ในมือผมเริ่มกดมือถือเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับ ‘คลอดลูกบนทางด่วน ต้องติดต่อใคร’
เพราะเริ่มมีลางสังหรณ์แล้วว่า วันพรุ่งนี้เราทั้งคู่ต้องได้ลงข่าวหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่ง เพราะทำคลอดลูกบนทางด่วนแน่ๆ
ผมโทร.หาหมออีกครั้ง เพื่อบอกว่าพวกเรากำลังเดินทาง แต่จะไปถึงช้า เพราะรถติด
หมอบอกให้ผมใจเย็นๆ เพราะคำว่า ‘น้ำเดิน’ ไม่ได้แปลว่าก๊อกน้ำแตกและน้ำจะหมดตัวมยุรีซะเมื่อไหร่ ถึงแม้คำว่า ‘น้ำเดิน’ จะหมายถึงภาวะถุงน้ำคร่ำในท้องแม่แตกและไหลออกมาเป็นเหตุให้ลูกในท้องอยู่ไม่ได้จนต้องหาทางออกมาข้างนอก แต่ไอ้คำว่า ‘น้ำเดิน’ แปลว่า น้ำคร่ำมันค่อยๆ ไหลออกมา
หมอทิ้งท้ายว่าถ้าน้ำเริ่มเดินแล้ว พวกเรามีเวลาอย่างน้อยอีกห้าชั่วโมง เพื่อที่จะไปให้ถึงโรงพยาบาล
วิชัย: “แต่ถ้าน้ำเดินหมดแล้ว เรายังไปไม่ถึงโรงพยาบาลล่ะครับ”
หมอ: “ลูกคุณก็อาจตายในท้อง และอาจเป็นอันตรายถึงแม่ด้วย”
...นั่นไง มาอีกละ ไอ้คำวัดใจ ‘ก็อาจ’
คือมันอาจจะเกิดก็ได้ หรือไม่เกิดก็ได้
สรุปสั้นๆ คำว่า ‘ก็อาจ’ มีค่าเท่ากับ ‘เกิดขึ้นแน่ๆ เตรียมใจไว้ได้เลย’
ครึ่งชั่วโมงผ่านไป ล้อหมุนไปข้างหน้าได้สิบรอบเองมั้ง
นี่กูอยากอุ้มเมียวิ่งไปโรงพยาบาลจริงๆ ละ เพราะจุดนี้เริ่มสงสัยแล้วว่า ผมจะหูแตกก่อน หรือมยุรีจะคอแตกก่อน เพราะมยุรียังคงร้องโอดครวญด้วยความเจ็บปวด ของเหลวที่เรียกว่า ‘น้ำคร่ำ’ ยังคงไหลออกมาเรื่อยๆ ส่วนผมก็ทำได้แค่บีบแตร ทำตัวเป็นคนไม่มีมารยาทบนท้องถนนและตอแหลกับเมียว่า “ใจเย็นๆ เดี๋ยวก็ถึงโรงพยาบาลแล้ว”
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in