เนื่องจากช่วงนี้ว่างงาน ประกอบกับไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเท่าไหร่ในตลอดช่วงเวลาสองสามเดือนที่ผ่านมา พอเห็นข่าวเกี่ยวกับกิจกรรมรำลึกครบครอบ 88 ปี เหตุการณ์อภิวัตสยาม หรือในชื่อย่อที่คนไทยเรียกจนติดปากว่า เหตุการณ์ 2475 ที่แชร์หลาอยู่บนเฟสบุกฟีดในช่วงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เลยรู้สึกอยากจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมบ้าง เลยตั้งใจไว้ว่าจะไปร่วมกิจรรมครั้งนี้ให้ได้ หลังจากผลัดผ่อนมาหลายงาน
ที่บอกว่าผลัดผ่อนมาหลายงานเนี่ย เพราะว่าจริงๆ เรามีความสนใจในเรื่องความเป็นไปของสังคมมาตลอดอยู่แล้ว แต่ไม่เคยมีโอกาสได้เข้ากิจกรรมหรือการชุมนุมทางการเมืองแบบจริงๆจังๆเลย ที่ใกล้เคียงที่สุดคงไปนั่งฟังเสวนาวิชาการด้านการเมืองบ้างสมัยมหาลัย กับมีเฉียดๆ เวทีปราศรัยที่เราไม่เห็นด้วยบ้างช่วงม๊อบ กปปส เพราะอยู่ใกล้มหาลัย หรือเวลาจะไปเที่ยวข้าวสารแล้วมันต้องผ่านถนนราชดำเนิน แต่เหตุการณ์เดือดๆ ตั้งแต่มีรัฐประหารปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่เรียนจบพอดี ก็ไม่ได้ไปร่วมอะไรกับเขาเลย มีหลายครั้งอยากจะไป แต่ส่วนใหญ่จะติดงาน สมัยทำงานกะบ่ายที่โฮสเทลกว่าจะเลิกงานสี่ทุ่ม เขาก็แยกย้ายกันหมดแล้ว มีทั้งคลี่คลายก่อนบ้าง (ถ้าเริ่มชุมนุมกันตอนเย็น เรื่องพีคๆมักจะเกิดในช่วงหัวค่ำ) แกนนำซึ่งหลายครั้งเป็นน้องๆ นิสิต-นักศึกษา โดนจับไปตั้งแต่หัวค่ำบ้าง เลยพลาดมันแทบทั้งหมดเลย มาตอนนี้ ไม่มีงานทำแล้ว ก็เลยถือโอกาสไปสนับสนุนเพื่อนร่วมชาติเสียหน่อย อย่างน้อยถ้าคนไปร่วมเยอะน่าจะปลอดภัยกับทั้งคนนำกิจกรรมและคนมาร่วมงานมากกว่า
ความตั้งใจแรกของผม คือ อยากจะไปร่วมทุกกิจกรรมที่ร่วมได้ ซึ่งมีการจัดกิจกรรมโดยหลายกลุ่ม หลายเวลา เริ่มตั้งแต่เวลาย่ำรุ่ง ของวันที่ 24 มิถุนายน ไปจนถึง เวลาราวๆ หกโมงเย็น แต่สุดท้ายก็เลือกไปแค่ที่เดียว คือ กิจกรรม การอ่านประกาศจากคณะราษฎร ฉบับ แรก ที่สกายวอร์ก-สี่แยกปทุมวัน ซึ่งเป็นกิจรรมที่กลุ่ม 'สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย' และ กลุ่ม 'Free Youth' หรือในชื่อภาษาไทยที่ผมชอบมากๆ ว่า 'เยาวชนปลดแอก' รวมพลังกันเพื่อเชิญชวนทุกคนมารำลึกวันที่เป็นเหมือนหนึ่งในหมุดหมายที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ภาคประชาชนของประเทศไทย
ผมเดินทางมาถึงแยกปทุมวันก่อนเวลาที่ประกาศไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง บรรยากาศโดยรวมไม่ได้ดูตรึงเครียดแต่อย่างใด มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมายืนประจำจุดเป็นกลุ่มอยู่ตามมุมต่างๆ เพื่อสังเกต์การณ์และดูแลความเรียบร้อย อยู่รอบสกายวอร์ก ส่วนประชาชนที่ตั้งใจมาร่วมกิจกรรมและตำรวจนอกเครื่องแบบ ก็นั่ง/ยืน กระจายตัวกันอยู่ทั่วบริเวณในขณะรอเวลา มีเพียงมุมที่จะใช้ในการอ่านคำประกาศ ที่รายล้อมไปด้วยกล้องหลากหลายชนิดและประชาชนอีกจำนวนหนึ่ง ตรงกลางวงกำลังมีการพูดคุยกันระหว่างนักกิจกรรมและเจ้าหน้าที่ท่าน เนื้อหาการพูดคุยไม่อาจทราบได้เพราะไม่ได้คุยกันผ่านเครื่องเสียง แต่ถ้าให้เดาคงเป็นเรื่องการแสดงความกังวลของฝั่งเจ้าหน้าที่เรื่องการรวมกลุ่มที่อาจจะมีความเสี่ยงการระบาดของโรค
หลังจากคุยกันสักพัก ชายผมขาวท่านนึงเดินแหวกกล้องและนักข่าวออกมาจากวงพร้อมกับตะโกนบอกให้ทุกคนช่วยยืนห่างๆกันหน่อย เพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายและเป็นการช่วยเซฟน้องๆนิสิตที่เป็นผู้นำกิจกรรม เพราะหลังจากจบวันนี้ไป ไม่รู้จะมีใครโดนข้อหาอะไรบ้าง ทุกคนที่อยู่ในบริเวณต่างพากันถอยและขยับออกจากกันแต่ก็ไม่มีใครขยับไปไกล เหมือนทำกันพอเป็นพิธีไม่ให้ดูแน่นระหว่างยืนรอเวลาตามกำหนดการณ์อย่างใจจดใจจ่อ ระหว่างที่รอ ในขณะทุกคนที่บนสกายวอร์กต่างใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดซึ่งเอาเข้าจริงๆ ผมว่าในใจๆหลายคนคงคิดว่าไม่จำเป็นต้องใส่ก็ได้ แต่ด้วยความรับผิดชอบที่มีต่อคนอื่น ทุกคนเลือกมารยาททางสังคมและพยายามปฏิบัติตามกติกาในช่วงโรคระบาดยังงี้อย่างไม่ถกเถียง
'โควิดห่าอะไรไร ไม่กลัวแล้ว จะตายเพราะไม่มีข้าวแดกมากกว่า' หญิงวัยกลางคนตัวเล็ก พูดเสียงดัง เล่าเรื่องคับแค้นใจจากช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
'คนแม่งจะอดตายกันทั้งประเทศแล้ว เงินเยียวยาห้าพันก็ไม่ได้' มาหาเราเป็นเกษตกร พอสมัครอีกบอกว่าไม่เข้าข่ายเพราะเป็นเจ้าของกิจการ เจ้าของกิจการห่าอะไร กูล้างชามก๋วยเตี๋ยวได้วันละ 200 รวยตายห่าเลยมั้ง'
น้าแกพูดตัดพ้อชีวิตช่วงที่ผ่านมาด้วยความโกรธเกรี้ยว คนอื่นๆยืนฟังด้วยความเรียบเฉยไม่ได้แสดงท่าทีรำคาญหรือเห็นใจ ทุกคนที่ยืนอยู่รอบบริวเวณได้ยินและฟังอย่างตั้งใจ ไม่มีเจ้าหน้าที่หรือมาปรามหรืออะไร แม้เธอจะไม่ใส่หน้ากาก
ไม่ไกลจากตรงที่ผมยืนนัก นักข่าวสาวไม่ทราบสำนักพยายามขอสัมภาษณ์ชายหญิงคู่นึงเพื่อทำสกู๊ป
'ขอโทษนะคะ ไม่ทราบอยากจะขอสัมภาษณ์สั้นๆไปทำสกู๊ปได้ไหมคะ เกี่ยวเหตุผลและความรู้สึกมาร่วมกิจกรรมในวันนี้'
เธอทำหน้าที่ทั้งเป็นคนถ่ายและสัมภาษณ์ด้วยตัวเอง น้องผู้ชายที่ถูกขอสัมภาษณ์ยืนคิดอยู่พักนึงก่อนจะยอมตกลง เธอทำงานของเธออย่างคล่องแคล่ว ถามไปถือกล้องถ่ายไป
เท่าที่สังเกตดู แม้จำนวนคนที่มาอาจจะไม่ได้มากันมหาศาลจนมืดฟ้ามัวดิน แต่มันก็คงไม่ฟังดูเวอร์เกินไปนักหากจะบอกว่าผู้คนที่มารวมตัวกันวันนี้มีความหลากหลายมากๆ ทั้งช่วงวัย สาขาอาชีพ ไลฟ์สไตล์ทุกรูปแบบ แต่ทุกคนล้วนมาด้วยเหตุผลเดียวกันคือมาเพราะความ 'ไม่พอใจ' กับสิ่งที่เป็นอยู่และดูเหมือนว่ากำลังจะเป็นไปหากไม่ทำอะไรสักอย่าง
พอเริ่มใกล้เวลา น้องๆนิสิต-นักศึกษา ช่วยกันกางป้ายไวนิลขนาดท่วมหัว เพื่อเป็นฉากหลัง ผู้คนยืนรานล้อมอยู่ตรงนั่นเฮลั่นเป็นกำลังใจเมื่อป้ายไวนิลถูกคลี่ออกจนตึง บนป้ายมีโควทสุดคลาสสิกจากประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1
"ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง "
ไม่นาน น้องๆ ผู้นำกิจกรรมปรากฎตัวขึ้นพร้อมกล่าวทักทายผู้ที่มาร่วมชุมนุมก่อนที่จะแนะนำกำหนดการณ์ผ่านทางเครื่องขยายเสียงแบบพกพาแบบที่อาจารย์มัธยมชอบใช้กัน พร้อมทั้งเชิญชวนผู้ที่มาร่วมกิจกรรมมาร่วมอ่านคำประกาศอายุ 88 ปี ฉบับนี้ ไปพร้อมกันกับพวกเขา โดยจะเริ่มอ่านหลังกันหลังเครารพธงชาติ
และเมื่อถึงเวลา 18 นาฬิกา กิจกรรมก็เริ่มดำเนินไป
หลังจากยืนรอเพลงชาติกันประมาณ 5 นาที อันเต็มไปด้วยความเงียบไรซึ่งดนตรีใดๆ น้องๆ จึงตัดสินใจเริ่มอ่านคำประกาศ โดยสลับผลัดเปลี่ยนกันไประหว่างผู้กิจกรรมทั้ง 3 คน โดยรวมกิจกรรมไม่ได้มีอะไรหวือหวาอะไร ทุกคนยืนฟังอย่างตั้งใจ มีเสียงเฮ เสียงเชียร์ เกิดขึ้นเป็นระยะจากความรู้สึกว่าคำมันโดนใจของผู้ที่มาร่วมชุมนุม บางคนชู 3 นิ้ว เป็นกำลังใจ ถ้านับกันจริงๆ ระยะเวลาดำเนินกิจกรรมทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 20 นาทีเท่านั้น
ทุกท่านสามารถอ่านคำประกาศฉบับเต็มได้ ที่นี่
สำหรับผม นี่คือครั้งแรกจริงๆ ที่ผมได้มีโอกาสได้ฟังเนื้อหาแบบเต็มๆ จากคำประกาศอันโด่งดังฉบับนี้ ความรู้สึกแรกคือ 'ประหลาดใจ'
ประหลาดใจ ที่ใจความหลายๆอย่างในประกาศอายุ 88 ปี มันกลับมีความเป็นปัจจุบันมากๆ ราวกับว่ามันเพิ่งถูกร่างขึ้นมาเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว
ความรู้สึกต่อมาคือ 'เซ็ง'
เซ็ง ที่เวลาผ่านมาเกือบจะครบศตวรรษแล้ว ประเทศเราแม่งยังไปไม่ถึงไหนเลย
แต่ในขณะเดียวกัน ภาพที่เห็นอยู่ตรงหน้ามันก็ยังทำให้ผมรู้สึก 'มีความหวัง'
ก่อนสลายตัว หนึ่งในแกนนำนักศึกษา กล่าวลาผู้ที่มาร่วมกิจกรรมด้วยประโยคสั้นๆ
ประโยคสั้นๆ ที่บรรจุความฝันของคนไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น ที่ฟันฝ่ากันมาแต่ยังไปไม่ถึง
ประโยคสั้นๆ ที่เราทุกคนควรจะพูดออกมาได้อย่างภาคภูมิ แต่ในความเป็นจริงกลับเต็มไปด้วยความกังขา
ประโยคสั้นๆ ที่หลายคนมักกลัวที่จะเปล่งออกมาออกมาดังๆ
แต่ในวันนี้ทุกคนที่นั่นต่างช่วยกันตะโกนอย่างสุดเสียงซ้ำๆ
'ประเทศนี้ เป็นของราษฎร'
'เป็นของราษฎร!'
'เป็นของราษฎร!'
'เป็นของราษภร!'
xxx
.
.
.
.
.
ไม่ทนอีกต่อไป...
เวลาไหนกันที่เราจะออกมาเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างก่อนที่มันจะสายเกินไป?
เวลาที่เพื่อนๆของคุณ ถูกจับไปทีละคนสองคน
เวลาที่พ่อแม่พี่น้องของคุณ อดอยากและแร้นแค้น
เวลาที่เขาปลูกฝังอำนาจนิยมบ้าๆ ลงในเวลาเรียนของลูกๆคุณ
.
ถ้ารอให้ถึงเวลานั้น มันอาจจะสายเกินไป เรารอมากว่า 80 ปีแล้ว จะต้องรอไปอีกนานซักเท่าไหร่กัน
.
เวลานี้เราไม่ทนอีกแล้ว! 17:00น. เป็นต้นไป 18 กรกฎาคมนี้! มุ่งตรงไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ลุกขึ้นสู้กับต้นตอของปัญหา ถอนโคนเผด็จการที่ฝังรากลึกมายาวนาน
*โปรดสวมหน้ากากอนามัยและพกเจลล้างมือ
.
อย่าให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องของลูกหลานเราที่ต้องมาเรียกร้องความยุติธรรมไม่จบสิ้น ให้มันจบในรุ่นของเรา
-
Twitter: @FreeYOUTHth
Instagram: freeyouth.ig
-
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in