แมงกะพรุนไม่เป็นน้ำแข็ง
The Jellyfish Never Freezes
อิจิคาวะ ยูโตะ เขียน
คาเงยามะ โทรุ ปก
อิศเรศ ทองปัสโณว์ แปล
พิมพ์ครั้งที่ 2, สำนักพิมพ์ไดฟุกุ
/
จำได้ (ไปย้อนดู archive สตอรี่มา) ว่าซื้อเล่มนี้มาตั้งแต่ nov 2019 นู่นเลย, ด้วยความที่เดินเข้าร้านหนังสือ มองไปเรื่อยแล้วดันสะดุดเข้ากับหน้าปกแล้วก็ชื่อเรื่อง พอเห็นคำโปรยรวมกับคำนิยมแล้ว สำหรับคองานบันเทิงสายสืบสวนเลยได้หยิบไปจ่ายเงิน, เป็นที่มาของ 8 sentences a year ด้วยความตั้งใจที่อยากจะกลับมาเริ่มอ่านหนังสือเป็นเล่ม ๆ อีกครั้ง เพราะล่าสุดที่ก็ตอนประถมปลาย - มัธยมต้นนู่นเลย แต่หลังจากจับ ๆ วาง ๆ อ่านแล้วง่วงนอน ค้างอยู่ไม่ถึงครึ่งมาร่วมปี วันว่างครั้งนี้ได้โอกาสอ่านใหม่ตั้งแต่ต้นจนจบเป็นครั้งแรกและรู้สึกว่าเห้ย ทิ้งไว้นานขนาดนี้ได้ยังไงนะ
แมงกะพรุนไม่เป็นน้ำแข็ง เป็นเรื่องราวของกลุ่มวิจัยและพัฒนาอากาศยานเจลลี่ฟิช — เรือเหาะรูปแบบใหม่ที่เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวของวงการอากาศยานเลยก็ว่าได้ — แต่ในการทดสอบการบินของเจลลี่ฟิชรุ่นใหม่กับเกิดเรื่องขึ้นกับทีมทดสอบ, เครื่องบินออกนอกเส้นทางที่กำหนดไว้ ทั้งหมดติดอยู่ในภูเขาหิมะท่ามกลางสภาพอากาศที่เลวร้าย การรอคอยความช่วยเหลือกลับนำมาซึ่งความตาย
(อาจมีสปอยล์)
ด้วยความที่เรื่องนี้อ้างถึงสาขาวิศวกรรมอากาศยาน เราในฟีลด์นี้เองพออ่านแล้วไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องนี้แหย่ขาเข้ามาส่วนนี้มากเท่าฝั่งเคมีนะ ศัพท์แสงส่วนมากเป็นโลกของทางนั้นมากกว่า อย่างที่ในเรื่องกล่าวเอาไว้ — เครื่องบินกระดาษ วิศวกรรมอากาศยานมองในเรื่องของการพับกระดาษ แต่เจลลี่ฟิชจะดูเหมือนเป็นการสร้างกระดาษมากกว่า — ตรงนี้เห็นด้วยมาก ๆ , และสำหรับใครที่ไม่ได้อยู่ในสายนี้ เรามองว่ามันยังเป็นเรื่องที่อ่านได้และพอเข้าใจอยู่ มองข้าม ๆ ตัวสูตรเคมีไปได้ค่ะ หรือไม่อย่างนั้นตัวเชิงอรรถประกอบความเข้าใจก็เพียงพอแล้ว
สำหรับการไขคดี, เนิบช้า — ในความหมายที่ดี, ไม่ได้มีฉากบู๊แอ็กชั่นล้างผลาญ แต่จะเป็นการตามโยงเส้นสิ่งต่าง ๆ ประกอบกับ clue ที่เราได้มาตลอดเรื่อง ทุกตัวละครมีเรื่องน่าสงสัย ทีมนี้มีเรื่องอะไรหลบอยู่เบื้องหลังเจลลี่ฟิชแน่ ๆ เราคิดว่ามันไม่ได้ย่อยยาก แต่เพราะรายละเอียดบางส่วน, การเชื่อมโยงในหัวอาจทำให้เราต้องค่อย ๆ อ่าน ในหัวอาจจะเกิดคำถามบางอย่าง แต่ไม่เป็นไรค่ะ เก็บเอาไว้ก่อน มาเรียเองก็สงสัย ในการพลิกหน้ากระดาษถัดไปเราจะได้รับคำตอบคลายปมนั้น ซึ่งพอมาถึงจุดท้าย ๆ ตรงนี้เราค้นพบว่า เห้ย นี่โดนหลอกมาตลอดเลยปะวะเนี่ย
55555555555555 แต่ถ้ากลัวว่าจะเครียดเกินไป ในเรื่องยังมีมุกตลกปล่อยออกมาบ้างค่ะ วางใจได้ ไม่ได้หนักไปแน่นอน
เราชอบวิธีการเล่าเรื่องของเล่มนี้มาก เซ็ตติ้งของประเทศ U (เดาได้ไม่ยากว่าหมายถึงสหรัฐอเมริกา) ในปี 1983 เป็นการประกอบชิ้นส่วนระหว่างทางของปริศนาเจลลี่ฟิชมากกว่าการเล่าเป็นเส้นตรงเพื่อนนำไปสู่จุดจบของเรื่องซึ่งถูกเฉลยตั้งแต่ต้นแล้วว่าทุกคนตายหมด, มันจะแบ่งเป็นสามส่วน แรกสุดคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนเจลลี่ฟิช สองคือการสืบสวนของมาเรียและเรน และสามคือมุมมองของคนร้าย เรียงกันแบบนี้ไปเรื่อย ๆ โดยตรงนี้ในหน้าสารบัญจะมีวันที่และเวลากำกับเอาไว้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมันเหมือนหนังมาก ลองนึกภาพว่าตัดสลับเป็นสามไทม์ไลน์ที่เหลื่อมกันอยู่หน่อย ๆ โดยยิ่งตอนท้ายเราจะรู้สึกว่าเห้ย มันเจ๋งว่ะ เอ่า เจออันนี้แล้วทำไม— เท่ไม่หยอกเลยแหละ
แต่สิ่งที่อยากติก็มี นอกจากคำผิดที่ยังเจอบ้างประปราย (อาจเพราะนี่เป็นพิมพ์สอง เราไม่แน่ใจว่าพิมพ์หลัง ๆ จะได้รับการแก้ไขแล้วหรือยัง) คือวิธีการพิมพ์, ตัวคนเขียนเคาะบรรทัดแปลก คำนำสำนักพิมพ์ให้เหตุผลเอาไว้ว่าตัวผู้เขียนอาจต้องการบอกใบ้อะไรบางอย่างกับคนอ่านอย่างเรา แต่แม้ว่าจะพยายามละเลียดอ่านหรือตั้งข้อสังเกตยังไงก็ยังจับจุดไม่เจอ ไม่แน่ว่าถ้าเป็นภาษาญี่ปุ่นคงมองเห็นอะไรมั้ง กับอีกอย่าง การวางเครื่องหมายอัญประกาศ พอรวมกับข้อแรกที่พูดถึงยิ่งต้องทำให้เพ่งสมาธิอ่านดี ๆ ว่าจบบทพูดไปตอนไหน เราเองก็ต้องย้อนอ่านอยู่หลายครั้งเลย และสุดท้ายคือการบรรยาย, ในบางย่อหน้าจะใช้มุมมองบุคคลที่สาม แต่พอคั่นกลางบทสนทนากลับเป็นบุคคลที่หนึ่ง ตรงนี้เองก็ต้องตั้งใจอ่านหน่อย รวมไปถึงอีกส่วนที่บางคนอาจจะไม่ชอบ คือการอ้างชื่อสถานที่ด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษมากกว่าการใช้ชื่อจริงนี่แหละ เช่นประเทศ U, R, J — บางอย่างนึกออก บางอย่างก็ไม่
โดยรวมเป็นเรื่องที่เราว่าสำหรับคอสืบสวนแล้วน่าหยิบมาอ่านเลย มาลองสืบไขคดีเจลลี่ฟิชกับมาเรียดูค่ะ
/
10 apr 2021 อ่าน
11 apr 2021 เขียน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in