มีหนังหลายเรื่องค่ะที่เราเลือกดูเพียงแค่เพราะคำว่า Based on true story
แค่มันสร้างมาจากเรื่องจริง แค่นี้ก็ได้ใจเราไปครึ่งนึงแล้ว
หนังเรื่องนี้เองก็เช่นกัน
นี่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงของซารู (วัยเด็กรับบทโดยซันนี่ พาวาร์/วัยผู้ใหญ่รับบทโดยเดฟ พาเทล) ซึ่งพลัดหลงกับพี่ชายที่สถานีรถไฟเมื่อตอนห้าขวบ เขาเผลอหลับไปในตู้รถไฟเปล่า รู้ตัวอีกที รถไฟก็ออกวิ่งไม่หยุดและพาเขาไปถึงเมืองโกลกาตาซึ่งห่างจากบ้านเกิดของเขากว่า 1,600 กิโลเมตร
ประเทศอินเดียกว้างใหญ่มาก อีกทั้งยังพูดกันหลายภาษาด้วย ที่โกลกาตาพูดภาษาเบงกาลี ไม่ได้พูดภาษาฮินดีเหมือนกับบ้านที่ซารูจากมา เมื่อเด็กน้อยสื่อสารกับใครไม่ได้ เขาเลยต้องกลายเป็นเด็กไร้บ้านและต้องพยายามมีชีวิตให้รอดแบบวันต่อวันอยู่หลายเดือน แถมระหว่างนั้นก็ต้องคอยหนีให้รอดเงื้อมมือจากแก๊งค์ที่จับเด็กไปขายอีกด้วย จนกระทั่งซารูได้ไปอยู่ในสถานสงเคราะห์เด็กและมีครอบครัวจากออสเตรเลียติดต่อมาเพื่อขอรับเขาไปเลี้ยง ชีวิตของเขาถึงได้พลิกเปลี่ยนไปจากเหวเป็นฟ้าในชั่วข้ามคืน
25 ปีผ่านไป ซารูในวัยหนุ่มได้ไปเห็นขนมอย่างหนึ่งระหว่างที่สังสรรค์อยู่กับเพื่อนเข้า เป็นขนมที่เขาเคยขอให้พี่ชายซื้อให้กินเมื่อสมัยยังเป็นเด็ก แต่ที่บ้านยากจนมากจึงไม่มีโอกาสได้กินเลยแม้แต่ชิ้นเดียว ขนมชิ้นนี้ทำให้เขานึกถึงครอบครัวที่อินเดียขึ้นมา มันจึงทำให้เขาอยากกลับจะไปตามหาครอบครัวยังบ้านเกิดของตัวเอง ซึ่งเพื่อนๆ ก็แนะนำว่าให้ลองหาบ้านเกิดจาก Google Earth ดู
หนังปูทางเรื่องราวในวัยเด็กของซารูเอาไว้เยอะมาก น่าจะเกินครึ่งเรื่องด้วยซ้ำและมันก็เป็นพาร์ทที่เราชอบมากกว่าตอนโตซะอีก ซันนี่ พาวาร์แสดงได้ดีมาก ไม่ว่ายังไงเด็กก็คือเด็กจริงๆ ดูแล้วก็สงสารปวดใจ เด็กตัวแค่นี้ อายุแค่นี้ ต้องช่วยแม่ทำงานหาเงินมาประทังปากท้องคนในครอบครัว ตื๊อขอตามพี่ชายไปทำงานด้วยแต่ก็ดันมาหลงกันอีก ช่วงตลอดหลายเดือนที่หลงทางอยู่คนเดียวในโกลกาตา เราจะสัมผัสได้ถึงความเคว้งคว้างอย่างรุนแรงที่ไม่สมควรมีเด็กคนไหนหรือใครต้องเผชิญ
พอมาเป็นตอนโต เดฟ พาเทลก็แสดงได้ดี (แต่เราชอบตอนเด็กมากกว่า) ถ่ายทอดความเจ็ดปวดที่เกิดจากความทุกข์เพราะเป็นห่วงครอบครัวที่อินเดียออกมาได้ดีมาก ทางฝั่งนิโคล คิดแมนซึ่งรับบทเป็นแม่บุญธรรมก็มาน้อยๆ (เพราะออกแค่ครึ่งหลัง) แต่มีซีนปังๆ กับคำพูดคมๆ เหตุผลดีๆ อยู่พอตัว ซารูเข้าใจมาตลอดว่าพ่อแม่บุญธรรมของเขาไม่สามารถมีลูกได้ แต่ความจริงแล้วกลับไม่ใช่ ทั้งคู่สามารถมีลูกได้แต่ทั้งคู่เห็นตรงกันว่าการมีลูกเพื่อเพิ่มประชากรให้กับโลกมันไม่ได้การันตีว่าผลผลิตนั้นจะดีและช่วยให้สังคมดีขึ้น แต่การช่วยเหลือเด็กกำพร้าโดยรับพวกเขามาเลี้ยงจะเป็นการช่วยให้โลกดีและน่าอยู่ขึ้นไม่มากก็น้อย ซึ่งเป็นความคิดที่ดีนะคะ เราชื่นชมความคิดของพวกเขามากจริงๆ
พอดูไปจนจบ เราถึงได้รู้ว่า ความจริงแล้วอินเดียมีเด็กหายเฉลี่ยปีนึงไม่ต่ำกว่า 80,000 คน เป็นสถิติที่น่าตกใจมาก แถมน้อยคนนักที่จะโชคดีอย่างซารู หนังเรื่องนี้เลยเป็นหนึ่งช่องทางในการรณรงค์เรื่องเด็กหายในอินเดีย (มีแอบไทอินเบาๆ นิดหนึ่ง) ซึ่งเราว่ามันเป็นเรื่องราวที่ดีมากๆ เลยล่ะค่ะ
Lion เข้าชิงออสการ์ทั้งหมด 7 สาขา ได้แก่
เพราะงั้นไว้เรามาลุ้นกันค่ะ ว่าหนังเรื่องนี้จะชิงรางวัลสาขาไหนมาครองกันได้บ้าง :)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in