เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Films speak for mepuroii
Annihilation: ภาพยนตร์ไซไฟระดับเซลล์

  • Annihilation

    ผู้กำกับ : อเล็กซ์ การ์แลนด์


    อ็อกซ์ฟอร์ดดิกชันนารี่ให้ความหมายคำว่า Annihilation” ว่า complete destruction or obliteration ซึ่งแปลว่า "การทำลายล้างหรือกำจัดให้สิ้นซาก"

     


    ---------สปอยล์เนื้อหาสำคัญ---------





    Annihilation คือ “การทำลาย”


    “แทบไม่มีใครที่ฆ่าตัวตาย พวกเราส่วนใหญ่ทำลายตัวเอง ดื่มเหล้า เมายา ทำให้งานที่ดีหรือครอบครัวสุขสันต์ต้องสั่นคลอน แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ทางเลือก มันเป็นแรงกระตุ้น และในความเป็นจริง เธอในฐานะนักชีววิทยาน่าจะอธิบายเรื่องนี้ได้ดีกว่าฉัน”

    “หมายความว่ายังไง”

    “ไม่ใช่ว่าการทำลายตัวเองถูกกำหนดไว้แล้วหรือ กำหนดไว้ในแต่ละเซลล์”

     

    Annihilation เป็นหนังที่พูดถึงความขัดแย้งระหว่างการสร้างและการทำลาย การกำเนิดและการสูญเสีย เรื่องราวเริ่มต้นด้วย “ลีน่า” (นาตาลี พอร์ทแมน) ในห้องเรียนของมหาวิทยาลัย เธอเป็นนักชีววิทยาที่กำลังอธิบายเรื่อง “การแบ่งเซลล์” มนุษย์ทุกคนล้วนกำเนิดมาจากเซลล์เพียงเซลล์เดียวที่เพิ่มจำนวนเติบโตมาเป็นเรา จากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสี่ จากสี่เป็นแปดไปเรื่อย ๆ ทว่าในเซลล์ส่วนใหญ่ของมนุษย์ย่อมมีการทำลายและสร้างใหม่ เซลล์จะผ่านกระบวนการ apoptosis โดยมีโปรแกรมการตายเพื่อการเจริญเติบโตหรือป้องกันความผิดปกติที่จะเกิดขึ้น หากกระบวนการนี้ทำงานผิดปกติ (ไม่ว่าจะมากไปหรือน้อยไป) ก็จะทำให้เกิดความผิดปกติตามมา เช่น “เซลล์มะเร็ง” เป็นเซลล์กลายพันธุ์ที่เข้าไปรบกวนการทำงานของกระบวนการ apoptosis ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้โดยไม่ถูกทำลาย

    บทสนทนาข้างต้นระหว่างดร.เวนเทรส (เจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์) และลีน่า พูดถึงชีวิตมนุษย์ที่เกี่ยวพันกับกระบวนการ apoptosis ตัวละครแต่ละตัวใน Annihilation ล้วนมีเรื่องราวความหลังด้วยกันทั้งนั้น ลีน่านอกใจคนที่เธอรัก โจซี ราเด็ก (เทสซ่า ธอมป์สัน) ชอบทำร้ายตัวเอง ธอเรนเซน (จีน่าโรดริเกซ) ติดยาเสพติด แคส เชพพาร์ด (ทูวา โนวอทนี) สูญเสียลูกสาวที่รักไป และดร.เวนเทรสเองก็ต้องเผชิญกับโรคร้ายที่ไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกจากมะเร็ง ทั้งห้าต่างผ่านเหตุการณ์ที่ทำร้ายตัวเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจแต่สุดท้ายทุกคนก็ต้องเผชิญจุดจบเดียวกัน

     

    Annihilation คือ “มะเร็ง”


    Annihilation ดำเนินเรื่องราวโดยพูดถึง “มะเร็ง” หลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่ในชั้นเรียน คำกล่าวถึงโรคมะเร็งของดร.เวนเทรส หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นเองก็สะท้อนภาพมะเร็งที่กำลังก่อตัวและแพร่กระจายออกไปในรูปของ “ชิมเมอร์”

    ในขณะที่เกิดมะเร็งขึ้น เราก็ส่งคนเข้าไปเยือนถิ่นของมัน ทหารที่เข้าไปไม่ต่างอะไรกับเม็ดเลือดขาวที่ต่อสู้กับมะเร็ง แต่ไม่ว่าจะส่งเข้าไปเท่าไร ทหารก็ตายเรียบกลับมาทุกรอบ ก่อนจะเข้าร่วมทีม ลีน่าสงสัยว่าทำไมถึงส่งผู้หญิงเข้าไปทั้งหมด ราเด็กได้เอ่ยขึ้นมาว่าเพราะพวกเธอเป็น “นักวิทยาศาสตร์” อย่างไรล่ะ ทุกคนล้วนมีความเชี่ยวชาญในสาขาใดสาขาหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นพาราเมดิก (นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์) นักฟิสิกส์ จิตแพทย์ และนักธรณีสัณฐานวิทยา แม้กระทั่งตัวลีน่าเองก็เป็นนักชีววิทยาด้วยเหมือนกัน เมื่อวิธีการเดิมไม่ได้ผลพวกเขาจึงต้องวางแผนกันใหม่ ทั้ง 5 คนนี้ถูกส่งเข้าไปหาคำตอบของชิมเมอร์ หาคำตอบของมะเร็งที่เกิดขึ้นบนพื้นโลกแห่งนี้ 

    เพราะก่อนที่จะสู้รบกับใครได้ เราต้องเข้าใจศัตรูของเราเสียก่อน

    เมื่อเรื่องดำเนินไป เราจะได้พบกับสิ่งมีชีวิตทั้งสัตว์และพืชแปลกประหลาดในชิมเมอร์ อเล็กซ์ การ์แลนด์ใช้ภาพบรรยายว่าการกลายพันธุ์ (mutation) นี้ไม่จำเป็นต้องน่าเกลียดเสมอไป บางครั้งการกลายพันธุ์ก็สวยงามและมีประโยชน์ได้เช่นกัน ทั้งยังเป็นจริงตามหลักวิทยาศาสตร์ด้วย เช่น การกลายพันธุ์ของยีนที่สร้างฮีโมโกลบิน S แม้จะทำให้เกิดโรคโลหิตจางชนิดซิกเกิลเซลล์แต่ก็ทำให้มีภูมิคุ้มกันต่อมาลาเรีย เป็นต้น จระเข้ที่มีฟันฉลามเองก็สะดวกต่อการล่าเหยื่อมากขึ้นไม่ใช่หรือ 



    หากแต่ว่าการกลายพันธุ์ที่ผิดปกติก็ไม่ต่างอะไรจากเซลล์ที่กลายพันธุ์เป็นมะเร็ง มันขยายตัวและแพร่กระจาย (metastasis) ไปยังที่ต่าง ๆ มะเร็งเหล่านี้ถูกนำเสนอผ่านภาพศพทหารที่มีรากไม้ยื่นแขนขาออกไปเกาะกินพื้นที่โดยรอบ เลียนแบบเซลล์มะเร็งที่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียง (local invasion)

    ยิ่งเข้าไปในชิมเมอร์มากเท่าไร ยิ่งทำให้ร่างกายและสติไม่สมประกอบมากขึ้นเท่านั้น ดูเหมือนว่าจุดจบของเรื่องนี้ไม่น่าจะจบลงด้วยดี แต่ในตอนสุดท้ายลีน่าก็ได้เผชิญหน้ากับร่างโคลนของตัวเองและต่อสู้กับมันโดยใช้ “ระเบิดฟอสฟอรัส” ที่เปรียบเหมือนการรักษามะเร็งโดยการใช้เคมีบำบัด

     

    Annihilation คือ “ความตาย”


    Annihilation คือ “ความตาย” เหมือนที่ดร.เวนเทรสได้รำพึงรำพันก่อนจะจากโลกไปว่า “ร่างกายและสติปัญญาของเราจะถูกแบ่งออกเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ และสลายไปจนหมดสิ้น” หนังเรื่องนี้พูดถึงจุดสุดท้ายของมนุษย์ ทุกคนล้วนต้องเผชิญกับความตายเหมือนมะเร็งที่คืบคลานและกัดกินร่างกายและจิตใจของเรา

    ในขณะที่ดร.เวนเทรสต้องการเผชิญหน้ากับความตาย ลีน่าต้องการต่อสู้กับความตาย โจซี ราเด็กกลับบอกว่าเธอไม่ต้องการทั้งสองทางนั้น เธอเลือกที่จะยอมรับความตายเอาไว้ด้วยดี

    Annihilation สะท้อนปฏิกิริยาของมนุษย์เมื่อต้องเผชิญกับปลายทางของชีวิต บางคนอาจโกรธและโมโหอย่างธอเรนเซน แต่สำหรับบางคน ความตายกลับเข้ามาโดยไม่ทันตั้งตัวเหมือนแคส เชพพาร์ด แต่ในไม่ช้าหรือเร็วทุกคนก็ต้องตายด้วยกันทั้งนั้น แม้แต่ลีน่าเองที่สู้กับมันอย่างสุดความสามารถก็ยังสูญเสียส่วนหนึ่งของตัวเองไป ส่วนหนึ่งของเธอได้ตายไปและถูกแทนที่ด้วยสิ่งใหม่


    Annihilation คือ “นิรันดร์”


    They are one person
    They are two alone
    They are three together
    They are for each other


    เมื่อดูจนจบแล้วจึงตั้งคำถามว่า Annihilation หมายถึงอะไรกันแน่ แม้ดูเหมือนว่าลีน่าจะทำลายชิมเมอร์เสียสิ้นซากแล้ว แต่คนอื่นกลับไม่รู้ความจริงที่ว่าเธอได้เปลี่ยนไปแล้ว เช่นเดียวกันกับเคน สามีของเธอที่ไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป ไม่มีใครรู้ว่าจุดประสงค์ของชิมเมอร์คืออะไร แน่นอนว่ามันไม่ได้ตั้งใจที่จะทำลายล้าง มันแค่ลอกเลียนแบบและปรับเปลี่ยนสิ่งมีชีวิต แต่เราไม่ได้คำตอบว่าสิ่งมีชีวิตใหม่นี้ดีร้ายอย่างไร

    หนังยังยกประเด็นอีกเรื่องที่น่าสนใจขึ้นมา นั่นก็คือ "ความเป็นอมตะ" 


    ในฉากนี้เราจะเห็นลีน่าอ่านหนังสือ "The Immortal Life of Henrietta Lacks" หรือชื่อไทยว่า "ฮีลา เซลล์อมตะ" 

    หนังสือว่าด้วยชีวิตจริงของ "เฮนเรียตตา แล็คส์" หญิงผิวสีชาวอเมริกันที่เป็นมะเร็ง ระหว่างที่รับการรักษาที่โรงพยาบาล แพทย์ได้ตัดเนื้อเยื่อของเธอไปเพาะเลี้ยง เซลล์ของเธอกลายเป็นต้นกำเนิดของการค้นพบวัคซีนหลายชนิด  ทั้งยังนำไปทดลองในอวกาศ ทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ และยังมีส่วนทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนได้รับรางวัลโนเบลอีกด้วย เซลล์ของเธอยังมีชีวิตอยู่มาจนถึงทุกวันนี้แม้เธอจะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม จึงเป็นที่มาของ "เซลล์ฮีลา เซลล์ที่ไม่มีวันตาย"


    ตั้งแต่ต้นเรื่องเราจะเห็นรอยสักที่แขนซ้ายของลีน่า รอยสักนี้พบบนแขนของธอเรนเซนและทหารผู้ชายด้วยเช่นกัน รอยสักบนแขนลีย่าโผล่ขึ้นมาตอนไหนไม่มีใครรู้ หรือเกิดจากรอยช้ำที่เธอสังเกตเห็นตอนอยู่ในชิมเมอร์ก็บอกได้ไม่แน่ชัดนัก แต่มันมีความหมายสากลที่สำคัญจนไม่อาจมองข้ามไปได้ 



    รอยสักนี้คือสัญลักษณ์ "อุโรโบรอส" (Ouroboros) สามารถพบเจอได้ในหนังหลายเรื่องที่พูดถึงชีวิตและอนาคต เช่น หนังไซไฟเรื่อง Arrival หรือซีรีส์เรื่อง Dark ที่เคยเขียนถึงก่อนหน้านี้ 

    “oura” แปลว่าหาง ส่วน "boros" แปลว่ากิน เมื่อมารวมกันก็กลายเป็นการกินหาง รูปงูที่กินหางตัวเองนี้ใช้เป็นสัญลักษณ์แทน "ความไม่สิ้นสุด" หรือ "นิรันดร" ในขณะเดียวกัน อุโรโบรอสยังหมายรวมถึงสมดุลของสองสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นหยินหรือหยางตามความเชื่อชาวจีนหรือการเชื่อมโยงระหว่างจิตสำนึกและจิตใต้สำนึกเข้าด้วยกัน ทั้งรูปงูพันกันเป็นเลข 8 ยังเหมือนกับการแบ่งตัวของเซลล์และสาย DNA ด้วยเช่นกัน


    เมื่อเอาหลักฐานหลายอย่างมารวมกันแล้วทำให้อดคิดไม่ได้ว่าลีน่าและเคน "คนใหม่" ทั้งสองจะมีบทบาทสำคัญอย่างไรต่อโลกใบนั้นต่อไป พวกเขาจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นเหมือนอดัมและเอวา เป็นต้นแบบของมนุษย์สปีชีส์ใหม่ (หรืออะไรก็ตามที่เป็นชื่อเรียกของพวกเขา) แล้วสืบทอดพันธุกรรมใหม่นี้ต่อไปให้ลูกหลานของตัวเองหรือเปล่า หรือว่าพันธุกรรมที่ดัดแปลงนี้ทำให้พวกเขาสามารถมีชีวิตอยู่อย่างอมตะ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เราก็คงไม่มีทางหาคำตอบที่ชัดเจนได้ แต่ไม่ว่าคนที่กลับมาจากชิมเมอร์จะเป็นลีน่าคนเดิมหรือเป็นเพียงร่างโคลนของเธอ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ "การเปลี่ยนแปลง" ที่เธอได้ยอมรับมัน เธอทิ้งบางส่วนเอาไว้ในชิมเมอร์ เผชิญหน้ากับความรู้สึกผิดและความทุกข์ภายในจิตใจพร้อมเกิดใหม่เป็นเธออีกคน Annihilation จึงเป็นเรื่องราวของการยอมรับตัวเองไปด้วยในเวลาเดียวกัน 

    ภาพสุดท้ายของหนัง เราจะเห็นเคนและลีน่าโอบกอดกันเหมือนสัญลักษณ์อุโรโบรอส ทั้งคู่จะอยู่ด้วยกัน หลอมรวมเป็นหนึ่งและเป็นนิรันดร์


    _______________________________________________


    Annihilation เป็นหนังไซไฟที่ทรงคุณค่าอีกเรื่องหนึ่ง มันไม่ใช่แค่ภาพยนตร์แต่เป็นงานศิลปะที่เปิดกว้างให้ผู้ชมได้ขบคิด ไม่มีคำตอบใดถูกหรือผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่อง การกำกับ การแสดง การจัดแสง การถ่ายทำ เพลงประกอบ สเปเชียลเอฟเฟ็กต์ หรือองค์ประกอบต่าง ๆ อีกมากมายล้วนมีความหมายและเป็นส่วนหนึ่งของการแต่งแต้มภาพศิลปะชิ้นใหญ่นี้ขึ้นมา เมื่อมองงานศิลป์ ความหมายของงานชิ้นนั้นก็แตกต่างกันไปในแต่ละคน นี่คือสิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์น่าสนใจและมีคุณค่าในแง่ของงานศิลปะแขนงหนึ่ง 


    ดูเรื่องนี้ก็เหมือนปริซึมที่ใช้เป็นตัวแทนให้การหักเหแสง หรือชิมเมอร์ในการหักเหสิ่งต่างๆ ที่อยู่ภายใน  เหมือนอากาศผ่านน้ำก็เกิดการหักเห จากแสงเดียวผ่านปริซึมก็กลายมาเป็นสเปคตรัม เหมือนความคิดของคนดูที่ผ่านภาพยนตร์ ความคิดหลังดูก็กระจัดกระจายกันออกไป


    เมื่อดูจบแล้ว ลองทบทวนดูว่า Annihilation ในความหมายของคุณคืออะไร?





Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Piti Pui (@pitipui)
เพิ่งดูจบตะกี้ งง ๆ คิดว่าคงเน้นเป็นแนวภาพสวย ขอบคุณบทความ ทำให้เก็ทมากขึ้น ชอบการตีความเรื่องมะเร็ง