Ready, Set, Love เป็นซีรี่ส์โรแมนติก-คอมเมดี้ของไทย
เมื่อโลกที่เกิดโรคระบาดทำให้จำนวนประชากรชายลดลงอย่างมากเลย ผู้ชายเลยเป็นที่ต้องการของผู้หญิงและรัฐบาล
เดย์เป็นผู้หญิงธรรมดาที่เป็นผู้โชคดีได้ไปเเข่งรายการเกมออกเดทของรัฐบาลสนับสนุน “Ready, Set, Love” รายการที่ผู้เข้าแข่งขันหญิงจะแข่งกันเพื่อได้เเต่งงานกับผู้ชาย 5 คน เเต่ระหว่างการเเข่งขันของรายการ ตัวละครก็ได้เจอความลับเเละความไม่เท่าเทียมที่ถูกผู้มีอำนาจควบคุมอยู่
ต้องชมก่อนว่าซีรี่ส์นี้มีการลงทุน Production ยิ่งใหญ่ องค์ประกอบต่างๆของซี่รี่ส์ อย่างเช่น mood and tone ทำออกมาได้น่ารักเหมาะกับการเป็น rom-com ที่ไม่เครียดมากเกินไป ผู้ชมดูได้เพลินๆ ในส่วนนักเเสดงเราว่าเล่นได้ดีและน่ารักตามแบบของตัวละครแต่ละตัว รวมถึงเชื่อว่าคนดูรับรู้ได้ถึงความพยายามของทีมงานทุกคนที่ช่วยกันสร้างผลงานไทยแบบนี้ขึ้นมาเพื่อให้วงการหนังไทยก้าวไปสู่ตลาดกว้างๆ ทั่วโลกได้
ตอนเเรกที่ได้ดู Teaser ก็เเอบคิดไว้ว่าซีรี่ส์ระดับนี้คงไม่ใช่เเค่สร้างโครงเรื่องขึ้นมาเพื่อความบันเทิงหรือสร้างเนื้อเรื่องแบบตื้นๆ ธรรมดาๆ อย่างเดียว คิดว่าคงจะมีการใส่องค์ประกอบเข้ามาเพื่อสะท้อนปัญหาสังคมบางอย่าง โดยเฉพาะหัวข้อความเท่าเทียมทางเพศ เหตุผลที่ทำให้มีความคาดหวังแบบนี้ก็คือ:
1) การที่ผู้จัดสร้างthemeเรื่องว่าเป็นสังคมที่ประชากรผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชาย จนทำให้ผู้ชายถูกกลายเป็นคนล้ำค่าของคนทั้งประเทศเเละได้รับการดูเเลอย่างดีจากรัฐบาล ดังนั้นระบบของประเทศทุกอย่างจึงรันด้วยผู้หญิง ซึ่งเราเห็นได้จากตั้งเเต่เปิดเรื่องที่เป็นเสียงภาคเป็นผู้หญิง, เจ้าหน้าที่ทุกคนเป็นผู้หญิง รวมไปถึงผู้คุมอำนาจใหญ่ที่ก็เป็นผู้หญิงเช่นกัน เราเลยคิดว่าผู้จัดคงใส่เนื้อเรื่องเกี่ยวกับเพศให้มันขัดหรือล้อเลียนกับสังคมจริงในปัจจุบัน
2) สร้างโครงเรื่องให้ผู้ชายมีน้อย ผู้หญิงทุกคนเลยมีความฝันที่จะได้เเต่งงานกับผู้ชาย เกิดการเเย่งชิงผู้ชายในผู้หญิงด้วยกันเองจนกระทั่งมีรายการเกมส์โชว์เกิดขึ้น การปูโครงเรื่องซีรี่ส์เเบบนี้ตรงๆ สำหรับเราคิดว่ามันขัดกับยุคสมัยนี้ที่คนเริ่มตระหนักรู้ความอันตรายของบรรทัดฐานในสังคม จึงทำให้มีความหวังว่าจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ ในเรื่องนี้มากขึ้นไปอีก เช่นการเล่นประเด็นเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ หรือการ challenge gender norms อื่นๆ ในเชิงเสียดสี
แต่พอดูซีรี่ส์จบเเล้วตกผลึกได้ว่า ผู้จัดได้ใส่ปัญหาหลายๆ อย่างในสังคมรวมไว้ในซีรี่ส์เรื่องเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอิสระในการใช้ชีวิต, การถูกควบคุมโดยรัฐบาล, ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม และปัญหาความเท่าเทียมทางเพศ (หรือเปล่า?) ซึ่งถ้าพูดถึงการสะท้อนปัญหาความเท่าเทียมของสังคมระหว่างรัฐบาลเเละประชาชน เราว่าสื่อสารออกมาได้ดี อย่างเช่นการใช้คำว่า farm เป็นอุปมาของการที่ประชาชนถูกควบคุมโดยรัฐบาลหรือการทรีตมนุษย์ด้วยกันเองเหมือนเป็นสัตว์
ตั้งตาดูจนจบซีซั่น1 หวังว่าผู้เขียนจะใส่บทใหม่ๆ อะไรเข้ามาเสียดสีกับประเด็นความเท่าเทียมทางเพศในสังคม แต่พอดูจบก็ไม่ได้เห็นถึงข้อความสะท้อนใดๆ ที่จับความได้อย่างเดียวทั้งเรื่องคือสามารถสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพแค่เรื่องระบบอำนาจกดขี่ แต่ในเรื่องของปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคมนั้นไม่ได้ท้าทายอะไรที่น่าสนใจ ซ้ำยังรู้สึกว่ายิ่งทำให้เกิดทัศนคติไม่ส่งเสริมเกี่ยวกับผู้หญิงมาขึ้นไปอีก
ส่วนตัวรู้สึกว่าซีรี่ส์เรื่องนี้มีโอกาสใช้พื้นที่นี้พูดถึงปัญหาเรื่องเพศในสังคมจริงให้ลึกซึ้งเเละสะท้อนออกมาให้ชัดเจนได้ดีกว่านี้อีกมาก
ถ้าลองดูจากบริบททางสังคมในเรื่องนี้: จำนวนผู้หญิงที่มีมากกว่าผู้ชายหลายเท่า เลยทำให้สงสัยว่าในเมื่อผู้จัดเลือกให้โครงสร้างในสังคมที่ผู้หญิงเป็นผู้มีอำนาจมากที่สุดเเละสามารถตัดสินใจอะไรได้ทุกอย่างแล้ว ทำไมผู้จัดถึงยังสร้างตัวละครผู้หญิงให้กลับไปอยู่ในระบบของสังคมในชีวิตจริง ตามระบบบรรทัดฐานของสังคมปิตาธิปไตยอยู่อีก
ตัวอย่างนี้เห็นชัดๆ ได้จากเเม่ของชาเเนลที่ควบคุมว่าลูกจะต้องได้คบกับผู้ชายดีๆอย่างซันถึงจะมีครอบครัวที่สมบูรณ์เเบบ พยายามทำให้ลูกสาวได้แต่งงานกับผู้ชายที่เพอร์เฟค รวมถึงในตอนที่ชาเเนลคุยกับแม็กซ์ว่า “เเม่ชาเเนลไม่เคยดีใจที่ชาเเนลเกิดมาเป็นผู้หญิง” ทั้งการกระทำและคำพูดของแม่ชาแนลซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจทั้งหมดมันไม่สมเหตุสมผลกับโครงสร้างทางสังคมที่ผู้จัดสร้างขึ้นในเมื่ออำนาจมันตกไปอยู่ในมือผู้หญิงแล้วแต่โครงสร้างทางสังคมอย่างปิตาธิปไตยนั้นไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงแม้แต่น้อย ตรงนี้เราว่าผู้จัดพลาดมากในการคำนึงถึงการสร้างมุมมองทางสังคมใหม่ๆ ในรูปแบบที่ผู้หญิงได้กลายเป็นผู้นำและเปลี่ยนแปลงระบบสังคมให้แตกต่างเพื่อท้าทายสังคมในชีวิตจริง
แม้จะอธิบายว่าบริบทนี้สร้างขึ้นเพื่อเสียดสีสังคมชีวิตจริง หรือเพราะแสดงให้เห็นถึงความยากในการก้าวข้ามคุณค่าของสังคมที่ยาวนาน แต่เรามองว่าเนื้อหาเรื่องโดยรวมก็ไม่มีใช้องค์ประกอบอื่นๆ มาท้าทายให้เข้าใจปัญหาความเป็นจริงของสังคมได้น่าสนใจหรือมีประสิทธิภาพมากพอ — หลายประโยคที่เหมือนจะเสียดสีเลยฟังดูไม่มีความหมาย และยังบั่นทอนความเชื่อมั่นที่โครงสร้างสังคมสามารถเปลี่ยนให้เท่าเทียมมากขึ้นได้
สุดท้ายที่จับความได้ตัวซีรี่ส์เอง (โดยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ) ก็ยังสื่อไปในทางที่เชื่อว่าธรรมชาติมนุษย์เราควรมีเพศผู้ชายเเละผู้หญิงเพื่อความอยู่รอดของสังคมและโลกใบนี้ ? การมีผู้ชายจะทำให้สังคมนี้ยั่งยืนขึ้นอย่างแน่นอน ?
ในหนังมีการเเบ่งเเยกคำว่า gentleman and lady เเละ องค์ประกอบเสื้อผ้า: ผู้หญิงใส่สีชมพูเเละผู้ชายใส่สีฟ้า สามารถเข้าใจได้ว่าผู้เขียนอาจใช้การเเบ่งเเยกนี้เพื่อเสียดสีปัญหาการstereotypeในสังคมชีวิตจริง
เเต่เราว่าจากบริบทของเรื่องทำให้การเสียดสีนี้สร้างความขัดเเย่งกันในตัวซีรี่ส์เอง
เพราะบริบทที่ปูแบบนี้การที่ผู้จัดเลือกใช้คำแบ่งแยกเเละการใช้สีมาเสียดสีปัญหาการเหมารวมทำให้ทั้งเรื่องดูไม่มีความชัดเจน ในการสร้างว่าตกลง set standard หรือ norms ของสังคมในเรื่องเป็นยังไงกันแน่ — เอาง่ายๆ คือองค์ประกอบโดยรวมทั้งเรื่องมันไม่ค่อยสอดคล้องกัน เหมือนผู้จัดนึกอยากใส่อะไรที่เป็นประเด็นสังคมที่คนส่วนใหญ่มักพูดถึง ก็โยนๆ ใส่เข้ามา แต่ไม่ได้ศึกษาปัญหาที่นำเสนอให้ดีพอ จึงไม่ได้เชื่อมโยงปัจจัยทางสังคมต่างๆ ให้ทั้งซีรี่ส์สามารถสะท้อนปัญหาในสังคมจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากตรงนี้คิดว่าถ้าอยากลองเสนอสะท้อนปัญหาเรื่องเพศและการเหมารวม ควรใส่บริบทหรือเพิ่มองค์ประกอบและการบรรยายอื่นๆ เพื่อการสื่อสารให้สมบูรณ์เเบบมากขึ้น
ตัวละครโดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นคนลงเเข่งขาดความหลากหลายทางมิติ
ยกตัวอย่างเช่น ตัวละครหลักอย่างเดย์:
ตอนแรกผู้จัดสร้างตัวละครเดย์ให้เป็นคนที่ไม่สนใจเรื่องการหาคู่ แต่พอได้เจอพระเอกเลยเลือกชาเลนจ์กับระบบผู้คุมอำนาจโดยการแต่งงานกับพระเอก โอเคมันไม่ได้ผิดที่มนุษย์เราจะเลือกรักใครตอนไหนก็ได้ แต่จากในซีรี่ส์พอเดย์เจอพระเอกแล้ว รายละเอียดความลึกซึ้ง ความมีมิติของตัวละครมันถูกยัดไปให้พระเอกซันอย่างเดียว ทั้งที่ตัวละครเดย์มีอะไรให้ค้นหาถ่ายทอดให้กับคนดูผ่านการพัฒนาของตัวละคร แบบที่ไม่มีพระเอกมาเป็นปัจจัยในการตัดสินใจนู่นนี่นั่นให้เยอะขึ้นคงจะทำให้ซีรี่ส์ได้นำเสนอมุมมองต่างๆ มากขึ้น
อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าผู้จัดสร้างผู้บรรยายเรื่อง, โครงเรื่อง, อำนาจทุกอย่างเป็นผู้หญิงปกครองทั้งหมด แต่ภายหลังกลับให้ซีนการพัฒนาตัวละครผู้หญิงหลักอย่างเดย์น้อยและไม่ลึกซึ้งเท่าตัวละครเอกอย่างพระเอกซัน (แอบขัดใจและเสียดายมาก ในเมื่อหยิบประเด็นนี้มาเล่นแล้วน่าจะทำให้มันสื่อสารได้ไกลกว่านี้)
ในฉากที่โบว์วี่เต้นรำกับเเม็กซ์ เเล้วหันไปมองชาเเนลพร้อมบอกเเม็กซ์ว่า “เห็นเข้มเเข็งเเบบนี้เเต่ข้างในโคตรอ่อนแอเลย” คือมันก็ไม่ผิดอีกนั่นแหล่ะที่ผู้หญิงหรือมนุษย์คนนึงจะรู้สึกอ่อนเเอได้ เเต่องค์ประกอบโดยรวมของฉากนั้น รวมถึงเสียงพื้นหลังที่ประกอบต่างๆ ทำให้รู้สึกผู้จัดตั้งใจสร้างให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองคนนี้ไปจบที่ว่า ผู้ชายอย่างเเม็กซ์สามารถปกป้องผู้หญิงอย่างชาเเนลได้ ซึ่งก็เป็นบทละครไทยๆ ทั่วไป แบบว่านางเอกหันมารักพระเอกเพราะเขาปกป้องฉันได้ ?
การพัฒนาตัวละครคู่นี้ยังออกไปทิศทางของความเป็นบรรทัดฐานและความคาดหวังทางเพศแบบเดิมๆ นั่นคือผู้หญิงมองว่าการมีความสุขได้คือการค้นหาความรักแบบโรแมนติก
เหมือนกับตัวละครเดย์เราว่าถ้าผู้จัดใส่มิติตัวละครชาแนล เหตุผลในการตัดสินใจอละการพัฒนาของตัวละคร ในแบบที่ไม่ต้องมีผู้ชายมาเกี่ยวข้องหรือทำให้ไขว้เขวคงจะช่วยสะท้อนบรรทัดฐานสังคมบางอย่างได้มากขึ้น
—
อาจเป็นเพราะการใส่มิติของคาเเรคเตอร์ต่างๆ โดยเฉพาะผู้หญิง เเละการให้ความสำคัญกับตัวละครคู่ที่รักร่วมเพศที่ไม่มากพอเลยทำให้ขาดโอกาสเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเภทของความรักและความสัมพันธ์ พลาดโอกาสในการเสนอมุมมองใหม่ๆ หรือท้าทายความคาดหวังของผู้ชมและบรรทัดฐานของสังคม
ส่วนตัวรู้สึกว่ามันน่าจะสนุกและคนดูได้อะไรกลับไปมากขึ้นถ้าในเรื่องexploreมุมมองอื่นๆ ที่หลากหลาย เช่น การสร้างความซับซ้อนของตัวละคร, ความอิสระ/ความเป็นตัวเอง/เป้าหมายในชีวิตของตัวละครผู้หญิงแต่ละคนมากขึ้น ที่ไม่ใช่ว่าเรื่องจบได้แล้วเพราะชีวิตมีความสุขว่าได้เเต่งงานกับผู้ชายที่ตัวเองชอบอย่างเดียว
เราว่าถ้าซีรี่ส์ได้มีโอกาสเจาะลึกไปในเหตุผลเบื้องหลังตัวละครของโบว์วี่ที่ตอนจบเสียสละคนที่ตัวเองชอบให้เพื่อน เพราะเห็นถึงมิตรภาพของเพื่อนผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย หรือexploreมิติหรือการพัฒนาของตัวละครที่เป็นรักร่วมเพศให้มากขึ้นคงทำให้เนื้อหาของเรื่องมีความเข้มข้นเเละสื่อสารให้ผู้ชมและสะท้อนสังคมจริงได้มากขึ้น(มารอดูกันว่าซีซั่นหน้าจะเป็นอย่างไร)
ถ้ามีใครมีความเห็นเหมือนต่างยังไงเเชร์กันได้นะคะ
ยังไงก็ตามรอดูซีซั่นถัดไปค่ะ ❤
Reference: https://www.bigdreamblog.com/2024/03/07/review-ready-set-love/
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in