายามประกาศว่าตัวเองเปิดรับความหลากหลายสามารถสร้างมูลค่าและความน่าเชื่อถือให้แก่บริษัทและกลุ่มคนต่างๆได้ ด้วยเหตุนี้พื้นที่สำหรับชาวเอเชียบางส่วนจึงถูกจัดสรรขึ้น อย่างอธีน่าที่ได้โอกาสเป็นเจ้าของพื้นที่นั้น ในขณะที่ยังมีชาวเอเชียคนอื่นๆอีกมากมายที่ยังไม่ได้รับโอกาสแบบที่อธีนาได้
สุดท้ายแล้วแม้พื้นที่ของคนเอเชียจะมีมากกว่าแต่ก่อน แต่ถ้ามันเกิดจากปัจจัยเรื่องการทำเงิน การคิดว่าชาวเอเชียได้เปรียบกว่าคนขาว ก็ไม่ต่างจากการเพิกเฉยต่อความไม่เสมอภาคที่คนเอเชียบางกลุ่มต้องเผชิญ ไม่ต้องพูดถึงขั้นว่าคนเอเชียจะเป็นใหญ่กว่าคนขาว แต่เราไม่สามารถพูดว่าคนเอเชียเท่ากับคนขาวได้เลยด้วยซ้ำ
อย่างในเนื้อเรื่องเอง ก็มีตัวละครเอเชียถูกปฏิเสธและไล่ออกโดยที่มีตัวละครคนขาวคอยกดดัน ฉะนั้น มันอาจจะจริงที่มีชาวเอเชียประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นอยู่ เช่น อธีนา หลิว แต่ก็ต้องอย่าลืมคิดด้วยว่า ในอีกด้านหนึ่งก็มีคนขาวที่ประสบความสำเร็จอยู่อีกมาก รวมไปถึงเรื่องที่พวกคนขาวมีทรัพยากรซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จที่มากกว่าด้วย
ใครสามารถเล่าเรื่องของผู้ถูกกดขี่ได้บ้าง?
ประเด็นสำคัญในนิยายเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องเชื้อชาติและสีผิว ปัจจุบันมีสื่อมากมายที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้ถูกกดขี่ในอดีตมากขึ้น แต่หลายครั้งเรื่องราวพวกนั้นกลับถูกเล่าโดยคนที่ไม่ได้มีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บปวดนั้น ซ้ำร้ายบางครั้งเรื่องราวก็ถูกเล่าโดยคนขาว ที่เป็นเหมือนผู้อยู่บนสุดของห่วงโซ่แห่งการเหยียดเชื้อชาติมานานหลายร้อยปีอีกต่างหาก คับคล้ายคับคลาราวกับเป็นการขโมยเรื่องราวของคนอื่นมาทำกำไรให้กับตัวเอง
อย่างไรก็ตามแม้จะไม่ได้เล่าเรื่องของเชื้อชาติตัวเอง หนังสือก็พาเราไปตั้งคำถามว่า 'การที่คนขาวผลิตสื่อที่เป็นเรื่องราวของคนเชื้อชาติอื่น มันเป็นประเด็นสำคัญขนาดนั้นเชียวหรือ?' ตัวเอกของเรื่องที่ตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับคนเอเชียได้ชี้เหตุผลว่าถ้าผู้เขียนเรียนรู้ประวัติศาสตร์มากพอและเคารพเรื่องราวที่ตัวเองเขียนก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการกระจายเรื่องราวเกี่ยวกับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในเรื่อง แถมยังมีเหตุการณ์ซึ่งถ่ายทอดแง่มุมอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้ได้พิจารณากัน เช่น เรื่องของอธีนาที่มีเชื้อสายจีน แต่กลับเขียนเรื่องของคนเกาหลีออกเผยแพร่ การกระทำเช่นนี้ของอธีนาก็ก็เป็นการเล่าเรื่องของคนกลุ่มอื่น ไม่ต่างจากที่จูนทำเหมือนกัน ถ้าเช่นนั้นแล้วอะไรกันแน่ที่เป็นคำตอบของคำถามนี้?
สำหรับข้อถกเถียงนี้ ตัวละครหลักของเรื่องอย่างจูน เฮย์เวิร์ดก็ได้เตรียมคำตอบเอาไว้แล้ว ท่านผู้อ่านที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ก็คงจะมีคำตอบของคำถามนั้นอยู่ในใจเช่นกัน
อุตสาหกรรมที่เจ็บปวดแต่แสนแท้จริง เมื่อไม่ใช่ทุกคนจะประสบความสำเร็จ
เมื่อต้องสะท้อนเรื่องราวในอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนไม่ได้ลืม คือ อารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในวงการ นักเขียนก็เป็นอาชีพๆหนึ่ง ที่เช่นเดียวกันกับอาชีพอื่นๆ เมื่อมีคนสำเร็จก็ต้องมีคนที่ล้มเหลวเป็นธรรมดาและความล้มเหลวก็สร้างอารมณ์ที่สมกับเป็นมนุษย์ออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นความอิจฉาริษยา ความโกรธแค้น ความน้อยเนื้อต่ำใจ ความกลัว
R.F. Kuang พาเราไปสอดส่องสิ่งที่จูน เฮย์เวิร์ดต้องเผชิญ ในตอนที่จูนต้องกลั้นใจยอมรับว่าผลงานของเธอไม่ได้เป็นที่ถูกใจของนักอ่านอย่างที่เธอคาดหวัง เราจะได้เห็นเรื่องราวของคนธรรมดาที่โดนความจริงกระแทกใส่หน้า ความจริงที่บอกว่าการกลายเป็นนักเขียนที่โลกรักไม่ได้ง่ายอย่างที่เพ้อฝันไว้ แม้จูนจะเชื่อว่าการเขียนคือส่วนหนึ่งที่เติมเต็มชีวิตของเธอ แต่ส่วนหนึ่งในชีวิตของเธอกลับให้ผลตอบแทนเป็นความผิดหวัง แม้กระทั่งครอบครัวก็ไม่เข้าใจความทะเยอทะยานที่เกิดขึ้นและนั่นยิ่งตอกย้ำบาดแผลให้เจ็บปวดรุนแรงมากขึ้นไปอีก
ตัวจูนเองไม่สามารถใช้ชีวิตไปพร้อมกับสร้างพลังบวกให้ตัวเองได้ เช่นเดียวกับผู้คน มากมายในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งสักครั้งคงต้องเจอความผิดหวังแบบที่จูนเจอ เรื่องเหล่านี้อาจเป็นสัจธรรมชีวิตที่ดูเข้าใจง่าย แต่ผู้เขียนก็หยิบมันมาเชื่อมโยงและถ่ายทอดได้อย่างมีมิติ
Yellow Face คือหนังสือดีๆเล่มหนึ่งที่ผู้แต่งอาจจะลืมเขียนบางอย่างลงไป
ความคาดหวังแรกๆที่เรามีต่อหนังสือเล่มนี้ คือ การตีแผ่ดราม่าในอุตสาหกรรมหนังสือ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความเคลื่อนไหวของตัวละครในเรื่องช่วยเพิ่มอรรถรสและเสริมสีสันความเป็นนิยายดราม่าให้กับ Yellow Face
แต่ถ้าต้องมานั่งวิเคราะห์กันจริงๆ การบอกว่านี้เป็นหนังสือที่สะท้อนแง่มุมในวงการนักเขียนอย่างแท้จริง ก็อาจจะเป็นคำเคลมที่มากเกินไปหน่อย ในเนื้อเรื่องเราเหมือนแค่มานั่งชมกระบวนการผลิตหนังสือ (ในอเมริกา) ที่อาจมีการขัดแย้งกันระหว่างทีมทำงานบ้าง เราได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างนักเขียนที่ยืนยันว่าการเป็นเพื่อนร่วมอาชีพไม่ได้แปลว่าจะมีความยินดีต่อความสำเร็จของกันและกัน เราได้เห็นอิทธิพลของคำวิจารณ์ในโลกอินเตอร์เน็ต รวมไปถึงวิธีการที่นักเขียนรับมือกับข้อคิดเห็นเหล่านั้น
เรียกได้ว่าในหลายบทจะมีหลายประเด็นกว้าง ๆ ที่ถูกพูดถึง แต่กลับไม่ได้มีการเจาะลึกและขยี้เข้าไปที่รายละเอียด การนำเสนอภาพของอุตสาหกรรมหนังสือจึงไม่ได้เกิดขึ้นอย่างจุใจนักสำหรับนักอ่านที่คาดหวังเอาไว้แบบเรา ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีอีกหลายประเด็นภายใต้ร่มของวงการสิ่งพิมพ์ที่ผู้เขียนน่าจะพาไปสำรวจเพิ่มเติมได้ ทั้งการถูกกดขี่ของแรงงาน เรื่องลิขสิทธิ์ของหนังสือ การแปลงหนังสือไปเป็นภาพยนตร์ แต่ผู้อ่านก็มีโอกาสรับรู้เรื่องราวเหล่านั้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยสรุปแล้วการตีแผ่เรื่องราวในวงการหนังสือสามารถทำให้ดุดันได้มากกว่านี้
สำหรับเรา Yellow Face เป็นหนังสืออีกเล่มที่น่าอ่าน ผู้เขียนไม่ได้ทำพลาดในการมอบความสนุกให้กับผู้รับสื่ออย่างเรา ถ้าใครอยากลองอ่านนิยายที่เล่าเรื่องความขัดแย้งระหว่างสีผิว เล่าเรื่องวงการหนังสือในแผ่นดินอเมริกาที่เราไม่คุ้นเคย การใช้เวลากับหนังสือสีเหลืองเล่มนี้ ก็เป็นแนวทางที่อยากให้ลองกัน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in