เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
อินเดีย ไม่รู้จบMarmy
Bhangra Paa Le : มาเต้นบังกรากันเถอะ
  • นาฏศิลป์อินเดีย (Classical Indian Dance)

    เนื่องด้วยภาพยนตร์อินเดียที่กำลังกล่าวถึงมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเต้นรำ จึงขอเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจในเรื่องนาฏศิลป์อินเดียเสียก่อน เพราะคำว่า 'นาฏศิลป์' หมายถึง ศิลปะแห่งการร้องรำทำเพลง รวมไปถึงการละคร สำหรับนาฏศิลป์อินเดียนั้น มีความผูกพันกับคติความเชื่อและศรัทธาในศาสนา ดังที่ชาวฮินดูเชื่อว่านาฏศิลป์ถือกำเนิดตาม 'คัมภีร์ภารตะนาฏยศาสตร์' ซึ่งประพันธ์ขึ้นโดย 'พระภรตมุนี' ผู้ที่ได้รับพระราชทานนาฏลีลาจากพระพรหม และพระศิวะ ชาวฮินดูจึงยกย่องพระศิวะให้เป็น "นาฏราชา" หรือ พระราชาแห่งการฟ้อนรำ 

    ตั้งแต่โบราณกาล นาฏศิลป์อินเดียเป็นมากกว่าการขยับร่างกาย แต่ถือเป็นการฝึกฝนวินัยและเป็นวิถีทางในการอุทิศตัวเองให้กับพระเจ้าผ่านงานศิลปะ ในยุคที่อินเดียตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ อินเดียได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทางด้านนาฏศิลป์ เนื่องจากวัฒนธรรมตะวันตกได้เข้ามาผสมผสานทำให้นาฏศิลป์ที่เป็นแบบฉบับในราชสำนักขาดการดูแลรักษา ต่อมาเมื่ออินเดียได้รับเอกราช จึงฟื้นฟูนาฏศิลป์ประจำชาติขึ้นมาใหม่ 

    การเต้นรำของอินเดียมีมากมายหลายแบบ เพราะมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละรัฐ แต่นาฏศิลป์แบบดั่งเดิมที่อินเดียยึดถือเป็นแบบแผน และยกย่องว่าเป็นศิลปะประจำชาติจะมีเพียง 6-8 รูปแบบ ขึ้นอยู่กับการจัดประเภทของนักวิชาการ อันได้แก่ ภารตะนาฏยัม (Bharatnatyam) กถัก (Kathak) กถักกฬิ (Kathakali) มณีปุรี (Manipuri) กุจิปุดี (Kuchipudi) โอดิสซิ (Odissi) ศาสตริยา (Sattriya) และ โมหินีอัตตัม (Mohiniattam) นอกจากนี้ทางกระทรวงวัฒนธรรมของอินเดียจัดให้ ชะฮู (Chhau) ซึ่งมีการผสมผสานระหว่างนาฏศิลป์แบบดั้งเดิมกับระบำพื้นบ้าน รวมไว้เป็นอีกประเภทด้วย 


    ตัวอย่าง การเต้นรำแบบ ภารตะนาฏยัม (Bharatnatyam)

    ตัวอย่าง การเต้นรำแบบ กถัก (Kathak)
    ตัวอย่าง การเต้นรำแบบ กถักกฬิ (Kathakali)
    ตัวอย่าง การเต้นรำแบบ กุจิปุดี (Kuchipudi)
    ตัวอย่าง การเต้นรำแบบ โอดิสซิ (Odissi)
    ตัวอย่าง การเต้นรำแบบ ศาสตริยา (Sattriya)
    ตัวอย่าง การเต้นรำแบบ โมหินีอัตตัม (Mohiniattam)
    ตัวอย่าง การเต้นรำแบบ ชะฮู (Chhau)

    การเต้นบังกรา (Bhangra)

    ด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมในอินเดีย นอกจากนาฏศิลป์ที่ได้เกริ่นมาข้างต้นแล้ว ก็ยังมีการเต้นรำในแบบอื่นๆที่ไม่ได้มาจากความเชื่อทางศาสนาฮินดูด้วยเช่นกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ "บังกรา" หรือ "บังครา" (Bhangra) และเป็นคำที่ปรากฏอยู่ในชื่อของภาพยนตร์เรื่อง "Bhangra Paa Le" อีกด้วย

     

    "บังกรา" เป็นรูปแบบของดนตรีพื้นบ้านและการเต้นรำ มีต้นกำเนิดมาจากหมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ใน ภูมิภาคปัญจาบ (ประกอบด้วยดินแดนทางตะวันออกของประเทศปากีสถาน และทางเหนือของประเทศอินเดีย ซึ่งทางฝั่งปากีสถานประกอบด้วยแคว้นปัญจาบและบางส่วนของดินแดนนครหลวงอิสลามาบาด ทางฝั่งอินเดียประกอบด้วยรัฐปัญจาบ บางส่วนของรัฐหรยาณา รัฐหิมาจัลประเทศ‎ รัฐฉัตตีสครห์‎ จังหวัดชัมมู และบางส่วนของดินแดนนครหลวงเดลี) เมิื่อประมาณปลายคริสต์ทศวรรษ 1800 ตามที่เริ่มมีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เพื่อเฉลิมฉลองในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว (ไวสาขี) แต่ในปัจจุบันมักเต้นกันในพิธีการเฉลิมฉลองต่างๆ เช่น งานเทศกาลรื่นเริง งานแต่งงาน งานขึ้นปีใหม่ เป็นต้น

    เนื่องจากชาวปัญจาบจะเต้นบังกรากันในวัน "ไวสาขี" (Baisakhi / Vaisakhi) จึงจะขอเล่าคร่าวๆก่อนว่า เทศกาลนี้เกี่ยวข้องกับความเชื่อและประวัติศาสตร์ของศาสนาซิกข์ เพราะเป็นวันก่อตั้งกองทัพขาลสา และเป็นวันที่จักรพรรดิออรังเซพแห่งจักรวรรดิโมกุลสั่งประหารชีวิตคุรุเตฆหบดูร์ หลังปฏิเสธที่จะเปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลาม เหตุการณ์นี้ทำให้คุรุโควินทสิงห์ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งคุรุซิกข์ต่อ แล้วเขาก็ตัดสินใจที่จะก่อตั้งกองทัพเพื่อปกป้องศาสนิกชนของซิกข์จากการคุกคาม อันนำมาสู่แนวคิดของขาลสา ชาวซิกข์จะรำลึกถึงทั้งสองเหตุการณ์ดังกล่าวซึ่งเกิดขึ้นตรงกันในวันไวสาขี และได้ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ อีกทั้งยังเป็นเทศกาลที่เฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวผลผลิตของปัญจาบอีกด้วย โดยทั่วไปจะตรงกับวันที่ 13 หรือ 14 เมษายนของทุกปี

    ว่ากันว่าในอดีต คำว่า "บังกรา" มาจากคำว่า 'บัง' (ฺBhang) ที่แปลว่า กัญชง พืชในตระกูลเดียวกับกัญชา และปลูกกันมากในอินเดีย มีการนำ 'บัง' มาใช้เป็นส่วนผสมในอาหารและเครื่องดื่มของอินเดียนับเป็นเวลาหลายพันปี ชาวฮินดูเชื่อว่า บังเป็นสมุนไพรที่พระศิวะทรงประทานแด่มวลมนุษย์ จึงนำบังมาดื่ม กิน สูบในพิธีกรรม และเทศกาลสำคัญทางศาสนา เช่น เทศกาลโฮลี เทศกาลมหาศิวราตรี เพื่อสักการะบูชาแด่องค์พระศิวะ

    บังกราเป็นการเต้นรำที่มีชีวิตชีวาและสร้างความบันเทิง เพราะใช้ดอล (Dhol) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับกลองสองหน้าของไทยเรา และเครื่องเคาะต่างๆช่วยสร้างจังหวะที่สนุกสนาน โดยดัดแปลงท่าเต้นมาจากท่วงท่าในการเพาะปลูกไปจนถึงเก็บเกี่ยว นักเต้นทั้งหลายจะใช้การขยับช่วงไหล่และคอ ผสมการใช้เท้าในท่าเตะที่กระฉับกระเฉง มีการกระโดด และโค้งตัวไปตามเสียงการขับร้อง "โบลิยัน" (Boliyan) หรือโคลงกลอนในภาษาปัญจาบ 

    บังกรามีต้นกำเนิดมาจากสังคมแห่งการกดขี่ ซึ่งยึดโยงกับการให้คุณค่าในความเป็นชายอย่างมากมาย โดยมีชุดค่านิยมที่ปรากฏให้เห็นผ่านการใช้แรงงาน การเกษตร ความจงรักภักดี อิสรภาพ ความกล้าหาญ ความอุตสาหะทางการเมืองและการทหาร พัฒนาการและการแสดงออกทางด้านพละกำลัง รวมไปถึงเกียรติยศของผู้ชาย แต่บังกรามีทั้งการแสดงที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของผู้ชาย และการเต้นรำร่วมกันของผู้ชายและผู้หญิง

    ตัวอย่าง การเต้นบังกราเพื่อเฉลิมฉลองวันไวสาขี

    ตั้งแต่ทศวรรษที่ 50 เป็นต้นมา รูปแบบการเต้นบังกราในปัญจาบ ค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ มีการผนวกท่าเต้นบังกราแบบดั้งเดิมกับการเต้นรำพื้นบ้านของชาวปัญจาบในรูปแบบอื่นๆ เช่น ลุดดี (Luddi) ฌูมาร์ (Jhumar) ดามาล (Dhamal) และ กิดดาห์ (Giddha) เป็นต้น 

    ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา การเต้นบังกราเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก มีการจัดแข่งขันเต้นบังกราขึ้นทั้งในอินเดียและในระดับนานาชาติ มีการนำดนตรีแนวฮิปฮอป เฮาส์ และเร็กเก้ มาผสมผสาน จนกลายเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยของคนเอเชีย และมีการนำบังกราไปเป็นท่าเต้นออกกำลังกายตามศูนย์ฟิตเนสต่างๆทั้งในอินเดียและต่างประเทศ แม้ว่าท่าท่างการเคลื่อนไหวในการเต้นบังกราได้ถูกปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่ทั้งนี้ก็ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและประเพณีของชาวปัญจาบ 

    ในปัจจุบัน เราจะเห็นว่าบังกรามีอิทธิพลของต่อโลกของบอลลีวู้ดอย่างชัดเจน เพราะมีการนำเพลงของเหล่าศิลปินบังกรามาใช้ประกอบภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์หลายเรื่องจนเป็นที่นิยม 

    ตัวอย่าง การเต้นบังกราแบบดั้งเดิม กับ แบบร่วมสมัย
    การแสดงบังกรา ในช่วงการพักครึ่งของการแข่งขัน NBA

    ลล
    ตัวอย่าง การเต้นบังกราในหนังบอลลีวู้ด เรื่อง "Badhaai Ho"


    Bhangra Paa Le : บังครา เริงระบำฉ่ำชีวิต

    ภาพยนตร์อินเดียเรื่อง "Bhangra Paa Le" (บังกราปาเล) เป็นชื่อในภาษาฮินดี แปลว่า มาเต้นบังกรากันเถอะ ซึ่งสามารถรับชมได้ทาง Netflix Thailand ในชื่อภาษาไทยว่า "บังครา เริงระบำฉ่ำชีวิต" 

    - ข้อมูลทั่วไป - 

    • ผู้กำกับ : สเนฮา เทารานี (Sneha Taurani)
    • นักแสดงนำ: ซันนี่ เคาชาล (Sunny Kaushal) และ รุกชา ดิลลอน (Rukshar Dhillon)
    • ประเภท: สร้างแรงบันดาลใจผสมดราม่าสะเทือนอารมณ์ และปนตลกนิดหน่อย
    • ออกฉาย: มกราคม 2020 (พ.ศ. 2563)
    • เรื่องย่อ: เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับนักเต้นบังกราสองยุคสมัยในรัฐปัญจาบ นั่นคือรุ่นปู่ ในช่วงปี 1944 (พ.ศ. 2487) และรุ่นหลานที่เป็นยุคสมัยปัจจุบัน (พ.ศ. 2562) ซึ่งมีความมุ่งมั่นตั้งใจจะนำทีมนักเต้นบังกราไปแข่งขันบนเวทีระดับโลกให้ได้ตามที่ฝันไว้ แต่เส้นทางก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเมื่อต้องมาเจอกับทีมของอีกมหาวิทยาลัยที่เป็นคู่แข่งตลอดกาล จนเกิดการประชันกันอย่างสูสี

    * Disclaimer : ตั้งแต่ย่อหน้านี้ไป มีการสปอยล์บางส่วนของหนัง แต่ว่า ต่อให้รู้อะไรไป ก็คาดเดาพลอตเรื่องทั้งหมดไม่ได้ ต้องไปดูอยู่ดี *
    แม้ว่าพลอตเรื่องจะเน้นไปที่การแข่งขันเต้นบังกรา แต่กุญแจสำคัญของเรื่องนี้กลับเป็นเรื่องราวในอดีตของผู้เป็นปู่ ดังนั้นจึงต้องย้อนเวลากลับไปในปี 1944 (พ.ศ. 2487) ซึ่งเป็นช่วงที่หนุ่มปัญจาบคนหนึ่ง นามว่า "กัปตาน" ผู้รักการเต้นบังกรา จำต้องจากบ้านเกิดเพื่อไปรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องด้วยสถานการณ์บ้านเมืองของอินเดียในเวลานั้นยังตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ทำให้ชายชาวอินเดียต้องถูกคัดเลือกไปเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพอังกฤษ

    เราคิดว่าเรื่องราวในส่วนนี้น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะเปิดเรื่องมาเป็นฉากสงครามที่ทหารหนุ่ม "กัปตาน" กำลังแบกและตีกลองดอล (Dhol) แทนที่จะถืออาวุธใดๆท่ามกลางยุทธการที่มองเตคาสิโน (Monte Cassino) ในประเทศอิตาลี คำถามก็คือ ทำไมหนุ่มอินเดียผู้รักในการร้องรำทำเพลง จึงต้องไปร่วมทำสงครามในต่างบ้านต่างเมือง?

    ณ หมู่บ้าน มัลวา ในมณฑลปัญจาบของบริติชราช กัปตานต้องแอบพ่อของตัวเองเต้นบังกรา เพราะพ่อของเขาต้องการให้ลูกชายฝึกฝนร่างกายเพื่อเตรียมตัวไปเกณฑ์ทหารร่วมกับกองทัพของอังกฤษ พ่อของกัปตานมีความฝันที่อยากจะให้ลูกชายได้รับเหรียญวิคทอเรีย ครอส (Victoria Cross) หรือเหรียญกล้าหาญสูงสุดจากอังกฤษ กัปตานเกือบทำให้พ่อต้องผิดหวัง เพราะไม่ผ่านการเกณฑ์ทหาร แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ได้รับเลือกให้เข้าไปอยู่ในกองทัพ จากการเต้นบังกรานี่แหละ  

    บังกราคือความภาคภูมิใจของชาวปัญจาบ ที่ทำให้หัวหน้าทหารอังกฤษต้องทึ่งเมื่อได้เห็น ถึงกับเอ่ยว่า มีจังหวะที่ทรงพลังและดุดัน นี่คงเป็นเหตุผลที่กัปตานได้รับคัดเลือกให้เข้ากองทัพ เพื่อไปทำหน้าที่สร้างแรงความฮึกเหิมให้กับบรรดาทหารในสมรภูมิรบ

    ตัดภาพกลับมาที่ "จั๊กกี" ซึ่งเป็นรุ่นหลานของกัปตาน แน่นอนว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เพราะเขาก็เป็นนักเต้นบังกรา เช่นเดียวกับพ่อของเขาที่เป็นโค้ชให้กับสโมสรบังกราแห่งหนึ่งในหมู่บ้าน จั๊กกีิเข้าร่วมทีมของมหาวิทยาลัยที่เป็นตัวเต็งในการแข่งขันเต้นบังกรา ด้วยใจรักและความฝันทำให้จั๊กกีมุ่งมั่นจะพาทีมไปแข่งขันในระดับโลกที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ บวกกับอยากให้โลกได้รู้จักปู่ของเขา แต่บังเอิญว่า เขาดันไปตกหลุมรักหญิงสาวผู้เป็นนักเต้นบังกราตัวยงของทีมคู่แข่ง เลยเกิดเป็นความบาดหมางเพราะอยากจะเอาชนะกัน แทนที่พวกเขาจะได้สานต่อเรื่องความรักอย่างราบรื่น 

    สุดท้ายแล้วไม่ว่ากัปตานจะได้เหรียญกล้าหาญหรือไม่ จั๊กกีจะพาทีมไปแข่งขันในต่างประเทศได้สำเร็จหรือเปล่า ก็ไม่สำคัญเท่ากับการได้เห็นบังกราสองยุคสมัย ที่เต็มไปด้วยความคึกคักสนุกสนานไม่แพ้กัน

    รีวิว : Bhangra Paa Le

    จุดเด่น: แม้เราจะเคยเห็นการเต้นในลักษณะเช่นนี้จากหนังอินเดียเรื่องอื่นๆมาบ้าง ก็ไม่เคยรู้เลยว่ามันคือการเต้นบังกรา เพราะคิดแค่ว่ามันคือการเต้นสไตล์อินเดียนั่นแหละ แต่เมื่อได้ดูหนังเรื่องนี้ ทำให้พอจะเข้าใจเกี่ยวกับบังกรามากยิ่งขึ้น จากบทบาทของตัวละคร และสถานที่หลักในภาพยนตร์ (เมืองอมฤตสาร์ รัฐปัญจาบ)

    ในส่วนของการตัดภาพสลับเหตุการณ์ในอดีตและปัจจุบัน เพื่อเปรียบเทียบความฝันของนักเต้นบังกราทั้งสองยุค ทำให้ผู้ชมได้เห็นวิวัฒนาการของการเต้นบังกราว่าเปลี่ยนไปจากแบบดั้งเดิมอย่างไร ไม่ใช่แค่การเปรียบเทียบในเรื่องของดนตรีหรือท่าเต้นเท่านั้น แต่มันคือการบอกเป็นนัยยะว่าบังกรามีจุดกำเนิดจากหมู่บ้านในชนบท จนไปเป็นที่นิยมของคนเมืองและคนทั่วโลกได้ 

    ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมตามกาลเวลา จะเห็นได้ในฉากที่มีการแข่งขันบังกราอย่างชัดเจน ว่า ทั้งการแสดง ความอลังการของเทคนิคพิเศษบนเวที เสื้อผ้าของนักเต้น และอุปกรณ์ที่ใช้ระหว่างการแสดง ล้วนแล้วแต่มีการผสมผสานวัฒนธรรม (Acculturation) จากโลกตะวันตกเข้าไปมากมาย ทำให้การแสดงต่างๆยิ่งดูทันสมัย น่าตื่นตาตื่นใจ จนอดคิดไม่ได้ว่า นี่อาจเป็นวิธีการหนึ่งในการอนุรักษ์วัฒนธรรมให้คงอยู่ไว้ทุกยุคทุกสมัย
     
    ภาพยนตร์เรื่องนี้นอกจากจะนำเสนอเรื่องราวของบังกราที่เปรียบเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงชโลมจิตใจให้กับชาวปัญจาบแล้ว ยังผูกเรื่องราวประวัติศาสตร์ไปในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าไปด้วย จึงสัมผัสได้ถึงความภาคภูมิใจของชาวปัญจาบทั้งในด้านความบันเทิงและการรบ แม้จะเป็นเรื่องที่ถูกแต่งขึ้นมาโดยการสร้างตัวละคร 'กัปตาน' ให้เป็นฮีโร่ในสมรภูมิรบ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทหารปัญจาบมีส่วนร่วมในปฏิบัติการต่างๆจริง

    จุดเด่นอีกเรื่องที่จะต้องชื่นชม นั่นก็คือ นักแสดงนำของเรื่องทั้ง ซันนี่ เคาชาล รุกชา ดิลลอน และ นักแสดงที่เป็นทีมเต้น โดยเฉพาะทีมสโมสรเปนดู (Pendu Club) เพราะต่างก็เต้นบังกราได้อย่างเชี่ยวชาญ ต้องบอกเลยว่าดูเพลินจนหลงเสน่ห์บังกราไปโดยอัตโนมัติ ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกของรุกชาในฐานะนางเอก ซึ่งก็ถือว่าเธอนั้นสอบผ่าน สมกับความสามารถของเธอ สำหรับซันนี่ที่เป็นคนปัญจาบโดยกำเนิด และพอจะมีพื้นฐานในการเต้นบังกราอยู่บ้าง เขาต้องรับบทเป็นทั้งกัปตานและจั๊กกี ทำให้ต้องเต้นบังกราแบบดั้งเดิม และแบบร่วมสมัย อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับซันนี่ แต่เขาก็ทำได้ดีทั้งสองบทบาท เราคิดว่าเขาทำให้ผู้ชมเชื่อได้ว่าตัวละครทั้งสองสวมบทโดยนักแสดงคนละคนกัน และหากได้รับชมจนจบแล้ว ก็จะพบกับฉากดราม่าเรียกน้ำตาที่สุดในเรื่อง ซึ่งก็ทำได้ดีเช่นกัน เขาได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า 
     

    "ความขัดแย้งที่ตัวละครทั้งสองเผชิญนั้นมีความแตกต่างกัน ความท้าทายที่สุดคือการถ่ายทำทั้งสองตัวละครในวันเดียวกัน แต่ก็ถือว่าเป็นการเติมเต็มประสบการณ์ ทำให้ผมได้เรียนรู้อะไรมากมาย ผมเพียงแค่เข้าถึงตัวละครของผมแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน อุดมคติของพวกเขานั้นต่างกันมาก ตัวอย่างเช่น จั๊กกี เป็นคนหัวรั้น แต่กัปตานไม่ใช่ แม้ว่าพวกเขาทั้งคู่ต่างหลงใหลในสิ่งที่พวกเขาศรัทธา สิ่งแรกที่ผมกับผู้กำกับทำในขณะเตรียมตัวสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ คือวางลักษณะความแตกต่างและความคล้ายคลึงกันของพวกเขา นอกเหนือจากการสร้างความมั่นใจว่าภาษากาย และกริยาท่าทางของพวกเขาดูแตกต่างอย่างชัดเจนแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องรู้ว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรด้วย"  (India TV Entertainment Desk, 2019)

    "การเป็นคนปัญจาบ ทำให้ผมเป็นนักเต้นบังกราที่ดีใช้ได้ตั้งแต่ยังเด็ก แต่การแสดงบนเวทีกับทีมงานนั้นแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิงผมต้องเรียนรู้จากการแกะท่าเต้น ปรับเปลี่ยนท่าทาง และการเคลื่อนไหวของเข่าผมฝึกอยู่สี่เดือนโดยนักออกแบบท่าเต้น มันดูเหมือนว่าจะง่ายแต่ทางเทคนิคนั้นไม่เลย 'Bhangra Paa Le' ไม่ได้เป็นแค่หนังแนวเต้นที่เน้นการแข่งขัน แต่จริงๆแล้วมันคือเรื่องราวที่งดงามเกี่ยวกับสายใยจากรุ่นสู่รุ่น ผมจำได้ว่าตอนที่ผมกำลังถ่ายทำฉากเต้นตอนแรกๆในส่วนของคุณปู่ ผมตั้งใจจะเต้นด้วยเท้าเปล่า เพราะนั่นคือการแสดงบังกราแบบดั้งเดิม แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดคือมันร้อนมากและพื้นก็ปกคลุมไปด้วยทราย ผมทำผ่านในเทคเดียวแต่มันก็จบลงที่เท้าของผมเป็นแผลพุพอง" (The New Indian Express,2020)

    ซันนี่ในบทกัปตาน (ซ้าย)และจั๊กกี (ขวา)
                                                           

    จุดด้อย: เพราะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเต้น ทำให้หนังเรื่องนี้มีบทพูดน้อยเกินไป สำหรับหนังที่มีความยาว 2 ชั่วโมง จะเห็นว่าฉากส่วนใหญ่ในหนังจะนำเสนอการร้องและเต้น โดยเฉพาะการแข่งขันที่มีหลายทีมติดต่อกัน อาจทำให้ผู้ชมรู้สึกเบื่อเอาได้ เราคิดว่าผู้ชมอาจจะคาดหวังถึงการเข้าฉากร่วมกัน หรือบทพูดที่ลึกซึ้งระหว่างนักแสดงนำชายและหญิงเพื่อความสมจริงของเนื้อเรื่องมากกว่านี้ อีกทั้งเนื้อเรื่องบางส่วนคาดเดาได้ง่ายว่าจะลงเอยอย่างไร จึงแทบไม่ต้องลุ้นอะไรมากมาย 

    นักวิจารณ์ภาพยนตร์ของอินเดียบางส่วนให้คะแนนเรื่องดนตรีและการเต้นในระดับพอใช้ เนื่องด้วยมีการใช้เพลงจากภาพยนตร์เก่าๆมาทำการรีมิกซ์ใหม่ และท่าเต้นที่ซ้ำไปซ้ำมาตลอดทั้งเรื่อง บ้างก็ให้เหตุผลว่าฉากการประกวดดูจะเกินจริงไปหน่อย แต่สำหรับเราที่ไม่ได้สันทัดในเรื่องนี้ จึงดูไม่ออกว่าแบบไหนถึงจะดีหรือยังไม่ดีพอ 

    สรุป: ที่เราเลิือกเรื่องนี้มาเขียน เพราะว่าดูแล้วได้เข้าใจอินเดียในอีกแง่มุมหนึ่งมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหาที่เกี่ยวกับชาวปัญจาบ ประกอบกับความชอบในเรื่องการเต้น ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกร่วมในฉากที่มีการแข่งขันบังกราได้ไม่ยาก แม้จะเคยเห็นการเต้นมาจากหนังอินเดียหลายๆเรื่องแล้ว แต่เรื่องนี้ทำให้ได้กลับมาคิดทบทวนถึงความสามารถของดาราบอลลีวู้ดว่า นอกเหนือจากการแสดง พวกเขายังต้องเต้นได้ดีอีกด้วย 

    ในส่วนของการกำกับภาพ เราชอบที่มีการใช้แสงสีโทนซีเปียกับเหตุการณ์ในอดีต ฉากเหล่านั้นเลยออกมาสวยดี ช่วยให้แยกแยะฉากในอดีตกับปัจจุบันได้ และในส่วนของเพลงประกอบ ถึงแม้จะไม่เข้าใจในภาษาฮินดี และปัญจาบี แต่เราก็สัมผัสได้ถึงความไพเราะของภาษาดนตรี 

    เราเห็นถึงความตั้งใจของทั้งนักแสดงและทีมงานที่พยายามทำให้หนังเรื่องนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ชม ทราบมาว่าเป็นหนังเรื่องแรกของสเนฮา เทารานี (Sneha Taurani) ที่ได้ก้าวมาเป็นผู้กำกับอย่างเต็มตัว ซึ่งก็ถือว่าทำได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว เธอได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า

    "มีการจัดงานเทศกาลบังกราที่แวนคูเวอร์ (แคนาดา)ทุกปี มีทีมบังกราของมหาวิทยาลัยคอร์เนล (สหรัฐอเมริกา) มีการแข่งขันบังกราทั้งในแคลิฟอร์เนีย และประเทศในแถบอเมริกาเหนือ ฉันรู้สึกทึ่งในการถอดแบบความเป็นอินเดียที่เก่าแก่ไปทั่วโลกเช่นนี้ ฉันหวังว่าหลังจากที่ได้ดูหนังของพวกเรา คนหนุ่มสาวจะมีแรงบันดาลใจในการเรียนรู้การแสดงบังกรากันมากขึ้น" (The New Indian Express,2020)

    โดยรวมแล้วเราคิดว่า "Bhangra Paa Le" อาจจะไม่ได้มีโครงเรื่องที่สมบูรณ์แบบนัก แต่จะเป็นหนังที่ทำให้คุณยิ้มและซาบซึ้งไปกับเรื่องราวการเต้นรำพื้นบ้านที่ครึกครื้นที่สุดในอินเดีย


    คะแนน: 7/10



    อ้างอิง :


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in