เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ART IS ART, ART IS NOT ART อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะSALMONBOOKS
00: ดูซองป์พ่อทุกสถาบัน


  • “ดูชองป์พ่อทุกสถาบัน”

    ประโยคนี้ฟังดูแล้วอาจเหมือนคำที่เด็กช่างกลพ่นสีสเปรย์บนกำแพงเพื่อเกทับกัน แต่จะว่าไปถ้ามองในมุมของศิลปะมันก็ไม่ผิดจากความจริงเท่าไหร่ เพราะ ‘ดูชองป์’ ที่ว่าเป็นชื่อของศิลปินผู้มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดคนหนึ่งบนโลกใบนี้ (ไม่เชื่อลองไปถามเพื่อนที่เรียนศิลปะดู) ยิ่งกว่านั้นเขายังขึ้นชื่อว่าเป็นศิลปินหัวขบถ เป็นนักปฏิวัติ นักแหกคอก สร้างความฮือฮาอื้อฉาว เขย่าวงการศิลปะหลายต่อหลายครั้งอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน จนเรียกได้ว่าเป็นแบดบอยของวงการเลยก็ว่าได้

    เขาคนนี้มีชื่อเต็มว่า มาร์แซล ดูชองป์ (Marcel Duchamp) เป็นชาวฝรั่งเศส-อเมริกันผู้มีอิทธิพลทางความคิดต่อวงการศิลปะสมัยใหม่มากที่สุดคนหนึ่ง และได้ชื่อว่าเป็นบิดาของศิลปะแนวคอนเซ็ปชวล (Conceptual Art) พูดได้ว่าคนทำงานศิลปะร่วมสมัยทุกวันนี้ต่างได้รับแรงบันดาลใจจากเขาไม่มากก็น้อย

    งานในช่วงแรกๆ ของเขาอย่าง Nude Descending a Staircase, No.2 (1912) หรือ ‘นางแบบเปลือยเดินลงบันได’ กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากทั้งในหมู่นักวิจารณ์ คนดู หรือแม้แต่ศิลปินด้วยกันเอง ภาพวาดแนวนามธรรมแบบคิวบิสม์ (Cubism) ที่มีความเคลื่อนไหวชิ้นนี้ทำให้คนดูถึงกับอึ้งด้วยความสับสน เพราะพวกเขาไม่รู้ว่านางแบบเปลือยอยู่ที่ไหน ตรงไหนคือบันได ที่แย่ไปกว่านั้นคือพวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนในภาพเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายกันแน่ (บางคนเห็นว่ามีกระจู๋อยู่ด้วยซ้ำ!)

    แต่ดูชองป์วาดภาพแนวนี้ได้อีกไม่กี่ภาพก็เกิดความเบื่อหน่ายและคิดว่ามันไม่สนุกสนานหรือชวนให้ตื่นเต้นพอ เขาต้องการที่จะท้าทายและเล่นตลกกับวงการศิลปะมากกว่านี้ เพราะสิ่งที่เขาเสาะหามาตลอดคือ หนทางในการนำพาศิลปะออกจากกรอบความคิดเดิมๆ และขนบอันคร่ำครึของวงการศิลปะ เขาจึงเลิกวาดภาพบนผืนผ้าใบตั้งแต่ปี 1912 และหันมาวาดภาพบนแผ่นกระจกขนาดใหญ่ที่ใช้เวลาถึงสิบปีจึงแล้วเสร็จ
  • ดูชองป์เริ่มเล่นสนุกอีกครั้งในปี 1915 ด้วยการคิดค้นศิลปะแนวทางใหม่ที่เรียกว่า Readymades ซึ่งนำเอาวัตถุและข้าวของที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวันมาทำให้กลายเป็นศิลปะ ด้วยการหยิบเอาของสำเร็จรูปที่หาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไปอย่างเช่น พลั่วตักหิมะ กรงนก ที่วางขวดไวน์ เก้าอี้ ล้อจักรยาน เครื่องพิมพ์ดีด มาวางตั้งบนฐาน แล้วบอกว่ามันเป็นผลงานศิลปะโดยแทบจะไม่ได้ปรุงแต่งหรือเปลี่ยนแปลงอะไรเลยแม้แต่น้อย ซึ่งนับเป็นแนวคิดที่ท้าทายขนบของศิลปะอย่างห้าวหาญ และยังท้าทายสถาบันศิลปะอันทรงเกียรติในสมัยนั้นเป็นอย่างยิ่ง

    แนวคิด Readymades แสดงให้เห็นว่า สิ่งใดก็ตามที่ศิลปินเห็นว่ามีคุณค่าพอที่จะเป็นศิลปะ สิ่งนั้นก็สามารถเป็นศิลปะได้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของต่ำต้อยด้อยค่า หรือปกติธรรมดาแค่ไหน นั่นจึงหมายความว่า สิ่งที่สำคัญสำหรับการเป็นศิลปะไม่ใช่ตัววัตถุ หากแต่เป็นความคิดของศิลปินมากกว่า

    ผลงานที่โด่งดังที่สุดของดูชองป์ในช่วงนี้คือ Fountain (1917) โถฉี่กระเบื้องเคลือบสีขาวหน้าตาธรรมด๊าธรรมดาที่วางหงายเค้เก้อยู่บนแท่นโชว์ เป็นผลงานที่เขาส่งเข้าไปร่วมแสดงในนิทรรศการศิลปะของสมาคมศิลปินอิสระ (Society of Independent Artists) ในนิวยอร์ก โดยใช้นามแฝงและเซ็นชื่อบนโถฉี่ใบดังกล่าวว่า R. Mutt

    เจ้าลายเซ็นที่ว่านี้ถูกนักประวัติศาสตร์ศิลปะตีความกันเป็นที่สนุกสนานครื้นเครง บ้างก็ว่ามันเป็นคำพ้องเสียงกับคำว่า Armut ที่แปลว่า ‘ความยากจน’ บ้างก็ว่าตัวย่อของ R.M. มาจากคำว่า Readymades

    มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าดูชองป์ออกมาเฉลยภายหลังว่าได้ชื่อนี้มาจาก J.L. Mott Iron Works ชื่อของบริษัทขายอุปกรณ์สาธารณูปโภคและสุขภัณฑ์ที่ดูชองป์ไปซื้อโถฉี่มา แต่คำว่า ‘Mott’ มันโจ่งแจ้งเกินไป เขาเลยเปลี่ยนเป็น ‘Mutt’ ซึ่งหยิบยืมมาจากชื่อตัวละครของการ์ตูนช่องในหนังสือพิมพ์อเมริกันที่โด่งดังในยุคนั้นอย่าง Mutt and Jeff อีกทีหนึ่ง แล้วก็เติม R. ที่ย่อมาจากคำว่า Richard ซึ่งเป็นศัพท์สแลงของคำว่า ‘Moneybags’ หรือ ‘ถุงใส่เงิน’ ในภาษาฝรั่งเศส โดยเป็นการกระทบเสียดสีเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของศิลปะว่าแม้แต่ภาชนะรองรับสิ่งปฏิกูลอย่างโถฉี่ก็ยังกลายเป็นของ มีค่าไปได้
  • อย่างไรก็ตาม การที่ดูชองป์ส่งเจ้าโถฉี่ใบนี้ไปแสดงในนิทรรศการซึ่งประกาศว่า ‘รับงานแบบไหนก็ได้ไม่จำกัด’ นั้นถือเป็นการยั่วล้อและท้าทายกรรมการของสมาคม (ซึ่งดูชองป์ก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ) อย่างเจ็บแสบ เพราะการที่พวกเขาบอกว่า ‘รับงานแบบไหนก็ได้ไม่จำกัด’ นั่นย่อมหมายความว่าเจ้าโถฉี่ใบนี้สามารถแสดงในนิทรรศการในฐานะงานศิลปะชิ้นหนึ่งได้ด้วย แต่น่าเสียดายที่กรรมการคนอื่นไม่อินไปด้วย พวกเขาปฏิเสธที่จะแสดงงานชิ้นนี้อย่างไร้เยื่อใย เหตุการณ์นี้จึงเป็นผลให้ดูชองป์ลาออกจากการเป็นคณะกรรมการเพื่อแสดงการประท้วง (“ก็ไหนบอกว่า รับงานไม่จำกัดรูปแบบไงวะ!” ดูชองป์คงบ่นในใจ)

    แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า ผลงานศิลปะที่ถูกคัดทิ้งชิ้นนี้ได้รับความสนใจจากสาธารณชนมากกว่าตัวนิทรรศการเสียอีก เพราะโถฉี่มีความหมายที่ตอกหน้าวงการศิลปะอย่างแรง 

    โถฉี่ใบนี้กำลังสื่อสารว่า ศิลปินไม่ใช่ผู้สร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ และศิลปะไม่ใช่ของวิเศษล้ำค่าอะไร (ก็แค่ของโหลๆ ที่ใครก็ซื้อหาได้จากร้านขายสุขภัณฑ์) ที่สำคัญ ดูชองป์ไม่ได้หยิบฉวยอะไรก็ได้มาวางแบบสุ่มสี่สุ่มห้า เพราะเขาเลือกโถฉี่ใบนี้มาเพื่อบอกเป็นนัยว่า ศิลปะก็เป็นแค่อะไรที่คุณจะเยี่ยวรดมันเท่านั้นแหละ! (แสบไหมล่ะ?)

    อันที่จริงแล้วเขาเพียงแค่ต้องการปฏิเสธความงามทางสายตา ทำลายคุณค่า และลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของงานศิลปะให้กลายเป็นของสามัญธรรมดา ดูชองป์พยายามกระตุ้นเร้าให้คนเลิกเทิดทูนบูชาศิลปะ แต่หันมาครุ่นคิดหาความหมายของมันแทน
  • ถึงแม้โถฉี่ใบดั้งเดิมจะหายสาบสูญไปตั้งแต่ช่วงที่ดูชองป์เอางานไปส่ง หลงเหลือไว้เพียงภาพถ่ายที่ถูกชักเอาไว้โดย อัลเฟรด สติกลิตซ์ (Alfred Stieglitz —ช่างภาพชื่อดังผู้ถ่ายผลงานที่ส่งเข้ามาประกวดเก็บไว้ทุกชิ้น) และการเล่าขานปากต่อปาก แต่ Fountain ก็ค่อยๆ สั่งสมชื่อเสียงเรื่อยมา จนในปี 1950 ดูชองป์สั่งทำผลงานชิ้นนี้ขึ้นมาใหม่สำหรับแสดงในนิทรรศการศิลปะที่นิวยอร์ก ก่อนจะสั่งทำ เพิ่มอีกปีละชิ้นในช่วงปี 1953 และ 1963 จนในปี 1964 เขาก็สั่งทำ Fountain ขึ้นมาใหม่อีกแปดชิ้น

    อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ดูชองป์จะผลิตผลงานชิ้นนี้ขึ้นมาเพื่อลดทอนคุณค่าของงานศิลปะ แต่ Fountain ก็กลายเป็นผลงานที่โด่งดังที่สุดของเขา ได้รับการโหวตให้เป็นงานศิลปะสมัยใหม่ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในศตวรรษที่ 20 และกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ทางศิลปะที่ถูกจดจำมากที่สุดในโลก รวมถึงเป็นที่หมายปองของนักสะสม หอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ชั้นนำ ที่ตลกร้ายกว่านั้นคือ เจ้าโถฉี่จำลองที่ดูชองป์สั่งทำขึ้นมาใหม่ถูกประมูลขายไปในราคาสูงถึง 1.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ!

    ท้ายที่สุดมันก็กลายเป็นของล้ำค่าไปจนได้

    นอกจากนี้ ดูชองป์ยังได้ชื่อว่าเป็นศิลปินผู้มีอิทธิพลต่อกลุ่มศิลปินชั้นนำแห่งศตวรรษที่ 20 อย่างกลุ่มดาดา (Dada) และเซอร์-เรียลลิสม์ (Surrealism) ถึงแม้เขาจะไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่ม แต่ด้วยวิธีคิดอันเปิดกว้างของเขาก็เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินเหล่านั้นได้ทดลองและสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้กับวงการศิลปะอีกมากมาย เช่น ผลงานตลกๆ ชิ้นหนึ่งที่เขาทำร่วมกับกลุ่มดาดาโดยหยิบเอา โปสต์การ์ดภาพวาดอมตะอย่าง Mona Lisa ของ Leonardo da Vinci มาเติมหนวดเคราแล้วเขียนอักษรย่อใต้ภาพว่า ‘L.H.O.O.Q.’ ที่มีความหมายในภาษาฝรั่งเศสว่า ‘แม่บั้นท้ายดินระเบิด’
  • ทั้งนี้ หลังจากใช้เวลาอันยาวนานในการทำงานศิลปะชิ้นเอกบนแผ่นกระจกขนาดใหญ่อย่าง The Bride Stripped Bare by Her Bachelors, Even (1915-1923) หรือเรียกสั้นๆ ว่า The Large Glass ซึ่งสร้างความงุนงงสงสัยให้คนดูจนทุกวันนี้ว่ามันคืออะไรกันแน่ (ระหว่างนั้น ดูชองป์สร้างตัวตนที่สองของเขาขึ้นมาในร่างของหญิงสาวชื่อว่า โรส เซลาวี (Rrose Sélavy) โดยทำงานศิลปะ ตีพิมพ์งานเขียน ถ่ายภาพแฟชั่นในนามของเธอออกมา และไปๆ มาๆ ดูชองป์ก็แต่งหญิงขึ้นไม่ใช่เล่นเหมือนกัน!) แต่จู่ๆ ในปี 1923 เขาก็ประกาศเลิกทำงานศิลปะโดยสิ้นเชิง และหันไปทุ่มเทให้กับการเล่นหมากรุกจนกลายเป็นเซียนหมากรุกมืออาชีพ และเป็นหนึ่งในตัวแทนทีมชาติฝรั่งเศสเข้าร่วมการแข่งขันหมากรุกสากลระดับโลกโน่นเลย

    ดูชองป์เสียชีวิตในปี 1968 จากอาการหัวใจวายระหว่างกินมื้อเย็นกับเพื่อนๆ

    ตอนนั้นไม่มีใครรู้เลยว่าเขาได้ทิ้งเซอร์ไพรส์สิ่งสุดท้ายเอาไว้ เพราะหลังจากนั้นเกือบหนึ่งปี งานชิ้นใหม่ที่เขาแอบซุ่มทำถึง 20 ปี ก็เปิดแสดงขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะฟิลาเดลเฟีย

    ผลงานชิ้นนั้นมีชื่อเรียกว่า Étant donnés: 1 ํ la chute d’eau / 2 ํ le gaz d’éclairage (หรือในภาษาอังกฤษว่า Given: 1. The Waterfall, 2. The Illuminating Gas / 1946-1966) ประกอบด้วยประตูไม้ขนาดใหญ่สองบานที่มีรูเล็กๆ สองรูให้แอบมอง เมื่อมองผ่านรูเข้าไปข้างในจะเห็นกำแพงอิฐแตกๆ ให้มองลอดไปเห็นภาพหญิงสาวที่ในมือชูตะเกียงส่องสว่างนอนเปลือยกายอ้าซ่าอยู่บนกองกิ่งไม้แห้ง

    มันเป็นงานที่แปลกประหลาดและสร้างความตื่นตะลึงให้ ผู้ชมที่สุดอีกชิ้นหนึ่งของดูชองป์ งานชิ้นนี้ทำให้คนดูรู้สึกว่าตัวเองไม่ต่างอะไรกับพวกโรคจิตถ้ำมอง ซึ่งแน่นอนว่าดูชองป์ผู้ล่วงลับที่ใครหลายคนคิดว่าเลิกทำงานศิลปะไปนานกว่ายี่สิบปีแล้วก็ยังหวนกลับมาช็อกทุกคนจนหัวทิ่มหัวตำได้อีกครั้งเหมือนอย่างเคย

    ดูชองป์ตั้งคำถามถึงคนทำงานศิลปะในศตวรรษข้างหน้าและอาจจะในศตวรรษต่อๆ ไปว่า ศิลปะคืออะไร? มันควรจะสวยงามและมีความหมายไหม? มันควรจะเป็นสิ่งที่ศิลปินทำได้แต่เพียงผู้เดียวหรือไม่? หรือแม้แต่ควรจะถูกสร้างขึ้นมาไหม? ซึ่งศิลปินในยุคหลังทุกคนต่างก็ต้องตอบคำถามนี้กันถ้วนหน้า เรียกว่าเป็นการท้าทายครั้งสุดท้ายของแบดบอยแห่งวงการศิลปะผู้นี้ก็ว่าได้

    ตัวตายไปแล้วยังปั่นหัวคนเล่นได้

    แน่ไหมล่ะ ป๊ะป๋าดูชองป์ของเรา

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in