เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
กฎหมายน่ารู้Fayathi Sorap
เช่าซื้อ คืออะไร?
  •      โลกนี้มีสัญญาอยู่หลายประเภท 

         พวกเราหลายคนรู้จักการ "ซื้อ" การ "ซื้อ" อะไรสักอย่าง ก็คือ เราถือเงินไปที่ร้านค้า ชี้ไปที่ของสักชิ้นบอกว่า "เอาอันนี้" จ่ายตังค์ แล้วหยิบของกลับบ้าน
         นี่คือการซื้อ 


         ส่วนการ "เช่า" นั้น หลายคนก็รู้จักการ "เช่า" เช่านั้นคือเราเข้าไปหาเจ้าของทรัพย์สินอะไรสักอย่าง บอกเขาว่า ขอใช้สิ่งนี้สักเท่านั้นเท่านี้วัน แล้วจ่ายค่าตอบแทนให้ เจ้าของก็ให้ของนั้นกับเรา พอหมดเวลา เราก็ต้องคืนเขาไป 
         นี่คือการเช่า 

         ข้อแตกต่างอย่างหนึ่งของการซื้อกับการเช่าก็คือ ซื้อนั้น ของเป็นของเรา แต่เช่า เรามีสิทธิแค่ใช้ของชิ้นนั้นเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งๆ ก่อนที่จะปล่อยมันกลับไปอยู่ในความครอบครองของเจ้าของคนเดิม


         แล้ว  "เช่าซื้อ"  ล่ะ  คืออะไร ?? 



         นิยามของการเช่าซื้อ สามารถดูได้จากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๒ วรรคหนึ่ง

         "อันว่าเช่าซื้อนั้น คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว..."

         งงไหม  เอาน่า  ศัพท์กฎหมายก็เข้าใจยากแบบนี้แหละ


         จะลองอธิบายโดยใช้ศัพท์ที่ไม่ซับซ้อนดูนะ

         เช่าซื้อ ก็คือ เราเดินไปที่ร้านขายของ เราอยากได้อะไรสักอย่าง แต่เห็นราคาของแล้ว เราค่อนข้างมั่นใจว่า เรามีเงินไม่พอค่าสินค้าที่อยากได้แหงๆ เราก็เลยไปบอกคนขายว่า เราขอจ่ายแค่ส่วนหนึ่งก่อนแล้วเอาของมาใช้ ราคาของส่วนที่เหลือน่ะ เราจะทยอยผ่อนให้จนครบภายหลัง 
         คุ้นๆไหม 

         ถ้าใครนึกถึงการดาว์นรถ  ดาว์นบ้าน ผ่อนมือถือ หรือซื้อไอแพดแล้วให้บริษัทแอปเปิ้ลตัดบัตรเครดิตเราเป็นรายเดือนไปทุกเดือนจนครบสี่หมื่น(หรือ..เอ..ราคาไอแพดมันเท่าไหร่หว่า??) แล้วล่ะก็

         นั่นแหละถูกต้อง นั่นคือการเช่าซื้อ


         อันที่จริงการซื้อของแล้วผ่อนอาจไม่ใช่การเช่าซื้อเสมอไป แต่ค่อนข้างแน่ใจว่าคนขายส่วนใหญ่จะร่างสัญญาให้มันเป็นเช่าซื้อให้ได้นั่นแหละ
         เพราะอะไร? หลายคนตั้งคำถาม

         เห็นคำว่า "เช่าซื้อ" ใช่ไหม เห็นไหมว่ามันตั้งต้นจากคำว่า "เช่า" เมื่อตั้งต้นมันเป็นเช่า แสดงว่า คนซื้อยังไม่ใช่เจ้าของทรัพยสินนั้นๆ จนกว่าจะผ่อนครบทุกงวด
         และที่ร้านค้าต้องทำให้สัญญานี้เป็นสัญญาเช่าซื้อ ก็เพราะเขาต้องการครอบครอง "ความเป็นเจ้าของ" (ภาษากฎหมายเรียกว่า กรรมสิทธิ) เหนือสินค้านั้นๆ ไว้ก่อน จนกว่าลูกค้าจะจ่ายเงินครบถ้วน ไงล่ะ


         คำถามต่อไปที่หลายคนอยากจะถาม  "แล้วมาบอกทำไม"  

         ก็เพราะว่ามันมีเงื่อนแง่บางอย่างทางกฎหมาย ที่ประชาชนทั่วไปอาจจะไม่ทราบน่ะซี 



         การเช่าซื้อจะไม่มีปัญหาใดๆเลย หากผู้เช่าซื้อผ่อนชำระราคาค่าสินค้าต่างๆ จนครบถ้วน  

         ปัญหาจะเกิด...ตอนที่ไม่ผ่อน 


         สิ่งที่คุณๆทั้งหลายควรจะทราบเกี่ยวกับการซื้อของแบบผ่อนชำระ มีดังต่อไปนี้

         1. อย่างแรกเลย สัญญาผ่อนชำระ ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า สัญญาเช่าซื้อ นั้น มักวางกฎไว้ว่า ผู้เช่าซื้อจะต้องผ่อนชำระทุกเดือน และหากไม่ผ่อนชำระสามเดือน หรือไม่จ่ายสามงวดติดต่อกัน คนขายหรือผู้ให้เช่าซื้อ สามารถใช้เหตุนี้บอกเลิกสัญญาและตามทรัพย์คืนมาได้
         เพราะฉะนั้น หากคิดจะบิดพลิ้ว แต่ยังอยากผ่อนต่อไป(ยังไม่อยากคืนของ) อย่าค้างจ่ายสามงวดติดกัน อย่างเช่น จ่ายงวดหนึ่ง ไม่จ่ายงวดสอง จ่ายงวดสามและสี่ จ่ายไม่เต็มจำนวนในงวดที่ห้า อะไรแบบนี้ ถามว่าผิดสัญญาไหม ผิด แต่ไม่ได้เบี้ยวสามงวดติดกัน ผู้ขายอ้างเหตุนี้เลิกสัญญาไม่ได้
         แต่ทางที่ดี ถ้ามีเงินพอ ก็ผ่อนให้ตรงตามสัญญาเถอะ ของซื้อของขาย ใจเขาใจเรานะ 


         2. กรณีที่ไม่ที่เราไม่ได้ผ่อนสามงวดติดกัน สิ่งที่ผู้ขายจะทำคือ เขาจะส่งหนังสือเรียกให้เราจ่ายเงินสามงวดที่ค้างไว้ อาจจะมีหรือไม่มีดอกเบี้ยเพิ่มก็ได้(แล้วแต่ว่าร้านนั้นเข้มแค่ไหน) ซึ่งจุดนี้ หากพอมีเงิน ก็แนะนำว่า ให้ชำระไปตามหนังสือเรียกเก็บ เขาก็จะให้เราผ่อนต่อ เราก็ยังใช้สินค้าชิ้นนั้นต่อไปได้ 
         หรือหากมีเงินไม่เพียงพอที่จะผ่อนให้ครบทั้งสามงวด แต่ยังอยากได้ของชิ้นนี้อยู่ แนะนำว่าให้ติดต่อไปยังผู้ขาย บอกเล่าความเป็นไปและเจรจาว่า จะทำอย่างไรดี ยังอยากได้ของนะ แต่ลำบากเรื่องเงิน บลา ๆ ๆ เชื่อว่าผู้ขายส่วนใหญ่ยังยินดีจะคุยกับลูกค้า ขอแค่อย่าหายเงียบไป


         3. กรณีที่ ไม่มี ไม่หนี และไม่จ่าย ก็เตรียมตัวโดนฟ้องศาลได้ในกรณีใดกรณีหนึ่งจากสองกรณีดังต่อไปนี้ 
     
         3.1 กรณีที่ยังไม่ได้คืนทรัพย์/สินค้า : ผู้ขายจะฟ้องศาลเรียกให้เรา
         - คืนทรัพย์หรือใช้ราคาค่าสินค้า อารมณ์แบบ ถ้าไม่คืนของก็จ่ายตังค์มา ถ้าไม่จ่ายตังค์ก็ส่งของคืนมาซะดีดี
         - ค่าขาดประโยชน์ คือเขาจะอ้างว่า ตั้งแต่ที่เราไม่จ่ายเนี่ย ถ้าเราคืนไป เขาสามารถเอาไปให้เช่าได้เดือนละ xxx บาท คูณด้วยจำนวนเดือนที่เราค้างชำระ เท่ากับ yyy บาท และให้เราใช้ค่าขาดประโยชน์อีกเดือนละ xxx บาท จนกว่าจะคืนทรัพย์หรือใช้ราคา
         - ค่าอื่นๆอีกจิปาถะตามแต่จะคิดขึ้นได้ เช่น ค่าภาษีอากร ค่าติดตามทวงถาม ฯลฯ ซึ่งก็แล้วแต่เจ้าหนี้แต่ละคน บางที่ก็เรียก บางที่ก็ไม่เรียก
         - สุดท้ายและท้ายสุด ค่าฤชาธรรมเนียมศาลและค่าทนายความ

         3.2 กรณีที่เรากัดฟันคืนสินค้าไป : กรุณาอย่าคิดว่าท่านจะรอดจากการขึ้นโรงขึ้นศาลในฐานะจำเลย เพราะหลังจากที่คืนของไปเนี่ย เขาก็จะนำของ(ที่เคยเป็นของ)เรา ไปขายต่อ เรียกว่าการขายทอดตลาด ก็จะได้เงินมาจำนวนหนึ่ง จากนั้นเขาก็จะฟ้องให้เรา
         - คืนราคาที่ยังขาดอยู่ คือ สมมติราคาเต็ม a เราจ่ายไป b เขาขายต่อไป c เขาก็จะเอา a ลบด้วย b+c แล้วส่วนต่างที่ค้างอยู่เนี่ย เขาก็จะมาเรียกให้เราจ่าย (ส่วนใหญ่ไม่เคยขายต่อได้เยอะกว่าราคาเดิมเลย)
         - ค่าขาดประโยชน์ แต่กรณีนี้จะคิดตั้งแต่วันที่เราไม่จ่าย จนถึงวันที่ได้ของคืนไป ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็จะเรียกให้จ่ายน้อยกว่าค่าขาดประโยชน์จากกรณีแรก 
         - ค่าติดตามของคืน/ค่าทวงถาม/ค่าขนส่ง แล้วแต่คนขายจะเรียก มันก็คืออันเดียวกัน คือ ค่าใช้จ่ายในการริบทรัพย์ไปจากเรา 
         - ค่าอื่นๆจิปาถะ 
         - ค่าฤชาธรรมเนียมศาลและค่าทนายความ 



         จึงอยากจะเตือนว่า คิดดีๆก่อนที่จะเช่าซื้อ หรือซื้อของผ่อนชำระ ยิ่งถ้าเราไม่มั่นใจว่า เราสามารถผ่อนได้จนครบเต็มจำนวนราคา เพราะทันทีที่เซ็นสัญญา ก็เหมือนก้าวเท้าไปเป็นจำเลยในศาลครึ่งตัวแล้ว 

         และอย่าไปเชื่อพวกตัวแทน/พนักงานขาย/ฯลฯ ที่บอกว่า ไม่อยากผ่อนก็คืนของมา จบ มันไม่จบ!!! เพราะหลังจากผู้ขายเอาของพวกนี้ไปขายทอดตลาดแล้ว ถ้าได้เงินมาไม่ครบราคาขายตอนแรก เขามาฟ้องเรียกส่วนต่างที่ขาดอยู่จากเราแน่นอน


         มีใครบางคนเคยบอกไว้ประมาณว่า ถ้าเราเอาแต่ซื้อของที่เราไม่ต้องการ สักวันเราจะต้องเสียสิ่งที่เราต้องการจริงๆไป 

         เพราะฉะนั้น ก่อนจะซื้ออะไร ก็คิดให้ดีดี  


         อยากจะเตือนเท่านี้แล


         

         ก่อนจบ ขออนุญาตประชาสัมพันธ์ เนื่องจากตั้งแต่ประมาณ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นมา ทาง minimore เปลี่ยนรูปแบบเว็บใหม่ ผลที่เกิดขึ้นคือ งานเขียนเรา...ไม่มีคนอ่านเลย (คาดว่าหาเจอยาก)ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป เราจึงตัดสินใจกลับไปเขียนเรื่องราวในบล็อกเดิมของเราแทน คุณผู้อ่านที่ถูกจริตในงานเขียนของเรา สามารถติดตามไปอ่านได้ที่   
         https://alwaysfay.blogspot.com/2023/02/blog-post.html
         ขอบพระคุณสำหรับการติดตาม และขอบคุณทาง minimore ที่ให้พื้นที่เราได้ขีดๆเขียนๆเรื่องราวตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้
         จนกว่าจะพบกันใหม่
         สวัสดีค่ะ 
     


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in