เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
บันทึกจับฉ่ายfebruarynine
เพราะเป็นนักเรียนนอกจึงเจ็บปวด
  • ตาม template ของละครไทยแล้วเมื่อใดก็ตามที่ตัวละครไม่ว่าจะตัวสำคัญหรือไม่สำคัญได้ประสบกับเหตุการณ์สะเทือนใจที่สะท้อนให้เห็นถึงชะตากรรมอันเลวร้าย (ไม่ว่าจะเป็นญาติเสีย อกหัก ช้ำรัก หรืออะไรก็ตาม) ตัวละครเหล่านี้มักจะถูกส่งไปเรียนต่อเมืองนอกอยู่เสมอ ประหนึ่งว่าไม่ต้องสอบเข้าและผ่านระบบคัดเลือกที่ชาวบ้านเค้าใช้เวลาเตรียมตัวกันเป็นปีๆอย่างไรอย่างนั้น นอกจากนี้ร้อยทั้งร้อยของนักเรียนนอกเหล่านี้ก็จะกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ *ภาพตัดมาที่ฉากเดินลากกระเป๋าเดินทางขนาด cabin size ออกจากสนามบิน* เราถูกละครไทยยัดเยียดความเชื่อนี้ขึ้นมาว่านักเรียนนอกมักจะกลับมาด้วยลุคที่หล่อหรือสวยขึ้น  บวกกับความโก้หรูและความมั่นใจที่ได้รับการชาร์จแบตมาจนเต็มร้อย – นักเรียนนอกกับความชีวิตดีจึงเป็นของคู่กันไปโดยปริยาย

    แต่สิ่งที่ละครไทยไม่ได้ให้เราดูก็คืออีกด้านหนึ่งของการเป็นนักเรียนนอก ซึ่งไม่น่ารักอย่างที่คิดเสมอไป

    ละครไทยทำเหมือนการไปเรียนเมืองนอกนั้นทำได้ง่ายแค่มีเงินก็สมัครเข้าได้แล้ว ทั้งที่ความเป็นจริงระบบการสอบเข้านั้นไม่ได้บันเทิงไปกว่าระบบแอดมิชชั่นของไทยเราเลยแม้แต่น้อย อย่าลืมสิว่าการเข้ามหาลัยเมืองนอกนั้นเราต้องต่อสู้กับคนทั่วโลกเชียวนะ เวทีประลองนี้ถือว่าเป็นระดับสากล มีผู้เล่นมาจากทุกสารทิศทั่วโลก จะเอาอะไรมาง่าย!

    นอกจากความยากในการสมัครเข้ามหาลัยแล้ว ละครไทยก็ไม่ได้ให้เราเห็นความไม่โก้หรูของการเป็นนักเรียนนอกในด้านอื่นๆ ไหนจะตอนนั่งเครื่องบินสิบกว่าชั่วโมง นอนแล้วนอนอีก เมื่อยแล้วเมื่อยอีกก็ยังไม่ถึงซักที เเถมบางคนต้องต่อเครื่องหลายต่อ เพื่อความประหยัดบางทีก็ต้องยอมเลือกเวลา transit นานหลายชั่วโมง (นานถึง 10 ชั่วโมงก็มี) เดินเล่นส่องสินค้าปลอดภาษีไปเรื่อยเปื่อย บางทีเคราะห์ซ้ำกรรมซัดไฟลท์ดีเลย์ทำให้พลาดไฟลท์ต่อไปอีก ต้องติดอยู่ในสนามบินนานเข้าไปใหญ่ จะออกไปเที่ยวเล่นในเมืองก็ไม่ได้เพราะไม่มีวีซ่า ไหนจะตอนย้ายเข้าบ้าน ตอนปรับตัว การต้องเป็นต่างด้าวในประเทศที่เจริญแล้วการต้องเป็นดาวเด่นเดินโซโล่เข้าตม.ผ่านช่อง non-EU passport การที่โดนเหมารวมเเละ ตัดสินด้วยความหัวดำตาสีเข้ม ผิวเหลือง ทำให้บ่อยครั้งโดนทักทายด้วยคำว่า หนีห่าว

    ความไม่สวยหรูเหล่านี้คือสิ่งที่ละครไทยไม่ได้ให้เราดู

    จุดประสงค์ของการเขียนเรื่องๆนี้ขึ้นมาไม่ได้มีเจตนาจะดับฝันใครแต่อย่างใด เพราะอุปสรรคต่างๆนานาเหล่านี้(และมีอีกเยอะมากมาย) คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์นักเรียนนอกนั้นแข็งแกร่ง ประสบการณ์หลายๆอย่างที่ได้จากการใช้ชีวิตในต่างแดนนั้นไม่สามารถหาได้จากการอ่านหนังสือหรือนั่งฟังเลคเชอร์ – และแน่นอนไม่ใช่จากการดูละครไทย   

    ล่าสุดได้ไปเจอกระทู้ที่น่าสนใจมากๆอันหนึ่งมาว่าด้วยความขมขื่นของการเป็นนักเรียนนอก

    http://pantip.com/topic/35830601

    สรุปคร่าวๆคือคุณ ‘จขกท’ คนนี้เค้าเตือนด้วยความหวังดีว่าให้ทุกคนที่ฝันหวานจะมาเป็นนักเรียนนอกคิดให้ดีๆๆๆๆก่อนจะตัดสินใจ

    ประเด็นในกระทู้นี้ที่อยากพูดถึง:

     - เรียนเมืองนอกไม่ได้ง่าย - ถูกต้อง เรียนให้ผ่านไปวันๆอาจจะง่าย แต่ถ้าอยากเรียนให้ได้ดีนั้นยากอยู่ที่ไหนก็ยากทั้งนั้นแหละ การเรียนไม่เคยง่ายตั้งแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว 

    - เรื่องอาหารการกินไม่สะดวกสบายถูกปากเหมือนอยู่ไทย - ก็ใช่แหละ ในยุโรปน่ะไม่มีเจ๊โอวไว้รองรับความหิวกระหายเมื่อยามแก้เปเปอร์เสร็จตอนตีสามหรอกนะ แล้วก็ไม่มี 7-11 ที่ขายของตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบอำนวยความสะดวกให้เหมือนตอนอยู่ไทย (เอาง่ายๆแค่ผลิตภัณฑ์ไข่ เซเว่นยังมีให้เลือกตั้งแต่ไข่ออนเซ็น ยางมะตูมไปจนถึงไข่ต้มสุก ทั้งแบบที่ปอกแล้วและยังไม่ปอก แถมซอสแม็กกี้ให้เสร็จสรรพ ชีวิตทำไมมันง่ายขนาดนี้ล่ะคะคุณ) แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางแก้เลยซะเมื่อไหร่ ถ้ากินอาหารพื้นเมืองแล้วไม่สะดวกใจก็ทำเองซะเลยสิ อาหารรสมือเราเองนี่เเหละชอบรสไหนทำรสนั้น การฝึกทำอาหารสามารถทำให้เป็นเรื่องสนุกได้ หรือถ้าทำไม่เก่งก็ไปตีซี้เพื่อนคนที่ทำเก่งเอาได้ทั้งเพื่อน ได้ทั้งอาหาร คุ้มจะตายไป และนอกจากนี้การจ่ายตลาดซื้อของนี่แหละเป็นวิธีการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีกว่าการออกไปกินนอกบ้านเป็นไหนๆ 

    - บางที่คนไทยน้อย ทำให้รู้สึกเคว้งคว้าง - อันนี้จริงมาก ไม่รู้ว่าเป็นแบบนี้ทุกที่หรือเปล่าแต่จากมหาลัยของเราและของหลายๆคนที่รู้จักคือสังคมคนไทยในต่างแดนถึงจะมีความเหนียวแน่นอยู่บ้าง แต่ก็มักจะสู้ความสัมพันธ์ที่มาจากระบบการรับน้องแบบไทยๆไม่ได้ (ขอออกตัวก่อนว่าเป็นการ generalise แบบหยาบๆนะคะ เพราะไม่เคยมีประสบการณ์รับน้องแบบไทยๆมาโดยตรง ได้แต่ฟังเขามาอีกที) โดยส่วนตัวไม่เคยคิดว่าการมีสายรหัสนั้นสำคัญเลย ตอนแรกออกจะรู้สึกว่าไร้สาระด้วยซ้ำ จนกระทั่งได้เห็นเพื่อนๆพี่ๆหลายๆคนเวลากลับไทยไปแล้วมักจะมีการนัดเจอกับกลุ่มมนุษย์ที่เห็นเขาเรียกกันว่าสายรหัส โดยมีตัวละครที่เราไม่คุ้นชื่อเต็มไปหมดไม่ว่าจะเป็นพี่รหัส น้องรหัส ป้ารหัส หลานรหัส เหลนรหัสอะไรต่อมิอะไรที่นักเรียนนอกไม่เข้าใจ ถึงมหาลัยเมืองนอกจะมีสิ่งที่เรียกว่า academic family หรือ famline ก็เถอะ (ระบบพวกนี้จะแตกต่างออกไป แต่สำหรับของ department ของเราคือใครจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมก็ได้ไม่บังคับ ทำให้ความกลมเกลียว ความเป็นครอบครัวในกรณีของ department เราไม่เข้มข้นเท่าระบบสายรหัสของไทยที่เคยได้ยินมา)

    โดยรวมแล้วมีหลายอย่างที่เห็นด้วยและก็สามารถเข้าใจได้ว่าคุณ จขกทน่ะมีเจตนาที่ดีที่จะตักเตือน เหล่านักเรียกนอก-wannabe แต่ทีนี้การมาตั้งคำถามว่า ‘แต่เอาจริงๆจะไม่สงสารพ่อแม่ที่จ่ายเงินมาบ้างเลยหรอ?’ แลดูจะรุนแรงเกินกว่าเหตุ

    ใดใดในโลกล้วนมีข้อดีข้อเสียกันทั้งนั้น ท้ายที่สุดแล้วก็แล้วแต่ดุลยพินิจของแต่ละคน                          เพราะฉะนั้นจึงอยากฝากบอกคุณ จขกท ว่า ตักเตือนได้แต่อย่าดับฝันกันเลยเนอะ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in