เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Gender & Sexualitypreenbanana
[Review] The Handmaid’s Tale สาวชุดแดงแห่งโลกดิสโทเปีย
  • ระหว่างที่รอซีซั่นใหม่ของซีรีส์เรื่องโปรด ช่วงนี้เลยไม่ค่อยมีอะไรให้ดูมากนัก จนกระทั่งไปสะดุดกับ The Handmaid’s Tale ที่โดดเด่นด้วยรูปผู้หญิงใส่ชุดสีแดง หมวกสีขาว แล้วก็จำขึ้นมาได้ว่าเป็นชุดที่เคยเห็นผ่านตาตามข่าวต่างประเทศที่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีในสหรัฐอเมริกาใช้สวมใส่ในการประท้วงและเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐบาลทรัมป์ เราเองก็นึกสงสัยว่าทำไมต้องเป็นชุดแดงชุดนี้และด้วยความอยากรู้ดังกล่าวก็เลยตัดสินใจลองดูซีรีส์เรื่องนี้แบบม้วนเดียวจบ ซึ่งมีจำนวนตอนไม่มากไม่น้อย เพียงแค่ 10 ตอน ซึ่งไม่ทำให้ผิดหวังและไขข้อข้องใจข้างต้นได้เป็นอย่างดีจนต้องนำมารีวิวแบบไม่สปอยล์เนื้อหา สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าจะดูซีรีส์เรื่องไหนดี



    Trigger Warning : คำเตือนนะคะ ในซีรีส์เรื่องนี้มีเนื้อหาที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางเพศและทางกายภาพที่อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจ ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่อยู่ในสภาวะอารมณ์ที่ยังไม่พร้อมรับความกดดัน เราดูจบแล้วรู้สึกโลกมืดไปสักระยะเลยค่ะ อึดอัดมากๆ อย่าได้ถามหาความสดใสจากซีรีส์เรื่องนี้

    ถ้าจะให้คำนิยามสั้นๆ แบบไม่เป็นการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ บอกได้อย่างเดียวว่า The Handmaid’s Tale เป็นซีรีส์ที่น่ากลัวยิ่งกว่าซีรีส์หรือหนังแนวสยองขวัญบางเรื่องซะอีก ท่ามกลางความน่ากลัวชวนขนหัวลุกก็มีการแทรกประเด็นไว้หลากหลายมาก เห็นได้ชัดเจนเลยคือเรื่อง Gender เป็นประเด็นที่ผู้หญิงน่าจะดูแล้วอินและรู้สึกเข้าใจหัวอกผู้หญิงด้วยกัน ให้ความรู้สึกอึดอัดแบบสังคมดิสโทเปียในเรื่อง 1984 ของ จอร์จ ออร์เวลล์ แต่ศูนย์กลางของเรื่องเน้นไปที่เพศหญิงเป็นหลัก 



    เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นในโลกสมมติที่อเมริกาถูกปกครองโดยเผด็จการคลั่งศาสนา เปลี่ยนชื่อเป็น
    สาธารณรัฐกีเลียต ถือเป็นช่วงเวลาที่มีอัตราการเกิดของประชากรแทบเป็นศูนย์ของดินแดนแห่งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหา ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคนจะถูกจับมาอบรมให้เห็นคุณค่าของความสามารถในการให้กำเนิดบุตรของตัวเอง เพื่อเอาไว้สร้างทายาทให้กับผู้มีอำนาจแต่เป็นหมัน

    ผู้หญิงที่ทำหน้าที่อุ้มบุญเหล่านี้ เรียกว่า แฮนด์เมด (Handmaid) ต้องใส่ชุดแสดงฐานะทางสังคมในชุดสีแดงและสวมหมวกสีขาวที่เป็นเอกลักษณ์ของซีรีส์เรื่องนี้ พวกเธอจะถูกลดทอนความเป็นคนให้เหลือเพียงแค่เครื่องจักรตั้งครรภ์ได้ที่จะพอมีค่ามาบ้างเมื่อให้กำเนิดบุตร หน้าที่สำคัญเพียงอย่างเดียวคือคอยเดินทางไปรับใช้ทางเพศในบ้านของชนชั้นปกครองไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่สามารถมีลูกได้อีก 

    ถึงแม้ว่าเหล่าแฮนด์เมดจะมีความสำคัญต่อการเกิดของประชากร แต่กลับมีฐานะทางสังคมที่ต่ำต้อย โดนกีดกันทางสังคมมากมาย ไม่สามารถอ่านหรือเขียนหนังสือ ไม่สามารถพูดแสดงความเห็นใดๆได้และไม่สามารถมีความรัก เพราะจะกระทบกับหน้าที่อันแสนสำคัญต่อประเทศของเธอ นอกจากนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภรรยาหลวงของแต่ละบ้านที่พวกเธอต้องเข้าไปทำงาน เห็นได้ว่าพวกเธอไม่มีสิทธิใดๆเลยในสังคมนี้ 


    แม้แต่สิทธิในชีวิตและร่างกายของตัวเอง


    ตัวเอกของเราเคยเป็นผู้หญิงธรรมดาที่มีหน้าที่การงาน มีครอบครัวเล็กๆที่อบอุ่น จนกระทั่งสังคมค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปจากการปกครองแบบใหม่และพรากทุกอย่างไปจากเธอ ทุกอย่างที่เธอเคยมีกลายเป็นเพียงแค่อดีต แม้แต่ชื่อเดิมของเธอก็ไม่สามารถใช้ได้ในสังคมรูปแบบใหม่ ในตอนนี้ชื่อของเธอจะเปลี่ยนไปตามชื่อของเจ้านายที่เธอไปทำหน้าที่  โดยมีคำนำหน้าว่า Of + ชื่อเจ้านาย เช่น ชื่อของตัวเองที่มีชื่อว่า ออฟเฟร็ด (Offred มาจาก Of + Fred) หมายถึง เป็นทรัพย์สินของเฟร็ด เช่นเดียวกับชื่อของผู้หญิงคนอื่นๆที่จะแตกต่างกันไป แต่ขึ้นต้นด้วย Of เหมือนกัน



    ในซีรีส์มีโทนสีออกแนวหม่นๆทึมๆเป็นทุนเดิม พอมาเจอกับเรื่องราวที่อยู่ในแต่ละฉาก ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกหดหู่มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ลุ้นกันตัวโก่ง เอาใจช่วยตัวเอกให้รอดผ่านความยากลำบากในแต่ละตอนไปให้ได้ตลอดรอดฝั่ง ถือเป็นประสบการณ์การรับชมซีรีส์ที่กระทบต่อความเชื่อมั่นที่เรามีแก่มนุษย์ เพราะในบางตอน เรารู้สึกว่าซีรีส์ไม่ได้จินตนาการจนเลยเถิดไปไกล แต่มันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้จริงๆ

    ตอนแรกมองว่ามันจะมีแต่ความเป็น White Feminism มากเกินไปไหม เพราะตัวเอกเป็นผู้หญิงผิวขาวชาวตะวันตก แต่โดยรวมพบว่ามีความหลากหลายทางเชื้อชาติ สีผิวและเพศในระดับดีใช้ได้อยู่ มีตัวละครหลักที่เป็นผู้หญิงผิวสี ตัวประกอบที่มีคนเอเชียปะปนอยู่บ้าง ถือว่าโอเคสำหรับเรา

    ต้นแบบของซีรีส์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากหนังสือในชื่อเดียวกันของมาร์กาเร็ต แอดวู้ด (Margaret Atwood) ที่เขียนไว้ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1985 เป็นอีกหนึ่งในหนังสือที่เราต้องหามาอ่านให้ได้สักครั้ง หลังจากดูซีรีส์เรื่องนี้จบ โดยก่อนหน้าที่จะมีซีรีส์เรื่องนี้ออกฉาย ได้มีการสร้างภาพยนตร์ The Handmaid's Tale ในปี ค.ศ.1990 มาก่อนหน้านี้ ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าหนังสือเล่มนี้ถือเป็นหนึ่งในงานเขียนชิ้นสำคัญที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน เนื้อหาก็ยังคงทันสมัยท้าทายกาลเวลาและความคิดของคนในแต่ละยุคอยู่ตลอด 

    The Handmaid's Tale เป็นซีรีส์ดราม่าที่กดดันและโหดร้าย นำเสนอประเด็นเรื่องเพศได้อย่างทรงพลัง นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่า แม้ความเป็นมนุษย์จะถูกทำลาย แม้ว่าจะต้องถูกกดขี่แค่ไหน แต่สิ่งเหล่านั้นไม่สามารถทำลายความหวังที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคนได้ จิตวิญญาณในการต่อสู้ของออฟเฟร็ดค่อยๆก่อตัวขึ้นในทุกขณะที่เธอกำลังมีชีวิตและรักษาแสงแห่งความหวังของตัวเองไว้ 



    การต่อสู้เพิ่งจะเริ่มต้น แน่นอนว่าเป็นกระบวนการที่ไม่ได้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาแค่ซีซั่นเดียวของซีรีส์ ในซีซั่นที่ 2 ของ The Handmaid's Tale ที่มีคิวออกฉายในปี 2018 ก็จะมีความเข้มข้นและหนักหน่วงมากขึ้นกว่าซีซั่นแรก ตามคำบอกเล่าของนักแสดงหลักอย่างเอลิซาเบ็ธ มอส (Elisabeth Moss) ผู้รับบทออฟเฟร็ด ซึ่งแน่นอนว่าเราเองก็จะยังติดตามเรื่องราวของออฟเฟร็ดต่อไป แม้ว่าจะต้องแลกด้วยความกดดันมากมายที่จะเกิดขึ้นระหว่างดู แต่มันก็คุ้มค่าที่จะได้เสพเรื่องราวที่ชวนให้ขบคิดถึงสังคมในปัจจุบันจากสังคมดิสโทเปียนี้ เพราะที่จริงแล้วเราเองก็เข้าใกล้ความเป็นดิสโทเปียเข้าไปทุกวันๆไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง



    “Nolite te bastardescarborundorum." 


    "Don't let the bastards grind you down.”


    (The Handmaid's Tale - 2017)


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
atnirnoom (@fb2053137488046)
เราชอบเรื่องนี้มากเลยค่ะ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดและเป็นจุดเด่นของเรื่องนี้ก็คือการเปลี่ยนแปลงค่ะ จากสังคมปกติไปเป็นสังคมแบบกีเลียดนั้นเกิดขึ้นแค่เพียงพริบตาจริงๆ ค่ะ แต่ผลกระทบรุนแรงมาก ที่สำคัญมันดูเกิดขึ้นได้จริง เกิดขึ้นเทื่อไรก็ได้ มันทำให้เราเก็บมาคิดว่า เราจะป้องกันเหตุการณ์แบบนี้ยังไง อะไรที่เราจะทำได้ เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องร้ายๆ แบบนี้ในโลกจริงของเรา แต่ที่น่าดีใจ คืออย่างน้อยตอนนี้ก็มีผู้คนออกมาพูดเรื่อง gender equallity มากขึ้น ซีรีย์เรื่องนี้ก็เป็นสื่อที่ดี ที่ช่วยสนับสนุน gender equality ค่ะ รอดูซ๊ซั่นสองต่อไปค่ะ