เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ความลับของนางฟ้าSALMONBOOKS
คำนำ





  • คำนำสำนักพิมพ์


    1

    เราเคยพูดคุยกันในทีมเรื่อยเปื่อยว่ายังจำเป็นต้องออกเดินทางกันอีกไหม ในเมื่อเปิดโซเชียลฯ อ่านหนังสือ ดูรายการท่องเที่ยว ก็มีคนพาลัดเลาะสถานที่ต่างๆ จนพรุน ไม่ต้องออกจากบ้านไปไหนก็เหมือนได้ไปรอบโลก แถมบางคราวพอไปถึง ยังรู้สึกว่าสถานที่ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปนั้นช่างคุ้นหูคุ้นตา ราวกับเคยเดินทางมาบ่อยๆ ทั้งที่จริงๆ เพิ่งเคยมาเป็นครั้งแรก

    “เราถูกสปอยล์ด้านการท่องเที่ยวได้ด้วยหรือ?” บางคนสงสัย

    “อาจจะไม่ แต่การรู้ทุกซอกทุกมุมก็ทำให้เสียบรรยากาศประมาณหนึ่งแหละ” ใครบางคนตอบ

    แล้ววงสนทนาก็จบลง

    2

    โตมร ศุขปรีชา ส่งต้นฉบับหนังสือเล่มนี้ให้เราโดยบอกว่าเป็นหนังสือรวมเรื่องการเดินทาง (อีกแล้ว!) แต่ว่าเป็นเกร็ดต่างๆ แบ่งเป็นสามภาค คืออังกฤษ อเมริกา และที่อื่นๆ

    ข้อความในวงเล็บนั้น เขาเป็นคนใส่มาเอง

    ตามปกติแล้ว เรามักปล่อยผ่านข้อความในวงเล็บไป เพราะคิดว่าคงเป็นการชิงพูดเพื่อไม่ให้เราบอกว่าเขียนเรื่องการเดินทางอีกแล้วเหรอเท่านั้น แต่พอเจ้าของข้อความเป็นโตมร ศุขปรีชา นักเขียนที่ฝากผลงานชวนขบคิดไว้มากมาย ข้อความในวงเล็บจึงเป็นสิ่งที่ชวนสงสัยว่าเขาหมายความตามนั้นทุกตัวอักษรหรือที่จริงกำลังประชดประชันว่าพักหลังมานี้ สำนักพิมพ์แซลมอนขยันวางไข่หนังสือการเดินทางเหลือเกิน!

    ไปๆ มาๆ กลายเป็นเราที่ต้องสำรวจตัวเองว่าทำหนังสือการเดินทางไปเพื่ออะไร

    3

    ในฐานะคนทำหนังสือ เรามีหลักในการเลือกต้นฉบับไม่กี่อย่าง ถ้าไม่นับว่าอ่านแล้วสนุกจนอยากส่งต่อให้เพื่อนๆ อีกสิ่งที่เรามองหาคือ ความแตกต่าง

    ถ้าไม่ใช่ทางด้านเนื้อหา ก็ต้องเป็นในเรื่องของวิธีการเล่า

    กับหนังสือการเดินทางก็เช่นกัน เราเชื่อว่าต่อให้เป็นสถานที่เดียวกัน ไม่ว่าใครก็ย่อมมีเรื่องเล่าของตัวเอง อยู่ที่ว่าเขาจะมองมันด้วยสายตาแบบไหน

    เราจึงเฟ้นหาต้นฉบับการเดินทางต่อไป แม้จุดหมายปลายทางของแต่ละคนจะคล้ายกันก็ตาม

    4

    อังกฤษและสหรัฐฯ คือตัวอย่างของประเทศที่เรารับรู้และผ่านตามาจนคล้ายว่ารู้จักอย่างสนิทสนม

    แลนด์มาร์กของทั้งสองประเทศคืออะไร ไปตรงนี้ต้องถ่ายรูปตรงไหน อาหารขึ้นชื่อคือเมนูใด เราแทบตอบได้โดยไม่ต้องใช้เวลานึก

    ใครต่อใครต่างพากันพูดถึงประเทศนี้ อยากรู้ซอกมุมไหน มีคนพร้อมพาไปรู้จัก

    แล้วทำไมเราถึงต้องสนใจ ความลับของนางฟ้า อีก

    เราเกิดคำถามเมื่อเริ่มพลิกอ่านต้นฉบับ

    5

    เส้นทางในอังกฤษและสหรัฐฯ ของโตมรอาจย่ำซ้ำรอยใครสักคนอยู่บ้าง แต่ด้วยสายตาของเขามองเห็นเรื่องราวได้หลากหลาย สถานที่ที่เราคิดว่าถูกพูดถึงทุกแง่มุมแล้ว ก็กลายเป็นเมืองที่มีเสน่ห์ให้ชวนค้นหาอีกครั้ง

    เมืองบางเมืองในอังกฤษเต็มไปด้วยร่องรอยของประวัติศาสตร์ เมืองบางเมืองในสหรัฐฯ มีรากของวัฒนธรรมซุกเอาไว้

    การเดินทางของโตมรทำให้เรารู้สึกว่า ทุกทุกที่มีเรื่องราวรอให้เราค้นพบเสมอ แม้จะเห็นมาจนช้ำ ได้ยินมาจนเอียน แต่เมื่อเราไปถึงที่นั่น บรรยากาศต่างๆ ก็จะพาเราไปสู่เรื่องราวบางอย่าง

    เรื่องราวที่รอให้คุณไปพบด้วยตัวเอง

    เหมือนที่โตมรได้พบกับความลับของนางฟ้า



    สำนักพิมพ์แซลมอน


  • คำนำผู้เขียน


    บางที, คำพูดเกี่ยวกับการเดินทางที่ผมชอบที่สุด อาจเป็นของ โรเบิร์ต หลุยส์ สตีเวนสัน คนที่เขียนเรื่อง แจ็คกิล แอนด์ ไฮด์

    เขาเคยบอกไว้ว่า สำหรับตัวเขา การออกเดินทาง—มิใช่เพื่อไปสู่แห่งหนใด แต่เพื่อไป, เขาออกเดินทางเพื่อการเดินทาง สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือการได้เคลื่อนย้าย

    ผมคิดถึงการเดินทางและคำพูดนั้นของเขา เมื่อยืนอยู่หน้า Deacon Brodie’s Tavern บาร์เล็กๆ แห่งหนึ่งตรงเชิงเนินก่อนขึ้นไปยังปราสาทเอดินบะระ

    ว่ากันว่า ที่นี่คือบาร์อันเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดนิยายเรื่องดังที่มีชื่อเต็มๆ ว่า The Strange Case of Dr. Jekyll and Mr. Hyde

    คำว่า Deacon ถ้าแปลเป็นไทยอาจแปลได้ว่า มัคทายก จริงๆ คือ ผู้ดูแลวัดที่อาจมีได้หลายๆ คน ส่วนโบรดี้เป็นนามสกุลของ วิลเลียม โบรดี้ ซึ่งทำหน้าที่เป็นดีคอนด้วย ผู้คนเลยเรียกเขาว่า ดีคอน โบรดี้

    ในฉากหน้า ดีคอน โบรดี้ คือนักธุรกิจที่ได้รับความเคารพนับถือ เขาเป็นคนธรรมะธัมโม (เห็นได้จากการที่ได้เป็นถึงดีคอน) ทั้งยังเป็นช่างไม้ที่มีชื่อเสียงเก่งกาจ นั่นทำให้เขาได้เป็นสมาชิกสภาเมือง มีหน้าที่ในการติดตั้งและซ่อมแซมกุญแจต่างๆ รวมถึงกลไกเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของเมือง

    แต่นั่นคือเวลากลางวัน

    ในตอนกลางคืน ดีคอน โบรดี้คือหัวขโมย เขาใช้หน้าที่การงานในเวลากลางวันเพื่อเก็บข้อมูลและล้วงความลับต่างๆ ความที่เขาเป็นผู้ดูแลกุญแจต่างๆ ของเมือง เขาจึงสามารถลอบเข้าไปขโมยของได้ เพราะเขาทำกุญแจสำรองเก็บเอาไว้กับตัว

    ดีคอน โบรดี้ไม่ได้มีชีวิตเดียว เขาใช้เงินทองที่หามาได้ จากการลักขโมยเพื่อปรนเปรอตัวเองกับการพนัน รวมทั้งใช้เลี้ยงลูกห้าคนที่เกิดจากสองเมีย โดยที่เมียทั้งสองคนนั้นไม่รู้เลยว่าเขามีเมียอีกคนหนึ่งด้วย และคนทั้งเมืองก็ไม่รู้อีกเช่นกันว่าเขามีเมียและลูก

    อาชญากรรมสำคัญเกิดขึ้นในปี 1768 เมื่อดีคอน โบรดี้ไขกุญแจธนาคารเข้าไปในยามค่ำคืนแล้วขโมยเงินไป 800 ปอนด์ ซึ่งเป็นเงินที่พอเลี้ยงดูครอบครัวไปได้นานหลายต่อหลายปี หลังจากนั้น เขาว่าจ้างหัวขโมยสามคนให้มาร่วมแก๊ง เพื่อจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น

    แต่แล้ว ดีคอน โบรดี้ก็ถูกจับได้ เมื่อเขาคิดการใหญ่จะ ‘ปล้น’ สำนักงานแห่งหนึ่ง และถูกหนึ่งในแก๊งที่เขาว่าจ้างมาหักหลังด้วยการเข้าไปสารภาพเพื่อหวังได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ ดีคอน โบรดี้จึงถูกเปิดโปง

    ในที่สุด ดีคอน โบรดี้ก็ถูกแขวนคอ

    พ่อของโรเบิร์ต หลุยส์ สตีเวนสันมีเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่โบรดี้เป็นผู้สร้างขึ้น เขาจึงอาศัยแรงบันดาลใจจากเรื่องเล่านี้ แต่งบทละครชื่อ The Double Life หรือ ‘ชีวิตซ้อน’ ขึ้นมา ในตอนแรกเป็นละครที่ไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งกลายมาเป็นนิยายเรื่อง The Strange Case of Dr. Jekyll and Mr. Hyde ถึงได้โด่งดัง

    ผมคิดว่า การเดินทางก็คล้ายๆ เรื่องของดีคอน โบรดี้

    ไม่ได้แปลว่า กลางวันเป็นคนดี กลางคืนเป็นโจร แต่ผมหมายถึงว่า—การเดินทางทำให้เรามี Double Life หรือชีวิตอีกชีวิตซ้อนทับอยู่กับชีวิตอีกชีวิตหนึ่ง

    เราจึงออกเดินทางเพื่อออกเดินทาง ไม่ใช่เพื่อจุดหมายปลายทาง และดังนั้น เราจึงไม่ควรนำ ‘ชีวิต’ ที่มีอยู่ ติดตัวไปด้วย กับชีวิตที่จะคลี่บานออกซ้อนทับชีวิตเดิม

    อย่างน้อยที่สุด การเดินทางก็ทำให้ผมได้มายืนหนาวเหน็บอยู่หน้า Deacon Brodie’s Tavern สถานที่ที่ว่ากันว่าเป็นจุดกำเนิดของนิยายเรื่องนั้น

    พลางครุ่นคิดถึงการเดินทางที่ผ่านมา,

    และที่กำลังจะเกิดขึ้นถัดๆ ไป ไม่รู้จบ


    โตมร ศุขปรีชา

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in