เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Miscellaneapiyarak_s
จดมาจากคลับเฮาส์: หมึกจีน กลิ่นกระดังงา ว่าด้วยนิยายจีนแปลไทย
  • “ถาม-หา-เรื่อง 4: หมึกจีน กลิ่นกระดังงา ว่าด้วยนิยายจีนแปลไทย”
    คุณมะเขือ คุณหย่งชุน คุณโบ๊ต จรณินท์

    --------------------------------------- 

    คุณมะเขือ วรรณกรรมจีนแปลเป็นตลาดใหญ่มากในปัจจุบัน แต่ก็เป็นหนังสือแปลจีนเป็นหนังสือที่มีคนอ่านกลุ่มใหญ่มาตั้งแต่สี่สิบห้าสิบปีก่อน และมีการแปลมานานยิ่งกว่านั้น ถ้าเราเคยอ่านนิยายแปลหลายชาติ หลายภาษา เราจะพบว่านิยายแปลจีนเป็นกลุ่มที่มีรูปแบบภาษาเฉพาะเป็นของตัวเอง นิยายที่มีฉากเป็นจีนโบราณ เมื่ออ่านปุ๊บแล้วรู้ปั๊บเลยว่านี่จีนแน่นอน



    คุณมะเขือ วรรณกรรมจีนในปัจจุบันนี้มีงานแนวไหนบ้าง
    คุณหย่งชุน ถ้าจะแบ่งตาม timeline นิยายแปลจีนร่วมสมัยที่มาก่อนที่แพร่หลายก็จะเป็นกำลังภายใน มีวรรณกรรมของหลู่ซวิ่นหรือปาจินมาแปลบ้างเหมือนกัน ตอนที่เริ่มเป็นสาธารณรัฐ งานก็จะมีขอบเขตจำกัดและไม่ค่อยบันเทิง นิยายกำลังภายในมีมานานมาก จนกระทั่งกิมย้งเลิกเขียน โกวเล้งตายก็หายไป เหมือนมีคนไปปิดสวิตช์ และความบันเทิงย้ายไปอีกแพลตฟอร์มในรูปแบบละครหรือทีวี ช่วงที่งานกำลังภายในกลับมาอีกครั้ง ก็คือช่วงที่งานของหวงอี้อย่างเจาะเวลาหาจิ๋นซีหรือมังกรคู่สู้สิบทิศเข้ามา แต่ก็เปลี่ยนรูปแบบไปจากกำลังภายในแบบเดิมไปพอสมควร แต่ก็ยังมีบางอย่างที่ยึดโยงกับงานกำลังภายในด้วย แต่ส่วนตัวมองว่ามันเป็นแฟนตาซีอิงประวัติศาสตร์ แต่ก็หลุดจากกำลังภายในแบบเดิมไปแล้ว งานของแจ่มใสก็เป็นงานแปลจีนอีกรูปแบบหนึ่ง เราเคยทำงานกับแจ่มใสในเซ็ต Sweet Asians เป็นนิยายฉงเหยาอารมณ์ประมาณตำนานรักดอกเหมย ตัวละครตกระกำลำบากแล้วแฮปปี้เอนดิ้ง หลังจากนั้นก็จะเป็นนิยายไต้หวัน



    คุณมะเขือ เข้าใจว่างานชุดแรก ๆ ที่ไทยรับมาเป็นงานฮ่องกงกับไต้หวัน
    คุณหย่งชุน ใช่ เป็นงานฮ่องกง ไต้หวัน พวกทีวีซีรีส์ก็เหมือนกัน ไม่ใช่บันเทิงจีนแผ่นดินใหญ่ การยกกองจากไต้หวันไปถ่ายที่แผ่นดินใหญ่ได้ก็ถือว่าอลังการมาก อย่างเฉียนหลง จอมราชันย์ที่เจิ้งเส้าชิวนำแสดง

      

    คุณมะเขือ กระแสจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาในบ้านเราเมื่อไหร่
    คุณหย่งชุน หลังจากปี 2003 ก็มีแพลตฟอร์มนิยายออนไลน์ในแผ่นดินใหญ่เกิดขึ้น นิยายออนไลน์เลยเริ่มมีที่ทางในตลาดวรรณกรรมจีน และมีคนเริ่มซื้อลิขสิทธ์มาแปล เส้นแบ่งระหว่างนิยายแผ่นดินใหญ่ ไต้หวันเริ่มแตกต่างกันน้อยลง จากเมื่อก่อนที่เป็นเอกเทศจากกันชัดเจน วรรณกรรมอินเตอร์เน็ตถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้น ปัจจุบัน งานที่เป็นเล่มที่มีคนซื้อมาแปลก็ยังมี คนจีนแผ่นดินใหญ่ก็ยังอ่านงานไต้หวันได้ ยกเว้นงานที่ไม่ผ่านเซนเซอร์ ช่วงก่อนวรรณกรรมอินเตอร์เน็ตมีงานเขียนดี ๆ อยู่ เพียงแต่ไม่มีใครหยิบมาแปลแบบของฝั่งไต้หวัน



    คุณมะเขือ ถ้าย้อนกลับไปก่อนวรรณกรรมสมัยใหม่ ไทยเราที่ได้เรียนในระบบย่อมต้องรู้จักเรื่องสามก๊กอยู่แล้ว แต่ก็มีเรื่องอื่นด้วย
    คุณโบ๊ต งานแปลวรรณกรรมจีนที่ค้นพบหลักฐานคือ สมัย ร. 1 อย่างสามก๊ก ไซ่ฮั่น แต่สมัย ร. 1-6 มีอยู่ประมาณ 35-36 เรื่อง โดยได้รับการอุปถัมภ์การแปลจากทางราชวงศ์ ไทยเราเรียกพงศวดารจีน แต่จริง ๆ มันคือนิยายอิงประวัติศาสตร์ ช่วงที่ได้รับความนิยมมาก คือ ประมาณรัชกาลที่ 4 สมัย ร. 1 มีเล่มสามก๊กขนาดใหญ่ที่ ร. 1 ให้แปล มี gap ช่วง ร. 3 ที่เหมือนจะหายไป แต่ก็ยังมีงานแปลอยู่อย่างเช่น สุภาษิตขงจู๊ พระอมรโมลี วัดราชบูรณะเป็นผู้แปล โดยแปลในลักษณะถอดความ

    เลียดก๊ก สามก๊ก ไซ่ฮั่น เป็นนิยายที่ออกแนวสงคราม กล่าวถึงลำดับฮ่องเต้จีนสมัยโบราณ บุคคลสำคัญ และการเมืองภายใน จากการศึกษาพงศาวดาร การเขียนงานก็จะไม่ได้เรียงลำดับแบบที่เห็นในปัจจุบัน ไทยเราเลือกแปลแต่ราชวงศ์ซ้องใต้ ไม่ค่อยแปลซ้องเหนือ โดยเป็นกษัตริย์เชื้อสายฮั่นเป็นหลัก



    คุณมะเขือ เรื่องพระอภัยมณี มีตอนที่นางละเวงไปเจอผลไม้วิเศษในป่า มีนักวิชาการให้ความเห็นว่าผลดินถนันไปตรงกับนิยายจีนที่มีเจ้าเมืองคนหนึ่งล่องเรือแล้วไปเจอผลไม้ลอยมา
    คุณโบ๊ต ม้านิลมังกรก็มีลักษณะเหมือนเล่งเบ๊ของจีน หรือพระอภัยมณีที่เป่าปี่เหมือนเตียวเหลียง

    คุณโบ๊ต ห้องสินเป็นการสถาปนาเทวดาจีน เป็นเรื่องสมัยพระเจ้าโจ้ว ราชวงศ์ซาง พระเจ้าโจ้วเขียนโคลงไปเกี้ยวหนึงวาสี เทพธิดาจึงส่งปีศาจจิ้งจอกมา ห้องสินจะปรากฏในไทยในลักษณะจิตรกรรมหรือศิลปกรรม รูปตาแป๊ะตกปลาที่เราเคยเห็นประดับในสวนก็มาจากเกียงจูแหยหรือเจียงจื่อหยาในเรื่องนี้ ท้าวพลโกสีคือผานกู่

    คุณหย่งชุน ชื่อที่เรียกในตำนานเทพประยุทธ เรียกว่าจื้อกงอ้วง แต่ก็เอามาจากตำนานห้องสิน ชื่อที่คนไทยรู้จักอื่น ๆ ก็จะมีนาจา หรือเอ้อหลางเสิน เทพสามตา


    คุณโบ๊ต สมัย ร. 1-2 จะใช้สำเนียงฮกเกี้ยน สมัย ร. 4-5 ก็จะใช้สำเนียงแต้จิ๋ว แต่มันก็เป็นสำเนียงฮกเกี้ยนกับแต้จิ๋วที่เพี้ยนไปแล้ว เวลาไปตามหาในเรื่องเป็นจีนกลางพอสมควร ปีศาจจิ้งจากในห้องสินแปลเป็นปีศาจเสือปลา มีปีศาจหลายอย่างที่อาจจะไม่ตรงกับของจีน

    คุณโบ๊ต กลับมาที่เริ่มเดิม ช่วงที่วรรณกรรมจีนบูมมาก ๆ คือ ช่วง สมัย ร. 4-5 มีไซ่จิ้น บ้วนฮ่วยเหลา โหงวโฮ้วเพงไซ ปักซ้อง ซวยงัก (งักฮุย) ซ้องกั๋ง เม่งเฉียว (การก่อตั้งราชวงศ์หมิง) ร. 5 ก็จะมีไคเภ็กที่เป็นตำนานการเกิดโลก ช่วงนี้จะเป็นงานขุนนางอุปถัมภ์ เช่น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ และมีการพิมพ์สามก๊กเป็นเล่มแบบสมุดฝรั่งเป็นครั้งแรก ตีพิมพ์โดยโรงพิมพ์หมอบลัดเลย์ พิมพ์กันไปห้าหกครั้ง มีโรงพิมพ์หมอสมิธเอาไปพิมพ์อีก จนต้องแบ่งกันว่าใครจะพิมพ์ร้อยแก้วร้อยกรอง รัชกาลที่ 6 มีการพิมพ์หนังสือพิมพ์ก็จะมีการแปลเป็นตอน ๆ โดยเอาเรื่องที่เคยแปลมาแล้ว และเรื่องแปลใหม่มาลง ได้รับความนิยมมากจนแปลไม่ทัน ทำต้นฉบับไม่ทัน จนกระทั่งมีนิยายจีนแปลงที่คนไทยแต่งไปตีพิมพ์ทำเสมือนว่าเป็นพงศวดารจีน ซึ่งนำไปสู่การแต่งนิยายแนวพงศาวดาร เช่น ผู้ชนะสิบทิศของยาขอบ พวกงักฮุย ซิยิ่นกุ้ยที่แปลสมัย ร. 5-6 ก็ออกแนวกำลังภายในเหมือนกัน เพราะมีพวกใช้พลังวิเศษ แต่ก็มีนักวิชาการจีนบอกว่า นี่อาจจะเป็นที่มาของนิยายกำลังภายใน

    คุณโบ๊ต งานแปลสมัยต้นกรุงอาจจะไม่ใช่งานแปลในแบบที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน ซึ่งกระบวนการแปลของสมัยก่อน โดยเฉพาะคนในยุคแรกสุด ไม่มีใครรู้สองภาษาก็จะมีนักแปลจีน มีเรียบเรียงให้เป็นภาษาไทยที่สวยงามอีกที เนื้อหาบางครั้งจึงห่างไกลจากต้นฉบับ

       

    คุณมะเขือ ถ้าอยากรู้ว่าสามก๊กดังแค่ไหน ตอนตามอาจารย์ไปเก็บข้อมูลในหมู่บ้าน คนในภาคกลางจะเอาเรื่องพระมาลัยมาสวดในงานศพ บางครั้งสวดไปคนฟังเบื่อ ก็เอาเรื่องอื่นมาสวดแทน ก็ไปเจอว่ามีบทสวดพระมาลัยที่เป็นเรื่องสามก๊กในหมู่บ้านชนบทในเมืองกาญจน์
    คุณโบ๊ต ความนิยมในเรื่องสามก๊ก เราเคยมีหลักฐานว่ามีการแสดงงิ้วในราชสำนักมาตั้งแต่สมัยอยุธยา สมัยรัชกาลที่ 5 มีโรงงิ้วขุนนางขึ้นมา มีการทำซ้ำสามก๊กในรูปแบบต่าง ๆ รวมไปถึงรูปแบบกลอนบทละครด้วย






    คุณมะเขือ เวลาเราเห็นสำนวนนิยายแปลจีนก็จะเห็นว่าแตกต่าง มันเริ่มมาตั้งแต่ต้นฉบับเลยหรือเกิดขึ้นตอนแปลไทย
    คุณหย่งชุน ต้องแยกก่อนว่ามีงานภาษาปกติ งานภาษาปัจจุบันปนภาษาโบราณ และภาษาโบราณเลย แต่แบบหลังไม่ค่อยมีแล้ว เมื่อไปเจอต้นฉบับที่ใช้ภาษาโบราณนักแปลก็จะต้องมาคิดแล้วว่าจะเก็บความโบราณของต้นฉบับเอาไว้ ในบางงาน ประโยคมา 6-7 คำ แต่แปลไทยอาจจะได้หลายบรรทัด นี่อาจจะทำให้เกิดไวยากรณ์การแปลในสมัยหนึ่งเกิดขึ้น มีทั้งคนที่แปลตามจีน เล่าแบบไทย หรือเขียนอธิบายไปด้วย ซึ่งเราก็จะเจอจากงานนิยายภายใน อย่าง ว. ณ เมืองลุงที่เก็บโครงสร้างไวยากรณ์จีน เช่น บนโต๊ะวางไว้ด้วยสิ่งนี้ แต่ไวยากรณ์ก็จะเป็นบนโต๊ะมีสิ่งนี้วางอยู่



    คุณมะเขือ เหตุผลที่ทำให้งานแปลจีนเป็นไทยมันมีเอกลักษณ์เฉพาะ เพราะคนแปลคือคนที่เรียนภาษาพระอย่างภาษาบาลีมา
    คุณหย่งชุน มีงานของมาลินี ดิลกวาณิชประมาณปี 2525-2526 บอกว่า การแปลและเรียบเรียงสามก๊กเป็นต้นธารและแบบแผนในการแปลวรรณกรรมจีนในยุคต่อมา การเรียบเรียงของทีมเจ้าพระยาพระคลังมีการใช้สำนวนที่เชื่อมโยงกันระหว่างจีนกับไทย หรือมีการสร้างสำนวนภาษาขึ้นมาเป็นไทยใหม่แล้วมีคนรับไปใช้ภายหลัง

      
    คุณโบ๊ต นักแปลในสมัยหลัง เช่น ร. 5-7 และกลุ่มคนที่เขียนพงศวดารปลอมก็น่าจะได้อิทธิพลจากการสร้างชุดภาษาเหล่านี้
    คุณหย่งชุน เป็นไปได้
    คุณโบ๊ต อาจจะไม่เห็นด้วยกับอาจารย์มาลินีทั้งหมด จากที่เคยอ่าน ถ้าเทียบภาษาในสามก๊กกับพงศวดาร เช่น พงศาวดารฉบับพระพนรัตน์ มันไม่ได้มีความเป็นจีนขนาดนั้น แต่ก็อาจจะส่งอิทธิพลต่อกัน
    คุณมะเขือ งานแปลจีนมักจะใช้ศัพท์แบบกวี เช่น ทอดตาทั่วหล้า ตาข่ายฟ้าไร้ตะเข็บ มันเลยทำให้เกิดความรู้สึกว่ามันแตกต่างจากการใช้ภาษาในงานแปลอื่น ๆ ในปัจจุบัน



    คุณโบ๊ต มันมีสำนวนหนึ่ง เช่น เทียนเซี่ย คนไทยมักจะแปลคำว่าใต้หล้า แต่ในยุคก่อนใช้คำว่าแผ่นดิน เลยอยากรู้ว่ามันมาจากไหน
    คุณหย่งชุน มาจากยุคกำลังภายในเลยค่ะ อย่างเช่นพวกมังกรหยก มีหลายคำที่นักแปลในยุคนั้นสร้างขึ้นมากันเองเลย พอมาถึงจุดที่เริ่มมีการแปลนิยายกำลังภายใน นักแปลก็จะมีสไตล์ทำงานคนละแบบ มีคนแปลเรื่องซ้ำกัน จุดขายก็จะเป็นน้ำเสียงหรือสำนวนประจำตัว เช่น ว ณ เมืองลุง กับ น. นพรัตน์ก็ใช้สำนวนต่างกัน เป็นสิ่งที่อุบัติขึ้นมาเป็นท่าไม้ตายที่ไม่เหมือนกัน อย่างเราชอบงานแปลคุณ ว. เพราะมันก็ตรงและคม หลังจากสิ้นคุณ ว. ไปแล้วก็ไม่มีทางมีคุณ ว. คนที่สอง
    คุณมะเขือ คำว่า ‘ใต้หล้า’ กับ ‘ใต้ฟ้า’ ก็มีอยู่ในวรรณคดีนะ อย่างในรามเกียรติ แต่ก็ไม่ใช่คำที่ใช้กันโดยทั่วไป



    คุณโบ๊ต งิ้วสมัย ร. 5 กับสมัยนี้ก็ไม่เหมือนกัน สมัยก่อนมีงิ้วลั่นถัน งิ้วงั่วกังเน้นเล่นเรื่องจากพงศวดาร คนก็ไปดูการแสดงท่าทาง การต่อสู้ ฟังไม่ออกก็ไม่เป็นไร แต่สมัยหลังมากก็เล่น เป็นงิ้วแต้จิ๋วที่เน้นร้องมากกว่า ลองไปอ่านตำนานงิ้วเมืองไทย ของ พระสันทัดอักษรสาร

      

    คุณมะเขือ เรื่องแปลเรื่องแรกที่แปลคือเรื่องอะไร
    คุณหย่งชุน นิยายจีนแปล เล่มแรกที่แปลคือ บันทึกของหม่าเยี่ยน เป็นบันทึกของเด็กผู้หญิงที่เขียนใส่ถุงปุ๋ย แม่เอาสิ่งที่ลูกเขียนไปให้นักข่าวฝรั่งเศส แล้วนักข่าวเอาไปแปล แต่กระบวนการคือแปลจีน แต่บรรณาธิการดูต้นฉบับฝรั่งเศส เล่มแรกที่แปลไม่ใช่วรรณกรรม เป็นภาษาเด็ก ๆ บางคำก็ผิด บางคำก็เป็นภาษาที่คิดขึ้นมาเอง ต่อมาก็ได้แปลนิยายชุดให้สยามอินเตอร์ แล้วก็เจอของยาก คือ นิยายที่ดัดแปลงจากหนังสือโบราณที่ใช้โครงสร้างวรรณกรรมแบบจีนโบราณกับภาษาพูดและคนเขียนเป็นจีนมาเลเซียที่ตีพิมพ์ที่ไต้หวัน เราที่เรียนจากแผ่นดินใหญ่ก็จะไม่รู้บางคำ บางคำก็เป็นภาษาปัจจุบันที่ปลอมให้เป็นภาษาโบราณ



    คุณมะเขือ ถามถึงฉางอันสิบสองชั่วยาม กับเรื่องเล่าของเหล่าปีศาจในเหลาสุรา
    คุณหย่งชุน ของเราแปลสี่สิบเล่มนี่ถือว่ายังน้อยนะ เพราะคนที่แปลแบบฟูลไทม์อาจจะมีงานแปลปีหนึ่งมากกว่าหนึ่งเรื่อง ตอนที่แปลเต็มเวลาเคยมีเข้ามาสามเรื่องเหมือนกัน ตอนหลังมาก็รับน้อยลง เอาเวลาไปทำงานกับเรื่องที่ชอบ ก็เลยมีงานออกมาไม่เยอะ เหลาสุราจะเป็นลักษณะแบบถังฉวนฉี เป็นเรื่องเล่าแนวราชวงศ์ถัง เล่มหลัง ๆ ถึงเริ่มคลี่คลายเป็นแบบนิยายแฟนตาซีทั่วไป



    คุณมะเขือ เวลาแปลภาษาอังกฤษ จะมีอะไรที่หายไประหว่างทางค่อนข้างเยอะ แล้วภาษาจีนมีปัญหาในการแปลอะไรบ้าง
    คุณหย่งชุน ไปเจอคำที่ไม่สามารถเทียบได้โดยตรง ได้แค่เทียบเคียง หรือบางทีก็ต้องไปอธิบายเพิ่มเป็นวงเล็บข้างหลัง หรือเอาไปใส่ในเชิงอรรถ อย่างเวลาทำงานโบราณ คำจีนมาคำเดียว แต่ไทยจบแค่คำเดียวไม่ได้ เช่น ชื่อของสิ่งของ ประเพณี ชื่อเฉพาะ ที่จะต้องอธิบายหรือแปลอธิบายไปด้วย เช่น ฉงเป็นหยกประเภทหนึ่ง ก็ต้องใส่ไปว่า หยกฉง เพื่อให้รู้ว่าเป็นหยก เพื่อให้คนไทยที่ไม่มีพื้นวัฒนธรรมจีนเข้าใจด้วย หรืองานแนวย้อนยุค อย่างชื่อของฮ่องเต้ แบบจูหยวนจาง คนไทยก็พอรู้จัก แต่พอไปเรียกชื่ออื่นก็ต้องอธิบายเพิ่มเติม หรือจูตี้ ลูกจูหยวนจาง หรือหย่งเล่อ ก็ต้องเขียนให้ชัดว่าเป็นตัวจักรพรรดิหรือรัชสมัย

    เวลาที่ต้องตัดสินใจว่าจะแปลหรือไม่แปลก็เป็นอีกปัญหา แบบที่ก่อนหน้ามีดราม่าว่า มีคนแปลมา คนอ่านก็บอกว่าแปลมาทำไม ส่วนคนที่ทับศัพท์ก็มีคนบ่นว่าทำไมไม่แปล บางครั้งการตัดสินใจของคนแปลก็ไม่ได้ถูกใจคนอ่านทุกคน คนแปลก็ต้องรับความเสี่ยง อย่างนิยายกำลังภายในสมัยก่อน ก็จะมีฉายาเป็นแต้จิ๋ว แล้ววงเล็บคำแปลเอาไว้ข้างหลัง นี่ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของตัดสินใจแปลของนักแปล ซึ่งปัจจุบันก็จะไม่เห็นลักษณะแบบนี้ หรือพวกเคล็ดวิชา เมื่อก่อนเราก็มีถังชีเกี่ยมฮวบ (เพลงกระบี่บทกวีถัง) หรือชื่อกระบวนท่าสวย ๆ ก็จะเจอแบบนี้ ปัจจุบันก็จะเป็นการถอดเสียงไปเลยหรือแปลไทยไปเลย บางคนแปลมาอย่างสวยก็จะเจอคนอ่านบอกว่า ไม่เห็นเข้าใจเลย



    คุณมะเขือ แล้วในงานวรรณกรรมแปลจีนสมัยก่อนล่ะ
    คุณโบ๊ต ส่วนใหญ่จะแปลตามเสียง แต่มีเคสหนึ่งที่น่าสนใจในไคเภ็ค นอกจากพลโกสี (ผานกู่) ก็มีเซ็กเกียมอนีพุด (ศากยมุนี) แล้วใช้คำอื่นประกอบเป็นบริบทให้คนอ่านเข้าใจว่าสิ่งนั้นคืออะไร ให้กลืนไปกับตัวข้อความไปเลย
    คุณหย่งชุน เรามีการตัดสินใจสองอย่างเวลาเจอคำที่มีการเล่นคำ คือ อธิบายหรือแปลงเป็นไทยไปเลย อย่างพวกมุกตลกที่เป็นหายนะของคนแปลมาก หรือพวกปริศนาในเรื่องอาจจะต้องอธิบายต่างหากไปเลย แต่ก็ไม่ดีเท่าไหร่ เพราะทำให้อรรถรสเสีย แต่ก็ต้องเลือกว่าจะเอายังไง
    คุณโบ๊ต สำหรับวรรณกรรมแปลจีนสมัยโบราณอะไรแปลไม่ได้ก็ตัดออกไปเลย ส่วนพวกบทกวีอะไรในนั้นก็ตัดออก แปลตามบริบทไปเลย เช่น ไคเภ็ค มีสำนวนแปลหนึ่งในเม่งเฉียว บอกว่าพระเจ้าเม่งจูตี้ฝันเห็นเทพแบกพระจันทร์กับพระอาทิตย์มา เป็นนิมิตของการขึ้นยุคสมัยใหม่คือราชวงศ์หมิง ซึ่งประกอบด้วยอักษรพระอาทิตย์ พระจันทร์ แต่ไทยยกมาเฉย ๆ ไม่ได้แปลหรืออธิบายความตรงนี้
      



    คุณมะเขือ คนไทยสมัยก่อน เอาต้นฉบับจีนมาจากไหน
    คุณโบ๊ต มันเป็นช่วงที่การเมืองมีความวุ่นวาย สมัยราชวงศ์ชิง ก็ไม่น่าจะเป็นราชสำนักไปหามา แต่ก็มีต้นฉบับสามก๊กที่พระที่นั่งเวหาสน์จำรูญ
    คุณหย่งชุน หนังสือพวกนี้พิมพ์กันมาตั้งแต่สมัยหมิงแล้ว ก็เป็นได้อย่างที่โบ๊ตด้วย
    คุณโบ๊ต มีนักวิชาการต่างประเทศเขียนงานที่ migrate มาจากจีนมาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างโปเยโปโลเยที่เรารู้จักกันที่มาจากเหลียวไจ สำหรับวรรณกรรมแปลจีนสมัยโบราณมีสร้างสรรค์บุ๊คที่พิมพ์ออกมาสี่เล่ม ส่วนใหญ่ไม่มีพิมพ์แล้ว



    คุณมะเขือ ถ้าอยากแนะนำนิยายจีนแปลสมัยนี้จะขายอะไรดี
    คุณหย่งชุน นอกจากกำลังภายใน แฟนตาซี นิยายรัก นิยายวาย ก็ยังมีอีกแนวหนึ่งที่มติชนเคยทำ คือ มีขาข้างหนึ่งเหยียบอยู่ระหว่างนิยายกับประวัติศาสตร์ เช่น คังซี คนที่กลัวเรื่องสำนวหรือกลัวจำไม่ได้ ให้ลองอ่านของมติชนก่อน เพราะตัวละครหลักมีไม่เยอะ แต่ใครอยากได้ความบันเทิง ก็เอาแนวที่ตัวเองชอบก่อน

    คำว่ามันก็คือคำว่าเขานั่นแหละ แต่นิยายกำลังภายในรุ่นคุณ ณ คุณ ว ก็จะใช้คำว่า ‘มัน’ สำหรับบุคคลที่สาม แต่เข้าใจคนอ่านที่ไม่ชอบคำว่ามัน เพราะคิดว่ามันเอาไว้ใช้กับสัตว์ แต่ถ้าถามว่าเปลี่ยนไหม ไม่ ยังไงก็ต้องเป็นมัน

    ถ้าเราอยากรู้ว่าคนจีนมองโลกอย่างไร ควรจะศึกษาจากวรรณกรรมที่เขาเขียนและอ่านกันในปัจจุบัน อย่างที่เราเคยเห็นว่า นิยายข้ามเวลาและนิยายแนวระบบ คนต้องการหลีกหนีอะไรที่ไม่เป็นไปดั่งใจหรือเปล่า แต่บางทีนิยายก็ไม่ได้สะท้อนอะไรก็มี แต่อย่างน้อยมันก็มีแรงบันดาลใจอะไรบางอย่างที่โดนใจคน อย่างฉางอัน สิ่งที่ตัวละครเผชิญ สังคมที่บีบคั้นคน มันทำให้เราอินกับสิ่งเหล่านี้ ถ้าฉางอันอยู่เมืองไทยตอนนี้ ก็ไม่ต้องแล้วละ ตอนนี้เมืองไทยก็เหมือนฉางอันนั่นแหละ

    คุณโบ๊ต งานส่วนใหญ่ที่เห็นจะเป็นงานแปลเกี่ยวกับชนชั้นนำ อย่างการแปลสามก๊กเป็นเรื่องของการเมืองที่สะท้อนให้เห็นลักษณะในอุดมคติของผู้ปกครองที่ดีในแบบของคนไทยมากกว่าจะเป็นเรื่องจีน เพราะถ้าเทียบต้นฉบับจีนกับไทยก็จะเล่าไม่เหมือนกัน


    สรุป
    - มีการแปลนิยายจีนมานานแล้ว
    - งานแปลจีนมีไวยากรณ์เฉพาะตัว ตอนแรกจะไม่แปลกมาก แต่เริ่มมีเอกลักษณ์ในช่วงนิยายจีนกำลังภายในที่มีการประดิษฐ์ภาษาขึ้นมาใช้ ในปัจจุบัน ก็จะมีสำเนียงการแปลที่เปลี่ยนไปเป็นสำเนียงจีนกลาง
    - งานจีนมีความใกล้ชิดกับนิยายไทยมาก มีการเปลี่ยนถ่ายกันค่อนข้างง่าย เราสามารถใช้นิยายแปลจีนโบราณเป็นคลังคำได้


    เผื่อใครสนใจงานพงศวดารจีนที่คุณโบ๊ตพูดถึง อันนี้เป็น list เท่าที่จดได้ ไปหาอ่านได้ฮะ

    ไคเภ็ก
    ห้องสิน 
    เลียดก๊ก
    ไซ่ฮั่น 
     สามก๊ก
    น่ำซ้อง
    ซิยิ่นกุ้ย
    ไซอิ๋ว
    น่ำปักซ้อง 
    บ้วนฮ่วยเหลา
    โหงวโฮ้วเพงไซ
    ซวยงัก
    ซ้องกั๋ง
    เปาเล่งถูกงอั้น
    เม่งเฉียว 







Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in