สวัสดีค่ะทุกคน ห่างหายจากการเขียนบล็อกไปนานมากๆ เนื่องด้วยเราทำงานวันเสาร์และเริ่มเรียนคลาสออแพร์ด้วยก็เลยไม่ค่อยมีเวลาว่างนานๆมาเขียนบล็อกเท่าไหร่ แต่ยังอยู่ในทวิตเตอร์ตลอด ถ้าใครสงสัยและอยากสอบถามเรา สามารถติดต่อไปในทวิตเตอร์ได้เสมอนะคะ
มาพูดเกริ่นถึงอีพีนี้ก่อนเริ่มเข้าเนื้อหาหลักเล็กน้อยว่าคำว่า ‘เส้นทางใหม่’ ที่เราพูดถึงนี่มันคืออะไร หากทุกคนยังจำได้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เราได้เปิดห้อง Clubhouse ขึ้นมาเพื่อคุยกันเรื่องประสบการณ์ชีวิตออแพร์ของเราและเพื่อนออแพร์ท่านอื่น รวมถึงการ discuss เรื่องชีวิตหลังจบโครงการ ‘กลับไทยหรือทำอะไรดี?’ จากเพื่อนๆพี่ๆออแพร์ที่มีประสบการณ์
ทุกอย่างมันเริ่มจากเราเองค่ะ เราใกล้จะจบโครงการแล้วในเดือนกรกฎาคมนี้ เราจึงมีข้อสงสัยกับตัวเองว่าชีวิตต้องการอะไรหลังจบกันแน่ การที่ได้มาอยู่ต่างประเทศแรมปีมันเป็นอะไรที่ไม่คิดไม่ฝันเลยว่าจะเปลี่ยนการใช้ชีวิตและแนวคิดของเราขนาดนี้ เราโตขึ้น เพราะต้องอยู่คนเดียวในบ้านคนแปลกหน้าที่ไม่ใช่ครอบครัวของเราจริงๆ การทำงานก็ไม่ใช่ว่าดีไปหมดทุกอย่าง มีความลำบากและความอึดอัดใจบ้างเป็นบางครั้ง พอยิ่งใกล้จบโครงการ ตามอ่านข่าวที่ไทยทีไรก็รู้สึกไม่อยากกลับไปเลย แต่ทางบ้านก็อยากให้กลับมากๆ เราจึงเกิดคำถามขึ้นกับตัวเอง และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เราเปิดห้อง Clubhouse ขึ้น เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนๆพี่ๆออแพร์ท่านอื่น
ก่อนอื่นอยากจะขอโทษใครก็ตามที่อยู่ในห้อง Clubhouse วันนั้น เราอาจจะทำหน้าที่ Moderator ได้ไม่ดีเท่าไหร่ และหลุดประเด็นไปบ้าง เพราะทุกคนก็เริ่มเข้ามาเยอะ ยกมือขึ้นมาพูดคุยกันเยอะมากๆ เกินความตั้งใจเรามากๆเลยค่ะ เราอยากจะขอบคุณทุกท่านที่ขึ้นมาพูดคุยกันจริงๆจากใจ รวมถึงขอโทษที่ออกนอกประเด็นไปเยอะด้วยนะคะ แต่ระยะเวลา 5 ชั่วโมงในวันนั้น มันเกินคาดจริงๆค่ะ ขอบคุณทุกคนที่อยู่ในห้องวันนั้นอีกทีนะคะ ขอบคุณจริงๆค่ะ
เอาล่ะค่ะ เกริ่นมาขนาดนี้แล้ว ทุกคนน่าจะจับได้แล้วว่าวันนี้เราจะมารีแคปเรื่องที่คุยกันในห้อง Clubhouse วันนั้น เราพูดคุยอะไรกันไปในวันนั้นบ้าง มีอะไรน่าสนใจที่เราอยากนำมาแชร์ให้เพื่อนๆที่ไม่ได้ฟังในวันนั้นทราบบ้างมั้ย แน่นอนว่ามีค่ะ ฮ่าๆ ถ้าทุกคนพร้อมแล้ว เรามาเริ่มกันเลยนะคะ :)
ประเด็น Racism
เปิดมาเรื่องแรกก็เป็นเรื่องหนักเลย อันนี้ต้องขอบคุณคนที่ถามเข้ามามากๆเลยนะคะ ที่เรายกประเด็นนี้มาก่อน เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญมากและร้อนแรงมากในช่วงที่ผ่านมา นั่นคือประเด็น #StopAsianHate ไม่ว่าจะเป็นข่าวที่เกิดในซานฟรานซิสโก, นิวยอร์ก, แอตแลนตา และที่อื่นๆ เราเข้าใจมากๆเลยว่าเพื่อนๆที่ยังไม่ได้เดินทางมาที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีความกังวลมากแค่ไหน
ในวันนั้นก็มีคุณนิชามาเล่าประสบการณ์การโดนเหยียดให้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ป้าที่ขับรถตาม และใน grocery store ที่มีมนุษย์ป้ามองเหยียดเพราะความเป็นเอเชียของเรา เราฟังเรื่องราวทั้งสองแล้วมองว่ามันไม่โอเคมากๆเลย ตามประวัติศาสตร์แล้วดินแดนอเมริกาเป็นดินแดนอพยพด้วยซ้ำ ทั้งๆที่มี Native American อยู่ก่อนแล้ว แต่เขาก็ไม่ได้ให้ความเคารพขนาดนั้น ยิ่งพอมาเกิดเรื่องโควิด เขา blame เอเชีย และเหมารวมว่าเป็นจีนไปทั้งหมด เหมารวมว่าเราเป็นคนนำเชื้อเข้ามา ซึ่งตรงนี้ก็อยากจะบอกให้ทุกคนที่ได้เดินทางมาถึงประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว ดูแลตัวเองกันดีๆด้วยนะคะ พยายามอย่าไปไหนมาไหนคนเดียว ตอนพาน้องออกไปเดินเล่นก็ดูแลตัวเองดีๆ พกโทรศัพท์ติดตัวเสมอ จะได้โทรหาโฮสต์หรือตำรวจได้ เผื่อเกิดเหตุด่วนเหตุร้ายนะคะ
ในส่วนของเรานั้น เราได้พูดไปว่าเราไม่เคยเจอเลย มีแต่คนใจดีกับเรา เราไปเที่ยวนิวยอร์กคนเดียวครั้งหนึ่งก่อนเกิดโควิดก็ปกติค่ะ ทุกคนช่วยเราด้วยซ้ำเพราะภาษาอังกฤษเราไม่ได้ดี แต่ก็รอดมาได้ และอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ ปีแรกเราอยู่ที่เพนซิลเวเนีย ส่วนตัวแล้วมองว่า neighborhood ดีมากๆค่ะ ไม่เคยเกิดเรื่องเหยียดขึ้นกับตัวเอง พอย้ายมาต่อปีสองที่แคลิฟอร์เนียแล้ว ย่านที่เราอยู่เป็นบริษัทไอที ทำให้มีเอเชียเยอะมากๆ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย, เกาหลี, จีน และชนชาติเอเชียอื่นๆ รวมถึงชาติเม็กซิกันและสแปนิชด้วย ย่านที่เราอยู่มีความหลากหลายทางชนชาติมากๆ ทำให้ปัจจุบันเราที่อยู่บ้านปีสองมาได้ครึ่งปีแล้ว ยังอยู่ดีและมีความสุขมากๆค่ะ
ฉะนั้นไม่อยากให้ทุกคนกลัวกันเกินไปนะคะ แต่ระวังตัวเองไว้ให้ดีที่สุดดีกว่า มาอเมริกามันไม่ได้ดี 100% แต่มันยังมีส่วนดีมากมายที่อยากให้ทุกคนได้สัมผัสจริงๆค่ะ ยังไงดูแลตัวเองกันด้วยน้า
หลังจบโครงการทำอะไรดี?
เอาล่ะค่ะ มาเข้าประเด็นหลักของอีพีนี้กันดีกว่า เพราะมีอะไรจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้เยอะมากๆ เราอาจจะจำได้ไม่แม่น เพราะเราไม่ได้ทำการ Lecture ไว้ แต่หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับเพื่อนๆออแพร์ที่ใกล้จบโครงการแล้วแต่ไม่รู้จะไปทางไหนเหมือนที่เราเป็นนะคะ แต่เนื่องจากเราไม่มีประสบการณ์ ฉะนั้นเราจะพูดถึงแค่ผิวเผินนะคะ ถ้าพร้อมแล้ว มาเริ่มกันเลยนะคะ Go!
- ทำงานร้านอาหาร : หากรู้สึกเบื่อกับการเลี้ยงเด็กแล้ว อันนี้น่าจะเป็นสิ่งที่หลายๆคนคิดได้เป็นอย่างแรก เราก็เช่นกัน แต่ในวันนั้นเราได้เล่าประสบการณ์ของเพื่อนเราที่ทำงานร้านอาหารให้ฟังไปว่าทำงานเยอะมาก ต้องยืนทั้งวัน แม้ค่าแรงและทิปจะเยอะได้วันละ 200$ เป็นอย่างต่ำ (จริงๆอาจจะได้มากกว่านี้ค่ะ เราก็ไม่ทราบเรทจริงๆ ขออภัยด้วยนะคะ) แต่เรามองว่ามันเหนื่อยมาก งานบริการด้านอาหารมันต้องทุ่มเทจริงๆค่ะ อย่างเราก่อนมาอเมริกาเคยลองทำพาร์ทไทม์ที่ K** ทั้งๆที่เป็นสาขาต่างจังหวัด งานไม่ได้เยอะขนาดนั้น เรายังเหนื่อยมากเลย แต่มันก็ขึ้นอยู่กับสเกลงานด้วยแหละค่ะ มีหลายคนที่โอเคและสนุกกับการทำงานตรงนี้ค่ะ แต่สำหรับเรานะคะ ถ้าใครร่างกายไม่แข็งแรงและสู้งานมากจริงๆ อย่างเราที่อ่อนแอเหลือเกิน ฮ่าๆ เราจะตัดข้อนี้ออกค่ะ ฉะนั้นในด้านการตัดสินใจ ขอให้เป็นเรื่องดุลพินิจส่วนบุคคลเลยนะคะ
- แนนนี่ : พูดอีกอย่างก็คือพี่เลี้ยงเด็กนี่แหละค่ะ แต่มี 2 แบบด้วยกัน นั่นคือ live in และ live out เดี๋ยวเรามาอธิบายคร่าวๆให้อ่านกันดีกว่านะคะ ว่าในความคิดของเราทั้งสองแบบเป็นอย่างไรกันบ้าง
• Nanny live in : อันนี้เรามองว่าเหมือนออแพร์แทบทุกอย่าง แต่ก็ได้เงินเยอะขึ้น และประหยัดค่าใช้จ่ายเราได้มากจริงๆ เพราะใช้ชีวิตเกือบเหมือนออแพร์เลยค่ะ ยังอยู่บ้านโฮสต์ กินข้าวกับเขาได้ มีห้องส่วนตัวที่ไม่ต้องจ่ายค่าเช่า ลดค่าใช้จ่ายได้เยอะมากๆเลยใช่มั้ยล่ะคะ แต่ก็มีหลายคนที่รู้สึกอึดอัด เพราะต้องใช้ชีวิตเหมือนออแพร์แทบทุกอย่าง ไม่ได้มีอิสระขนาดนั้น และยังต้องตกลงกันดีๆอีก ว่าเราจะได้สิทธิ์ในเรื่องไหนบ้าง ถ้าตกลงกันไม่ดีก็แย่ไปเลย มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเยอะค่ะ แล้วเราเข้าใจเลยว่าความเป็นคนไทยของเราน่ะใจกว้างยิ่งกว่าแม่น้ำเจ้าพระยา ฉะนั้นก่อนจะตกลงอยู่ต่อแบบลีฟอินต้องตกลงกับโฮสต์ดีๆนะคะ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์ด้านใดก็ตาม อย่างเรื่องโทรศัพท์, salary และอื่นๆ
• Nanny live out : ส่วนตัวมองว่ามีอิสระมากขึ้น แยกสัดส่วนชัดเจนว่าสถานที่ทำงานก็คือสถานที่ทำงาน บ้านก็คือบ้าน บ้านที่เป็นส่วนตัวจริงๆ ไม่ต้องมานั่งฟังเสียงเด็กหรือเสียงโฮสต์เดินไปมาหรือคุยกันตอนเลิกงานอีกแล้ว เรามี space ที่เป็นของเราจริงๆ มันอาจจะฮีลตัวเองได้ดีกว่าลีฟอินเยอะเลยค่ะ แต่… แน่นอนว่าต้องมีแต่ เพราะการเป็นลีฟเอ้าหมายถึงคุณพร้อมที่จะรับผิดชอบตัวเองแล้วจริงๆไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องที่พัก, ค่าโทรศัพท์, ค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่าอินเตอร์เน็ตบ้าน, ค่าแก๊ส หรือค่าอื่นๆอีกมากมาย เห็นแล้วใช่มั้ยคะว่าการเป็นลีฟเอ้ามีค่ามากแค่ไหน ฮ่าๆ ขำๆนะคะ การเป็นลีฟเอ้ามันอาจจะต้องใช้จ่ายเยอะมากขึ้น แต่ก็อาจจะดีกว่าต้องทำงานในบ้าน และใช้ชีวิตในบ้านเป็นลีฟอินที่คล้ายกับออแพร์แทบทุกอย่าง ตรงนี้ทุกคนต้องถามใจตัวเองแล้วค่ะ ว่าพร้อมจะเติบโตขึ้นอีกก้าวแล้วใช่มั้ย ยังไงหากใครเลือกข้อนี้ เราขอเป็นกำลังใจให้มากๆเลยนะคะ คุณเก่งมากๆที่พร้อมจะออกจากคอมฟอร์ทโซน พร้อมที่จะเติบโต และใช้ชีวิตด้วยขาของตัวเองได้แล้วจริงๆ เก่งมากๆเลยค่ะ
- หาแฟน : ถ้าใครได้อยู่ในห้อง Clubhouse วันนั้น น่าจะสัมผัสได้เลยว่าวกเข้าประเด็นนี้บ่อยมาก ต้องขออภัยสำหรับคนที่ไม่ได้มีตัวเลือกนี้อยู่ในใจด้วยนะคะ แต่ก็เป็นประสบการณ์จากเพื่อนๆพี่ๆออแพร์รุ่นก่อนที่เข้ามาแนะนำเนอะ เลยเอามาขยายความหน่อย พูดแบบไม่สวยหรูเลยว่ามีหลายคนใช้ออแพร์เป็นแค่ทางผ่านก็มีค่ะ แต่เราไม่ได้ Judge ใครนะคะ ต้องขออภัยถ้าหากทำให้หลายคนคิดไปในทางนั้น เราเข้าใจทั้งสองฝั่งมากๆ บางคนก็มีแบบไม่ได้ตั้งตัวด้วยซ้ำ ดังนั้นรบกวนอย่าตีความเราผิดไปนะคะ และตัวเลือกนี้ เรามองว่ามันเป็นหนทางที่จะได้กรีนการ์ดเร็วมากขึ้น อยู่ด้วยวีซ่าแต่งงาน และในระหว่างทำเรื่องก็หางานทำไปในตัวได้ด้วยนะคะ ถ้าเจอคนดีๆ เราก็ดีใจด้วยกับเพื่อนๆทุกคนค่ะ เราแค่อยากจะมาบอกไว้ว่าก่อนจะตบแต่งกับใครให้ดูใจกันดีๆ และขอให้รักกันยืนนานนะคะ I wish you a happy life and long love. นะคะทุกคน แน่นอนว่าเราคงจะพูดถึงส่วนนี้ไม่ได้ เพราะไม่มีประสบการณ์เลย เพื่อนเราแนะนำให้เดตแค่ไหน เราก็ไม่เอา เพราะเราสนุกกับชีวิตตัวเองมากๆค่ะ และมองภาพไม่ออกจริงๆว่าตัวเองจะมีแฟนได้ยังไง คนมันไม่เคยอะเนอะ ฮ่าๆ
- พยาบาล : มาค่ะ มาเข้าเรื่องอาชีพที่มั่นคงอย่างพยาบาลกันบ้าง วันนั้นได้มีพี่ส้ม ที่จบพยาบาลจากไทยและคุณโยเย (เราไม่แน่ใจชื่อ หากจำผิดพลาดต้องขออภัยด้วยนะคะ) ได้เข้ามาแนะนำถึงเรื่องนี้ เราเองก็ไม่ใช่บุคลากรในด้านนี้จริงๆ จึงขออนุญาตมาเขียนถึงอย่างย่อๆนะคะ เราจะพูดถึงเป็น 2 กรณีด้วยกันนะคะ ซึ่งได้แก่
• เรียนพยาบาลใหม่ : ใช่ค่ะ อ่านไม่ผิด ลงเรียนพยาบาลใหม่ สำหรับใครที่จบปริญญาตรีด้านอื่นที่ไม่ใช่พยาบาลมา แต่มองหางานมั่นคงและสามารถปักหลักลงฐานด้วยตัวเองได้จริงๆ ก็ต้องพยายามกันมากกว่าคนที่จบด้านนี้มาแล้ว เราต้องลงเรียนใหม่ สอบทุกอย่างใหม่ แต่ก่อนจะลงเรียนได้ก็คงต้องผ่านการเป็นแนนนี่หรือทำงานด้านอื่นๆกันมาก่อนแหละค่ะ เพื่อหาเงินค่าเทอมเนอะ ซึ่งค่าเทอมก็ไม่ใช่น้อยๆเลย เรารู้จักพี่คนหนึ่งที่วางแผนจะอยู่ระยะยาวด้วยการเรียนพยาบาลใหม่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ตอนนี้พี่เขาทำงานเป็นแนนนี่เพื่อเก็บเงินอยู่ค่ะ ยังไงใครตัดสินใจอยู่ต่อแบบระยะยาวและจะลงเรียนพยาบาลต้องศึกษาข้อมูลกันดีๆนะคะ เราบอกไม่ได้ เพราะไม่เคยคิดจะทำอาชีพนี้เลย แต่เป็นกำลังใจให้ทุกคนที่จะเริ่มต้นเดินเส้นทางสายใหม่เส้นทางนี้นะคะ สู้ๆค่า
• จบพยาบาลมาจากไทย : อันนี้ด่านน้อยลงหน่อย เพราะไม่ต้องไปลงเรียนใหม่แล้ว แต่ต้องฝ่าด่าน NCLEX และ TOELF แทน เรารู้รายละเอียดไม่มาก แต่ว่าในแต่ละรัฐก็จะมีกำหนดคะแนนต่างกันด้วยค่ะ และการสอบนี้จะแบ่งแยกเป็นรัฐๆ ไม่ใช่ว่าสอบครั้งเดียวใช้ได้ทุกรัฐนะคะ เรารู้จักพี่คนหนึ่งที่ตอนนี้สอบผ่าน NCLEX แล้วเหลืออีกด่าน นั่นคือ TOELF ที่ถือว่ากำหนดคะแนนไว้สูงอยู่เหมือนกันค่ะ ที่จำได้แม่นเลยคือกำหนดว่าพาร์ท Speaking ต้องได้ 26 คะแนนจากคะแนนเต็ม 30 ก็เท่าๆกับว่าเกือบต้องเป็น Native speaker เลยค่ะ อีกอย่างที่ต้องเตรียมนอกจากเรื่องความพร้อมแล้ว คงจะเป็นเรื่องเงิน สอบทีก็เสียเงินเยอะอยู่เหมือนกันค่ะ และแต่ละรัฐราคาไม่เท่ากันด้วย พี่เราเล่าว่าอย่าง Arizona ก็เสียค่าสอบ 200$ แถมยังต้องเสียค่าอบรมอีกด้วย แม้จะผ่านด่านอื่นๆไปแล้ว แต่อีกด่านที่ต้องเตรียมก็เห็นจะเป็นเรื่องเงินนี่แหละ ยังไงก็เป็นกำลังใจให้เพื่อนๆพี่ๆออแพร์ที่เป็นพยาบาลมาก่อนและเตรียมตัวที่จะอยู่ต่อด้วยการทำงานพยาบาลนะคะ สู้ๆค่ะ ขอให้สอบผ่านทุกด่านเลยนะคะ
* NCLEX คือการสอบใบประกอบวิชาชีพของพยาบาลในประเทศสหรัฐอเมริกาค่ะ ขออนุญาตแปะบทความที่เราเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ให้แก่เพื่อนๆพยาบาลที่ผ่านมาเห็นบล็อกเรานะคะ คลิก ขออนุญาตถึงเจ้าของบทความนี้ด้วยค่ะ ขอบคุณนะคะ * TOELF คือการสอบวัดระดับภาษาอังกฤษแบบ American ซึ่งประเทศสหรัฐอเมริกาจะใช้คะแนนตัวนี้ค่ะ อาจมีการสับสนกับ IELTS ตัวนี้คือการวัดระดับภาษาอังกฤษแบบ British นะคะ ส่วนใหญ่ใช้ในที่ประเทศอังกฤษและประเทศในทวีปออสเตรเลียค่ะ
- Dental : หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้ในด้านนี้เท่าไหร่ รวมถึงเราด้วยค่ะ แต่ในวันนั้นที่ห้อง Clubhouse ได้มีรุ่นพี่ออแพร์ที่ทำงานด้านนี้มาแนะนำนะคะ นั่นก็คือคุณนิชานั่นเองค่ะ ต้องขอบคุณมากๆเลยนะคะ เราจะสรุปๆจากที่คุณนิชาได้เล่าประสบการณ์ของตัวเองมาให้อ่าน อาจจะไม่ได้มีข้อมูลมากมาย แต่ถือซะว่าเป็นการ get to know more about it แล้วกันนะคะ
• ผู้ช่วยทันตแพทย์ : อันนี้เราไม่มีความรู้เลย แต่ว่าคุณนิชาได้เล่ามาว่าก็มีหลายคนที่เลือกไปเรียนต่อในด้านนี้ เหมือนจะเรียน 2 ปีนะคะ เราอาจจะจำผิดนะคะ แต่ว่าที่แน่ใจเลยคือต้องเรียนอีกแล้วค่ะ ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆจริงๆค่ะ สำหรับใครที่สนใจในตัวเลือกนี้ แนะนำให้หาข้อมูลที่แน่นกว่านี้มาประกอบการตัดสินใจนะคะ เราแค่มาแนะนำผ่านๆเท่านั้นค่ะ
• Hygienist : มาถึงอาชีพของคุณนิชาแล้วค่ะ อันนี้เราฟังที่คุณนิชาเล่าแล้วได้แต่ว้าว เพราะในประเทศไทยไม่มีอาชีพนี้ค่ะ นั่นคืออาชีพ Hygienist หรือถ้าจะทำความเข้าใจง่ายๆแบบไทยๆ ก็คืออาชีพเคลียร์ช่องปากค่ะ ขูดหินปูนอะไรแบบนี้ค่ะ ปกติที่ประเทศไทยจะเป็นทันตแพทย์เท่านั้นที่ทำได้ เราว่าอาชีพนี้มันว้าวก็ตรงนี้แหละค่ะ ไม่ได้เรียนเยอะเท่าทันตแพทย์ แต่ก็ได้ทำหน้าที่คล้ายทันตแพทย์ และถือว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ได้ดีอีกอาชีพหนึ่งเลยค่ะ คุณนิชาเล่าว่าตัวเองได้จบสถาปัตยกรรมศาสตร์มาจากประเทศไทย ทำให้ต้องเริ่มต้นใหม่เช่นกัน และคุณนิชาเลือก Hygienist ค่ะ คุณนิชาต้องลงเรียน 3 ปี และต้องมีการเก็บเคสต่างๆเพื่อฝึกฝีมือด้วย กว่าจะผ่านมาได้ก็ไม่ใช่ง่าย แต่เรานับถือมากๆที่คุณนิชาค้นหาตัวเองเจอ และตอนนี้ก็มีอาชีพที่มั่นคงรวมถึงมีสามีที่ดีด้วยค่า เย่ ยินดีด้วยนะคะ
หากใครสนใจในอาชีพนี้ ยังไงลองหาข้อมูลดูอีกทีนะคะ หรือไม่ก็หลังไมค์มาถามเราได้ค่ะ เผื่อเราจะไปสอบถามคุณนิชาเพิ่มให้ หรืออาจจะขอช่องทางการติดต่อให้ ถ้าหากคุณนิชาอนุญาตนะคะ ต้องขอบคุณคุณนิชาอีกครั้งจริงๆค่ะที่มาแนะนำในห้อง Clubhouse วันนั้น ขอบคุณนะคะ
- งานด้านไอที : สาขานี้ก็มีอีกหลายคนที่เลือกจะเรียน เพราะประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่เทคโนโลยีก้าวไปไกลมากๆ ไม่ว่าจะเป็น Apple, Microsoft, Tesla หรือบริษัทอื่นๆที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้น เราเองก็มองว่าสาขานี้เป็นอีกสาขาที่น่าสนใจ แต่เราไม่มีข้อมูลเลย เคยได้ยินมาแค่ผิวเผินเท่านั้นว่ามีหลายคนเปลี่ยนไปเรียนทางนี้ ยังไงทุกคนลองศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมกันอีกทีนะคะ
- Caregiver Canada : อ่านไม่ผิดค่ะ ‘แคนาดา’ เอาจริงๆมันก็ยังหนีไม่พ้นจากการเป็นแนนนี่ แต่หลายคนอาจจะเคยได้ยินมาบ้างว่าถ้าทำงานที่แคนาดา อาจจะขอเป็นพลเมืองของประเทศได้หลังจากผ่านไป 1-2 ปี เล่าท้าวความอีกหน่อยว่าอาชีพนี้ก็ยังเป็นแนนนี่ค่ะ เป็นแนนนี่ลีฟอิน แต่ย้ายประเทศ จากอเมริกาไปแคนาดาแทน เงินตอบแทนขึ้นกับเรทในแต่ละ Province (ที่แคนาดาไม่เป็นรัฐเหมือนอเมริกาแล้วนะคะ) เราก็เป็นคนหนึ่งที่ฝันอยากจะไปแคนาดาสักครั้งเช่นกันค่ะ ถ้าไม่ติดโควิดปีก่อนเราตั้งใจไปเที่ยวควิเบก แต่อดซะก่อน ฮ่าๆ เราก็สนใจโครงการนี้อยู่ค่ะ แต่ไม่มีข้อมูลอะไรมาก เพราะยังตัดสินใจไม่ได้จริงๆ แต่ถ้าหากในอนาคตเรามีข้อมูลอะไรเพิ่มเติม จะมาเขียนถึงอีกทีนะคะ
- Au Pair in Europe : ใช่ค่ะ ไม่จบกับการเป็นออแพร์ ฮ่าๆ แต่ย้ายกันไปทางยุโรปแทน มีหลายคนมากที่เริ่มจากการเป็นออแพร์อเมริกาก่อนแล้วย้ายไปอยู่ยุโรป เพราะทางยุโรปเขารับถึงอายุ 30 ปีเลย (อาจมีมากกว่านั้นในบางประเทศ) เราก็ไม่ได้ศึกษาจริงจัง แต่เคยศึกษาออแพร์เบลเยี่ยมค่ะ เพราะเราเคยดูสารคดีเกี่ยวกับเบลเยี่ยมแล้วอยากลองไปใช้ชีวิตที่นั่นดู คือประเทศเบลเยี่ยมเนี่ยจะรับถึงอายุ 25 ปีเท่านั้น และทำงานเพียง 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น และแน่นอนว่าค่าตอบแทนน้อยกว่าอเมริกาค่ะ แต่เราก็ไม่รู้ว่าหน้าที่การทำงานจะเหมือนกับออแพร์อเมริกาหรือไม่ เพราะก็อ่านเจอหลายครั้งว่าออแพร์ยุโรปไม่ได้ทำหน้าที่แค่การเป็นออแพร์แต่ไปเป็นแม่บ้านด้วย ฉะนั้นใครที่สนใจกับการไปเป็นออแพร์ยุโรปต้องคุยกับโฮสต์ดีๆนะคะ ใช้กลยุทธ์ที่เราเคยเป็นออแพร์อเมริกามาแล้วเข้าสู้เข้าไว้ค่ะ สู้ๆนะคะ อีกเรื่องที่อยากพูดคือแต่ละประเทศ Required ไม่เหมือนกันด้วย อย่างเยอรมัน ถ้าจำไม่ผิดต้องทดสอบภาษาเยอรมันแนบไปด้วยนะคะ ผ่าน A1 มั้งคะ เราไม่แน่ใจเช่นกัน ยังไงถ้าใครสนใจ ลองหาข้อมูลดูอีกทีนะคะ
- WAH (Australia, New Zealand) : อันนี้เราสนใจมากที่สุดเลยค่ะ แต่ปัจจุบันยังไม่เปิดรับโควตาเพิ่ม ของปี 2020 ก็ยังค้างอยู่อีก 1,000 อัตรา เพราะมาติดโควิดนี่แหละค่ะ เราเลยยังติดตาม thaiwahclub ไว้อยู่ กว่าสถานการณ์กลับมาเป็นปกติอาจจะปี 2024 เลยก็ได้ค่ะ แต่ว่า WAH รับอายุถึง 30 ปี (อายุไม่เกิน 31 ปีในวันที่ยื่นขอวีซ่า) ฉะนั้นถ้าใครสนใจจะรอไปด้วยกัน ก็ขอเรียนเชิญค่า /กอดคอ ซึ่งส่วนใหญ่ที่รับจะเป็นออสเตรเลียมากกว่านะคะ เราเห็นข่าวของนิวซีแลนด์บ้าง แต่เหมือนจะรับน้อยกว่า และใช่ค่ะ WAH ก็ไม่ใช่เล่นๆ ต้องมีคะแนน IELTS ที่ overall 4.5 ยื่นไปด้วย ขออนุญาตแปะข้อมูลพื้นฐานจากเว็บไซต์ที่เราศึกษา มาให้เพื่อนๆลองอ่านดูกันนะคะ คลิก
- Back to home : เอาจริงๆ เราเลือกเส้นทางนี้ค่ะ ไม่ใช่อะไร ตอนแรกเรามีแพลนว่าจะกลับไปเรียนต่อปริญญาโท แต่พอเวลาผ่านไปก็คิดได้ว่าจะเรียนไปทำไมวะ ชีวิตเราไม่จำเป็นต้องเรียนเลยด้วยซ้ำ เราสามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยวิธีการอื่น และทุกวันนี้ก็ยังเสียดายที่ตัวเองเลือกต่อปีสองแค่ 9 เดือนอยู่เลยนะคะ ฮ่าๆ แต่สุดท้ายเราก็เลือกที่จะกลับแหละค่ะ เลือกกลับไปเจอหน้าแม่กับน้องที่สนับสนุนเราอยู่ตลอด กลับไปหาครอบครัวจริงๆของเรา คุยกับโฮสต์ทีไร โฮสต์ก็เข้าใจมากๆที่เราเลือกจะกลับบ้าน เขาบอกว่าประเทศไทยกับประเทศอเมริกามันห่างกันมากๆ เขาเข้าใจเรามากเลยค่ะ ตอนนี้เราเลยเลือกจะกลับไปหาครอบครัวก่อน กลับไปหาคอมฟอร์ทโซนของตัวเองไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือห้องส่วนตัวของเรา ที่เป็น my real own space เพราะเราคิดถึงมากจริงๆค่ะ
มาสรุปกันเล็กน้อยก่อนจะปิดอีพีนี้ ขอพูดแบบไม่สวยหรูอีกหน่อยแต่เป็นเรื่องจริงนะคะ ส่วนใหญ่ก็จะต่อวีซ่า B2 (วีซ่าท่องเที่ยว) หรือ F1 (วีซ่านักเรียน) และทำงานด้วยวีซ่านี้กัน ไม่ว่าจะเป็นงานร้านอาหาร (ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานร้านอาหารไทยนะคะ), งานแนนนี่ หรืองานอื่นๆที่เราไม่ได้กล่าวถึง เพื่อเก็บเงินกันซะก่อนจะก้าวไปสู่ขั้นตอนต่อไปอย่างการเรียน เราเองก็ไม่มีประสบการณ์ตรงนี้จึงไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ ยังไงลองค้นหาบทความจากพี่ๆออแพร์รุ่นก่อนๆดูกันได้นะคะ สำหรับขั้นตอนการเปลี่ยนวีซ่าและขั้นตอนการสมัครเรียนต่างๆ
เรารู้สึกว่าตัวเองข้อมูลไม่แน่นพอเลย แต่จุดประสงค์ของบทความนี้ก็สร้างขึ้นมาเพื่อสรุปแนวทางที่มีรุ่นพี่ออแพร์พูดถึงในห้อง Clubhouse เท่านั้น ในส่วนข้อมูลที่เจาะลึกลงไปอีก ขออนุญาตแนะนำให้ศึกษาเพิ่มเติมกันอีกทีนะคะ เพราะเราก็ศึกษาในส่วนของตัวเองอยู่เช่นกัน ฮ่าๆ แต่ถ้าใครสนใจ WAH มารอไปด้วยกันได้นะคะ สุดท้ายนี้ขอบคุณทุกคนอีกครั้งที่ติดตามบล็อกของเรา หวังว่าบล็อกของเราจะเป็นประโยชน์ให้ทุกคนไม่มากก็น้อยนะคะ ไว้เจอกันใหม่อีพีหน้าค่ะ ;)
ติดต่อหลังไมค์ได้ทางทวิตเตอร์ @dionyk_
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in