คำนำสำนักพิมพ์
ทั้งที่ก็มั่นใจแล้วนะว่า ไอ้ที่เราๆ ขีดเขียนเล่นในสมุด หนังสือหรือกำแพงบ้านด้วยดินสอสีสารพัดชนิด บ้านทรงเหลี่ยม ประตูสูงผิดสัดส่วน หลังคาแหลมเปี๊ยว แดดจ้า แต่ว่ามีปล่องไฟ มันเรียกว่า ‘ศิลปะ’ ไม่ได้หรอก ก็เพราะในคลาสเรียนศิลปะเขาระบุเอาไว้ชัดเจนให้เห็นว่า ศิลปะมันต้องดู สูงศักดิ์ มีชื่อยุคชื่อประเภทที่เรียกยากเข้าใจลำบาก รูปปั้นอลังการที่เหมือนจริงจนน่ากลัว เหมือนอย่างรูปปั้นวีนัสแขนขาดบนสมุด หรือไม่ก็งานวาดที่เห็นแล้วถึงกับผงะเพราะดูไม่รู้เรื่อง ลงชื่อว่าเป็นผลงานของศิลปินระดับโลกชื่อคล้ายเต่านินจาทั้งสี่ตัว นั่นแหละถึงจะเรียกว่า ‘ศิลปะ’
เมื่อพบแล้วว่าเราไม่ใช่ศิลปิน ศิลปะจึงห่างจากเราออกไปเรื่อยๆ ความสูงสง่าทำให้ศิลปะถูกบดบังไปด้วยสิ่งต่างๆ นานๆ ครั้งนั่นแหละถึงจะได้พาตัวเองไปเสพงานอาร์ตในพิพิธภัณฑ์ เดินผ่านงานที่เขาเอามาจัดแสดงอยู่ในห้างสรรพสินค้า หรือไม่ก็เลื่อนฟีดเฟซบุ๊คแล้วบังเอิญไปเจอ แถมเมื่อเจอแล้วก็ต้องเกาหัวแกรก ศิลปะอะไรวะช่างเข้าใจยากเย็น แถมดูมีกำแพงสูงกั้น จนดูเหมือนเป็นพื้นที่ของพวก ‘ผู้ใหญ่’ เสียเหลือเกิน
แต่เมื่อโตมาอีกนิด อ่านนั่นดูนี่มากขึ้น เราก็กลับพบว่า เฮ้ย ไอ้ที่เราเคยวาดบนกำแพงบ้าน มันก็ถูกจับมาจัดอยู่ในแกลเลอรี—พื้นที่ที่จัดเอาไว้เพื่องานศิลปะ—ได้เหมือนกันนี่หว่า
ในขณะที่เริ่มกลับมาไม่มั่นใจอีกครั้ง เราก็ยังถูกตอกย้ำ ความงงด้วยความรู้ใหม่ๆ ที่ว่า มีอะไรมากมายที่ดูเหมือนจะไม่ใช่ศิลปะ แต่มันก็ถูกเรียกว่าศิลปะเสมอมา เช่น โถฉี่ การยืนแก้ผ้าอยู่เฉยๆ เอาแก้วมาปาให้แตก ผัดไทย (ที่เป็นอาหารนี่แหละ) กระป๋องซุป ขยะ และอีกมากมายที่...เฮ้ย! นี่ก็ศิลปะเหรอ
อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะไม่ เราไม่ได้สบถ แต่นั่นคือชื่อของคอลัมน์ที่เล่าเรื่องความเป็นอะไรก็ได้ในศิลปะ หรือศิลปะจะเป็นอะไรก็ได้ มันถูกตีพิมพ์เป็นประจำอยู่ในนิตยสาร มติชนสุดสัปดาห์ ทั้งหมดทุกตอนเขียนโดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ กราฟิกดีไซเนอร์ นักเขียน และอาจกล่าวได้ว่าเขาเป็นนักประวัติศาสตร์ศิลป์ ที่ตั้งความสนใจไปที่งานศิลปะประเภทต่างๆ เท่าที่โลกนี้จะมี ตั้งแต่สิ่งเล็กจ้อยใกล้ตัวที่อยู่ภายในประเทศ ยันสิ่งใหญ่โตที่โผล่อยู่ในต่างแดน
สิ่งที่เราชอบในงานเขียนของภาณุ คือการมองศิลปะจากมุมของคนที่ไม่รู้เรื่อง
จากสายตาของเด็กที่เพิ่งตระหนักว่าสิ่งที่ตัวเองเพิ่งเขียนบนกำแพงบ้านนั้นไม่สามารถเรียกได้ว่าศิลปะ รวมถึงสายตาของเด็กที่เพิ่งเหวอรับประทานว่า เฮ้ย ทุกอย่างมันเป็นศิลปะได้ว่ะ เป็นความง่ายที่เขาหยิบมาเล่า เป็นหลักฐานถึงความสวยงามของโลกที่เราอยู่ สนุกไปกับความสร้างสรรค์ที่มนุษย์เราได้ผลิตขึ้น ความซุกซนในการสร้าง และอะไรอีกมากมายที่เป็นชั่วขณะที่เรารู้สึกว่าในทุกๆ อย่างก็สามารถมีคุณค่าในตัวของมันได้
กระป๋องก็เจ๋ง โถฉี่ก็เลอค่าได้ ถึงมันจะไม่ได้เกิดเป็นศิลปะสูงส่งอย่างในหนังสือเล่มที่เคยผ่านตามาก่อนก็ตามเถอะ
สำนักพิมพ์แซลมอน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in