เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
booker loggerweawfah
จงมีใจที่แกร่ง และ หัวใจที่อ่อนโยน
  • "ความหวังใดสำหรับพวกเรามีอยู่เพียงน้อยนิด
    จนกว่าเราจะมีใจที่แข็งแกร่งเพียงพอที่จะปลดโซ่ตรวนแห่งอคติ
    กึ่งจริงกึ่งเท็จ และความโง่เขลาอย่างที่สุด"
    (p. 65)


    เมื่อเย็นวานนี้ระหว่างที่กำลังออกจากที่ทำงาน ท้องฟ้ามืดครึ้มจนต้องรีบจ้ำเท้าเพราะกลัวหนีฝนไม่ทัน
    เรากดฟังพอดแคสควบคู่ไปกับการเดินไปขึ้นรถไฟฟ้าตามปกติ
    วันนี้เป็น Readery podcast ตอนที่ 91 - สันติวิธีแบบมาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์
    .
    ฟังน้ำเสียงอันคุ้นเคยของพี่ ๆ ทั้งสองคุยกันยังไม่ทันได้เข้าเรื่องเนื้อหาของหนังสือดี
    เราก็ต้องชั่งใจในปัญหาเดิม ๆ อีกแล้ว! 
    นั่นคือ จะฟังต่อหรือจะไปหาหนังสือมาอ่านก่อนแล้วค่อยฟัง 
    .
    จริง ๆ มันละเอียดกว่านั้นอีกเล็กน้อย เรื่องฟังหน่ะต้องหาเวลาฟังอยู่แล้ว 
    แต่จังหวะที่เหมาะสมของการฟังเพื่อให้รสชาติของการอ่านหนังสือนั้นสนุกไปด้วยเนี่ยสิ
    ตัดสินใจยากเหลือเกินนนน มีทั้งแบบ
         ① ฟังได้เลยอย่างสบายใจ เพราะอ่านแล้วหรือจะไม่ซื้อมาอ่านอยู่แล้ว
         ② ฟังได้เลยอย่างลุ้น ๆ เพราะไม่รู้ว่าจะอยากอ่านเล่มนั้นไหมหรืออ่านหลังฟังก็ไม่น่าเป็นอะไร
         ③ ยังไม่ฟัง เพราะจะอ่านก่อน และจะได้อ่านเร็ว ๆ นี้แน่ (มีอยู่ในกองดองแล้วด้วยซ้ำ!)
         ④ คงไม่ได้ฟัง เพราะอยากอ่านก่อน แต่ยังไม่ได้อ่านเร็ว ๆ นี้แน่ (T T)

    ซึ่งพอฟังตอนที่ 91 นี้ไปได้ประมาณ 15 นาที 
    การเกริ่นของพี่ ๆ ทั้งสองก็ทำให้พอตแคสตอนนี้ตกไปอยู่ข้อ ③ ทันที! 
    ไม่พอ ยังทำให้เราต้องแวะซื้อเล่มนี้ก่อนขึ้นรถไฟฟ้ากลับบ้านอีกด้วย
    .
    .
    ณ ตอนที่เขียนบันทึกอยู่นี้ คืออ่านจบแล้ว แต่ยังไม่ได้กลับไปฟัง จึงอยากจะขอบันทึกถึงหนังสือเล่มนี้ตามที่เราได้สัมผัสไว้ก่อน :)



    A Tough Mind and a Tender Heart
    จงมีใจที่แกร่ง และ หัวใจที่อ่อนโยน เป็นหนังสือรวมนิพนธ์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักและพลังของความเชื่อมั่นศรัทธาในเพื่อนมนุษย์ของ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง ที่หลาย ๆ คนคงเคยคุ้นหูอยู่บ้างแต่นับได้ว่าไม่รู้จัก

    หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วย 6 บทสั้น ๆ แต่กระชับเฉียบคม และแน่วแน่ในสารที่จะสื่อ ผู้แปลคัดมาจากประมวลเทศนา The Gift of Love ที่ ดร.คิง ยกคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลมาอธิบายและตีความถึงนัยยะที่ซ่อนอยู่ภายใต้วัจนะของพระเยซูเจ้านั้น ๆ

    หกบทนั้นได้แก่
    1. ว่าด้วยการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี
    2. แปรความรักเป็นการกระทำ
    3. จงรักศัตรูของท่าน
    4. ขบถที่จิตใจได้รับการยกระดับ: พวกนอกคอกที่กลับใจ
    5. จงมีใจที่แกร่งและหัวใจที่อ่อนโยน
    6. การแสวงบุญสู่หนทางการไม่ใช้ความรุนแรง

    แต่แม้ว่ากุจแจดอกนี้ที่ ดร.คิง ใช้ คือกุจแจแห่งคริสต์ศาสนา แต่เมื่อไขเข้าไปแล้ว สิ่งที่อยู่ภายในนั้นคือความเป็นสากลอันหนึ่ง ความเป็นสากลนี้ซ่อนอยู่ภายในจิตวิญญาณของมนุษย์ผู้เปิดกว้างทุกคน และจะทำให้เราก้าวพ้นกำแพงแห่งศาสนา เชื้อชาติ ภาษา สีผิว และความเชื่อที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมาต่าง ๆ มากมาย

    ความท้าทายอย่างหนึ่งที่จะเกิดขึ้นกับผู้อ่านชาวไทยที่นับถือศาสนาอื่นนอกจากคริสต์ศาสนา
    คือการที่ท่านผู้อ่านจะต้องปลดเบื้องอคติของความศรัทธาออกเสียก่อน
    เพราะระหว่างที่เราอ่านนั้น เรารู้สึกว่า ดร.คิง เป็นผู้ศรัทธาในศาสนาคริสต์อย่างที่สุด 
    และยึดมั่นเอาพระวัจนะของพระองค์เป็นความจริงแท้แห่งชีวิต (เรายังไม่เคยอ่านงานอื่นของ ดร.คิง จึงขอกล่าวในฐานะของผู้ที่อ่านเฉพาะเนื้อหาของเล่มนี้)

    เมื่อผู้อ่านปลดเปลื้องอคติด้านความศรัทธาออกไปแล้วชั้นหนึ่ง เพื่ออ่านเล่มนี้
    ชั้นถัดมา ท่านจะพบว่าได้ปลดเปลื้องจิตใจที่อ่อนปวกเปียกและดวงตาที่มืดบอดออกไป เมื่ออ่านเล่มนี้จบ

    อีกอย่างหนึ่งที่เราชอบเกี่ยวกับเล่มนี้ คือ สำนวนการแปล 
    (ไม่แน่ใจว่าฉบับภาษาอังกฤษจะมีสำนวนอย่างไร หรือสามารถเทียบเคียงสำนวนระหว่างสองภาษาได้ไหม ไม่มีความรู้เรื่องนี้จึงไม่ทราบได้)
    แต่สำนวนการแปลของเนติวิทย์เล่มนี้ ให้ความรู้สึกเหมือนกลับไปอ่าน "ชีวิต ความงาม และความรัก" ของ คาริล ยิบราล (เคยเขียนถึงใน post ที่ 15) 
    เป็นรูปแบบสำนวนที่เราชอบมาก และรู้สึกว่า การเขียนถึงสิ่งซึ่งเป็นนามธรรมในจิตวิญญาณของมนุษย์
    ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องเขียนด้วยสำนวนเช่นกวีแบบนี้ เพราะความไม่ประจักษ์ชัดทำให้การเปรียบเปรยแบบกวีนิพนธ์เป็นเรื่องจำเป็น 

    "เพื่อนบ้านที่แท้จริงจะเอาสถานะชื่อเสียงเกียรติยศ
    กระทั่งชีวิตของเขาเข้าเสี่ยงเพื่อสวัสดิภาพของคนอื่น
    ในหุบเหวแห่งภยันอันตรายและเส้นทางอันเต็มไปด้วยความมุ่งร้าย
    เขาจะแบกพี่น้องของเขาที่บอบช้ำและบาดเจ็บจากการถูกทุบตีนั้น
    ไปสู่ชีวิตที่สูงส่งและประเสริฐยิ่งกว่า"
    (p. 11)

    ข้อตำหนิเดียวที่เราพบเกี่ยวกับเล่มนี้คือ พิมพ์ผิดค่อนข้างเยอะเมื่อเทียบกับจำนวนหน้า มีคำซ้ำ ไม่ย่อหน้า (เช่น หน้า 48) หรือการใช้ไม้ยมกแบบที่ไม่เป็นรูปแบบเดียวกันทั้งเล่ม  (เช่น หน้า 53) ทำให้การอ่านสดุดไม่ลื่นไหล และให้ความรู้สึกลวก ๆ เล็กน้อย 

    สิ่งที่ได้จากการอ่านเล่มนี้ โดยสรุปแล้ว เราได้ 

    (1) แนวทางการใช้ชีวิตอย่างมนุษย์ผู้หนึ่ง 

    A Tough Mind - ใจที่แข็งแกร่ง 
    หากให้อธิบายโดยง่าย mind คือ อะไรก็ตามแต่ที่เกิดขึ้นในหัวสมองของเรา เช่น การมีความรู้ความเข้าใจ (cignitive) การมีสติรู้ตัว (conciousness) ความคิด (thinking) จินตนาการ (imagine) สัณชาตญาณ การตัดสินใจ อารมณ์ ความจำ ฯลฯ 

    เราควรมีสิ่งเหล่านี้ที่แข็งแกร่งแต่ไม่แข็งกระด้าง คือ มีเหตุมีผล มีปัญญาความรู้ ไม่มืดบอด และไม่ถูกหลอกลวงได้โดยง่าย ดร.คิง เชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์และการศึกษา ซึ่งไม่ใช่สิ่งตรงข้ามกับศาสนาแต่อย่างใด

    A Tender Heart - หัวใจที่อ่อนโยน 
    นั้นตรงตัวเลย เราจะต้องมีหัวใจที่อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ ความอ่อนโยนที่ว่านี้หลั่งออกมาจากความรักในเพื่อนมนุษย์ ในครอบครัว ในเพื่อนบ้าน ในศัตรู และในตนเอง เราจะต้องใช้ปัญญาในการมองข้ามอคติทั้งหมด และใช้หัวใจเพื่อทำความเข้าใจต่อสิ่งนั้น ศาสนาคือสิ่งที่เข้ามาช่วยเสริมในสิ่งนี้

    (2) ได้เข้าใจว่าการต่อสู้อย่างสันติวิธีคืออะไร

    การต่อสู้อย่างสันติ ไม่ใช่การเพิกเฉย ยอมจำนน ลดทอนคุณค่าของตนเพื่อหยุดยั้งความรุนแรง และไม่ใช่การโอนอ่อน ผัดผ่อน หรือไม่ยอมรับความจริง อีกทั้งยังไม่ใช่ความถูกต้องเฉพาะกลุ่มอีกด้วย

    แต่การต่อสู้อย่างสันติ คือการยืนหยัดในหลักการอันเป็นสากลอย่างแน่วแน่โดยไม่ใช้ความรุนแรง เราจะต้องเห็นหลักการดังกล่าวในตัวของเพื่อนมนุษย์ "ทุกคน" และปฎิบัติกับเขาด้วยความเข้าใจไม่ว่าเขาจะเป็นผู้ที่เห็นต่างจากเรามากแค่ไหนก็ตาม เราจะต้องเชื่อว่าสิ่งนั้นมีอยู่ เพียงแต่เขา "ไม่รู้ว่าตนกำลังทำอะไร" เราจึงมีหน้าที่แสดงให้เขาเห็นว่า 
    .
    ความรุนแรงไม่สามารถยับยั้งความรุนแรงได้ 
    ความเกลียดชังก็ไม่สามารถถูกทอนด้วยความเกลียดชังได้
    .
    นั่นเอง


    A Tough Mind and a Tender Heart - จงมีใจที่แกร่งและหัวใจที่อ่อนโยน
    Writer: Martin Luther King Jr.
    Translator: เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล
    สำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in