เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
PORRORCHOR AND OTHER STORIESporrorchor
สงครามชีวิต
  • บ้านเกิด

    25 มีนาคม 2563

    ทุก ๆ สุดสัปดาห์ที่กลับบ้านที่มีนบุรี ผมก็จะมีหน้าที่เหยียบขาและบีบนวดให้อาม่าวัยเจ็ดสิบเก้าปีผู้เป็นย่าของผมที่มักจะปวดแขนขาเป็นประจำตามประสาคนแก่ช่วงนี้ มหาวิทยาลัยต้องปิดทำการจากโคโรนาไวรัส ผมเลยได้กลับมาอยู่บ้านยาว มีกิจวัตรประจำวันที่แน่นอนตอนเช้าออกกำลังกาย ตอนสายเรียนหนังสือทางออนไลน์ ตอนบ่ายทำการบ้าน ตอนเย็นดูโทรทัศน์กับครอบครัวก่อนนอนก็นั่งทำการบ้านไปเรื่อยเปื่อย

    พอได้กลับมาอยู่บ้านตลอดนั่นหมายความว่าผมได้คลายเมื่อยให้อาม่าบ่อยขึ้น ทดแทนบุญคุณ- ผมชอบเรียกว่าอย่างนั้นปกติแล้วเวลาผมเหยียบขา อาม่าก็จะฟังข่าวจากวิทยุธานินทร์เก่าๆ อาม่าฟังไปก็ด่าคนในข่าวไป ผมก็ขำเขา คืนนี้ เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ ผมจึงชวนอาม่าคุยถึง บ้าน และท้องถิ่นในสมัยเด็กของเขา

    "ทำไมบางนกแขวกถึงชื่อบางนกแขวก" ผมถามคำถามแรกเพื่อเปิดบทสนทนา

    “ก่อนนี้บางนกแขวก...ก็นกแขวกมันเยอะมันร้อง แคว๊กๆ’ บินไปเกาะอยู่ตามต้นไม้...” อาม่าตอบ

              หากจะเพิ่มรายละเอียดอีกสักนิด ชื่อเดิมของตำบลบางนกแขวกนั้นคือโพธิ์งาม ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็นบางนกแขวกด้วยสาเหตุดังกล่าวจะว่าไปแล้วก็เป็นที่มาที่ไม่ซับซ้อนดี... ตำบลนี้ตั้งอยู่ในอำเภอบางคนทีจังหวัดสมุทรสงคราม แม้ปัจจุบันจะเป็นตำบลเงียบ ๆ เล็ก ๆ ที่อยู่ระหว่างตลาดน้ำดำเนินสะดวกและตลาดน้ำอัมพวาแต่ในอดีตก็มีความสำคัญและคึกคักไม่แพ้กัน

              ตำบลแห่งนี้คือบ้านเกิดของอาม่าของผม – กิมเช็ง หรือที่บรรดาเพื่อนบ้านและผมมักจะเรียกว่า ยายเช็ง

     

    สงคราม

              เด็กหญิงกิมเช็งลืมตาดูโลกเมื่อพ.ศ. 2484 จากเตี่ยผู้มาจากเมืองจีนและแม่ชาวไทยเชื้อสายจีนในตำบลบางนกแขวก อาม่าเป็นพี่คนโตสุดในบรรดาลูกสี่คน ที่บ้านของอาม่านั้นเปิดร้านโชห่วยขายของอยู่ริมคลองบางนกแขวก แต่ก็ไม่ได้มีฐานะที่ดีไปกว่าคนอื่นนัก

    ยายเช็งเริ่มจำความได้ตอนอายุสี่ขวบซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีระเบิดลง ณ ประตูน้ำบางนกแขวก ตั้งอยู่ใกล้กับวัดเจริญสุขารามวรวิหารซึ่งเป็นพุทธสถานประจำตำบลอาม่าเล่าให้ฟังเท่าที่เขาจำได้ว่า

              “เรือบินสมัยก่อนนี่มันน่ากลัวกว่าสมัยนี้นะ มืด ๆ ดำ ๆ แม่(ของอาม่า) ต้องปิดไฟเพราะกลัวคนมาทิ้งระเบิด แต่พอคิดกลับไปใครมันจะมาทิ้งระเบิดใส่ไฟดวงเล็กๆ วะ” แล้วยายเช็งก็เล่าต่อ “แล้วก็มีระเบิดมาลงตรงประตูน้ำวัดเจริญฯ เตี่ยไม่ได้ออกมาจากบ้านเพราะเจ็บหนัก ไอ้เราก็หนีเข้าไปในสวนกับแม่...”

    ช่วงสงครามโลกครั้งที่2 กองทัพญี่ปุ่นใช้คลองดำเนินสะดวกลำเลียงขนส่งอาหารและอาวุธต่างๆ ไปยังจังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ. 2488 ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องทิ้งระเบิดทำลายประตูน้ำบางนกแขวกเพื่อตัดเส้นทางขนถ่ายน้ำมันของญี่ปุ่นแต่ระเบิดไม่ทำงาน จึงไม่เกิดความเสียหายมากนัก ชาวบ้านในพื้นที่นั้นเชื่อว่าองค์หลวงพ่อโตในวัดเจริญสุขารามวรวิหารได้ช่วยคุ้มครองชุมชนไว้จนเกิดความเสื่อมใสศรัทธาในองค์หลวงพ่อโตมาถึงทุกวันนี้ ต่อมา ในปี 2489 ขณะทำการซ่อมแซมประตูน้ำบางนกแขวก ก็ได้พบลูกระเบิดจมอยู่บริเวณก้นคลอง อย่างไรก็ตาม ขณะนำดินระเบิดออก ลูกระเบิดได้เกิดระเบิดขึ้นทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน เมื่อระเบิดถูกถอดสลักก็นำมาจัดแสดงไว้บริเวณประตูน้ำฯ เพื่อเป็นเครื่องรำลึกเหตุการณ์ทุกครั้งที่ผมและครอบครัวไปไหว้องค์หลวงพ่อโต ผมก็มักจะเห็นลูกระเบิดนั้นเมื่อเดินไปให้อาหารปลาแถวประตูน้ำฯ

    “แล้วตอนเล็ก ๆ นี่ลำบากสุด ผ้าก็ไม่มีจะนุ่ง ใส่แค่กางเกงตัวนึง เสื้อไม่มีใส่ครอบครัวเราจนน่ะนะ... พอเขาดึงเราขึ้นมาจากท้องร่อง ไอ้เราก็ร้องไห้จะตายห่า เพราะแม่นี่ลากเราไปกับเศษมะพร้าวกลับมาบ้านนี่เลือดซิบ ๆ ตามตัว” อาม่าเล่าเสริมถึงความลำบากของตัวเองในเวลานั้น

    ตอนหนีออกมาก็เห็นบางคนหอบผ้าหอบผ่อน บางคนหอบตู้ หอบโอ่งก็มี...หนีมาด้วย มันแบกกันมาได้ไงวะ...พอสงครามสงบเขาก็ถามกันว่า จะเอามาทำไม แล้วหัวเราะกัน ของเขิงก็ทิ้งมันไว้ตรงนั้นค่อยมาเก็บทีหลัง” อาม่าเล่าไปก็ขำไป 

    สำหรับผม เหตุการณ์นี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า แม้สถานการณ์นั้นจะน่าหวาดกลัวเพียงใดแต่ก็ยังมีอารมณ์ขันแฝงอยู่บ้างเสมอ

    “เพราะความกลัวแหละทำให้มันมีอะดรีนาลีน เขาเลยแบกกันมาได้” แล้วผมก็ถามคำถามที่โลกกำลังเผชิญอยู่ ณ ตอนนี้ “แล้วสมัยม่าเด็ก ๆ มีโรคระบาดไหม”

    “มี ก่อนกูเกิดก็มีอหิวาฯ มีไข้ทรพิษ แล้วก็มาไข้รากสาด...ที่มันเป็นไข้ร้อน ๆ ในตัว” อาม่าตอบ

    “แล้วเขารักษาเขาป้องกันกันยังไง” ผมถามต่อ

    ตอนนั้นรักษาก็ใช้ยาต้มยาชาวบ้านนาน ๆ ทีถึงจะมีหมอแผนฝรั่งมาฉีดยา แต่แพง ตอนนั้นมี (หมอแผนฝรั่ง) อยู่สองหมอ (คือ) หมอจำนงกับหลวงราษฏร์ ถ้าเป็นยาจีนนี่ก็อาศัยเจ้า บางคนก็หาย บางคนก็ตาย... ส่วนป้องกันสมัยก่อนนี่ก็มีปลูกฝี มีฉีดยานะ ปลูกฝีนี่เขาจะปลูกตั้งแต่เด็ก ๆ เลย กรีดตรงนี้ (ลูบไปที่บริเวณแขน) นิดนึง” อาม่าตอบ ผมก็เข้าใจ

     

    โรงเรียน ส.ท.ร.

    “แล้วตอนเด็ก ๆ ม่าเรียนยังไง” ผมถามเรื่องเกี่ยวกับการเรียนของยายเช็งบ้าง

    “ตอนนั้นในโรงเรียนนารีฯ ก็เรียนปานกลาง แต่ไม่เก่งเลขแต่อังกฤษนี่กูเขียนได้ ยังท้าเขียนได้ ถ้ามีประโยคตัวอย่างให้ แต่อ่านไม่ได้แล้วนะ...มันลืมไปหมดแล้ว ก็มีซิสเตอร์ฝรั่งมาสอน ต่อมาถึงจะมีคนไทย แต่ค่าเรียนเทอมละ 8 บาท 10 บาท แม่นี่บ่น โอ้โห กูนี่จะไม่มีค่าเทอมจ่าย’ เพราะมันไม่ได้มีแค่เรา ยังมีน้องมีอะไรอีก”อาม่าพูดย้อนกลับไปถึงชีวิตวัยเรียน  

    โรงเรียนนารีพัฒนาที่อาม่าเคยศึกษาอยู่นั้นตั้งอยู่ในพื้นที่ของอาสนวิหารแม่พระบังเกิด โบสถ์คาทอลิกประจำตำบลบางนกแขวก สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2433 โดยบาทหลวงเปาโลซัลมอนมิชชันนารีชาว โบสถ์แห่งนี้สร้างขึ้นตามสถาปัตยกรรมแบบโกธิคที่นับว่าสวยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยมีจุดเด่นตรงที่การฉาบด้วยปูนตำตามแบบการก่อสร้างโบราณ ภายในโบสถ์ตกแต่งด้วยภาพกระจกสีที่นำเข้าจากฝรั่งเศส พ่อของผมเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยเด็กเขาและเพื่อน ๆ เคยปาหินใส่กระจกสีด้วยความสนุกคึกคักตามประสาเด็ก พอถูกจับได้ก็โดนบาทหลวงว่ากล่าว 

    แต่ตอนโต พ่อของผมก็นึกเสียดายที่ทำอย่างนั้นไป... ปัจจุบันนี้ ทุก ๆ ปีที่มีงานสารทฝรั่งในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ครอบครัวของผมก็จะไปไหว้บรรพบุรุษที่สุสานของโบสถ์แห่งนี้กัน

    จากนั้นอาม่าก็เล่าชีวิตช่วงวันหยุดและปิดเทอมที่ดูสนุกสนานและมีความเป็นกันเองในชุมชน “พอปิดเรียนก็...อยู่ว่าง ๆ ก็เข้าสวน เอาน้องไปด้วย มางมหอยเลียบหอยขมแล้วเอาไปแช่เอาไปแกงกิน มีฝรั่งมีมะม่วงในสวนใครก็ขโมยเขามากินเรื่อยเฉื่อย ก็ให้เพื่อนผู้ชายมันปีนไปเก็บ เขา (เจ้าของ) ก็ไม่หวงนะ แต่ถ้าขโมยเยอะ ๆ ก็โดนยิงหนังสติ๊กใส่..."

    "ออกจากบ้านก็เอาเกลือ น้ำตาล เอากะปิไปก้อนนึง แม่ก็ด่าว่าเปลืองน้ำตาล... หรืออยู่ว่างๆ เราก็ไปช่วยเขาเก็บะพร้าวในสวน ได้มะพร้าวกลับบ้านมาก็ดีใจตายห่า แล้วสมัยก่อนเขาปลูกมะพร้าวกะทิแกง ต้นนึงจะมีดีลูกเดียว ขายกันลูกละบาทแหน่ะเพราะมันต้องโดนตะวัน ต้องตั้งใจปลูก ส่วนลูกที่เหลือก็เอาไปกินบ้างโยนทิ้งขว้างไปบ้างเพราะไม่มีใครเอา แต่มาสมัยนี้ขายกันลูกนึง 70-80 บาท...”

    ด้วยความจนและการเป็นพี่คนโตที่ต้องเสียสละให้น้องๆ อีกสามคน ทำให้อาม่าต้องออกจากโรงเรียนเพื่อช่วยครอบครัวทำมาหาเลี้ยงชีพ “อายุ 13 โตขึ้นมาหน่อยก็เลิกเรียนเพราะให้น้องเรียน แล้วเราก็มาใส่ใจเรื่องค้าขาย” แต่ถึงกระนั้นแล้ว การเรียนรู้นอกห้องเรียนต่างหากที่คอยเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ชีวิตของอาม่า “ตอนเดินขายของนี่ก็ครูพักลักจำ พอโตมาเป็นแม่ค้าเนี่ยก็มีพรรคมีพวกอย่างถ้าคนนี้ปลูกลิ้นจี่เราก็ถามเขาเรื่องลิ้นจี่คนนี้ปลูกมะม่วงเราก็ถามเขาเรื่องมะม่วง ปากกูคัน ๆ ก็ถามเขาหมด... กูก็ ส.ท.ร.ไง”

    “เดี๋ยวม่า...อะไรคือ ส.ท.ร.” ผมต้องถาม เพราะจู่ ๆ ยายเช็งก็โพล่งคำย่อนี้ขึ้นมา

    “โรงเรียน ส.ท.ร. ไง – เสือกทุกเรื่อง คือใครทำอะไรก็ไปทำไปดูเขาหมด ตอนมีงานวัดงานบวชเราก็ไปช่วยเขาทำกับข้าวหุงข้าวล้างชามเก็บชาม มันก็วิชาได้ไปเอง แล้วตอนนั้นมีหนุ่มสาวคนรุ่นเดียวกันเยอะแยะโอ้ยคุยกันสนุกสนาน อย่างวิชานวดที่กูสอนมึงนี่ แม่ก็ใช้ให้เรานวดให้ แล้วเวลาเขาสอนนี่ไม่ได้สอนเฉยๆ นะ เขาล่อด้วย ‘โป๊ก! (แล้วก็โขกหัวของผมเบา ๆ) อีเช็ง! มานี่ ๆ อีห่านี่สอนไม่จำบีบตรงนี้ ทำอย่างนี้ ๆ รู้ไหม’ หรืออย่างเจ๊เกียวที่เป็นหมอตำเยนี่ก็นวดเก่ง เราก็ถามเขาเรื่องบีบจับนวดเส้นอย่างนั้นอย่างนี้ เขาก็จับให้เรา โดนไปเรื่อย ๆ มันก็จำ” อาม่าอธิบาย แถมได้โขกหัวผมไปหนึ่งครั้งถ้วน

    "ตอนเดินขายของนี่ก็ครูพักลักจำ พอโตมาเป็นแม่ค้าเนี่ยก็มีพรรคพวก อย่างถ้าคนนี้ปลูกลิ้นจี้ เราก็จะถามเขาเรื่องลิ้นจี่ คนนี้ปลูกมะม่วง เราก็ถามเขาเรื่องมะม่วง กูถึงได้ดูเรื่องต้นไม้ให้บ้านมึงได้ ปากกูคัน ๆ มีอะไรก็ถามเขาหมด... ส.ท.ร. ไงกูอ่ะ" ผมฟังแล้วก็เงียบไปสักครู่หนึ่ง

    “เออดีวะ... โรงเรียน ส.ท.ร. ไม่เสียค่าเทอมด้วย” ผมพูดขึ้นมาขณะกำลังบีบขาให้อาม่า

    “อย่างมากก็แค่โดนด่า” อาม่าพูด แล้วเราสองคนก็ขำกันเบา ๆ

     

    แม่ค้าเรือพาย

    “แล้วเรื่องขายของนี่เป็นยังไงบ้างม่าไปขายแถวไหนอะไรยังไง” ผมยิงคำถามต่อ

    “ตอนนั้นเราอายุ 10-11 ยังเรียนหนังสือ เราก็พับทองม้วน 700-800 อัน ขายส่งปิ๊ปนึง 7 บาท มี 200 อัน แล้วสมัยก่อนนี่มี ‘นัด’ ในคลอง นัดก็คือที่ขายของเนี่ยแหละ แต่คนแถวนั้นเขาเรียกว่านัด สมัยนั้นมีนัดในคลองบางนกแขวกเรือก็เต็มคลองบางนกแขวก เพราะมีเรือพ่วงเรือขุดผ่านมาเยอะ ติดกันยาวแถวประตูน้ำ บ้านเราเตี่ยเราขายโชว์ห่วยของก็เลยขายดี ไอ้เราก็ช่วยขายของไป พับทองม้วนไป เลี้ยงน้องไป...” ยายเช็งเล่า

     "ตอนอายุ 15-16 ก็เริ่มพายเรือไปขายที่ดำเนิน เริ่มขายเนี้ยก่อน...ตะกรงตะกร้าเครื่องจักสาน ขายได้ไม่นานเพราะขายไม่ดี เลยเปลี่ยนมาขายผัก ตอนหกโมงพายเรือเข้าประตูน้ำฯ เราอยู่หลักแปดใช่ไหม... ก็พายเรือเข้าไปคลองดำเนินฯ ซื้อของซื้อผักไปเรื่อยบางวันก็พายไปถึงหลักห้า แถว ๆ วัดประสาทสิทธิ์ กลับมาอีกก็ตอนหกโมงขึ้นวันใหม่ก็ตื่นตีห้า พรมน้ำพรมท่าผัก แล้วก็พายเรือขายผักแถวหน้าบ้านแถวประตูน้ำแล้วออกไปทางแม่น้ำ (แม่กลอง) ผ่านโรงหมู พอผักเริ่มเหลือนิดเหลือหน่อย ก็พายเข้าคลองบางน้อยอ้อมไปคลองทองหลางใกล้กับคลองต้นเข็มนั่นแหละ ถ้าวันไหนขายไม่หมดก็พายไปเรื่อยเคยพายไปถึงอัมพวาก็มี... พายไปเรื่อยถึง 4-5 โมงเย็นกลับมา ก็แวะซื้อหอมแดง โลละ 20 สตางค์ 5 โล/บาท บางทีก็ต่อได้ โล/บาท ถูกเว้ยเฮ้ย... เพราะความงกของกูมันมีมาตั้งแต่ไหนๆ พอซื้อมาก็ดองขาย และขายผักดองอย่างอื่นด้วยอย่างผักกาดดองเนี่ย ซื้อเขามาโลละ 10 สตางค์ เอามาดองขายโลละสลึง 35

    “ค้ากำไรเกินควรรึเปล่าเนี่ย” ผมแซวอาม่า

    “เอ้า! ไอ้เราก็อยากได้เข็มขัดทอง สมัยนั้นสาว ๆ เขาใฝ่ฝันกัน แต่แม่ก็เตือน ไม่ได้ยัยเช็ง มันจะเกินไปแล้ว เนี่ยเอาหาแดกให้รอดก่อน แล้วมึงอยากโดนขโมยฆ่าตายรึไง...’ สมัยก่อนนี่ทองบาทละ 300 แต่ไม่มีปัญญาจะซื้อเลย” อาม่าพูดถึงความใฝ่ฝันสมัยสาว ๆ “แล้วเมื่อก่อนที่พายเรือเนี่ยมันจะมีนัดที่คลองลัดพลี ฝรั่งก็มาเที่ยวตั้งแต่ตอนนั้น แต่พอถนนมันเข้าไม่สะดวกหรืออะไรอย่างเนี้ยเขาก็ย้ายฝั่งมาที่คลองต้นเข็ม”

    อย่างที่อาม่าเล่า ในอดีตตลาดน้ำคลองลัดพลีเป็นตลาดที่มีชาวต่างชาติโดยเฉพาะฝรั่งมาเที่ยวเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความคับแคบและการเดินทางที่ไม่สะดวกประกอบกับมีถนนตัดใหม่ใกล้ทางคลองลัดเข็มมากกว่า ตลาดน้ำไปจึงย้ายตั้งไปที่คลองต้นเข็มจนกลายเป็นตลาดน้ำดำเนินสะดวกที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน ส่วนตลาดน้ำที่คลองลัดพลีก็เงียบเหงาลงไปตามกาลเวลา

    “แล้วทำไมดำเนินฯ ถึงเรียกว่าดำเนินสะดวก” ผมก็ถือโอกาสถามที่มาที่ไปของชื่อคลอง ๆ นี้

    “ก็ดำเนินสะดวก...มันผ่านสะดวก”

    ตอนแรกผมนึกว่าอาม่าจะตอบแค่นี้เพื่อกวนผม เพราะพูดจบแล้วเขาก็เงียบไป แต่ยังดีที่เล่ารายละเอียดเพิ่มให้ “ก็เข้าประตูน้ำ ออกบางยาง ออกงิ้วลาย เข้ากรุงเทพฯ คลองเดียวนี่ผ่านสามจังหวัด... ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมัยก่อนนี้ เรือมะม่วงกะเรือมะพร้าวจะมีเรือจูงเรือโยงออกไปทางประตูน้ำบางยาง เข้าท่าจีนตรงแถวบางยางแล้วไปกรุงเทพฯ ต่อได้”

    ตามประวัติศาสตร์แล้ว คลองดำเนินสะดวกเป็นคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำแม่กลองเข้าด้วยกันมีที่มาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเล็งเห็นว่าหากมีคลองสายหนึ่งเชื่อมกรุงเทพฯ สมุทรสงคราม และราชบุรี การสัญจรก็จะง่ายยิ่งขึ้น จึงมีรับสั่งให้ทำการขุดคลองโดยใช้กำลังทหาร ข้าราชการ ชาวบ้าน และชาวจีนร่วมกันส่วนวิธีการขุดนั้น จะขุดระยะหนึ่งแล้วเว้นไว้ระยะหนึ่งให้น้ำเซาะดินที่ไม่ได้ขุดพังไปเอง เมื่อขุดคลองสำเร็จแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามคลองที่ขุดใหม่นี้ว่าดำเนินสะดวก เนื่องจากเป็นคลองที่มีเส้นตรงและมีความสะดวกในการเดินทางนั่นเอง

    แล้วอาม่าก็ย้อนกลับไปเล่าเรื่องการค้าขายต่อ 

    แล้วเราก็มาขายข้าวแกงที่นัดตรงประตูน้ำคลองบางนกแขวกขายจานละสองสลึง ถ้าหกสลึงนี่ใส่ไข่พะโล้ด้วยกะหมูสามชั้นชิ้นนึง แต่จานนี่หายไปเยอะเอาไปห้าใบได้กลับมาสองใบ กินเสร็จแล้วแม่งเอาร่อนลงน้ำหมด ถามมัน (ลูกค้า) มันก็ตอบว่า ไม่รู้! ใครแม่งเอาไปเหวี่ยงลงน้ำหมดพวกคนเรือมันก็เก๊อย่างนี้ จะไปว่ามันก็ไม่ได้ แล้วมีเรือขายข้าวแกงสามสี่ลำแบ่งกันขาย ไม่รู้จานใครเป็นจานใคร ต้องเจาะรูทำสัญลักษณ์ อย่างจานแม่คนนี้ก็เจาะไว้รูของคนนั้นก็เจาะสองรู แต่ได้จานคืนมาเท่าไหนก็เท่านั้น” ผมฟังแล้วก็รู้สึกสนุกกับบรรยากาศตามไปด้วย

              “แสดงว่าช่วงยุคหลังสงครามนี่ก็บูมสุด ๆ เลยดิ” ผมถามสั้น ๆ

              “เออหลังสงครามมานี่ดีค้าขายกันดี นัดก็สนุกอะไรก็สนุก...” ยายเช็งพูดแล้วก็ถอนหายใจ


    การโยกย้าย          

              แต่ความเจริญที่ค่อยๆ เข้ามา ทำให้ความคึกคักในคลองบางนกแขวกค่อย ๆ จางหายไป “พอมีเรือเครื่อง มีถนน นัดก็ไม่ติด (ไม่เป็นที่นิยม) ไปติดที่ดำเนินฯ แทน นัดที่ดำเนินฯ เขาก็อยู่ได้นานหน่อยจนทีหลังก็มีคนมาเที่ยวถึงทุกวันนี้  แล้วก็มามีตลาดน้ำอัมพวาที่ติดคนเขาก็ไปเที่ยวกัน นัดที่นี่ (ประตูน้ำคลองบางนกแขวก) ไม่มีตั้งแต่ม่าอายุ 20 กว่า ๆ เพราะตั้งแต่มีถนนนัดก็ซาลงไปเรื่อย ๆๆ พวกบ้านริมน้ำก็... ถ้าใครมีที่ก็ย้ายบ้านหันหน้าเข้าถนนเพื่อทำมาหากิน ก็มีแต่บ้านเก่าบ้านแก่ คนแก่ ๆ ที่ยังอยู่ริมน้ำริมคลอง บางนกแขวกก็เลยเงียบมาถึงทุกวันนี้” อาม่าเล่าถึงจุดสิ้นสุดของยุครุ่งเรืองในคลองบางนกแขวก

    “ตอนอายุยี่สิบก็แต่งงานกับตาเหลียว (ปู่) พอไอ้เจี๊ยบไอ้แจ้ (พ่อและอา) เกิดมา ไอ้เราก็อยู่บ้านเลี้ยงลูกช่วยเตี่ยขายของที่โชห่วย ส่วนตาเหลียวก็ออกไปทำงานเป็นบุรุษพยาบาลแกเคยเป็นทหารเสนารักษ์มาก่อน รูปหล่อเหมือนมึงเลย...” ที่จริงอาม่าและญาติ ๆของผมเคยทักผมอย่างนี้อยู่บ่อยครั้ง น่าเสียดายที่ปู่ผมเสียไปเมื่อปี พ.ศ. 2530 

    ไม่อย่างนั้นเขาคงได้เห็นภาพสะท้อนของตัวเองสมัยหนุ่ม ๆ ผ่านหลานชายเป็นแน่แท้

    “ตอนลูกเกิดมาก็ลำบาก เพราะขายของโชห่วยก็เงียบเหงา ตาเหลียวแกก็ไปทำงานนอกบ้านคนเดียว ความจนนี่เราจำใส่หัวแม่ตีนเลยนะอายุยี่ยิบสามยิบนี่จนขนาดข้าวลิตรนึง 70 สตางค์ ไม่มีปัญญาซื้อกิน พอเป็นอย่างนั้นเราก็ต้องย้ายที่ทำกินเพราะลูกก็โตขึ้น ๆ จะขึ้นมัธยมกัน แล้วยัยจุก – หลานสาว เขามาชวนไปขายของที่จอมบึง ที่นั่นคนมันเยอะกว่าค้าขายก็ดีกว่าเราเลยย้ายออกตอนปี 18 (พ.ศ. 2518)” อาม่าก็เล่าถึงสาเหตุที่ต้องย้ายออกจากบางนกแขวกไปยังอำเภอจอมบึงจังหวัดราชบุรี

    “พอย้ายไปก็ล้มลุกคลุกคลานก็ทำทุกอย่าง ทั้งขายของดอง ลูกชิ้นทอด เต้าหู้ทอด ขายหอยทอด หนมครก แต่ขายห่าอะไรก็ขายดีหมด เพราะความจนมันบังคับ ถามอะไรมากูทำได้ทั้งนั้น ดีไม่ดีนี่กูไม่รับประกัน แต่ก็ทำได้... ตอนแรก ๆ ก็เข็นรถเข็นไปขายตามโรงเรียน แล้วทีหลังเหลือเราทำคนเดียวไม่มีคนช่วยก็มาเช่าแผงหน้าตลาดขายผลไม้ขายดอกไม้” ยาเช็งเล่าถึงชีวิตค้าขายในจอมบึงที่จะว่าไปแล้วก็เป็นสถานที่ที่อาม่าได้ดำเนินชีวิตกว่าเกือบ 40 ปี จนกลายเป็นบ้านแห่งที่สองของเขา

    “ตอนขายหนมครกนี่ช่วงหน้าหนาวจะขายดีขายคู่นึง 20 สตางค์ ก็มีครูมีนักเรียนจากวิทยาลัยครูฯ มาซื้อกันเต็มแต่หลัง ๆ ทำไม่ไหว เพราะเราใช้เบ้าหนมครกดินเผา ไม่ได้ใช้เบ้าเหล็ก” เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินชื่อของวิทยาลัยครูหมู่บ้านจอมบึง ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2497 ตามแนวคิด 'วิทยาลัยหมู่บ้าน (Village Institute)ของประเทศตุรกี เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนครูในชนบทที่ต้องการการพัฒนาต่อมาได้มีการขยายสาขาการเรียนการสอนอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากวิชาชีพครู จึงได้รับการยกฐานะเป็นสถาบันราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงเมื่อพ.ศ. 2535 และเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงเมื่อปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งตลาดจอมบึงที่ยายเช็งค้าขายนั้นก็อยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้มากนัก

    “พอพ่อกับอามึงจบเทคนิคฯ อามึงก็อยากเรียนต่อ แต่ตอนนั้นตาเหลียวป่วยหนัก ไม่อยากให้เรียนต่อ แต่กูบอกไหว ตังค์ไม่พอเดี๋ยวกูไปยืมเจ๊ลั้ง...คนแถวบ้าน เจ๊ลั้งแกก็สอนว่า บุญคุณคนเนี้ยอย่าลืมวันนี้เราตอบสนองไม่ได้ เราก็จำไว้เฉย ๆ วันไหนเราตอบสนองได้ก็ค่อยทำ เขาก็ไม่ลืมเราเราก็ไม่ลืมเขา เราไม่ลืมบุญคุณคน แล้วมันจะเจริญ เหย่อหยิ่งไปพอตกระกำลำบากก็ไม่มีใครช่วย” นี่ก็เป็นอีกบทเรียนหนึ่งของยายเช็ง

    “เราก็ค้าขายอยู่ในจอมบึงมาสามสิบกว่าปีพอพี่ชายมึงกะมึงเกิดมาก็มาช่วยพ่อแม่มึงเลี้ยง ตอนนั้นพ่อแม่มึงลำบากก็เลยขึ้นมาช่วยไป ๆ มา ๆ กรุงเทพฯ-จอมบึง แต่ก็มาป่วยหนักเองตอนปี 51 (พ.ศ. 2551) ก็มาอยู่ด้วยยาวเลย นาน ๆ ถึงจะกลับไปจอมบึงตอนวันตรุษจีนตอนวันสารท ไปไหว้รูปเตี่ย รูปแม่ รูปตาเหลียว แล้วสองปีก่อน พ่อมึงก็ให้ย้ายข้าวของขึ้นมาให้หมด รูปเริบก็มาไหว้ที่บ้านนี้ กูก็ยอมให้เขาย้าย"

    แล้วอาม่าก็เล่าเรื่องราวทั้งหมดของตัวเองจนจบ

    “กูก็ยังคิดถึงจอมบึงนะ ยังอยากกลับไปทำมาหากิน” ยายเช็งมักจะบ่นคิดถึงชีวิตเก่าแบบนี้บ่อย ๆ

    “เอ่อ...แค่คิดถึงก็พอมั้งไม่ต้องกลับก็ได้ กลับไปแล้วใครจะเหยียบขาให้” ผมดักคอไว้

    “เอ้า กูก็นวดของกูเองได้ตอนมึงอยู่หอยังไม่กลับบ้าน กูก็นวดให้ตัวเอง” แต่ใจจริงอาม่าก็รอให้ผมไปนวดไปเหยียบให้เขาตลอดทุกสัปดาห์

    “อย่าเลยม่า ปีนี้ก็ 79 แล้วนะ เนี่ยอยู่ด่าผมโขกหัวผมก็ยังดี” ผมพูดปุ๊บ อาม่าโขกหัวผมปั๊บแล้วก็ขำ

    คุยกันจบผมก็ 'ทดแทนบุญคุณ' ยายเช็งเสร็จพอดี เขาบอกขอบใจ ผมก็ขอบคุณเขาที่เล่าเรื่องให้ฟังคลายเหงา แล้วเดินขึ้นห้องนอนเพื่อทำการบ้านต่ออีกสักพัก

    พลางคิดสักหนึ่งวลีที่จะมานิยามชีวิตของยายเช็งได้

    “ก็เป็นสงครามชีวิตแกนั่นแหละนะ... 

    แต่เราทุกคนก็เกิดมาต่อสู้ในสงครามชีวิตของตัวเองกันทั้งนั้น"

  •         แม้เรื่องราวใน สงครามชีวิต ฉบับที่ผมส่งอาจารย์นั้นจะจบลงดั่งเช่นในหน้าแรก แต่ก็ใช่ว่าเรื่องราวของยายเช็งจะสิ้นสุดหรือหมดลงตามไปด้วย ยังมีเรื่องราวอีกมากมาย - ทั้งที่ผมรู้และไม่รู้ - ที่ยายเช็งได้ประสบพบเจอ ก็หวังว่าสักวันหนึ่งจะมีโอกาสถ่ายทอดเรื่องราวอื่น ๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

            ผมอยากลงเรื่อง สงครามชีวิต ให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกันสักพักหนึ่งแล้ว เพราะเห็นว่าเรื่องนี้มีความเป็น 'มหากาพย์' ซ่อนอยู่ แม้จะไม่ใช่มหากาพย์ชวนเพ้อฝันหรือน่าสนุกสนาน อีกทั้งระหว่างทางจะต้องเจอกับอุปสรรคและคราบน้ำตา แต่ก็เป็นมหากาพย์ที่ทุกคนสามารถเชื่อมโยงกับประสบการณ์ส่วนตัวได้ไม่มากก็น้อย นอกจากนี้ ผมยังเชื่อว่า ทุก ๆ บ้านก็มีเรื่องราว มีมหากาพย์ มีสงครามในฉบับของตัวเองกันทั้งนั้น แต่ที่ผมลีลาไม่ได้เอามาลงสักที เพราะรู้สึกว่า ยังไม่มีจังหวะที่เหมาะสมสักเท่าไหร่

           จนมีเหตุการณ์ ๆ หนึ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัว และเป็นตัวกระตุ้นที่ให้ผมตัดสินใจนำ สงครามชีวิต มาแบ่งปันแก่ทุกคนได้อ่านกันสักที
                     
           ผมหวังว่า เรื่องราวบทต่อไปนี้จะเป็นเครื่องย้ำว่า เราทุกคนนั้นต้องต่อสู้ในสงครามชีวิตของตัวเองกันทั้งนั้น 

           แต่หน้าที่ในสงครามก็ต้องเปลี่ยนไปตามวัยและประสบการณ์

    ความหนักใจ
    5 มิถุนายน 2563

    "ปีนี้เป็นปีที่สบายกายที่สุด แต่หนักใจที่สุด" 

    นี่เป็นประโยคที่ยายเช็งมักจะพูดบ่อย ๆ ตอนที่ผมเหยียบขาให้ ในทางหนึ่ง ผมก็รู้ว่าอาม่าเป็นคนที่ชอบคิดมาก คิดนู่นนี่นั่นแทนคนอื่นด้วยความเป็นห่วง  แต่อีกทางหนึ่ง ยายเช็งก็อายุมากขนาดนี้แล้ว แต่ยังไม่ยอมปล่อยวางทิฐิใด ๆ ได้อย่างแท้จริง อีกทั้งชอบบ่นว่าอยากกลับจอมบึงเพื่อไปทำมาค้าขาย อยู่กรุงเทพฯ กับลูกหลานก็มีแต่จะเป็นภาระ หรือเปลืองเงิน ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วเรื่องเงินก็ไม่ใช่ปัญหาหนักหนาสำหรับครอบครัวเหมือนแต่ก่อนแล้ว แม้ว่าช่วงนี้การค้าขายจะไม่ได้ดีมากนักจนพ่อมักจะบ่นอยู่บ่อย ๆ ก็ตาม

    แต่วันนี้ ผมเชื่อแล้วว่า ประโยคที่ยายเช็งชอบพูดจะเป็นอย่างนั้นจริง ๆ

    ผมได้รับข่าวร้ายว่า กู๋ใหญ่ หรือน้องชายของอาม่าเสียไป ตอนแรกผมก็ไม่ได้รู้สึกตกใจมากนัก เนื่องจากกู๋ใหญ่เองก็ป่วยทั้งกายและใจมากเนิ่นนาน ยึดติดอยู่กับอดีตและเรื่องผิดหวัง เกินกว่าที่ใครจะช่วยเยียวยาได้ - แม้แต่อาม่าของผมเอง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า กู๋ใหญ่เป็นคนดีที่สุดคนหนึ่งเท่าที่ผมรู้จัก

    แต่พอพี่ชายของผมพูดถึงสาเหตุการตาย เพียงไม่กี่คำเท่านั้นแหละ ทำเอาผมหดหู่ ไปไม่เป็นเลย

    พอกลับถึงบ้าน อาม่าไม่ได้ร้องไห้ ยังคงดูแอคทีฟดี แต่แววตาเขา 'แคว้ง' แบบที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน ผมกอดอาม่า เขาก็กอดผมกลับ แถมหอมแก้มอีกทีหนึ่ง ซึ่งปกติเขาไม่เคยทำเลย นาน ๆ ทีถึงจะหอมผม ผมจึงรู้สึกได้ทันทีว่าอาม่าต้องการกำลังใจอย่างมาก 

    กระนั้นผมก็กล้าพูดกับยายเช็งไปประโยคหนึ่ง


    "ม่า อย่าคิดฆ่าตัวตายแบบกู๋ใหญ่นะ" 

    ผมพูดด้วยน้ำเสียงดุหน่อย ๆ แต่ในใจนั้นกลัวเป็นบ้า


    "กูไม่คิดหรอกตี๋น้อย กูต้องอยู่ดูหลาน ๆ ประสบความสำเร็จ อุตส่าห์เลี้ยงมาโตขนาดนี้แล้ว เมื่อก่อนมีเรื่องหนักหนากว่านี้ กูยังไม่เคยคิดฆ่าตัวตายเลย" ยายเช็งเริ่มเสียงแข็งใส่ผม ก็พอจะสบายใจได้เปราะหนึ่งว่าจะไม่เกิดโศกนากฏกรรมแบบนี้เกิดขึ้นอีก 

    แต่ในใจลึก ๆ แล้ว เขาก็ยังคงเสียใจอยู่ เพียงแค่ไม่แสดงออกให้ใครเห็นมากมาย และไม่ทำตัวให้หมองเศร้าเป็นเวลานานนัก เพราะในบ้านของผม ก็ยังมี อี๊กุ่ย ผู้เป็นน้องสาวของอาม่ามาพักฟื้นตัวอยู่ ยายเช็งย้ำหนักหนาไม่ให้ใครบอกอี๊ว่ากู๋ใหญ่ตายแล้ว ไม่อย่างนั้นอี๊ได้ตรอมใจตายเป็นแน่แท้ ถ้ามีตอนนั้น ก็ไม่ต้องพูดถึงยายเช็งเลยว่าจะเป็นยังไง

    นี่เป็นช่วงเวลาที่เหนื่อยหนักใจเกินกว่าที่ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ในวัยเฉียด 80 อย่างยายเช็งจะต้องมาประสบพบเจอ 

    หลายคนอาจโทษเวรกรรมหรือโชคชะตาที่ทำให้มีเรื่องพวกนี้เกิดขึ้น ก็อาจจะมีพลังงานแบบนั้นอยู่จริง ๆ ก็เป็นได้

    แต่สำหรับผมแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างมี 'สาเหตุ' ที่เกิดขึ้นมา และหลานคนนี้ก็พอที่จะเห็นว่า อะไรเป็นอะไร มาโดยตลอด นับตั้งแต่ที่พอจะจำความได้

    ที่ยายเช็งเป็นคนคิดมาก ทำตัวให้เหนื่อยหนักใจ ไม่ใช่เพราะว่าเขาเป็นคนแก่เพียงเหตุผลเดียว แต่เป็นเพราะ ความจน และความยากลำบากที่เขาเผชิญตั้งแต่เด็ก แม้ทั้งสองสิ่งนี้จะผลักดันให้เขาต้องสู้ชีวิต สู้เพื่อครอบครัว จนลูกหลานประสบความสำเร็จและกินอยู่สบายก็จริง แต่ขณะเดียวกัน ทั้งสองสิ่งก็กัดกินใจเขาจนคิดมากอย่างนี้เหมือนกัน ซึ่งจะว่าไปแล้ว คนบ้านนี้ - รวมถึงผม - ก็ชอบคิดแทนคนอื่น ยิ่งบวกการเป็นคนพูดตรง ๆ มีอะไรก็ใส่กันเดี๋ยวนั้น จนกลายเป็นการทะเลาะกันหลายครั้งครา

    ที่กู่ใหญ่คิดสั้น ไม่ใช่เพราะยึดติดอยู่กับอดีตและความคาดหวัง แต่มีสาเหตุจากครอบครัวที่เขาสร้างมากับมือนั้น ล่มสลาย อย่างตอนที่กู๋ใหญ่มาพักฟื้นที่บ้านของผมหลังจากผ่าตัดหลังเมื่อ 3-4 ปีก่อน ต่อให้ยายเช็งดูแลยังไง ต่อให้พ่อของผม - ผู้เป็นหลาน - จะกระตุ้นให้กู๋ใหญ่ลุกขึ้นมาสู้เพื่อตัวเองยังไง หรือต่อให้ผม - ผู้เป็นหลานทางอ้อม - จะชวนคุยกับกู๋ใหญ่ยังไง ก็ไม่สร้างแรงใจได้มากเท่ากับครอบครัว - ที่มาเยี่ยมน้อยมากตอนที่พักฟื้น - ของเขาเอง

    หรือแม้แต่ที่อี๊ป่วยหนัก ไม่ใช่เพราะท้องฟ้าหรือโชคชะตากลั่นแกล้ง แต่เป็นเพราะการไม่ขอความช่วยเหลือจากครอบครัวหรือญาติมิตรที่พร้อมช่วยเต็มที่ เจ็บป่วยอะไรก็วินิจฉัยอาการและหายากินเองตามประสา ประกอบกับเจอการรักษาที่ไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควรจากโรงพยาบาลรัฐ มาถึงช่วงพักฟื้น อี๊ก็ไม่ได้ฝึกช่วยเหลือตัวเองมากเท่าที่ควร จนทำเอายายเช็งเหนื่อยและกังวลพอสมควรในช่วงนี้ 

    เมื่อเรื่องราวของทุกคนมาบรรจบกัน ณ จุด ๆ หนึ่งของเวลา ก็เกิดเป็นความหนักใจให้แก่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง และต้องมีคน ๆ หนึ่งเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง

    คน ๆ นั้น ในกรณีนี้ คือ ยายเช็ง นั่นเอง

    ตัวผมเอง - ในฐานะหลาน - ก็พยายามหาเวลาช่วยไม่ให้อาม่าหนักใจไปมากกว่านี้ได้ ผ่านการเหยียบขาคลายเมื่อย การพูดคุยหยอกล้อ หรือการกวนตีนก็ตามที  แม้จะรับความหนักใจที่เขาแบกมาเนิ่นนานไม่ได้ก็ตาม หรืิอบางครั้งจะเบื่อหน่ายกับความรั้นตามวัยของอาม่าบ้าง แต่ผมก็ได้ช่วยทางใจเท่าที่ทำได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องมาเสียใจกันทีหลังว่าไม่ได้ 'ทดแทนบุญคุณ' กัน

    ให้พระในบ้านได้อยู่ด้วยกันไปนาน ๆ "ไม่ต้องให้ถึงร้อยปีหรอก แค่ 99 ก็พอแล้ว" ยายเช็งมักจะพูดติดตลกอย่างนี้เสมอ ผมก็หวังให้เป็นเช่นนั้น

    อีกทั้งหวังว่าอาม่าจะปล่อยวางได้มากกว่านี้ ลดการครุ่นคิดต่อปัญหาใด ๆ เพราะเขานั้นต่อสู้เพื่อครอบครัวมามากพอแล้ว และนี่คือเวลาของลูกหลานที่มาทำหน้าที่ต่อ

    แด่ยายเช็ง 

    และผู้เป็นลูกสาว พี่สาว น้องสาว แม่ ย่า และยายทุกคนที่ต่อสู้เพื่อครอบครัว

    (รูปตอนขับรถพายายเช็งทัวร์มหา'ลัยเมื่อเกือบสองปีที่แล้ว เดินไม่ไหวก็ใช้ขับรถเนี่ยแหละครับ)


    ผู้ให้สัมภาษณ์

    ยายเช็ง

    ข้อมูลประกอบ

    th.wikipedia.org/wiki/คลองดำเนินสะดวก     

    www.mcru.ac.th/m_about_new.php?action=history

    www.thaitambon.com/tambon/750210     

    www.chillnaid.com/26943/

    th.wikipedia.org/wiki/ตลาดน้ำดำเนินสะดวก

    thai.tourismthailand.org/Attraction/วัดเจริญสุขารามวรวิหาร

    เรื่องและเรียบเรียงโดย kfc

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in