เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
DON'T WORRY, BE DADDYSALMONBOOKS
02: เอแคลร์

  • ผมจำไม่ได้แล้วว่าวันนั้นคือวันอะไร แต่จำได้ว่าคืนนั้นผมกำลังนั่งทำบันทึกประจำวันอยู่ที่ออฟฟิศหลังเคาน์เตอร์ฟรอนต์โรงแรม

    ทุกอย่างมันควรจะราบรื่นเหมือนทุกๆ วันที่ผ่านมา ถ้าเครื่องถ่ายเอกสารไม่ส่งเสียงน่ารำคาญจากการโดนดึงถาดใส่กระดาษเข้าออก และเสียงกดรหัสที่ดัง ตื๊ดๆ

    ไอ้เครื่องถ่ายเอกสารเฮงซวย! เมื่อไหร่เค้าจะเปลี่ยนเครื่องใหม่กันสักทีวะ

    ผมพยายามตั้งสมาธิเพื่อเขียนบันทึกประจำวันให้เสร็จก่อนที่พนักงานรอบดึกจะมาเข้างาน แต่เสียงกึกๆ กักๆ จากการดึงถาดกระดาษเข้าออกก็ยังคงดังต่อเนื่อง โดยมีพนักงานแคชเชียร์จากห้องอาหารกำลังพยายามปลุกปล้ำเครื่องถ่ายเอกสารอยู่

    กระดาษมันคงจะติดอยู่ตรงไหนสักที่ในเครื่องนั่นแหละ เครื่องมันก็เลยไม่ยอมทำงานต่อ

    ก่อนที่เครื่องถ่ายเอกสารจะพังไปมากกว่านี้ และก่อนที่ผมจะน็อตหลุดลุกขึ้นมาด่า ผมตรงเข้าไปจัดการเครื่องถ่ายเอกสารให้เสร็จ

    แม่งจะได้จบๆ ซะที

    สงครามเครื่องถ่ายเอกสารจบลงตรงที่ผมแงะกระดาษที่ติดอยู่ในเครื่องออกมาจนหมด และสาธิตการถ่ายเอกสารให้แคชเชียร์คนนั้นดูสามแผ่น
  • ผมเดินกลับมาเขียนรายงานต่อ โดยมีพนักงานแคชเชียร์คนเดิมเดินตามมานั่งข้างๆ

    เออ ผมเคยบอกหรือยังว่าจริงๆ แล้วผมไม่ใช่คนอัธยาศัยดีเท่าไหร่ ยิ่งช่วงเวลาที่กูรีบเขียนบันทึกประจำวันให้เสร็จ เพื่อจะได้กลับบ้านให้ตรงเวลา มนุษยสัมพันธ์ของผมยิ่งชำรุดมากๆ

    พนักงานแคชเชียร์คนนั้น: “เธอ...คำว่า ‘ทรานแซกชั่น’ สะกดยังไง?”

    ถ้าใครเคยอยู่ในบรรยากาศที่โคตรรีบแล้วมีคนเงอะงะอยู่รอบๆ ตัวจะเข้าใจดีว่าผมรู้สึกยังไง

    วิชัย: “จะทำอะไร” (ใช้น้ำเสียงเดียวกับที่ใช้พูดกับคนแปลกหน้าที่มาแซงคิวขึ้นรถเมล์นั่นแหละ)

    พนักงานแคชเชียร์คนนั้น: “ฮะ?”

    วิชัย: “เนี่ย กำลังจะทำอะไร”

    พนักงานแคชเชียร์คนนั้น: “เอ่อ...กำลังจะทำ ‘Incident Report’*

    แค่คำว่า transaction ยังสะกดไม่ถูก พนันได้เลยว่ามันจะต้องมีคำอื่นตามมาอีกเป็นขบวน ไอ้ครั้นจะเดินไปหยิบดิกฯ ให้ แม่งก็คงจะต้องเปิดดิกฯ เสียงดังอีกแน่ๆ

    วิชัย: “มาๆ เราเขียนให้”

    พนักงานแคชเชียร์คนนั้น: “รบกวนหรือเปล่า?”

    วิชัย: “ไอ้ที่ทำอยู่ตอนนี้ก็รบกวนแล้วแหละ มา เขียนให้ จะได้เสร็จเร็วๆ”

    พนักงานแคชเชียร์คนนั้น: “…”

    วิชัย: “ชื่ออะไร?”

    พนักงานแคชเชียร์คนนั้น: “มยุรี”

    คืนนั้นลงเอยที่ผมกลับบ้านเลต เพราะมัวแต่เขียนไอ้ Incident Report ให้แคชเชียร์ชื่อมยุรี

    เรื่องมันน่าจะจบตรงที่วิชัยปากหมาจนหยดสุดท้าย ส่วนมยุรีก็เดินออกจากห้องและออกจากชีวิตผมไป

    แต่วันต่อมา แคชเชียร์ชื่อมยุรีส่งเอแคลร์ของร้าน S&P มาขอบคุณ

    โอเค ไตเติ้ลขึ้น

    ‘ไอ้บ้าปากหมากับสาวหน้ามึน’

    ______________________________
    * Incident Report คือรายงานที่พนักงานโรงแรมต้องทำเพื่อส่งเป็นหลักฐานให้กับ
    หัวหน้าในกรณีที่มีเหตุผิดพลาดแล้วมีผลกระทบต่อลูกค้า หรือกรณีที่ลูกค้าคอมเพลนหนัก แล้วเรื่องลุกลามใหญ่โต—และสำหรับโรงแรมที่ผมทำอยู่ตอนนั้น ต้องเขียนเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น
  • ต่อมา ผมค้นพบว่าแคชเชียร์ชื่อมยุรีเป็นผู้หญิงเซ็กซี่ เครื่องแบบก่อนเวลาทำงานคือกางเกงเลเอวต่ำสีแสบกับเสื้อยืดเอวลอยโชว์สะดือ มีกระเป๋าคาดเอวยี่ห้อไนกีสี้แดงคาดไขว้ลำตัว แคชเชียร์ชื่อมยุรีคือผู้หญิงที่พูดเหี้ย ห่า และคำหยาบทุกคำในโลกนี้ได้อย่างไม่เคอะเขิน หัวเราะเสียงดัง และกินทุกอย่างได้โดยไม่เคยโอดครวญว่าจะลดความอ้วน และที่สำคัญที่สุด แคชเชียร์ชื่อมยุรีเป็นคนกวนตีน จบ

    ดูเหมือนว่าหลังจากนั้นเราจะบังเอิญเจอหน้ากันบ่อยขึ้นเรื่อยๆ จากที่เจอหน้ากันเฉพาะตอนถ่ายเอกสารก็เจอกันแถวล็อคเกอร์ เจอกันแถวห้องยูนิฟอร์มตอนเบิกชุดพนักงาน เจอกันในแคนทีน

    และตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้ที่เวลาพักกินข้าวกลายเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับผม เพราะผมจะลุ้นให้ได้กินข้าวพร้อมกับเธอเสมอ

    จากคนละโต๊ะ คนละมุมห้อง กลายเป็นคนละมุมโต๊ะ และกลายเป็นกินข้าวพร้อมกัน

    ผมไม่ได้รู้สึกซับซ้อนอะไรกับผู้หญิงคนนี้ ผมแค่อยากเจอเธอบ่อยๆ จนถึงเจอกันให้บ่อยที่สุด

    จากที่เจอกันเฉพาะที่ทำงาน เราเริ่มนัดเจอกันข้างนอกบ่อยขึ้น

    ผมชอบตัวเองเวลาหาข้ออ้างในการนัดเจอมยุรี ไม่ให้ดูเป็นการขอเดตอย่างเป็นทางการได้

    เวลากลับบ้านเราใช้บริการบีทีเอสทั้งคู่ มยุรีจะลงสถานีพร้อมพงษ์ ผมลงสถานีพระโขนง แต่พอกลับบ้านพร้อมกันทีไร ผมชอบชวนมยุรีนั่งบีทีเอสย้อนไปที่ปลายสาย (หมอชิต) เพื่อที่จะได้นั่งบีทีเอสด้วยกันนานๆ

    ผมเกลียดสถานีพร้อมพงษ์ เพราะมันเป็นสถานีที่เธอลง 

    และจากสถานีพร้อมพงษ์ไปสถานีพระโขนงก็เป็นระยะทางที่ไกลที่สุด

    ส่วนช่วงเวลาที่กว่าจะได้เจอกันอีกครั้ง ก็เป็นช่วงเวลาที่นานที่สุดเสมอ
  • วันที่ 25 กรกฎาคม 2547 ผมขอเธอเป็นแฟน

    เรากลายเป็นเพื่อนสนิทของชีวิตกันและกันตั้งแต่ตอนนั้น

    อยู่กับมยุรี ผมไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องพยายามอะไร รักกันเหมือนคู่รักทั่วไป และพูดจากันเหมือนเพื่อนสนิททั่วไป (ช่วงที่คบกันแรกๆ เราเรียกสรรพนามแทนกันว่า ‘กู-มึง’ ด้วยซ้ำ)

    เราทะเลาะกันหลายครั้ง เราเกือบเลิกกันหลายครั้ง แต่เราก็รักกันมากขึ้น

    คืนหนึ่งผมขอเธอแต่งงาน

    เออ พูดให้ถูกคือไม่ได้ขอด้วยซ้ำ มันเป็นแค่บทสนทนาธรรมดาๆ ที่เกิดขึ้นตอนผมเดินไปปิดไฟห้องนอน แล้วกลับมาเอนหลังลงนอนข้างๆ มยุรีเหมือนทุกๆ วัน

    “เค้าว่าเรามาแต่งงานกันเถอะ”
    “เออ เอาดิ”
    แค่นั้น

    ผมพานายทองไปพบพ่อแม่ของมยุรีเพื่อสู่ขอ
  • พูดให้ถูกคือไม่ได้เป็นการ ‘สู่ขอ’ ด้วยซ้ำ แต่เป็นการบอกเล่าแบบเรียบง่ายให้ผู้หลักผู้ใหญ่ฟังมากกว่าว่าเราสองคนคบกันมานานแล้ว และผมจะอยู่กินกับผู้หญิงคนนี้อย่างเป็นทางการแล้วนะ

    ไม่มีการถ่ายรูปพรีเวดดิ้ง ไม่มีงานหมั้น ไม่มีสินสอด ไม่มีงานแต่ง

    ผมไม่เชื่อในสิ่งเหล่านั้น

    งานแต่งงานสำหรับผมคือการที่เราไปขอให้คนแปลกหน้ามาอนุญาตให้เรามีพิธีการในวันนั้นวันนี้ ด้วยประโยคที่ว่า “วันนี้ฤกษ์ดี แต่งวันนี้นะ” เพื่อให้เราจ่ายเงินแสนจัดงานแต่งงาน เพื่อที่เราจะได้ใส่ชุดที่ไม่ใช่ตัวเอง อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เป็นตัวของตัวเอง

    ทำไมเราต้องเอาเงินมหาศาลมาใช้เพื่อวันวันเดียว แทนที่จะนำเงินเหล่านั้นไปใช้ให้นานกว่านี้

    ผมนำเงินที่ควรจะใช้ ‘จัดงานแต่งงาน’ ไปเที่ยวญี่ปุ่นกับมยุรีสิบวัน

    วันที่ 25 กรกฎาคม 2554

    ครบรอบเจ็ดปีที่เราคบกัน

    เราจดทะเบียนสมรสกันอย่างเป็นทางการ

    ตอนนั้นเราเพิ่งมีบ้านและมีแมว (ตั้งสามตัว)

    มีลูกสักคนก็น่าจะเป็นเรื่องดี

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in