โดยปกติแล้วเมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมภาพยนต์ของอินเดีย หลายคนก็คงจะนึกถึง "บอลลีวูด" (Bollywood) อย่างแน่นอน แต่ด้วยความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมและภาษา อุตสาหกรรมหนังอินเดียจึงไม่ได้มีแค่บอลลีวูดที่เป็นหนังภาษาฮินดีเพียงเท่านั้น เพราะในแต่ละรัฐของอินเดียต่างก็มีอุตสาหกรรมหนังเป็นของตนเอง อาทิ อุตสาหกรรมหนังทางตอนใต้ของอินเดียที่ใช้ภาษาทมิฬและเตลูกู ในนาม "ทอลลีวูด"(Tollywood)
เมื่อแนวทางในการทำหนังไม่เหมือนกัน ก็ย่อมส่งผลให้หนังอินเดียมีความหลากหลายตามไปด้วย อย่างบอลลีวูดจะเน้นผลิตหนังรักโรแมนติก ส่วนหนังทมิฬก็เน้นไปที่หนังบู้ล้างผลาญ โชว์ความแข็งแกร่งที่บางทีก็เกินความเป็นจริงไปมากโข (ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก, 2561)
ซึ่งทั้งบอลลีวูดและทอลลีวูดต่างก็มีหนังหลายเรื่องที่ประสบความสำเร็จสร้างรายได้ถล่มทลาย และเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติจากการออกฉายนอกประเทศ เช่น Slumdog Millionaire/ The Lunchbox/ Dangal ของทางบอลลีวูด และ Baahubali/ Ala Vaikunthapurramuloo/ Miss India/ ของฝั่งทอลลีวูด
ทั้งนี้หลายคนคงจะมีภาพจำว่าหนังอินเดียเป็นหนังที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับความรักของชายหญิง ต้องมีฉากที่นักแสดงในเรื่องร้องเพลงและเต้นรำตามจังหวะกันเป็นหมู่คณะ ซึ่งถ้าย้อนไปในอดีต จะเห็นว่าฉากที่พระนางร้องเพลงวิ่งไล่จับกันข้ามเขา ถือเป็นเอกลักษณ์ของหนังอินเดียเลยก็ว่าได้ แม้ว่าหนังอินเดียในปัจจุบันจะไม่มีการวิ่งข้ามเขาแล้ว แต่การร้องและการเต้นก็ยังปรากฎให้เห็นอยู่ในหลายๆเรื่อง
หากใครเป็นแฟนหนังอินเดีย หรือได้ดูหนังอินเดียเป็นประจำ คงสังเกตเห็นว่านักแสดงในหนังอินเดียทั้งบอลลีวูดและทอลลีวูดส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจะเป็นนักแสดงที่มีหน้าตาไปทางอารยันกับดราวิเดียน แต่สำหรับหนังเรื่อง "Axone" ซึ่งมีให้ชมกันทาง Netflix Thailand นั้น กลับสร้างมิติใหม่ให้กับเรา เพราะไม่ว่าจะเป็นนักแสดงนำหรือเนื้อหาสำคัญของหนัง ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับคนอินเดียอีกกลุ่ม ที่ไม่ใช่ชาวอารยันและดราวิเดียนเหมือนเรื่องอื่นๆที่เคยดูมา อีกทั้งไม่มีการร้องและการเต้นในหนังเรื่องนี้
"Axone" (A recipe for disaster) หรือชื่อไทยว่า "เมนูร้าวฉาน" คือหนังอินเดียแนวคอมเมดี้-ดราม่า ออกฉายเมื่อปี 2019 (พ.ศ. 2562) กำกับโดย นิโคลัส คาห์คอนกอร์ (Nicholas Kharkongor) เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหนุ่มสาวชาวอินเดียจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือกลุ่มหนึ่ง ที่มาอาศัยอยู่ในนิวเดลี พวกเขาพยายามจะจัดงานแต่งงานให้กับเพื่อนสาวในกลุ่มที่ชื่อ มีนัม และต้องการปรุงอาหารประจำถิ่นของตัวเองเพื่อสร้างเซอร์ไพรส์ให้กับเจ้าสาว ซึ่งมีชื่อเรียกเหมือนชื่อหนังว่า "อขุนี" (Axone/Akhuni) ถ้าดูจากชื่อภาษาไทยของหนัง คงจะพอเดาได้ว่าเมนูอาหารชนิดนี้เป็นตัวปัญหามากน้อยแค่ไหน
ก่อนจะสาธยายถึงอขุนีเมนูเจ้าปัญหา ขอวกกลับมาที่ตัวละครหลักของเรื่องก่อน อย่างที่ทราบกันไปแล้วว่า หนังเรื่องนี้เป็นเริื่องราวของชาวอินเดียที่มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือจะเรียกสั้นๆว่า "ภาคอีสาน" เพราะฉะนั้น หากจะเรียกแทนชาวอินเดียที่เกิดและอาศัยอยู่ในภาคอีสานว่า คนอีสาน ก็คงทำได้ เหมือนที่ทางเน็ตฟลิกซ์เองก็ใช้คำนี้ในซับไตเติ้ลภาษาไทย ซึ่งแน่นอนว่านักแสดงนำของเรื่องนี้ อย่าง ลิน ไลชรัม (Lin Laishram) เทนซิง ดัลฮา (Tenzing Dalha) อาเซนลา จามีร์ (Asenla Jamir) ก็เป็นคนอีสาน รวมทั้งตัวผู้กำกับเองด้วย
จากที่เกริ่นมาในข้างต้นถึงหนังบอลลีวูดและทอลลีวูด จะเห็นว่าเราไม่เคยดูหนังอินเดียที่พูดถึงคนอีสาน กระทั่งว่าไม่เคยเห็นนักแสดงที่เป็นคนอีสานปรากฏอยู่ในหนังในฐานะคนอินเดียเลย จึงทำให้หลังจากดูเรื่อง 'Axone' แล้ว ก็พบสิ่งที่น่าสนใจอยู่หลายประเด็น สอดแทรกอยู่ในหนังเรื่องนี้ ซึ่งประเด็นที่ถ่ายทอดผ่านหนังเรื่องนี้อย่างชัดเจน ก็คือ การมาใช้ชีวิตของคนอีสานอินเดียในเมืองหลวง
ต้องขอออกตัวก่อนว่า เราไม่เคยเดินทางไปอินเดีย แต่ด้วยความที่สนใจในประวัติศาสตร์และชอบดูหนังอินเดีย ก็ทำให้พอจะมีความเข้าใจในความเป็นอินเดียอยู่บ้าง นอกจากนี้ข้อมูลต่างๆที่รับรู้เพิ่มเติมก็มาจากเรื่องเล่าของเพื่อนคนไทยที่เคยไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น และจากการพูดคุยกับเพื่อนที่เป็นชาวอีสานอินเดีย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียมีชายแดนติดกับประเทศบังคลาเทศ พม่า จีน ภูฐาน และ เนปาล มีทั้งสิ้น 8 รัฐ เป็นที่รู้จักกันในนาม "ดินแดน 7 สาวน้อยและ 1 น้องชาย" เพราะเดิมมีเพียง 7 รัฐ ได้แก่ รัฐเมฆาลัย (Meghalaya) รัฐอรุณาจัลประเทศ (Arunachal Pradesh) รัฐนากาแลนด์ (Nagaland) รัฐมณี ปุระ (Manipur) รัฐมิโซรัม (Mizoram) รัฐตรีปุระ (Tripura) รัฐอัสสัม (Assam) ส่วนน้องชายใหม่ ก็คือ รัฐสิกขิม นั่นเอง
ด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม ของคนอีสานที่กล่าวมา ทำให้ในแต่ละพื้นที่มีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง แต่ถ้าดูแบบผิวเผิน ก็จะเห็นว่าพวกเขามีหน้าตา ผิวพรรณ วัฒนธรรม การแต่งกาย ลักษณะบ้านเรือน อาหารการกิน รวมถึงการดำเนินชีวิตที่ใกล้เคียงกับผู้คนใน พม่า ไทย ลาว เพราะผู้คนส่วนใหญ่ที่อาศัยในแถบนี้เป็นกลุ่มเชื้อสายมองโกลอยด์ ผิวเหลือง และถูกจัดให้เป็นกลุ่มชนเผ่าตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของอินเดีย ตามบทบัญญัติข้อที่ 366 (25) ซึ่งกล่าวถึง กลุ่มชนเผ่าที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย (ST Scheduled Tribes) โดยแจ้งไว้ตามชุมชนที่พวกเขาอาศัยในรัฐหนึ่งๆ เพื่อเป็นการบ่งบอกบุคลิกลักษณะ และอัตลักษณ์ของกลุ่มชนเผ่านั้นๆ (สิริพร สมบูรณ์บูรณะ,2554)
เราได้เห็นความหลากหลายที่ว่านี้ในฉากของหนังเรื่อง 'Axone' เช่น ตอนที่ตัวละครในกลุ่มเพื่อนคนอีสานแต่ละคนพยายามจะโทรติดต่อคนบ้านเดียวกันในนิวเดลี แม้ว่าตอนที่อยู่ด้วยกันทุกคนจะใช้ภาษาอังกฤษในการพูดคุย และใช้ภาษาฮินดีพูดคุยกับคนในนิวเดลี แต่เมื่อต้องคุยกับคนบ้านเดียวกัน ทุกคนก็จะใช้ภาษาถิ่นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นภาษา Mizo/ Nepali/ Bodo/ Khasi/ Sema/ Meitei/ Tangkhul
อีกเรื่องที่เห็นถึงความหลากหลายได้ชัดเจน ก็คือ เรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ซึ่งตัวละครแต่ละคนสวมใส่เสื้อผ้าและเครื่องประดับพื้นเมืองที่สวยงามมีเอกลักษณ์โดดเด่นแตกต่างกันไปตามแบบฉบับของชนเผ่าตัวเองเพื่อร่วมงานแต่งงานของมีนัม ถึงขั้นว่าชาวเดลีในละแวกนั้นต่างตกอกตกใจ เพราะคิดว่าพวกเขาแต่งตัวไปงานแฟนซีกัน
มาถึงคิวของตัวปัญหาที่สร้างความร้าวฉานให้เกิดขึ้นกับตัวละครต่างๆในเรื่อง นั่นก็คือ "อขุนี" หรือถั่วหมัก คำว่า อขุนี เป็นภาษาถิ่นของชาวเผ่า Sumi ที่อยู่ในรัฐนากาแลนด์ เป็นการผสมกันของคำว่า 'อขุ' (Axo) ที่แปลว่า กลิ่น กับ คำว่า 'นี' (nhe) ที่แปลว่า เข้มข้น หนัก เมื่อรวมกันอาจแปลได้ว่า "กลิ่นแรง" ดังนั้นจึงต้องไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมชาวเดลี ถึงได้ไม่ชอบกลิ่นของอขุนีเอาเสียเลย
กรรมวิธีในการทำถั่วหมักที่ว่านี้ ชาวนากาแลนด์จะเอาถั่วเหลืองไปต้มจนนิ่มแต่ไม่ถึงกับเละ เทน้ำออก แล้วนำไปผึ่งแดดหรือผิงไฟอุ่นๆ ซึ่งจะใช้เวลาในการหมัก 3-4 วัน ในช่วงฤดูร้อน และ 1 สัปดาห์ในช่วงฤดูหนาว เมื่อกลิ่นได้ที่แล้ว ก็เอามาตำโดยที่ไม่ต้องละเอียดมาก จากนั้นก็เอามาห่อไว้ในใบตองหรือใบไม้ แล้วย่างไฟเบาๆเพื่อเก็บไว้ขายหรือรับประทาน
กระบวนการย่อยโปรตีนถั่วเหลืองให้เป็นกรดอะมิโน ทำให้ถั่วหมักมีรสชาติกลมกล่อม และสามารถนำไปประกอบอาหารเป็นเครื่องปรุงรสได้หลายเมนู โดยเฉพาะเมนูอาหารอีสานอินเดียที่ขึ้นชื่อ เช่น แกงหมูรมควัน และหอยทากใส่ถั่วหมัก ซึ่งเป็นเมนูที่ปรากฏอยู่ในหนังด้วย
อย่างที่ทราบกันดีว่า คนอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดู ซึ่งถือว่าเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นมังสวิรัติ และมีที่ทานเนื้อสัตว์จำนวนไม่มากนัก อาจจะเป็นปลา ไก่และแกะ แต่จะไม่กินวัวและหมู ยกเว้นชาวฮินดูในรัฐเกรละ ทางภาคใต้ของอินเดีย ที่กินเนื้อวัวกันเป็นเรื่องปกติ (คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง,2559) นอกจากนี้ อาหารส่วนใหญ่ก็จะมีเครื่องเทศเป็นส่วนผสมหลัก
ด้วยความแตกต่างกันในเรื่องอาหารการกินระหว่างคนเมืองหลวงและคนอีสานของอินเดียนี่แหละ ทำให้เมื่อต้องอาศัยอยู่ในตึกเดียวกัน จึงเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้น
คนฮินดูที่คุ้นเคยแต่กับกลิ่นเครื่องเทศและมัสซาลา (Masala) ต่างพากันเหม็นกลิ่นของอขุนี ถึงขนาดเปรียบเทียบว่า กลิ่นเหมือนส้วมเลยทีเดียว ไม่เพียงแค่ชาวฮินดูเท่านั้น ในหนังยังมีชาวแอฟริกาที่ทนกลิ่นของอขุนีไม่ได้เช่นกัน
คำว่า 'Indian' (อินเดียน) ถูกนำมาใช้เรียกคนที่ถือกำเนิดและอาศัยอยู่ในทั่วทุกพื้นที่ของประเทศอินเดีย ถ้าว่ากันตามหลักการและกฏหมาย คนอีสานอินเดียแต่ละชนเผ่าก็ต้องถูกเรียกว่า 'Indian' ด้วยเช่นกัน แต่กระนั้นแล้ว ในความเป็นจริง ต้องยอมรับว่า พวกเขาคือ ชนกลุ่มน้อย (Minority) ของประเทศที่มีความแตกต่างไปจากชาวอินเดียอารยันและดราวิเดียน ซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ แม้กระทั่ง ในขณะที่คนอีสานอินเดียอาศัยอยู่ในเมืองหลวง พวกเขากลับเรียกคนฮินดูว่า 'อินเดียน' จนทำให้คนฮินดูเองต้องประหลาดใจแล้วตั้งคำถามกับพวกเขาว่า "พวกนายไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนอินเดียเหรอ?" จุดนี้เราคิดว่าผู้ชมเอง ก็คงตั้งคำถามกับคำว่า "ความเป็นอินเดีย" อยู่ไม่น้อย
เนื่องด้วยลักษณะดินแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย เป็นพื้นที่ที่แยกตัวออกจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของอินเดีย ประกอบกับเรื่องของชาติพันธุ์และวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากคนอินเดียส่วนใหญ่ ทำให้คนอีสานถูกมองว่าเป็นอื่น (otherness) และไม่เป็นส่วนหนี่งของอินเดีย ถึงขั้นที่มีการพยายามแยกตัวเป็นรัฐเอกราช ทำให้พวกเขาต้องต่อสู้กับรัฐบาลกลางเรื่อยมา (ปิยณัฐ สร้อยคำ, 2558)
ประเด็นนี้เราพอทราบมาบ้างแล้ว จากที่เพื่อนเล่าให้ฟัง แต่เมื่อได้ดูหนังก็ยิ่งตอกย้ำว่า คนอีสานอินเดีย ยังต้องเผชิญและต่อสู้กับการถูกเหยียดเชื้อชาติ (Racism) จากเพื่อนร่วมประเทศอยู่ เราคิดว่าผู้กำกับเองซึ่งเป็นคนอีสาน พยายามใช้สื่อภาพยนตร์สะท้อนปัญหานี้ให้คนดูได้ตระหนักรู้ เพราะมีหลายฉากที่คนอีสานโดนดูถูก ล้อเรื่องหน้าตา การแต่งตัว การใช้ภาษาฮินดี ตลอดจนการคุกคามทางเพศ การทำร้ายร่างกาย เช่น ในเรื่องมีฉากที่เด็กผู้ชายฮินดู ล้อเรื่องตาตี่ของเด็กผู้ชายที่มีพ่อเป็นชาวซิกข์และมีแม่เป็นชาวอีสาน/ฉากที่ตัวละครนำหญิงโดนชาวฮินดูคุกคามทางเพศและตบหน้าท่ามกลางผู้คนในที่สาธารณะ /ฉากที่คนเดลีพูดว่าคนอีสานพูดฮินดีไม่ค่อยได้/ ฉากที่หนึ่งในตัวละครคนอีสาน มีปมสะเทือนใจจากการโดนรุมทำร้ายเพราะเขาทำไฮไลท์สีผม เป็นต้น
แม้ว่าภาพลักษณ์ในอดีตของคนในดินแดนแถบนี้ จะมีความเป็นชนเผ่า มีฐานะยากจน แต่ในมุมมองของเรา จากที่พอจะรู้จักคนอีสานอินเดียมาบ้าง จะเห็นว่าคนรุ่นใหม่เป็นคนทันสมัย ได้เรียนหนังสือในระดับมหาวิทยาลัย หลายคนเรียนไปจนถึงปริญญาเอก จบไปมีงานทำและสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองและครอบครัวให้ดีขึ้น เพราะคนรุ่นเก่าเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา เมื่อบุตรหลานจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว ก็ส่งไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ ด้วยค่าเทอมในระดับมหาวิทยาลัยของอินเดียที่ไม่ได้แพงมากเมื่อเทียบกับบ้านเรา ก็มีส่วนทำให้คนอีสานอินเดียรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ นอกจากนี้ยังมีสถาบันการศึกษาที่อยู่ในภูมิภาคให้เลือกหลายแห่ง เพื่อรองรับผู้เรียนที่ไม่ต้องการเดินทางไปเรียนไกลบ้าน แต่ก็มีคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่ไปเรียนและหางานทำในรัฐอื่นๆที่อยู่ไกลจากภาคอีสาน เช่นเดียวกับในหนังที่ทุกคนต่างมุ่งหน้าเข้ามาดิ้นรนใช้ชีวิตในเมืองหลวงที่มีความเจริญกว่าบ้านเกิดของตัวเอง
อีกประเด็นหนึ่งที่คนอีสานอินเดียมักจะถูกเหยียด ก็คือ เรื่องภาษา ว่าพูดฮินดีไม่ได้ ทำให้ดูไม่มีความเป็นอินเดีย เพราะดินแดนแถบนี้มีการใช้ภาษาต่างๆกว่า 220 ภาษา แต่เท่าที่สัมผัสได้จากเพื่อนของเราเอง บวกกับภาพที่ย้ำชัดในหนัง เราเห็นว่าพวกเขาพูดภาษาฮินดี และภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาราชการได้ดี (เพื่อนเล่าว่าเพราะมีมิชชันนารีที่เข้าไปในพื้นที่ คอยสอนภาษาอังกฤษให้)
จุดเด่น: จากประเด็นต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น จุดเด่นของหนังเรื่องนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนอินเดียที่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน เราคิดว่าผู้กำกับต้องการใช้ "อขุนี" หรือถั่วหมัก เป็นสัญลักษณ์ในการเปรียบเปรยถึงอัตลักษณ์ของคนอีสาน และการตามหาสถานที่สำหรับใช้ปรุงอาหาร ก็เปรียบเสมือนการตามหาสิทธิเสรีภาพ ซึ่งควรได้รับจากการเป็นประชาชนคนอินเดีย แม้จะเป็นคนกลุ่มน้อย (Minority) ที่อาศัยอยู่ในประเทศก็ตาม
จุดด้อย: น่าจะเป็นประเด็นเดียวกันกับผู้ชมหลายคน ที่วิจารณ์ถึงการคัดเลือกบทนางเอกของเรื่อง (รับบทโดย ซายานี กัปต้า: Sayani Gupta) ที่ต้องแสดงเป็นคนอีสานที่มาจากรัฐสิกขิม (เรียกตัวเองว่าเป็นคนเนปาล) ว่าไม่สมจริงสักเท่าไหร่ เพราะเธอไม่ใช่คนอีสาน จริงๆแล้ว ซายานี เป็นชาวเมืองโกลกาตา รัฐเบงกอลตะวันตก ซึ่งมีพรมแดนติดกับรัฐสิกขิมและประเทศเนปาล เธออาจจะพอเข้าใจความเป็นคนอีสานและเนปาลอยู่บ้าง แต่ด้วยหน้าตาของเธอซึ่งคมเข้มสไตล์ชาวฮินดู ไม่ใกล้เคียงกับหน้าตาของคนอีสานหรือเนปาลที่คล้ายกับชาวจีน จึงทำให้ผู้ชมอาจจะไม่ค่อยอินในจุดนี้
สรุป: ส่วนตัวชอบเรื่องนี้เพราะมีเนื้อหาแปลกใหม่ แตกต่างไปจากหนังอินเดียเรื่องอื่นๆที่เคยดู ทำให้ได้รับรู้ในอีกหลายๆประเด็นที่คาดไม่ถึง โดยเฉพาะตอนใกล้จบ ถือว่าเป็นไฮไลท์ของหนังเลยก็ว่าได้ แม้ว่าเกือบตลอดทั้งเรื่องจะมีความดราม่าให้สะเทือนใจ แต่ท้ายที่สุดก็จบแบบสบายใจ ดูเหมือนว่าผู้กำกับแอบมีความหวังในเรื่องของการอยู่ร่วมกันได้ด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกันในสังคมพหุวัฒนธรรม มีฉากที่เราประทับใจหลายฉาก ไม่ว่าจะเป็นปฏิกิริยาของคุณยายเจ้าของตึกในตอนท้ายของเรื่อง มิตรภาพระหว่างเพื่อนคนอีสานกับคนเดลี และความสำเร็จในการจัดงานแต่งงาน เป็นต้น
ไม่แน่ใจว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังอินดี้หรือเปล่า แต่อยากแนะนำให้ดูกัน เพราะหาดูได้ไม่ยากแบบหนังอินดี้ทั่วไป การันตีด้วยการได้รับคัดเลือกให้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติในปี 2019 หลายรายการ ได้แก่ BFI London Film Festival / MAMI Mumbai Film Festival / International Film Festival Of Kerala และรางวัล 'The Youth Curated Choice' จากเทศกาลภาพยนตร์ UK Asian Film Festival
คะแนน: 8/10
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in