เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
EARLY DESIRE ประวัติศาสตร์ใต้สะดือSALMONBOOKS
คำนำ





  • คำนำสำนักพิมพ์


    เราอ่านต้นฉบับหนังสือเล่มนี้ด้วยความขวยเขิน

    ถึงจะจั่วหัวอย่างจริงจังว่ามันเป็น ‘ประวัติศาสตร์’ แต่ในรายละเอียดของแต่ละเรื่องก็ทำให้เราอดหลบตาตัวอักษรที่เรียงรายอยู่ไม่ไหว

    เพราะอะไร?

    อาจเพราะเราอยู่ในยุคที่เรื่องเพศเป็นเรื่องบัดสี เรื่อง ‘บนเตียง’ หรือ ‘ใต้สะดือ’ ไม่สามารถเป็นหัวข้อพูดคุยกันในที่สาธารณะได้ เวลาใครโพล่งออกมาเป็นต้องถูกชี้หน้าว่าเป็นพวกก้าวร้าวไร้ยางอาย

    กระทั่งเวลาจะคุย เรายังต้องเลี่ยง มีโค้ดลับมากมายที่หมายถึงเรื่องอย่างว่า—เช่นคำว่า ‘อย่างว่า’ เป็นต้น—อึกอักอย่างลำบากใจทุกทีที่จะพูดกัน ก่อนใครสักคนจะตำหนิติติงว่า ‘นี่มันเป็นเรื่องสมควรไหมที่จะพูด’

    นั่นสิ สมควรหรือเปล่า?

    แต่...ทำไมล่ะ? ทำไมเราไม่ควรพูดถึงเรื่อง ‘เซ็กซ์’

    ทั้งที่เซ็กซ์นี่แหละเป็นจุดกำเนิดทำให้เราได้มานั่งสงสัยในเรื่องเซ็กซ์กันอยู่ตรงนี้ ทั้งยังเป็นเรื่องใกล้ตัวระดับเดียวกับความนึกคิดในเรื่องต่างๆ อย่างรสนิยม ความชอบ การแสดงออก ฯลฯ

    เมื่อเซ็กซ์อยู่ในตัวของพวกเรา แล้วทำไมเซ็กซ์ถึงถูกซุกซ่อน ไม่ถูกพูดถึงเสมือนเรากำลังมีชู้กับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของตัวเอง

    โตมร ศุขปรีชา นักเขียน นักคิด และนักชวนคิดคนสำคัญแห่งยุค บอกกับเราผ่านหนังสือเล่มนี้ว่า มีหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ว่า ไม่ใช่แค่โลกปัจจุบันหรอกที่ทำให้มนุษย์มีรสนิยมทางเพศที่แตกต่างออกไป เรื่องเซ็กซ์ที่คนยุคนี้คิดว่า ‘ผิดปกติ’ มันเกิดมานานนม นานกว่าที่เราจะจินตนาการออก ไม่ใช่เรื่องของโลกาภิวัฒน์เพียงถ่ายเดียวอย่างที่เราเคยเข้าใจ

    ทว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา หลักฐานที่เป็นรูปธรรมนั้นกลับ ‘ถูกฝัง’ เอาไว้อยู่ในบางซอกหลืบของพิพิธภัณฑ์ ไม่ถูกนำมาแสดง เพราะสังคมปัจจุบันเห็นว่ามันเป็นเรื่อง ‘ไม่สมควร’

    ซึ่งก็ต้องออกตัวกันสักหน่อยว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ต้องการแสดงความก้าวร้าว ขวางโลก หรือพยายามจะทวนกระแสสังคมแต่อย่างใด กลับมีเพียงความเสียดายอย่างอธิบายยากว่ามันใช่เรื่องไหมที่เราจะมองข้ามประวัติศาสตร์—ของตัวเราเอง ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง—เพียงเพราะสังคมติดป้ายเอาไว้ว่ามันไม่สมควรเอามาพูดถึง ทั้งที่อธิบายไม่ได้ด้วยซ้ำว่าทำไม?

    ไม่สงสัยกันบ้างหรือว่า เมื่อหลายพันปีก่อนมีการรักร่วมเพศกันแล้วจริงหรือ? รสนิยมทางเพศของชาวเผ่าแอมะซอนเป็นยังไง? หรือในโลกที่เชื่อว่ามนุษย์นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่รักเดียวใจเดียวมาตลอด จะไม่เคยมีประวัติการทำทรีซัมมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์?

    อะไรอีกบ้างที่ถูกซุกซ่อนอยู่ใต้ผ้าห่มในยุคสมัยที่เซ็กซ์เป็นเรื่องต้องห้าม

    ขอเชิญเลิกผ้าพูดจากันได้ในหนังสือเล่มนี้


    สำนักพิมพ์แซลมอน


  • บทนำ
    — ก่อนประวัติศาสตร์


    สองแสนปีที่แล้ว...

    โลกไม่ได้มีมนุษย์เพียงสปีชีส์เดียว การค้นพบครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้เรารู้ว่า โลกเต็มไปด้วย ‘มนุษย์’ ในสปีชีส์ต่างๆ ทั้งที่เรารู้จักและยังไม่รู้จัก อย่างน้อยที่สุดก็หกสปีชีส์

    อย่าเพิ่งซีเรียสไปครับ—นี่ไม่ใช่หนังสือวิทยาศาสตร์ที่จะมาบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ของมนุษย์ แต่สิ่งที่ผมอยากจะเล่าให้คุณฟังต่อไปนี้ คือเรื่องราวของอดีตกาลผ่าน ‘เซ็กซ์’ ในแง่มุมที่แปลกประหลาดจนอาจคาดไม่ถึง

    มันคือเซ็กซ์ของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ เซ็กซ์ที่อาจถูกกลบฝังไปแล้วหากมนุษย์ยุคใหม่ไม่ได้ขุดค้น จากนั้นก็พิศวงสงสัย—ว่าสิ่งที่พบนั้นมี ‘ความหมาย’ อะไรหรือ

    หลายครั้ง เมื่อเราพบสิ่งที่ฝังอยู่ในหลุมศพเก่าแก่โบราณ เรามักเอาความคิดและความเชื่อของคนในยุคปัจจุบันไปตัดสินถูกผิด บอกว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้แน่ๆ หรือในบางกรณี เวลาเราเจอโบราณวัตถุที่ ‘บัดสีบัดเถลิง’ ในสายตาของเรา เราก็เอามันไปเก็บงำให้มิดชิด ไม่ต้องมีการตีความว่าคืออะไรแน่

    ตัวอย่างความพิศวงงงงวยเหล่านี้ก็เช่น คนสมัยก่อนโน้นมี ‘ดิลโด้’ ใช้กันหรือเปล่า / รูปปั้นรูปเทพีอวบอ้วนขนาดใหญ่กว่านิ้วมือเล็กน้อยนั้น—แท้จริงแล้วมีไว้ใช้เพื่อบูชาเสมือนเป็นพระเครื่อง หรือมีไว้เพื่อสอดใส่บำบัดความใคร่ให้ตัวเองกันแน่ / แล้วหลุมศพที่มีสามศพอยู่ด้วยกันนั่นอีกเล่า มันแปลว่ามีกิจกรรมกิจกามในแบบทรีซัมหรือรักสามเส้าเกิดขึ้นหรือเปล่า หรือว่าพวกเขาทั้งสามได้พบเผชิญกับโศกนาฏกรรมอะไรก่อนตาย / องคชาตของมัมมี่บางร่างที่หายไปและข่าวลือเรื่องการพบอสุจิโบราณในช่องทวารหนัก แปลว่ามัมมี่ร่างนั้นเป็นเกย์ก่อนประวัติศาสตร์จริงหรือ / สายพันธุ์แท้ที่สุดของมนุษย์คืออะไร เริ่มต้นอย่างไร สืบต่ออย่างไร / ระหว่างใบหน้ากับอวัยวะเพศ ถ้าเราแก้ผ้า อะไรจะโดดเด่นกว่ากัน และทำไมถึงเป็นอย่างนั้น / เซ็กซ์ของบรรพบุรุษของมนุษย์ต่างจากเซ็กซ์ในปัจจุบันไหม / มนุษย์ชอบมีอะไร (ในทางเพศ) กับสัตว์หรือเปล่า และถ้ามี จะมีไปทำไมกัน / ระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายยุคโบราณ ใครกันแน่ที่มีอำนาจเหนือกว่ากัน / แล้วการข้ามเส้นแบ่งทางเพศในสมัยโบราณเล่า เป็นเรื่องที่เป็นไปได้หรือเปล่า

    เหล่านี้คือคำถามที่หาคำตอบได้ยากเย็นยิ่ง เพราะคำตอบถูกกลบฝังไปกับกาลเวลา

    คำตอบส่วนใหญ่จึงเกิดจากการเดา!

    เราอาจคุ้นเคยดีกับภาพ From Ape to Adam ที่เป็นภาพลิงทางซ้ายค่อยๆ เดินวิวัฒนาการจนกลายเป็นคนทางขวา ลิงตัวซ้ายสุดมีลักษณะคล้ายกับชิมแปนซี ถัดมาคือ ‘ตัวเชื่อม’ ที่ไม่ได้ต่อเนื่องกัน แต่ค่อยๆ พัฒนาจากลิงตัวเล็ก ขนดก กลายมาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ร่างใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เดินตัวตรงขึ้นเรื่อยๆ และมีขนน้อยลงเรื่อยๆ จากลิงจึงกลายมาเป็น ‘โฮมินิดส์’ (Hominids) หรือมนุษย์โบราณ ไล่เรื่อยมาถึงมนุษย์ยุคใหม่

    คุณคิดว่าทั้งหมดนี้มีอะไรเชื่อมโยงกัน?

    จะอะไรเสียอีกล่ะครับ ถ้าไม่ใช่เซ็กซ์!

    เซ็กซ์คือพื้นฐานของวิวัฒนาการ ถ้ามนุษย์ไม่มีเซ็กซ์เราคงไม่ได้สืบพันธุ์ และไม่ได้มีวิวัฒนาการต่อเนื่องมาจนกระทั่งเกิดเป็น ‘เผ่าพันธุ์’ อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

    หนังสือเล็กๆ เล่มนี้จะพาคุณไปสำรวจหลายแง่มุมของเซ็กซ์ ทั้งก่อนประวัติศาสตร์ และเมื่อเริ่มมีการจารึกบางอย่างเอาไว้แล้ว บางเรื่องในหนังสือเล่มนี้มาจากข้าวของที่ถูกเก็บซ่อนเอาไว้ในโกดังของพิพิธภัณฑ์ ไม่ได้ถูกนำออกมาจัดแสดง เพราะสายตาของคนปัจจุบันมองว่าเป็นเรื่องวิปริตบัดสี ทำให้ไม่มีการศึกษาจริงจัง หลายเรื่องจึงคลุมเครือสับสน และมีการตีความกันไปต่างๆ นานาโดยไม่มีข้อสรุป

    วิวัฒนาการทางชีวภาพนั้นเป็นสิ่งที่ค่อยๆ เกิดขึ้นช้าๆ และไม่ได้แยกขาดออกจากวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม

    วิวัฒนาการทางเพศก็เช่นเดียวกัน มันค่อยๆ เกิดขึ้นพร้อมการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิต

    จากลิงที่เดินสี่เท้ามาเป็นสัตว์ไพรเมตเดินสองเท้าตัวตรง จากถิ่นที่อยู่อาศัยในป่ามาอยู่ในทุ่ง จากแอฟริกาอพยพเข้าสู่ยุโรปและเอเชีย จากอวัยวะเพศเล็กจิ๋วซ่อนอยู่ใต้ขนดก กลายมาเป็นอวัยวะเพศที่มี ‘พื้นที่’ ค่อนข้างใหญ่ ตกแต่งประดับประดาด้วยขนอันโดดเด่นอยู่บนเรือนร่างเปลือยที่มีขนเพียงบางเบา

    คุณอาจไม่อยากรู้เรื่องเซ็กซ์ของคนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายสักเท่าไหร่ แต่ถ้าผมชวนคุณนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปในอดีตไกลโพ้นระดับพันๆ หมื่นๆ ปีล่ะครับ—คุณสนใจไหม

    ไปดูเรื่องเซ็กซ์ของมนุษย์โบราณกัน!


    โตมร ศุขปรีชา


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in