เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Films speak for mepuroii
The Shape of Water: เทพนิยายสำหรับผู้ใหญ่ที่จะมาเป็นยาถอนพิษให้แก่สังคม
  • The Shape of Water

    ผู้กำกับ : กีเยร์โม เดล โตโร่


    "น้ำก็เหมือนความรัก มันไร้รูปร่างและเปลี่ยนรูปไปตามสิ่งที่บรรจุ
    น้ำคือพลังยิ่งใหญ่ของจักรวาล มันอ่อนโยนแต่ก็ทำลายทุกสิ่งกีดขวางได้"

    - กีเยร์โม เดล โตโร่

     
              The Shape of Water เป็นภาพยนตร์ของผู้กำกับ 'กีเยร์โม เดล โตโร่' เจ้าของผลงานอย่าง Pan's Labyrinth, Pacific Rim, Hellboy ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเทพนิยายสำหรับผู้ใหญ่ที่บอกเล่าเรื่องราวของภารโรงสาวผู้เป็นใบ้ เธอทำงานให้กับศูนย์วิจัยของรัฐบาลและบังเอิญได้พบกับสิ่งมีชีวิตแปลกประหลาดที่ถูกจับมาคุมขังอยู่ในนั้น แต่หารู้ไม่ว่าการพบกันครั้งนี้จะเปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล

              The Shape of Water เป็นเรื่องราวในบัลติมอร์ที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็นปี 1962 บนโลกที่ผู้คนต่างแย่งชิงอำนาจ มีแต่ความโกรธแค้นและความหุนหัน ทว่าบนโลกโหดร้ายใบนี้ยังมีความเงียบเหงา อ้างว้าง และผู้คนที่โหยหาความสัมพันธ์กับคนอื่น เดล โตโร่เล่าประเด็นขัดแย้งระหว่างความดีและความชั่ว ความบริสุทธิ์และภัยอันตราย ความสวยงามและความแปลกแยก ซึ่งนำไปยังบทสรุปที่ว่า "ไม่มีความมืดใดเอาชนะแสงสว่างได้"



    -------- คำเตือน : มีสปอยล์ --------



    ที่มาที่ไป


    ภาพ : ภาพยนตร์เรื่อง "Creature from the Black Lagoon"
              The Shape of Water เริ่มต้นมาจากไอเดียตอนอายุ 6 ขวบของเดล โตโร่ เขามีโอกาสได้ดูหนังเรื่อง "Creature from the Black Lagoon" และเกิดความคิดแบบเด็ก ๆ ที่อยากให้สัตว์ประหลาดลงเอยกับนางเอก ทว่าเรื่องราวกลับไม่เป็นดังหวังและสัตว์ประหลาดตัวนั้นต้องลงเอยด้วยความตาย

              เมื่อเวลาผ่านไป เขาเติบโตมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ เดล โตโร่เคยคุยกับสตูดิโอเพื่อที่จะนำ Creature from the Black Lagoon มาสร้างใหม่ โดยนำเสนอมุมมองของสัตว์ประหลาดมากขึ้นและจบเรื่องราวอย่างแฮปปี้เอนด์ดิ้ง ก็คือการที่สัตว์ประหลาดได้อยู่เคียงข้างกับนางเอก อย่างไรก็ตาม เขาก็ต้องผิดหวังเมื่อสตูดิโอปฏิเสธคอนเซ็ปต์ดังกล่าว

              เดล โตโร่กล่าวกับ Vulture ว่า "มันเป็นหนังที่ผมคิดมาหลายปีแล้ว ไอเดียที่ผมสามารถทำ 'โฉมงามกับเจ้าชายอสูรโดยที่โฉมงามไม่ได้เป็นเจ้าหญิงและอสูรไม่จำเป็นต้องแปลงร่างเป็นมนุษย์เพื่อสร้างความรักที่สมบูรณ์แบบ ตอนผมอ่านโฉมงามกับเจ้าชายอสูรฉบับคลาสสิก ผมมองเห็นทั้งคู่เท่าเทียมกัน ไม่มีใครมองข้ามความน่าเกลียดของเขาหรือมองข้ามความงามของเธอไปได้ ทั้งสองสิ่งนั้นล้วนเป็นความทุกข์ที่แตกต่างกันแต่มันก็ยังคงเป็นความทุกข์ คนไม่มองโฉมงามว่าเฉลียวฉลาด เป็นคนซับซ้อน หรือมีสิ่งชั่วร้ายซ่อนอยู่ภายใน เช่นเดียวกันกับอสูรที่ถูกมองว่าไม่อาจมีความรักหรือความเมตตาได้"

              The Shape of Water จึงมีส่วนผสมของ Creature from the Black Lagoon และ Beauty and the Beast แต่เป็นการนำเสนอในรูปแบบที่แตกต่างออกไป ในแบบของกีเยร์โมเดล โตโร่นั่นเอง

              "หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของปัจจุบัน เกี่ยวกับทุกสิ่งที่พวกเราเผชิญในวันนี้ นั่นคือแนวความคิดเป็นภัยที่แบ่งแยก 'พวกเรา' และ 'พวกเขา' ออกจากกัน เราอาศัยอยู่ในช่วงเวลาที่มักใส่ร้ายป้ายสีให้คนอื่น เราถูกสอนให้กลัว ให้แบ่งแยกระหว่าง 'พวกเรา' และ 'พวกเขา' ในทุก ๆ แห่ง ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา เพศ หรือรสนิยมทางเพศ อะไรก็ตามที่ก่อกำเนิดการแบ่งแยกจอมปลอมระหว่าง 'เรา' และ 'เขา' ทั้งยังพร่ำบอกว่ามีเพียงแค่เรา แค่เราเท่านั้น หนังเรื่องนี้จึงพยายามจะนำเสนอความงดงามของ 'พวกเขา'"

              เดล โตโร่กล่าวว่าผลงานชิ้นนี้เป็น "เทพนิยายสำหรับผู้ใหญ่" เมื่อคุณมองมันเป็นเทพนิยาย คุณจะละทิ้งความจริงและเปิดใจรับฟังมัน ไม่ว่ามันจะดูปรุงแต่งหรือไม่สมจริงขนาดไหน เพราะคุณรู้ว่านี่คือเทพนิยาย ไม่ใช่เรื่องจริง 

              แต่ถึงแม้ว่าเทพนิยายจะไม่มีอยู่จริง มันก็สะท้อนเรื่องจริงได้ เช่นเดียวกันกับผลงานก่อนหน้าของเขา The Shape of Water เองก็ถูกดึงมาจากส่วนหนึ่งในชีวิตของกีเยร์โม เดล โตโร่

              "หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ช่วยเยียวยาผม ผลงาน 9 เรื่องที่ผ่านมา ผมสะท้อนความกลัวและความฝันในวัยเด็กออกมา แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ผมพูดในฐานะผู้ใหญ่...ถึงเรื่องที่ผมกังวลตอนเป็นผู้ใหญ่ ผมพูดถึงความเชื่อใจ ความแปลกแยก เซ็กส์ ความรัก และอนาคตที่เราก้าวไป สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความกังวลที่ผมมีตอนอายุ 9 ขวบหรือ 7 ขวบ"

              เขาตั้งใจจะสร้างภาพยนตร์ที่สื่อสารกับผู้ชมว่า ไม่เป็นไรที่จะเป็นตัวของตัวเอง เพราะในช่วงเวลานี้ มันเป็นเรื่องที่เข้ากับสังคมของเราที่สุด


    การถ่ายทำ


              ความตั้งใจแรกของกีเยร์โม เดล โตโร่คือการถ่ายทำฉบับขาวดำแบบภาพยนตร์ยุคก่อน แต่แล้วเขาก็เปลี่ยนใจ เดล โตโร่จึงไปปรึกษากับผู้กำกับภาพแดน เลาท์เซ่น ให้เปลี่ยนไปใช้โทนสีที่มีความใกล้เคียงกัน ไม่ใช้สีสดจนเกินไปและใช้สีที่บ่งบอกถึงท้องทะเลลึก พวกเขาจึงเลือกใช้สีฟ้า ฟ้าอมเขียว และเขียว แซมด้วยสีเหลืองอำพันเพื่อสร้างความสมดุล โดยใช้สีแดงแทนเลือดและความรักเท่านั้น

              เดล โตโร่ต้องการภาพที่มีการเคลื่อนไหวเหมือนกระแสน้ำไหลแต่ก็ยังคงความคมชัด แดน เลาท์เซ่นจึงเลือกใช้กล้อง Arri/Zeiss และเลนส์ Arri/Zeiss Prime เพื่อให้ได้ความแม่นยำและคมชัดของภาพจะได้เห็นรายละเอียดอย่างชัดเจน

              การใช้แสงในการถ่ายทำก็สำคัญเพราะต้องไม่เปิดเผยหรือปกปิดจนเกินไป แดน เลาท์เซ่นต้องการนำเสนอปริศนาของมนุษย์ปลา ในขณะเดียวกันก็เย้ายวนให้คนดูรู้สึกสงสัยใคร่รู้


    ภาพ : ฉากเปิดของเอไลซ่าใต้น้ำ

              ภาพเอไลซ่าใต้น้ำในฉากเปิดนั้นถ่ายทำโดยใช้เทคนิคแห้งบนเปียก (dry for wet) เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถทำให้สถานที่จมอยู่ใต้น้ำได้ จึงใช้โปรเจ็กเตอร์จากบนเพดานฉายภาพอนิเมชั่นของคลื่นน้ำที่เคลื่อนไหวลงมาด้านล่าง พวกเขาใช้ลวดสลิงยึดร่างของแซลลี่ ฮอว์กินส์ให้ดูเหมือนลอยอยู่ในน้ำ อาศัยเครื่องทำควันและเครื่องพ่นลมให้เส้นผมของเธอกระจายตัวออก ขั้นตอนสุดท้ายก็เติมแต่งด้วยวิช่วลเอ็ฟเฟ็กต์เป็นอันเสร็จสมบูรณ์ เทคนิคนี้ยังใช้กับฉากสุดท้ายของเรื่องด้วย 


    ภาพ : ฉากเต้นรำในภาพยนตร์ Follow the Fleet

              สำหรับฉากเต้นรำ กีเยร์โม เดล โตโร่ต้องการให้มันออกมาคล้ายหนังปี 1936 เรื่อง "Follow the Fleet" เขาถ่ายทำทั้งหมดแบบสีก่อนจะมาเปลี่ยนเป็นขาวดำในห้องตัดต่อ ดังนั้นการจัดแสงจึงต่างออกไปเพราะต้องคำนึงถึงมิดโทนด้วย ส่วนการเคลื่อนกล้อง เขาต้องการให้มันออกมาเหมือนหนังฮอลลีวู้ดยุคเก่า เดล โตโร่อ้างอิงจากหนังเรื่อง "Singin' in the Rain" โดยผสมผสานสไตล์การถ่ายทำของสแตนลีย์ โดเนนกับพลังการแสดงของจีน เคลลี แต่ให้ได้ลุคของเฟร็ด แอสแตร์ เมื่อประสานเข้ากับดนตรีของเล็กซองเดร เดสปลาต์แล้ว มันจึงกลายเป็นซีนแห่งความฝันที่งดงาม


    การดีไซน์ฉาก


              ฉากของ The Shape of Water มักจะเลือกใช้เส้นโค้งตัดกับโลกภายนอกที่เป็นเส้นตรงทื่อ ๆ จากการตีกรอบของมนุษย์

              "วันแรกที่เจอกัน กีเยร์โมเอาตัวอย่างสียี่ห้อ Benjamin Moore มาทั้งหมด 3500 สี ผมจำได้ว่าเราดูทุกอันเพราะกีเยร์โมละเอียดและเฉพาะเจาะจงเรื่องสีที่ใช้มาก ไม่ว่าจะเครื่องแต่งกาย ฉาก ทุก ๆ อย่าง เราเลือกแต่ละสีแล้วเขาจะพูดว่า 'สีของเอไลซ่า' 'สีของสตริคแลนด์' 'สีของไจล์ส' สุดท้ายเราก็เลือกกันมา 100 สีจากทั้งหมด 3500 สี" พอล ออสเทอร์เบอร์รี่กล่าว

              "กีเยร์โมอยากได้สีฟ้า ฟ้าเข้ม เขียวอมฟ้า เป็นสีที่เกี่ยวข้องกับน้ำสำหรับโลกของเอไลซ่า แต่พอไปที่อพาร์ทเม้นต์ของไจล์ส เขาใช้สีเอิร์ธโทนอุ่น ๆ สีมัสตาร์ด น้ำตาลปนเขียว เพราะไจล์สเป็นคนที่ชอบแฟชั่นยุคเก่า ส่วนเซลด้าก็โทนสีคล้ายกับไจล์ส เขาใช้สีแดงกับเอไลซ่าแค่บางส่วนเท่านั้น เช่นกับรองเท้าที่เธอชอบ หรือตอนที่เธออยู่กับมนุษย์ปลาในโรงหนัง"


    ภาพ : เอไลซ่าในอพาร์ทเม้นต์ของเธอ

              สำหรับอพาร์ทเม้นต์ของเอไลซ่า กีเยร์โมโชว์ภาพถ่ายจากอินเดียที่มีผนังสีฟ้าให้ออสเทอร์เบอร์รี่ดู มันทั้งเก่าและมีรอยด่างของกาลเวลา เขาอยากให้ผนังห้องเอไลซ่าเป็นเหมือนผลงานศิลปะเก่า ๆ ออสเทอร์เบอร์รี่จึงระบายผนังทั้งหมดด้วยมือและเลือกใช้วอลเปเปอร์ญี่ปุ่นโบราณที่ให้ความรู้สึกเหมือนเกล็ดปลา 

              นอกจากนี้เขายังชอบไอเดียของภาพพิมพ์อันโด่งดังในศตวรรษที่ 19 ของโฮคุไซ "The Great Wave off Kanagawa" หรือภาพคลื่นยักษ์นอกฝั่งคานางะวะ ออสเทอร์เบอร์รี่ออกแบบให้ส่วนของคลื่นม้วนตัวไปยังประตูทางเข้า จ้างนักวาดมาวาดภาพจำลองของ The Great Wave off Kanagawa จากนั้นก็ระบายทับภาพพิมพ์นั้นและล้างให้จางจนแทบมองไม่เห็นถ้าไม่ได้ตั้งใจมองหาจริง ๆ 

     ภาพ : (บน) The Great Wave off Kanagawa บนผนังห้องเอไลซ่า (ล่าง) ผนังห้องที่ถูกทาทับแล้ว

              เพดานอพาร์ทเม้นต์ของเธอผุพังทำให้น้ำหยดจากเพดานประมาณ 8-9 รู ดังนั้นเขาจึงทำให้มีหยดน้ำไหลตามกำแพง ส่วนบริเวณพื้นห้องก็ทำให้มีร่องเพื่อให้แสงจากโรงภาพยนตร์ผ่านขึ้นมาได้

              ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ "ห้องน้ำ" ออสเทอร์เบอร์รี่บอกว่าเซ็ตส่วนใหญ่สร้างจากสไตโรโฟม ไม้หรือปูนปลาสเตอร์ ตรงกันข้ามกับห้องน้ำที่สร้างจากอะลูมิเนียมและเหล็ก เพราะมันต้องถูกโยนลงไปในแท้งค์น้ำตอนถ่ายทำ พวกเขาต้องค่อย ๆ หย่อนทั้งฉากลงไปในแท้งค์เพื่อให้เห็นระดับน้ำที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นมา


    ภาพ : ห้องทำงานของสตริคแลนด์

              ห้องทำงานของสตริคแลนด์อยู่เหนือห้องควบคุมและมีกล้องสอดส่องรอบตัว เขามองพวกคนงานทำงานให้ตัวเองผ่านกระจกจากกล้องวงจรปิด เมื่อเห็นภาพสตริคแลนด์หลังสิ่งเหล่านี้ มันก็สะท้อนถึงตัวตนที่ยกตนข่มท่าน ใช้ข้อมูลที่ได้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว และเขาเองก็อยู่หลังบานกระจก ถูกกักขังไม่ต่างจากมนุษย์ปลา

              สำหรับห้องแล็บ เดล โตโร่ต้องการให้มันเหมือนดันเจี้ยนที่มีโซ่ โต๊ะผ่าตัด และท่อแนวสตีมพังก์  มันไม่ใช่ห้องแล็บสีขาวโพลนที่สะอาดและสว่างตา เขาอยากให้มันดูเหมือนภาพถ่ายจากยุคกลางมากกว่ารูปลักษณ์ที่ทันสมัยเพื่อให้ได้อารมณ์ของเทพนิยายจริง ๆ ออสเทอร์เบอร์รี่จึงเลือกใช้รูปแบบโรงพยาบาลที่สร้างจากคอนกรีตในฝรั่งเศสที่มีเหลี่ยมมุมไม่มากนัก เพราะเขาไม่อยากให้มีเส้นตรงแข็งทื่อที่ดูเป็นไซไฟสมัยใหม่


    ภาพ : อพาร์ทเม้นต์ของไจล์สที่เชื่อมกับห้องของเอไลซ่าด้วยหน้าต่างครึ่งวงกลมเพราะทั้งคู่เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

    ความรักและความเกลียดชัง : สังคมและความเป็นอื่น


              The Shape of Water ดำเนินเรื่องในปี 1962 ที่บัลติมอร์ ภายใต้บรรยากาศของสงครามเย็นระหว่างสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา พวกเขาต้องผลิตอาวุธและหาวิธีต่อสู้กันผ่านเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยที่บัลติมอร์เองก็มีห้องทดลองของรัฐบาลที่จับสัตว์ประหลาดจากลุ่มน้ำอเมซอนมาศึกษา

              The Shape of Water นำเสนอประเด็นสังคมที่ซ่อนอยู่ในตัวละครหลักของเรื่อง เล่าสิ่งเหล่านั้นผ่านความรักและความเกลียดชัง ไม่ว่าจะเป็นความเกลียดชังระหว่างชาติซึ่งนำไปสู่สงครามเย็นดังที่เห็นในเรื่อง หรือความเกลียดชังระหว่างผู้คน ไม่ว่าจะเป็นเพศ เชื้อชาติ สีผิว ฐานะทางสังคม หรือความบกพร่องต่าง ๆ ยุคนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับการมีความรัก แต่ความรักก็ยังเกิดขึ้นได้และทุกคนต่างมองหามัน

              ก่อนจะลงรายละเอียดเรามาทำความรู้จักกับ "ความเป็นอื่น" กันก่อน


              ความเป็นอื่น (otherness) ถูกนิยามว่าเป็นความแตกต่างจากตน (self/oneness) ในด้านหลักๆ 2 ด้าน คือ ความเป็นอื่นเชิงวัตถุวิสัย (objective otherness) และความเป็นอื่นเชิงอัตวิสัย (subjective otherness) โดยความเป็นอื่นเชิงวัตถุวิสัยหลัก ๆ หมายถึงความเป็นอื่นทางภูมิศาสตร์ (geographical others) ซึ่งหมายถึงคนที่มาจากที่อื่นที่ไม่ใช่พื้นที่ของตน ไม่ว่าจะเป็นภาค ประเทศ โซน หรือทวีป เป็นต้น ขณะที่ความเป็นอื่นเชิงอัตวิสัยนั้นหมายถึงความเป็นอื่นในแง่ของกลุ่มหรือองค์กรที่มีพื้นที่เฉพาะ (spatial organization) ซึ่งไม่ใช่พื้นที่ทางธรรมชาติเช่นเดียวกับความหมายแรก แต่เป็นในแง่ของสังคม วัฒนธรรม ความประพฤติ หรือแม้กระทั่งความแตกต่างในเรื่องของความคิดเห็นหรือมุมมองรวมถึงสำเนียงการพูด (Murdick et al., 2004)

          

              ที่หยิบเรื่องความเป็นอื่นมาพูดก็เพราะว่าทุกตัวละครในภาพยนตร์เรื่องนี้ล้วนเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่ถูกสังคมกีดกันและถูกจำแนกให้แตกต่างจากคนทั่วไป

              เอไลซ่า ผู้หญิงที่ทำงานเป็นภารโรงกะดึกในศูนย์วิจัยของรัฐบาล เนื่องจากเธอเป็นใบ้ จึงต้องสื่อสารด้วยภาษามือที่มีคนเข้าใจเพียงไม่กี่คนและหลายคนก็ไม่พยายามที่จะเข้าใจเธอ นอกจากเอไลซ่าจะนำเสนอผู้ที่มีความบกพร่องแล้ว เธอยังเปรียบเสมือนตัวแทนของผู้หญิงยุคนั้นที่ไม่มีสิทธิมีเสียงในการแสดงความเห็น (เปรียบเปรยกับการที่เธอเป็นใบ้) หรือแม้กระทั่งในยุคนี้เองก็ตาม ดังนั้นเอไลซ่าก็คือตัวแทนของผู้หญิงและผู้พิการทุกคน

              เอไลซ่ามีเพื่อนร่วมงานที่ชื่อเซลด้า หญิงชาวแอฟริกัน-อเมริกันที่ชีวิตไม่ได้ราบรื่นนัก เธอมีโอกาสถูกเล่นงานง่ายกว่าคนอื่นเพียงเพราะความแตกต่างทางกายภาพของเธอ เซลด้าจึงเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่ถูกเหยียดเชื้อชาติ ตัวแทนของผู้อพยพทั้งหลายในสังคมแห่งนี้

              ส่วนไจล์สคือตัวแทนของกลุ่ม LGBTQ เขาคือเพื่อนร่วมอพาร์ทเม้นต์ของเอไลซ่าที่เปิดเผยตัวว่าเป็นเกย์และโดนดูถูกกลับมา ไจล์สจึงไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่  

              ตัวละครเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมและถูกตัดสินจากสิ่งที่ตัวเองเป็น ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดจากมนุษย์ปลา สิ่งมีชีวิตคนละสปีชีส์กับมนุษย์ที่ทุกคนต่างมองว่ามันเป็นตัวประหลาดและมีอันตรายโดยที่ยังไม่ได้รู้จักมันดีด้วยซ้ำ พวกเขาเหล่านี้ก็ถูกมองว่าแปลกแยกและเป็นสัตว์ประหลาดในสายตาคนอื่นเช่นกัน



              The Shape of Water ก็ไม่ต่างอะไรจากสังคมปัจจุบัน กิเยร์โม เดล โตโร่ยังบอกอีกว่า "ในยุคที่ผู้คนต่างป่าวประกาศว่า 'Make America Great Again' แต่พวกเขานึกถึงอเมริกาในภาพความทรงจำเก่า ๆ ที่ผลสุดท้ายก็ไม่ได้สวยงามนัก ถ้าคุณเป็นพวก WASP (White-Anglo Saxon-Protestant ซึ่งหมายความถึงคนผิวขาวเชื้อสายแองโกลแซกซอนที่นับถือคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์) ชีวิตของคุณก็คงไปได้สวย ครอบครองรถหรูและอาศัยในบ้านหลังใหญ่ แต่คนอื่นกลับไม่ได้เป็นแบบนั้น ตัวละครเหล่านี้จึงเทียบได้กับคนที่เหลือ"

              อีกเหตุผลที่เดล โตโร่บอกกับ LA Times คือเขาเป็นชาวเม็กซิกันและเป็นผู้อพยพมาทั้งชีวิต ครั้งหนึ่งเคยถูกตำรวจหยุดรถเพราะฝ่าฝืนกฎจราจร แต่พอตำรวจได้ยินสำเนียงภาษาอังกฤษของตน เขากลับดูน่าสงสัยมากกว่าคนทั่วไป เดล โตโร่บอกว่าเขาสังเกตเห็นปัญหามาตลอด ตั้งแต่สมัยโอบาม่าหรือคลินตัน เรื่องพวกนี้มันฝังรากฐานมานานแล้ว เขายังบอกอีกว่า "ความจริงที่ว่าเราถูกวินิจฉัยว่ามีเนื้องอก ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดมะเร็งขึ้นทันที"

              สิ่งที่ควบคุมสังคมเราไว้คือ "ความกลัว" วิธีการควบคุมประชาชนคือการใช้นิ้วชี้มาที่ใครสักคน ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นเกย์ เม็กซิกัน ชาวยิว หรือคนผิวดำ แล้วพูดว่า "พวกเขาแตกต่างจากพวกคุณ พวกเขาเป็นเหตุผลที่ทำให้คุณเป็นแบบนี้ มันไม่ใช่ความรับผิดชอบของคุณ" ด้วยวิธีการใส่ร้ายป้ายสีให้คนอื่นนั่นเองที่ทำให้พวกเขาควบคุมคุณได้ กีเยร์โม เดล โตโร่เชื่อเช่นนั้น

              แต่ไม่ว่าสังคมจะโหดร้ายมากแค่ไหน ตัวละครทุกตัวก็ยังใฝ่หาความรักในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เอไลซ่ารักมนุษย์ปลา ไจล์สต้องการใครสักคนที่รักและเข้าใจในสิ่งที่ตัวเขาเป็น เซลด้าเองก็ยังรักสามีที่ไม่สมควรจะได้รับความรักจากเธอด้วยซ้ำ แม้กระทั่งสตริคแลนด์ก็ยังพยายามที่จะมีความรัก ถึงมันจะผิดวิธีและลงเอยไม่ดีนัก 

              The Shape of Water ไม่ได้นำเสนอเพียงเรื่องราวความรักระหว่างสปีชีส์ แต่ยังสะท้อนสังคมปัจจุบันที่ตัดสินคนจากภายนอกและไม่ยอมรับในตัวตนของใครคนใดคนหนึ่งเพียงเพราะเขาแตกต่างจากคนทั่วไป หนังเรื่องนี้ยังสอนให้ตระหนักถึงความสำคัญของความรัก เหมือนกับที่เดล โตโร่ได้ให้ข้อคิดไว้ว่า "อย่าลดค่าของคนให้เหลือเพียงคำเดียว จงมองไปที่เขา ฟังเขา เพราะยาถอนพิษสำหรับความเกลียดชังคือความเข้าใจ"


    การปฏิวัติของเดลโตโร่ : ความสัมพันธ์ที่เสมอภาค



              สัตว์ประหลาดที่ถูกนำเสนอในภาพยนตร์หรือเทพนิยายล้วนแล้วแต่เป็นภัยต่อมนุษย์หรือลงเอยด้วยความตาย พวกเขาถูกนำเสนอแต่ภาพความโหดร้าย น่ากลัว ไม่ก็ถูกขับไล่ให้ต้องไปอยู่ห่างไกลชุมชนอย่างโดดเดี่ยว เช่น แฟรงเกนสไตน์ที่ถูกไล่ล่าโดยชาวบ้าน แดรกคูล่าที่หลอกล่อมนุษย์เพื่อความอยู่รอด หรือแม้กระทั่ง Creature From the Black Lagoon เองก็ตาม หากจะจบแบบสวยงาม สัตว์ประหลาดก็ต้องกลายเป็นคนเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ตามปกติเหมือนโฉมงามกับเจ้าชายอสูร 

              แต่เดล โตโร่กลับไม่เห็นแบบนั้น ความรักไม่ได้เปลี่ยนสัตว์ร้ายให้กลายเป็นมนุษย์และคุณไม่จำเป็นต้องเป็นมนุษย์ถึงจะได้รับความรัก 

              “เพราะสำหรับผม ความรักไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงหรือการเปลี่ยนตัวตน แต่ความรักคือการยอมรับและเข้าใจกัน" เขาได้กล่าวไว้เช่นนั้น

              เพราะบางทีสิ่งที่เราเรียกว่าสัตว์ประหลาดก็ไม่ต่างอะไรจากมนุษย์ เราต่างถูกขับเคลื่อนด้วยธรรมชาติของตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ใจหนึ่งไม่อยากทำแต่อีกใจก็ยากที่จะห้าม พวกเราต่างไร้อำนาจและต้องยินยอมให้กับความประสงค์ของร่างกายและจิตวิญญาณของตน บทสรุปของ The Shape of Water จึงเปลี่ยนเอไลซ่าให้มีเหงือกและอาศัยอยู่ในน้ำ แทนที่จะให้สัตว์ประหลาดกลายร่างเป็นคน

              กีเยร์โม เดล โตโร่ดึงความเสมอภาคและเท่าเทียมในความสัมพันธ์ของทั้งคู่ออกมา เปลี่ยนมุมมองของเรื่องและปฏิวัติเทพนิยายให้กลายเป็นแบบของเขาเอง


    ตัวละคร


    เอไลซ่า เอสโปซิโต (Elisa Esposito)



              นามสกุล Esposito ของเธอมาจากรากศัพท์ภาษาละติน expositus, exponere แปลว่า เปิดเผย, อยู่ภายนอก (expose, to place outside) มันเป็นนามสกุลของเด็กกำพร้าในยุคหนึ่ง เพราะเด็กเหล่านี้จะถูกทอดทิ้งไว้กลางที่สาธารณะอย่างเปิดเผย ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเอไลซ่ามาจากไหน เซลด้าเล่าว่ามีคนพบเธอริมแม่น้ำ สาเหตุที่เธอเป็นใบ้เพราะกล่องเสียงถูกทำลาย จึงหลงเหลือรอยแผลเป็นไว้บนคออย่างที่เห็น

              เอไลซ่าเป็นคนที่โดดเดี่ยวและเงียบเหงา ไม่มีอำนาจในสังคม สิ่งที่ทำให้เธอมีความสุขคือเสียงเพลงและการเต้นรำ ถึงแม้ว่าเธอจะดูอ่อนโยนแต่กลับมีความกล้าหาญมากกว่าใครหลายคน เธอใสซื่อบริสุทธิ์แต่ก็ต้องการความรักและมีความต้องการทางเพศ กีเยร์โม เดล โตโร่นำเสนอความต้องการทางเพศของผู้หญิงออกมาอย่างเปิดเผย ตั้งแต่เราได้พบกับเอไลซ่าครั้งแรกในอ่างอาบน้ำ เธอกำลังสำเร็จความใคร่ให้ตัวเองหลังทำกิจวัตรประจำวันเหมือนทุก ๆ วัน หนังหลายเรื่องมักนำเสนอความต้องการทางเพศของฝ่ายหญิงไปในทางลบ หลายครั้งที่พฤติกรรมเหล่านั้นถูกมองว่าไม่บริสุทธิ์ ขัดหลักศีลธรรม หรือเป็นแค่วัตถุทางเพศของฝ่ายชาย The Shape of Water พยายามจะสื่อว่าความต้องการทางเพศคือสิ่งปกติที่มนุษย์มีและมันเป็นเรื่องธรรมชาติไม่ว่าจะกับเพศไหนก็ตาม

              ส่วนฉากร่วมรักในห้องน้ำอันเป็นที่กล่าวขาน กีเยร์โม เดล โตโร่บอกว่าเซ็กส์เป็นส่วนกายภาพของความรัก ใน Beauty and the Beast อสูรกลายร่างเป็นเจ้าชาย ส่วน The Little Mermaid นางเอกก็มีขาในที่สุด เขาคิดว่าคนมองเซ็กส์แบบอคติ มองว่าเซ็กส์เป็นเรื่องของสองคนที่ถูกต้องเหมาะสมกันเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เซ็กส์เป็นผลผลิตของความรัก เช่นเดียวกันกับเอไลซ่าและคนรักของเธอ

              เอไลซ่าพบกับมนุษย์ปลาและตกหลุมรักเขา เพราะเธอรู้สึกว่าทั้งคู่มีอะไรเหมือนกัน เขาพูดไม่ได้และแปลกแยกจากสังคมเหมือนกับเธอ เธอบอกกับไจล์สว่า "เขาไม่รู้ว่าฉันขาดอะไรหรือมองว่าฉันไม่สมบูรณ์ เขาเห็นฉันอย่างที่ฉันเป็น" แต่ไจล์สบอกว่ามันไม่ใช่มนุษย์ด้วยซ้ำ "ถ้าเราไม่ทำอะไรบางอย่างเราก็ไม่ใช่เหมือนกัน" นั่นคือสิ่งที่เธอตอบกลับไป ความเป็นมนุษย์ที่เอไลซ่าพูดถึงไม่ได้หมายถึงรูปร่างภายนอกแต่เป็นภายใน นั่นต่างหากคือคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง เธอมองมนุษย์ปลาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้แปลกแยกจากมนุษย์บนท้องถนนทั่วไปและนั่นทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น        

              ภายหลังเธอจมอยู่ใต้น้ำและมีเหงือกงอกออกมาจากรอยแผลเป็นบนคอ สุดท้ายแล้วเอไลซ่าก็ได้ไปอยู่ด้วยกันกับคนรักของเธอและกลายเป็นเจ้าหญิงแห่งความเงียบงัน หากมองย้อนกลับไป ตั้งแต่เด็กที่มีคนพบเธอริมแม่น้ำ รอยแผลเป็นบริเวณคอ ไปจนเหงือกที่งอกออกมาในตอนท้าย หลายคนอาจตั้งคำถามว่าตกลงแล้วเธอเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันกับมนุษย์ปลาหรือเปล่า แม้ว่าเดลโตโร่จะไม่ได้ให้คำตอบคนดูเรื่องนั้น แต่เราคิดว่าเธอคือมนุษย์ธรรมดา ๆ ที่มีความรักคนหนึ่งนี่แหละ เพราะแรกเริ่มเดิมที เดล โตโร่ต้องการนำเสนอความรักที่ดูเป็นไปไม่ได้ระหว่างสองฝ่าย (เหมือน Beauty and the Beast) ดังนั้นการให้เธอเป็นสายพันธุ์เดียวกันก็ดูจะไม่ตรงกับที่เขาต้องการนำเสนอเสียเท่าไร 


    เซลด้า เดไลลาห์ ฟูลเลอร์ (Zelda Delilah Fuller)



              เซลด้าเป็นหญิงแอฟริกัน-อเมริกันที่เป็นเพื่อนของเอไลซ่า เธออยู่กับสามีที่ไม่ได้เรื่องได้ราว จึงต้องเป็นแกนหลักของครอบครัว เซลด้าเป็นผู้หญิงที่แข็งแกร่ง กล้าพูดความคิดของตัวเองออกมา แต่ในขณะเดียวกันก็รู้ขอบเขต เธอไม่เข้าไปยุ่งกับแล็บในเวลาที่ไม่ควร ไม่ไปวุ่นวายกับเรื่องที่ไม่ควรรู้ เพราะเธอรู้ตัวดีว่าตัวเองถูกมองอย่างไรและพวกเขาจะตัดสินใจไล่เธอออกง่ายแค่ไหน

              ชีวิตของเซลด้านั้นยากลำบากกว่าที่คิด แม้ในหนังจะไม่ได้พูดถึง แต่กีเยร์โม เดล โตโร่ได้ร่างประวัติของเซลด้าออกมาให้นักแสดงได้อ่านก่อนถ่ายทำแล้ว จากประวัติจะเห็นได้ว่าเธอเกือบตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อเพื่อนของพ่อแอบย่องเข้ามาในห้องนอนด้วยกลิ่นเหล้าคละคลุ้ง เซลด้ารู้ว่าจะเกิดอะไรตามมา เธอจึงตัดสินใจฟาดศีรษะชายคนนั้นด้วยของตกแต่งบ้านหลายต่อหลายครั้ง หลังเหตุการณ์ในคืนนั้น เธอก็หนีออกจากบ้าน เพราะเซลด้ามั่นใจว่าพ่อของเธอคงไม่มีทางเข้าใจและแม่ก็ไม่มีวันจะปกป้องเธอ เซลด้าย้ายไปที่บัลติมอร์ เมืองที่เชื้อชาติของเธอน่าจะสร้างปัญหาให้ตัวเองได้ เธอได้รับคำแนะนำจากเพื่อนให้ยืดผม ต่อผม และถึงกับเคยใส่วิกผมมาแล้ว เท่านั้นยังไม่พอ เซลด้าได้พบรักกับบรูสเตอร์และแท้งลูกไปครั้งหนึ่ง แต่ดูเหมือนว่าสามีของเธอก็ไม่ได้ใส่ใจมากนัก บรูสเตอร์เคยเป็นช่างไม้แต่ประสบอุบัติเหตุระหว่างการทำงาน เขาจึงออกมาฟ้องร้องบริษัท ทว่า 11 ปีต่อมา คดีของเขายังไม่ถูกตัดสิน ระหว่างนั้นบรูสเตอร์ไม่ยอมทำงานที่ไหนเพราะอ้างว่าจะมีผลต่อรูปคดี เขาจึงลงเอยด้วยการนั่งติดโซฟาอยู่ที่บ้านอย่างเกียจคร้าน

              แม้ชีวิตเซลด้าจะไม่ได้สะดวกสบายนัก เป็นเหตุให้เธอบ่นเรื่องบรูสเตอร์และรองเท้าที่สวมใส่เป็นประจำ แต่เธอเป็นห่วงเอไลซ่าราวกับแม่ที่อยากปกป้องลูก พอเห็นว่าเอไลซ่าพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อคนที่เธอรัก เซลด้าก็ยอมละทิ้งกฎระเบียบและต่อสู้เคียงข้างเพื่อน แม้ว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาก็ตาม

              ถ้าเอไลซ่าเป็นหัวใจของเรื่องนี้ เซลด้าก็เป็นเหมือนกระบอกเสียงและแขนขาให้กับเธอ พอทั้งสองมารวมกันแล้ว จึงเกิดเป็นทีมที่แข็งแกร่งและมิตรภาพที่สวยงามขึ้นมา

     

    ไจล์ส ดูปองต์ (Giles Dupont)



              แรกเริ่มเดิมที ชายคนนี้คือกิลเบิร์ต แพรตต์ (Gilbert Pratt) ตอนเด็กเขาติดอ่างและโดนกลั่นแกล้งที่โรงเรียนเพราะเพื่อนหาว่าเป็นเกย์ก่อนที่จะรู้จักตัวเองดีเสียอีก มิหน้ำซ้ำยังถูกรุมแกล้งจากน้องตัวเองที่บ้านด้วย กิลเบิร์ตเคยมีแฟนสาว เขารักเธอจากใจจริงแต่ไม่ปรารถนาใด ๆ ในตัวเธอ เมื่อแฟนสาวย้ายออกจากเมือง ทำให้เขารู้สึกอ้างว้าง และการกลั่นแกล้งก็หนักข้อขึ้นจนพ่อกับแม่ต้องย้ายเขาไปที่โรงเรียนใหม่แทน

              เวลานั้นเอง เขาจึงสร้างตัวตนของไจล์ส ดูปองต์ขึ้นมา เขาคิดว่านี่คือตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีกว่า จากนั้นไจล์สจึงหันมาหยิบพู่กันและเริ่มคบหาผู้ชาย (ความสัมพันธ์ของเขามักจบลงไม่ดีนัก) เขาเคยมีการงานที่รุ่งโรจน์แต่ประสบปัญหาสุขภาพและโดนบังคับให้ออกจากบริษัท ตอนนี้เขารับจ้างวาดภาพโฆษณาให้กับบริษัทของเบอร์นี่ ชายที่เป็นคนรักเก่าของเขาเอง

              หลังจากนั้นไจล์สก็หยุดสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของตัวเองไป เขารู้สึกโดดเดี่ยวและไร้ซึ่งความหวัง หนทางหนีออกจากความจริงที่เลวร้ายคือการนั่งดูรายการโทรทัศน์เก่า ๆ และโหยหาอดีต จนกระทั่งเขาได้ช่วยเอไลซ่าพามนุษย์ปลาหนี การเดินทางครั้งใหม่นี้สร้างแรงบันดาลใจให้กับเขา ไจล์สจึงหยิบกระดาษขึ้นมาวาดภาพศิลปะของตัวเองอีกครั้งและดึงตัวตนของตัวเองออกมาผ่านการยอมรับของมนุษย์ปลา


    ริชาร์ด สตริคแลนด์ (Richard Strickland)



              ริชาร์ด สตริคแลนด์คือตัวแทนของคนที่มี American Dream สตริคแลนด์มุ่งมั่นอยากเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ใฝ่หาอำนาจเพื่อยกระดับตัวเอง เมื่อจับสัตว์ประหลาดจากอเมซอนมาได้ เขามองเห็นความสำเร็จที่ซ่อนอยู่ นั่นก็คือการไต่เต้าขึ้นไปในตำแหน่งที่สูงกว่า เขาคิดว่าความสามารถของสัตว์ประหลาดอเมซอนจะช่วยให้มนุษย์สามารถอยู่บนอวกาศได้ดีขึ้น ซึ่งมีความสำคัญต่อการแข่งขันทางเทคโนโลยีอวกาศในสมัยสงครามเย็น สตริคแลนด์เชื่อมั่นในตัวเอง ทุกอย่างที่ทำคือสิ่งที่ถูกต้อง เขากุมอำนาจและดูถูกคนอื่น แต่เหนือสิ่งอื่นใด เขาเชื่อในอเมริกาและอนาคตของมัน 

              หากมองอีกมุมหนึ่ง สตริคแลนด์เองก็เป็นเหยื่อของระบบ เขาเริ่มต้นด้วยความเชื่อมั่นในประเทศชาติและการทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อประเทศที่รัก แต่เขากลับถูกทำลายด้วยสิ่งเหล่านั้นเอง เขาตระหนักได้ว่าความพยายามของตนไร้ค่าเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น แม้ที่ผ่านมาเขาจะทำดีแค่ไหนก็ไม่มีความหมาย ทุกคนต่างต่อว่าและพร้อมที่จะทอดทิ้งเขาได้ทุกเมื่อ เกราะป้องกันของสตริคแลนด์พังทลายลงและเผยให้เห็นมุมที่อ่อนไหว กังวล ตึงเครียดและหวาดกลัว เดล โตโร่บอกว่าส่วนหนึ่งของสตริคแลนด์คล้ายกับตัวเขาเอง เพราะวงการภาพยนตร์ก็เป็นเช่นนั้นและเขาก็เคยผ่านเรื่องแบบที่สตริคแลนด์ประสบมาก่อน

              สตริคแลนด์สนใจในตัวของเอไลซ่าเพราะความเปราะบางของเธอ เพราะเธอไม่สามารถพูดออกมาได้ เมื่อพูดไม่ได้ก็หมดหนทางต่อล้อต่อเถียง เธอเป็นเหมือนขั้วตรงข้ามกันกับเขาและเขาต้องการสิ่งนั้นเพื่อที่จะกุมอำนาจโดยสมบูรณ์ 

              เมื่อสัตว์ทดลองเขาหายไปจากแล็บ สตริคแลนด์และคณะมุ่งเป้าไปยังกลุ่มคนที่ฉลาดและมีทักษะสูง โดยมองข้ามเอไลซ่าและเซลด้าที่เป็นเพียงภารโรงไป สตริคแลนด์มองว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีปัญหาพอที่จะทำอะไรพรรค์นี้ได้ เป็นความเชื่อคร่ำครึที่ทำให้เขาพลาดพลั้ง ความเชื่อที่ดูถูก เหยียดเพศ เหยียดความเป็นคนและบ่งบอกความไม่เท่าเทียมในสังคม

              แต่การกระทำอันชั่วร้ายของเขาย่อมมีที่มาที่ไป สตริคแลนด์โตมาในบ้านที่ใช้ความรุนแรงในครอบครัวและเขาก็กลายเป็นเหยื่อคนหนึ่ง พ่อของเขาก็ไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดีนัก เขาจึงไม่มีบุคคลที่เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต เหตุการณ์เหล่านั้นจึงสะท้อนออกมาในชีวิตตอนโตของเขา

              กีเยร์โม เดล โตโร่ต้องการบอกว่า ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ชั่วร้ายที่สุดไม่ใช่สัตว์ประหลาดที่ไหนแต่เป็นมนุษย์เองนั่นแหละ


    โรเบิร์ต บ็อบ ฮอฟท์สเตทเลอร์ (Robert Bob Hoffstetler) / ดิมิทรี แอนโทโนวิช โมเซนคอฟ (Dimitri Antonovich Mosenkov)



              ฮอฟท์สเตทเลอร์เป็นอีกตัวละครที่เข้ามาเปลี่ยนเรื่องราวไปในอีกทิศทางหนึ่ง เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นสายลับให้รัสเซีย ชื่อจริงของเขาคือ "ดิมิทรี" เดิมเขาเป็นคนที่เรียนเก่งและได้รับทุนจากรัฐบาลที่ทำให้เขาต้องมารับใช้งานทหาร พ่อเขาช่วยส่งไปอยู่ในหน่วยข่าวกรองซึ่งกลายไปเป็นคณะกรรมการความมั่นคงแห่งรัฐ (KGB) ในภายหลัง ดิมิทรีมีนิสัยดื้อดึ้ง ถ้าใครห้ามเขาทำอะไร เขาก็จะทำให้ได้ พ่อและแม่ของเขาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์
              ต่อมาเขาถูกส่งเข้าโปรแกรมที่จะต้องเปลี่ยนแปลงตัวตนเป็นคนอเมริกันเพื่อแฝงตัวเข้าไปในอเมริกา เขากลายเป็นโรเบิร์ต ฮอฟท์สเตทเลอร์และเขาเกลียดชื่อใหม่ของเขา เขาหลงรักในวิทยาศาสตร์ มีจิตใจที่อ่อนโยน ส่วนหนึ่งของเขายังโหยหาวันวานในวัยเด็กและเขาเชื่อในพลังแห่งรัก
              ดิมิทรีต่างจากสตริคแลนด์ตรงที่เขาไม่ได้ทำเพื่อชาติหรือเพื่อตัวเอง แต่เขาทำเพื่อวิทยาศาสตร์และความถูกต้อง เพื่อสิ่งที่ยึดถือและปรารถนา 


    Symbols & Motif: เรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในภาพ


    ประเด็นศาสนา : แซมสันและเดไลลาห์



              แซมสันและเดไลลาห์เป็นเรื่องที่บันทึกไว้ในไบเบิ้ล แซมสันเป็นชายที่มีพละกำลังแข็งแกร่งกว่าใคร ๆ เขาตกหลุมรักเดไลลาห์แต่ถูกเธอทรยศในภายหลัง เดไลลาห์หลอกใช้ความรักของแซมสันเพื่อสืบหาความลับเกี่ยวกับพลังอำนาจของเขา เมื่อเดไลลาห์ล่วงรู้ความลับนั้น เธอก็นำไปบอกแก่เหล่าฟีลิสไตน์ที่เป็นศัตรูของแซมสัน ต่อมาพวกฟีลิสไตน์จึงเข้ามาจับตัวเขา ส่งผลให้พละกำลังของเขาถดถอยลง ในตอนท้ายของชีวิต แซมสันหันไปพึ่งพระเจ้าเพื่อให้มีพละกำลังเป็นครั้งสุดท้าย เขาใช้แรงทั้งหมดที่มีโค่นเสาของวิหาร คร่าชีวิตเหล่าฟีลิสไตน์ไปจำนวนมาก รวมถึงตัวเขาเองด้วย ทำให้เขาได้รับชัยชนะครั้งสุดท้ายที่มาพร้อมความตาย

              ตลอดเรื่อง เราจะเห็นสตริคแลนด์พูดถึงแซมสันและเดไลลาห์ โดยเปรียบเทียบตัวเองเป็นแซมสัน ทว่าใน The Shape of Water นี่ไม่ใช่ชัยชนะของเขา

              ตอนที่สตริคแลนด์เผชิญหน้ากับมนุษย์ปลาตอนสุดท้าย เขาพูดขึ้นมาว่า "แกคือพระเจ้า" ก่อนจะโดนปาดคอแล้วสิ้นลมหายใจไป แม้ในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต สตริคแลนด์ก็คิดว่าเขาได้ขอพลังจากพระเจ้าและตายอย่างมีเกียรติเช่นแซมสัน เขาหวังว่าตัวเองจะต้องยิ่งใหญ่ ประสบความสำเร็จและจะไม่ก้มหัวให้กับความล้มเหลวใด นั่นคือสิ่งที่สตริคแลนด์ยึดถือจนวินาทีสุดท้าย แม้มันจะผิดไปจากความเป็นจริงก็ตาม

     

    เวลาและสายน้ำ


              The Shape of Water พูดถึง "เวลา" และ "สายน้ำ" เสมือนทั้งสองสิ่งนี้เป็นสิ่งเดียวกัน เราจะเห็นนาฬิกาปลุกลอยผ่านในซีนแรก มันส่งเสียงปลุกเธอให้ตื่นขึ้นจากภวังค์ เอไลซ่าลุกไปตั้งเครื่องจับเวลาต้มไข่ เราจะเห็นเข็มของนาฬิกาบนผนังขยับ ตามมาด้วยเอไลซ่าฉีกปฏิทินบนผนังออก เผยให้เห็นข้อความว่า "Time is but a river flowing from our past." จากนั้นเธอหยิบนาฬิกาข้อมือขึ้นมาสวมและออกเดินทางอย่างเร่งรีบไปตอกบัตรเข้างาน เธอทำแบบนี้เป็นประจำวันทุกวัน

              กีเยร์โม เดล โตโร่ต้องการตอกย้ำว่า "เวลาไหลผ่านไปเหมือนกับสายน้ำ" ทุกวัน ทุกชั่วโมง ทุกนาที หรือแม้แต่วินาทีล้วนมีค่าเสมอ อย่างที่เดล โตโร่ได้แสดงให้เห็นว่าเวลาและสายน้ำเกี่ยวข้องกับชีวิตและความเป็นความตาย ทุกขณะที่มนุษย์ปลาอยู่นอกแหล่งน้ำ เขายิ่งอ่อนแอลงเรื่อย ๆ ทุกเข็มวินาทีที่เดินผ่านไป เขาก็ตกอยู่ในอันตรายมากขึ้นเท่านั้น เอไลซ่าเองก็รู้ดีและเฝ้ารอวันที่ระดับน้ำจะสูงขึ้นเพียงพอ เธอจึงต้องเร่งมือสู้กับเวลาและการไล่ล่า 

              The Shape of Water ช่วยให้ตระหนักว่าเวลาจึงเป็นสิ่งที่มีค่าและเราควรใช้ทุกวินาทีให้มีความหมาย เพราะมันจะไม่ย้อนกลับคืนมา เหมือนสายน้ำที่ไม่มีวันไหลย้อนกลับ


    ความหมายของสีแดงและสีเขียว


              อย่างที่รู้จากข้างต้น กีเยร์โม เดล โตโร่เป็นคนที่พิถีพิถันในรายละเอียดมาก การเลือกใช้สีเองก็เช่นกัน ดังนั้นทุกโทนสีจึงมีความหมาย 

              The Shape of Water มีด้วยกัน 2 สีหลัก ๆ ได้แก่ สีเขียวและสีแดง 

              สีเขียว เปรียบได้กับ "อนาคต" อย่างที่ตัวหนังได้แสดงออกอย่างชัดเจนแล้ว ไจล์สถูกสั่งให้เปลี่ยนภาพวาดจากสีแดงเป็นสีเขียว เพราะเบอร์นี่ย์บอกว่า "สีเขียวเป็นสีของอนาคต" นอกจากนี้สตริคแลนด์ยังชอบอมลูกอมสีเขียว ซื้อรถคาดิลแลคสีเขียว ไม่สิ...ฟ้าอมเขียว เพราะเขาสะดุดกับคำพูดของคนขายที่บอกว่าเขาดูเป็นคนแห่งอนาคตจึงเหมาะกับรถแห่งอนาคต นอกจากนี้เรายังเห็นคนในศูนย์วิจัยใส่เสื้อผ้าโทนฟ้าและเขียวเป็นยูนิฟอร์มอีกด้วย

              สีแดง ใช้แทน "อดีต" เช่นเดียวกับเหตุผลด้านบน รูปภาพโฆษณาถูกเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีเขียว หรือก็คือการเปลี่ยนจากสีของอดีตเป็นสีของอนาคต นอกจากนี้สีแดงยังหมายถึง "ภัยอันตราย" ในฉากเปิดแสดงภาพความฝันที่เอไลซ่าลอยอยู่ในน้ำ เธอถูกปลุกด้วยเสียงไซเรนและมีแสงสีแดงจากรถพยาบาลกระพริบเข้ามาในอพาร์ทเม้นต์ นอกจากนี้เรายังเห็นสีแดงจากเลือดที่ใช้สื่อความหมายในรูปแบบเดียวกันด้วย สีแดงนี้เป็นสัญญาณเตือนภัยที่บ่งบอกถึงอันตรายที่เกิดขึ้นหรือกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต 

              แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่องคือสีแดงที่หมายถึง "ความรัก" เดิมเอไลซ่าจะใส่เสื้อผ้าสีเขียวหรือฟ้าในวันปกติ แต่เมื่อเอไลซ่าเริ่มสัมผัสถึงความรักทีละเล็กทีละน้อย เสื้อผ้าของเอไลซ่าจึงเริ่มมีสีแดงเข้ามาแซม ตั้งแต่ที่คาดผม เสื้อโค้ท จนไปถึงรองเท้า สุดท้ายแล้วเธอก็ใส่เสื้อผ้าสีแดงทั้งตัว เพราะนั่นคือตอนที่เธอรับความรักเข้ามาทั้งหมดแล้ว


    ภาพ : ชุดของเอไลซ่าเป็นสีฟ้าและเขียวในวันปกติ แต่เมื่อเธอมีความรักก็จะเริ่มมีสีแดงแทรกเข้ามา 
    เช่น ที่คาดผม (ซ้ายล่าง) รองเท้า จนในที่สุดเธอก็ใส่สีแดงเต็มตัว (ขวาล่าง)

    ภาพยนตร์ The Story of Ruth


    ภาพ : โรงหนังฉายภาพยนตร์เรื่อง The Story of Ruth

              ตอนที่เอไลซ่าวิ่งเข้าไปเจอมนุษย์ปลาในโรงหนัง จอภาพกำลังฉายหนังเรื่อง "The Story of Ruth" เรื่องนี้เป็นหนังปี 1960 ของเฮนรี่ โคสเตอร์ที่อิงมาจากเรื่องราวในไบเบิ้ล 

              The Story of Ruth เล่าเรื่องของ 'รูธ' หญิงนอกรีตที่เป็นอาจารย์ให้กับหญิงสาวที่จะถูกบูชายัญแด่ Chemosh เทพแห่ง Moabite ทว่านักบวชหญิงที่จะทำพิธีไม่พอใจกับมงกุฎที่ใช้ในพิธี จึงให้มาลอน ช่างฝีมือจากยูดาห์ นำไปตกแต่งด้วยเครื่องประดับและส่งคืนให้กับรูธที่โบสถ์ในภายหลัง ทั้งคู่ได้สนทนาและทำความรู้จักกัน มาลอนสงสัยในการมีอยู่ของเทพ Chemosh และรูธก็เริ่มตั้งคำถามเช่นเดียวกัน ต่อมาทั้งสองตกหลุมรักกัน

              หลังจากที่หญิงสาวถูกบูชายัญ รูธรู้สึกไม่ดีจึงหนีออกจากเมืองมา ทาง Moabite เริ่มประณามมาลอนและครอบครัวเรื่องรูธ ครอบครัวของมาลอนตายในคุก ส่วนมาลอนถูกลงโทษให้ทำงานในเหมืองแร่ตลอดชีวิต รูธพยายามจะพามาลอนหนีไปด้วยกันแต่มาลอนได้รับบาดเจ็บจึงเดินทางต่อไม่ได้ ทั้งคู่แต่งงานกันในเหมืองก่อนที่มาลอนจะสิ้นลมหายใจ

              เรื่องราวของรูธและมาลอนคล้ายกับเรื่องราวของเอไลซ่าและมนุษย์ปลา เพียงแต่เรื่องราวของเอไลซ่าจบลงอย่างมีความสุข


    นิ้วของสตริคแลนด์


              สตริคแลนด์เสียนิ้วนางและนิ้วก้อยหลังโดนสัตว์ทดลองของตัวเองทำร้าย ทั้งสองนิ้วนั้นพูดถึงประเด็นสำคัญที่แตกต่างกัน

              นิ้วก้อย ใช้แทน "คำมั่นสัญญา" เหมือนกับการเกี่ยวก้อยในสมัยเด็ก สตริคแลนด์ได้เกี่ยวก้อยกับนายพลเอาไว้และสัญญาว่าจะจัดการเรื่องสัตว์ทดลองเอง เขายืนยันว่าจะจับตัวมันมาให้ได้ แต่สุดท้ายก็ล้มเหลวและผิดคำสัญญาที่ได้ให้ไว้ ดังนั้นเขาจึงสูญเสียนิ้วก้อยไป

              นิ้วนาง พูดถึง "ความสัมพันธ์กับคนรักและครอบครัว" มันคือนิ้วที่เขาใส่แหวนแต่งงานที่หลุดไปพร้อมกับนิ้วมือของเขา สตริคแลนด์มีภรรยาและลูกแต่เขาก็ไม่ซื่อตรงต่อคนรัก เขาเข้าหาเอไลซ่าและต้องการตัวเธอ ความไม่ซื่อสัตย์นี้ทำให้สตริคแลนด์ไม่สามารถรักษานิ้วนางของเขาไว้ได้

              ในขณะเดียวกัน สตริคแลนด์ก็พยายามที่จะต่อนิ้วมือให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม แต่มันกลับเปลี่ยนสีและส่งกลิ่นเหม็น เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความล้มเหลวจากการผ่าตัด นอกจากนี้มันยังหมายถึงการที่สตริคแลนด์พยายามแก้ไขความผิดพลาดที่ตนเองก่อแต่สุดท้ายก็ทำไม่สำเร็จด้วยเช่นกัน


    โปสเตอร์ในล็อกเกอร์



              ในห้องล็อกเกอร์มีโปสเตอร์แปะไว้มากมาย หนึ่งในนั้นได้แก่ ภาพเรือที่กำลังล่มพร้อมประโยคที่เขียนว่า "Loose lips might sink ship." โปสเตอร์แผ่นนี้เป็นโปสเตอร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สหรัฐอเมริกาใช้เตือนประชาชนไม่ให้แพร่งพรายความลับของชาติแก่ศัตรู พูดง่าย ๆ ก็คือ ให้ระวังปากเอาไว้ 

              แต่โปสเตอร์นี้ก็เหมือนเป็นการเยาะเย้ยถากถาง เพราะถึงแม้ว่าเอไลซ่าจะเป็นใบ้ เธอพูดไม่ได้ แต่เธอก็สามารถบอกความลับได้เช่นกัน หากลองมองในทางกลับกันแล้ว รัฐกลัวประชาชนจะปากโป้ง แต่ความลับที่ถูกเปิดเผยแก่ศัตรูกลับมาจากสายลับของรัสเซียที่แทรกแซงเข้ามาในแล็บ ไม่ใช่จากประชาชนหรือคนทำงานเลยด้วยซ้ำไป

              โปสเตอร์อีกอันที่สังเกตเห็น เขียนเอาไว้ว่า "Don't Waste Water" ดูผิวเผินแล้วเหมือนเป็นการรณรงค์ประหยัดน้ำช่วยชาติเฉย ๆ แต่โปสเตอร์นี้ล้อกับเหตุการณ์ในห้องน้ำอพาร์ทเม้นต์ที่เอไลซ่าเปิดน้ำทิ้งไว้จนท่วมและใช้น้ำของบัลติมอร์อย่างสิ้นเปลือง

     


    นอกจากที่พูดมาทั้งหมดแล้ว ยังมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่กีเยร์โม เดล โตโร่ใส่มา เช่น โรงหนังที่ใช้ในเรื่องคือโรงหนังออร์ฟีอัส (Orpheus) ไจล์สพูดถึง "แทนทูลัส (Tantalus)" ในร้ายขายพาย เขาตั้งชื่อแมวของไกล์สว่า "แพนโดร่า (Pandora)" และ "ธอร์ (Thor)" ซึ่งทั้งหมดเป็นชื่อเกี่ยวกับตำนานกรีกและเทพปกรณัมของนอร์สตามความสนใจของเดล โตโร่นั่นเอง



    The Shape of Water : รูปร่างที่แท้จริงของความรัก


              สุดท้ายแล้ว The Shape of Water หมายถึงอะไร

              กีเยร์โม เดล โตโร่ได้บอกเอาไว้ดังนี้

              "เทพนิยายถูกสร้างขึ้นมาในช่วงเวลาที่มีปัญหา ช่วงเวลาที่ยากลำบาก ช่วงที่ความหวังดับสูญ ผมสร้าง The Shape of Water เพื่อมาเป็นยาถอนพิษต่อคำเยาะเย้ยถากถาง เพราะสำหรับผมแล้ว เมื่อเอ่ยถึงความรัก เมื่อเราเชื่อในรัก เราก็จะลุ่มหลงไปกับมัน เราเกรงกลัวว่าจะดูไร้ประสบการณ์หรือกระทั่งไม่ซื่อตรงกับความรู้สึก แต่ความรักมีอยู่จริง จริงแท้แน่นอน เช่นเดียวกันกับน้ำ มันคือสิ่งที่อ่อนโยนและทรงพลังมากที่สุดในจักรวาล มันเป็นอิสระและไร้รูปร่างจนกว่าจะถูกเทลงในภาชนะรองรับ จนกว่าเราจะรับมันเข้ามา แม้ตาของเราจะมืดบอด แต่จิตวิญญาณของเราหาไม่ เรารู้จักความรักไม่ว่ามันจะมาหาเราในรูปแบบใดก็ตาม"



    _______________________________________________


              The Shape of Water ได้รับรางวัลมามายมากและได้เข้าชิงรางวัลออสการ์มากที่สุดถึง 13 สาขา ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้แสดงแค่ความรักของตัวละคร แต่มันยังแสดงให้เห็นความรักในภาพยนตร์ของกีเยร์โม เดล โตโร่อีกด้วย งานชิ้นนี้เต็มไปด้วยความทุ่มเท ทั้งแรงกาย แรงใจ และแรงเงิน (เดล โตโร่ยอมควักงบส่วนตัวเพ่ิ่มและงดรับเงินเดือนบางส่วนเพื่อให้ได้ผลงานที่ดีที่สุด) 

              The Shape of Water เป็นเรื่องราวที่ดูง่ายแต่ทรงพลัง พิสูจน์ให้เห็นว่าหนังดีและชิงรางวัลก็ไม่จำเป็นต้องสื่อสารคลุมเครือหรือใช้ภาษายาก ๆ เสมอไป มันคือผลงานที่ส่วนตัวที่สุดของกีเยร์โม เดล โตโร่และมันเป็นผลงานที่ดีที่สุดของเขาด้วยเช่นกัน





    อ้างอิง

    1. บทภาพยนตร์ The Shape of Water
    2. The Shape of Water's Production Note
    3. หนังสือ Guillermo del Toro's The Shape of Water: Creating a Fairy Tale for Troubled Times
    4. Guillermo del Toro Hopes You’re Ready to Fall in Love With a Monster
    5. Guillermodel Toro Explains How The Shape of Water Is About ‘The Beauty of the Other’
    6. Guillermo del Toro: ‘Antiques Roadshow’ Almost Kept Me from Pitching ‘The Shape of Water’ Star Sally Hawkins

    7. THE SHAPE OF WATER | Set Design: The Chamber | FOX Searchlight
    8. The Delightful Design Details in Guillermo del Toro’s The Shape of Water

    9. Guillermo del Toro's highly personal monster film 'The Shape of Water' speaks to 'what I feel as an immigrant'
    10. Guillermo del Toro on the monstrous message behind The Shape of Water

    11. แซมสันกับเดลิลาห์
    12. The Story of Ruth
    13. Loose lips sink ships
    14. Guillermo del Toro's statement on The Shape of Water
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
シャイ (@iiiyem)
เก็บรายละเอีบดได้ดีมากๆเลยค่ะ
el durazno (@eldurazno)
เป็นอธิบายเกี่ยวกับตัวหนังได้อย่างละเอียดและลึกซึ้งมากค่ะ
Kphantom Khai (@viriya333)
มนุษย์ปลา
https://www.youtube.com/watch?v=2VggEmXPnGw
0310 (@kc_awe)
เขียนได้ละเอียดดีมาก ขอบคุณที่ทุ่มเทนำเสนอนะคะ ทำให้เข้าใจหนังได้ลึกซึ้งมากขึ้นจริงๆ
Visanu K Nelson (@fb1021315253734)
เขียนดีมาก ละเอียดมาก ทำให้เข้าใจและเข้าถึงตัวหนังมากขึ้น ขอชื่นชมจากใจครับ
littlestudyblog (@littlestudyblog)
เพิ่งดูหนังไปวันนี้ ประทับใจมาก พอมาอ่านทำให้ยิ่งประทับใจ เขียนดีมากๆ เลยค่ะ ขอบคุณนะคะ
Pderingring (@Pderingring)
อ่านแล้วประทับใจในความละเอียดอ่อนของลุงโตโตโร่
อ่านเพลินและประทับใจในทุกตัวอักษรที่เขียนออกมาเลยค่ะ
ชอบมาก ขอบคุณมากจริงๆ ค่ะ
puroii (@puroii)
@Pderingring ยินดีค่า ลุงเป็นคนที่ละเมียดละไมมากๆ ชอบทุกรายละเอียดเลยค่ะ ใส่ใจจริงๆ
vrcwd (@vrcwd)
เขียนดีมากเลยค่ะ
puroii (@puroii)
@vrcwd ขอบคุณนะคะ :)