เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
#วิรัลอ่านa week before valentine
เล่มที่ยี่สิบสี่ – วันสุดท้ายของนักโทษประหาร

  • วันสุดท้ายของนักโทษประหาร เป็นผลงานเขียนของ วิกเตอร์ อูโก (Victor Hugo) ซึ่งคงคุ้นหูหลาย ๆ คนจากผลงานดัง ๆ อย่าง Les Miserables เรายังไม่ได้อ่านเรื่องนั้น (ดูท่าจะยาว) ส่วนเล่มนี้ได้มาจากพี่ที่ออฟฟิศเป็นของขวัญการสำเร็จการศึกษาระดับบัณฑิต พร้อมเหตุผลสั้น ๆ ว่า "เหมาะกับวันสุดท้ายของการเป็นนิสิตดีออก" (มันเกี่ยวอะไร 555)

    หนังสือเป็นเหมือนบันทึกเหตุการณ์ของตัวละครหนึ่ง (เล่าด้วยมุมมองบุคคลที่หนึ่งทั้งเรื่อง) ที่โดนตัดสินประหารชีวิต และมีเวลาราว 6 สัปดาห์กว่าจะถึงวันประหาร ตัวละครนี้เป็นใคร ชื่ออะไร ถูกตัดสินโทษนี้เพราะก่อคดีอะไรไว้ อูโกไม่ได้บอก (ท้ายเล่มที่เป็นบันทึกจากนักแปลบอกว่า อูโกเคยแจ้งในหนังสือพิมพ์ในฝรั่งเศสว่าไม่ต้องการระบุชื่อหรือตำแหน่งอะไรของตัวละคร เพราะไม่อยากให้ดูเป็นการเรียกร้องสิทธิของนักโทษประหารเพียงคนเดียวแบบเจาะจง แต่เขาอยากพูดถึงนักโทษฯ ทุก ๆ คน) ทั้งเรื่องจะได้เห็นอารมณ์และความนึกคิดของนักโทษประหาร จากความตกตะลึง ความหวาดกลัว ความปลงตก และกลับมาหวาดกลัวอีกครั้งในวันสุดท้าย ดูเหมือนว่าการเข้าใกล้ความตายทำให้คนเราตกผลึกอะไรได้เยอะ และได้คิดทบทวนเรื่องราวต่าง ๆ ที่ทำให้อยากยืดเวลาตายออกไปเรื่อย ๆ ด้วย

    เรื่องนี้เหมือนจะมีนัยทางการเมือง (ประมาณว่าเรียกร้องสิทธิและไม่เห็นด้วยกับโทษประหาร -- อ่านอธิบายข้างหลังยังไม่หมด) ขอข้ามไป พูดในส่วนที่เราถนัด (?) คือตัวภาษา วรรณศิลป์ อะไรพวกนี้ ส่วนตัวชอบสำนวนแปล เรียบเรียงดี อ่านง่าย และตัวเนื้อเรื่องเองก็น่าสนใจ มีหลายถ้อยคำที่ชวนให้คิดตลอด อูโกก็ยังอุตส่าห์ใส่ซีนโรแมนติก ๆ ไว้ได้ในชีวิตนักโทษคนนี้ ก็อย่างว่าแหละนะ นักโทษก็คือมนุษย์ ย่อมต้องเคยมีช่วงชีวิตที่สุขสดใสและทนทุกข์ไม่ต่างจากคนอื่น ๆ

    แต่ก็มีหลายฉากที่ชวนให้ขนลุกและสิ้นหวัง โดยเฉพาะตอนท้าย ๆ ดูเหมือนว่าการประหารจะเป็นกิจกรรมการแสดงที่คนในเมืองรอชม -- น่าขนลุกตรงที่คนอื่น ๆ มองว่านี่คือ "การแสดง" เป็น "สิ่งบันเทิงเริงใจชวนดู" ถึงขั้นปิดร้านรวงเพื่อมารอชุมนุมกันดูขบวนนักโทษเคลื่อนเข้าสู่ลานประหาร การยินดีกับความตายของใครสักคนไม่น่าใช่เรื่องดีหรือเปล่านะ ทำให้นึกถึง 6 ตุลาฯ อยู่นิดหน่อย แต่เชื่อเถอะว่านักโทษในหนังสือได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าใน 6 ตุลาฯ เยอะ (มาก)

    มีพาร์ตที่ชอบหลาย ๆ พาร์ต แต่ถ้าพูดหมดก็เหมือนสปอยล์ (เอ่อ มันมีอะไรให้สปอยล์ไหม 555) หนังสือไม่ได้ยาวมาก ถ้ามีโอกาสก็ลองเอามาอ่านกันดูได้ เปิดโลกดี (เพิ่งรู้ว่าถ้ามีดกิโยตินฝืดก็เอาเทียนไขไปถู ๆ ตรงร่องได้ แบบนี้)

    อ่านจบแล้วก็มีความคิดว่า 1. อยากไปฝรั่งเศส 2. อยากอ่าน/ดู Les Miserables จังแฮะ

    --

    อ้างอิง
    วิกเตอร์ อูโก.  (2560).  วันสุดท้ายของนักโทษประหาร.  กรรณิกา จรรย์แสง แปล.  กรุงเทพฯ: มติชน.

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in