เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Gender & Sexualitypreenbanana
มู่หลาน (Mulan) กับความเป็นอื่น ของตะวันออกในมุมมองตะวันตก

  • [ดัดแปลงมาจากบทความในวิชา SE418 GENDER AND SEXUALITY มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของผู้เขียน]


    ตัวเองเติบโตมากับการ์ตูนของค่ายดิสนีย์ (Disney) ตั้งแต่จำความได้ ชีวิตในวัยเด็กถูกเติมเต็มไปด้วยเทพนิยายชวนฝันที่มักเป็นเรื่องราวของเจ้าหญิงกับเจ้าชายที่ฝ่าฟันอุปสรรคจนได้ครองคู่กันอย่างมีความสุขตราบชั่วกัลปาวสาน เมื่อนำมาเล่าผ่านลายเส้นที่สวยงามและบทเพลงอันแสนไพเราะอันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้การ์ตูนดีสนีย์เป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆทั่วโลก ภาพของเด็กหญิงตัวเล็กที่นั่งใส่ม้วนวิดีโอเทปของการ์ตูนสุดโปรดกับเครื่องเล่นวิดีโอยังเด่นชัดอยู่ในความทรงจำ ซึ่งการ์ตูนเรื่องโปรดตลอดกาลที่ผ่านการดูมานับครั้งไม่ถ้วนตั้งแต่เด็กจนโต ได้แก่ มู่หลาน (Mulan) (1998) หนึ่งในการ์ตูนที่ได้โลดแล่นอยู่ในช่วงยุคทองของดิสนีย์ (Disney Renaissance) ช่วงปี ค.ศ. 1989-1999 จากตำนานอันเลื่องชื่อของชาวจีนที่เล่าเรื่องของวีรสตรีผู้ปกป้องแผ่นดินจากการรุกรานของชาวฮั่น

    ชอบโปสเตอร์อันนี้มาก เพราะเป็นอันเดียวกันกับปกเทปคาสเซ็ตเพลงประกอบมู่หลานที่ชอบขโมยพ่อมาฟัง

    ยิ่งไปกว่านั้นเธอได้เอาชนะภาพเหมารวมทางเพศและบทบาททางเพศของเพศหญิงที่สังคมขีดเส้นไว้ ด้วยการพิสูจน์ว่าเพศหญิงไม่จำเป็นที่จะต้องทำงานอยู่กับบ้านเพื่อเป็นภรรยาหรือแม่ที่ดีแค่อย่างเดียว แต่ผู้หญิงก็สามารถทำในสิ่งที่ผู้ชายทำได้เช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่การเข้าร่วมสงครามด้วยการปลอมตัวเป็นผู้ชายเพื่อร่วมรบแทนพ่อ เหตุนี้เองมู่หลานจึงมีความแตกต่างจากการ์ตูนเจ้าหญิงทุกเรื่องเคยที่ได้ดู ถึงแม้จะไม่ใช่เจ้าหญิงที่สูงศักดิ์แต่การกระทำของเธอได้พิสูจน์ว่าตัวเธอก็มีคุณค่าที่ไม่ด้อยไปกว่ากัน

    ส่วนเหตุผลหลักอีกข้อที่ชอบมู่หลานก็เพราะตอนเป็นเด็กรู้สึกว่ามู่หลานมีหน้าตาคล้ายคลึงกับเรามากกว่าเจ้าหญิงคนอื่นของดิสนีย์ เนื่องจากเป็นคนเอเชีย เป็นคนจีน แล้วตัวเองก็มีเชื้อสายจีนด้วยเหมือนกัน จึงทำให้รู้สึกอินและผูกพันกับมู่หลานมากเป็นพิเศษ

    เมื่อเวลาผ่านไปเมื่อได้ย้อนกลับมาดูการ์ตูนโปรดเรื่องนี้อีกครั้งด้วยมุมมองที่กว้างและแตกต่างไปจากเดิม การดูการ์ตูนเรื่องนี้จึงไม่ได้ดูเพื่อความเพลิดเพลินเหมือนตอนเป็นเด็กแต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้อรรถรสในการรับชมลดลง เพราะได้พบกับประเด็นต่างๆในการ์ตูนเรื่องนี้ที่แอบแฝงอยู่ภายใต้มุมมองของชาติตะวันตกที่มีต่อตะวันออกอันเป็นมุมมองจากประเทศเจ้าอาณานิคมในเรื่องของเพศภาวะและเพศวิถีของผู้หญิงในประเทศจีนผ่านการ์ตูนเรื่องมู่หลาน ดังที่จะอธิบาย


    1. ความเป็นอื่น (The Other) และจักรวรรดินิยมเชิงวัฒนธรรม (Cultural Imperialism) ที่ปรากฏในเรื่อง


    การ์ตูนเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็น Self ของเจ้าอาณานิคมหรือโลกตะวันตก และ Other ของจีนหรือโลกตะวันออกอย่างชัดเจนจากมุมมองของผู้กำกับชาวอเมริกัน ได้แก่ Tony Bancroft และ Barry Cook ซึ่งผู้สร้างได้ให้บทบาทต่อประเทศจีนว่าเป็นประเทศที่มีการเหยียดเพศ (Sexist) ภายใต้บริบททางสังคมที่ชายเป็นใหญ่ ตัวอย่างของความเป็นอื่นและจักรวรรดินิยมเชิงวัฒนธรรมที่ปรากฎ ได้แก่

    จากตอนต้นเรื่อง บรรดาหญิงสาว รวมไปถึงตัวมู่หลานเองจะต้องเข้าทำการดูตัวกับแม่สื่อ เพื่อทดสอบคุณสมบัติของกุลสตรี หากมีคุณสมบัติเพียบพร้อมก็จะได้แต่งงาน การแต่งงานถือเป็นหน้าที่ของผู้หญิงที่จะนำเอาศักดิ์ศรีมาสู่ครอบครัว นั่นคือการสืบทอดสกุลและให้กำเนิดบุตรตามหลักของขงจื๊อ โดยสื่อออกมาผ่านเพลง Honor to Us All ซึ่งอาจทำให้เกิดภาพเหมารวมของผู้หญิงเอเชียว่าเป็นได้แค่เพียงวัตถุทางเพศ (Sex Object) ต้องมีลักษณะภายนอกที่สวยงามและคุณสมบัติของการเป็นผู้หญิงที่ดีตามธรรมเนียม พวกเธอไม่สามารถเลือกคู่ชีวิตได้อย่างอิสระ จะต้องมีการชักชวนผ่านแม่สื่อและแบกรับศักดิ์ศรีของครอบครัวเอาไว้ ตรงกันข้ามกับผู้ชายที่สามารถเลือกภรรยาของตนเองได้ราวกับเลือกชมสินค้าในแคตตาล็อก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงในโลกตะวันออกอยู่ในฐานะของผู้ถูกกระทำและอ่อนแอ

    ดังนั้นวัฒนธรรมของชาวจีนที่ล้าหลังเช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่สมควรพัฒนาให้ศิวิไลซ์โดยการนำแนวคิดสตรีนิยมของผู้หญิงผิวขาวทางตะวันตก (White Feminism) เข้ามาใช้ โดยให้ละทิ้งขนบธรรมเนียมตะวันออก ทำลายประเพณีความเชื่อเก่าๆที่ไม่สมเหตุสมผลและไม่เท่าเทียม แล้วใช้ชีวิตของตัวเองในแบบตะวันตกดังเช่นที่มู่หลานได้ตัดสินใจทำในเรื่อง

    ประเด็นถัดมา คือ ความเป็น Self กับ Other จากการถ่ายทอดรูปร่างลักษณะของคนเอเชียในมุมมองของผู้สร้างชาวตะวันตกที่มีทั้งเชื้อชาติและสีผิวแตกต่างจากผู้คนฝั่งตะวันออกอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะทหารชาวจีนในการ์ตูนเรื่องนี้จะเห็นได้ว่ามีรูปร่างผอมไป อ้วนไปหรือไม่สมส่วน ดูไม่แข็งแรง ใบหน้าเหลี่ยมโหนกแก้มสูงและดวงตาชี้เรียวแหลม ทำให้ตัวการ์ตูนออกมาในลักษณะตลก คล้ายกับลิง ทำให้นึกถึงคำศัพท์เชิงดูถูกซึ่งเป็นศัพท์ที่ชาติตะวันตกใช้เรียกคนเอเชียที่มีผิวสีเหลืองว่าลิงเหลือง (Yellow Monkey)

    ในกรณีของตัวผู้ร้าย หัวหน้าของทหารฮั่นอย่างชาง หยู (Shan Yu) และบรรดาทหารฮั่น ถูกวาดให้มีลักษณะที่น่ากลัวผิดมนุษย์ ได้แก่ สีผิวและใบหน้าสีเทา ดวงตาสีเหลือง เขี้ยวและเล็บที่ยาวประหนึ่งกรงเล็บสัตว์ อีกทั้งมีรูปร่างที่ใหญ่โต ทหารฮั่นในเรื่องถูกลดความเป็นคน (Dehumanized) เหลือเพียงแค่สัตว์เท่านั้น 

    จากเนื้อเรื่องหลักจะพบว่าเพศหญิงเป็นแค่ชายขอบและความเป็นอื่นในสังคมปิตาธิปไตย แม้ว่ามู่หลานจะสามารถเอาชนะกองทัพฮั่นได้ด้วยการระเบิดภูเขาหิมะ แต่เมื่อเธอถูกจับได้ว่าเป็นผู้หญิงปลอมตัวมารบ เสนาบดีของฮ่องเต้ชื่อว่า ฉี๋ ฝู (Chi Fu) ก็ตรงเข้ามาด่าทอเธอด้วยถ้อยคำเสียดสีเพศหญิงมากมายโดยไม่ได้นึกถึงคุณความดีของเธอที่ช่วยทำให้กองทัพจีนชนะเลยแม้แต่น้อย

    แม้กระทั่ง หลี่ชาง (Li Shang) ที่มู่หลานได้ช่วยชีวิตไว้ก็ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรเธอได้เลย จนเกิดเป็นการกระทำสองมาตรฐาน (Double Standard) เพียงเพราะว่าเธอเป็นผู้หญิงเพศที่อ่อนแอกว่าเพศชายในทุกด้าน เพศหญิงที่ไม่สมควรละเมิดประเพณีเก่าแก่ในการโอบอุ้มความเป็นชาย (Masculinity)

    มู่หลานไม่ได้รับการยอมรับในสิ่งที่เธอได้ทำลงไป ทั้งจากการนำชัยชนะเหนือกองทัพฮั่นหรือการปลอมตัวเป็นชายเข้ามาในกองทัพเพื่ออกรบแทนพ่อ จนกระทั่งฮ่องเต้ได้ทำการก้มหัวลงค้อมคำนับแก่เธอ หลังจากมู่หลานในฐานะของผู้หญิงที่ไม่ต้องปลอมเป็นชายและเพื่อนๆทหารของเธอเข้าไปช่วยฮ่องเต้ โดยการแต่งตัวเป็นหญิง เพื่อเข้าไปช่วยฮ่องเต้จากเงื้อมมือของชาง หยู 

    เมื่อการกระทำของเธอเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาทุกคน ตอนนั้นเองที่ฮ่องเต้ ประชาชน แม้แต่ฉี๋ ฝูก็ต้องก้มหัวลงให้ เมื่อมู่หลานปกป้องประเทศได้อีกครั้งหนึ่ง โดยไม่ได้เป็นในฐานะของเพศชาย แต่เป็นผู้หญิง โดยไม่ว่าจะมีเพศสภาพหรือเพศวิถีแบบไหนต่างก็มีคุณค่าในตัวเอง สามารถปกป้องฮ่องเต้หรืออาจจะหมายความถึงการปกป้องประเทศได้อย่างเท่าเทียมกัน


    2. ผลกระทบของจักรวรรดินิยมเชิงวัฒนธรรมต่อภาพลักษณ์ของมู่หลาน


    ประเด็นสุดท้ายชองการวิเคราะห์การ์ตูนเรื่องนี้ เกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนโฉม (Re-Design) ตัวละครหญิงของดิสนีย์ ในปี 2013 ภาพวาดชุดใหม่ถูกเผยแพร่ลงบนเว็บไซต์ทางการของดิสนีย์อย่าง princess.disney.com แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงลักษณะของมู่หลานที่ผิดไปจากการ์ตูนต้นฉบับในปี 1998 เป็นอย่างมาก อันเป็นผลมาจากจักรวรรดินิยมเชิงวัฒนธรรมที่ทำให้มู่หลานถูกออกแบบใหม่ โดยปรับเปลี่ยนให้มีความสวยตามมาตรฐานของตะวันตกและให้เป็นที่ต้องตาต้องใจของเด็กหญิงผิวขาวเพียงเพื่อดันยอดขายของเล่นจากการ์ตูนเรื่องนี้เท่านั้น

    จากรูปจะเห็นได้ว่ามู่หลานที่ถูกออกแบบใหม่ทางด้านซ้ายมีความแตกต่างจากตัวเธอคนเดิมในการ์ตูนต้นฉบับ โดยเฉพาะเรื่องของสีผิว มู่หลานถูกทำให้ขาวขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากจักรวรรดินิยมเชิงวัฒนธรรมจนเกิดการเหยียดสีผิว (Racism) และมีความพยายามทำให้เธอกลายเป็นคนขาวแบบตะวันตกทั้งๆที่สีผิวตามธรรมชาติของคนเอเชียเองไม่ได้ขาวจนดูซีดขนาดนั้น ซึ่งประเด็นทางสีผิวสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากแฟนการ์ตูนดีสนีย์เป็นอย่างมาก

    หรือถ้าจะมองอีกมุมว่าผู้ออกแบบงานตั้งใจสื่อถึงมู่หลานตอนที่แต่งหน้าขาวไปพบแม่สื่อ ก็ดูว่าไม่สมเหตุสมผลเช่นกัน เพราะจากการ์ตูนตอนที่เธอแต่งหน้าขาว ลำคอของเธอไม่ได้ขาวตามไปด้วยตามรูปในการเปลี่ยนโฉมใหม่ที่ผิวขาวทั้งร่างกาย ซึ่งนั่นหมายถึงเป็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะหน้าตาของเธอให้เข้ากับภาพแหมารวมทางสังคมตะวันตก ความสวยของผู้หญิงไม่ควรถูกจำกัดด้วยมุมมองใดมุมมองหนึ่งโดยเฉพาะ ดังนั้นการพยายามฟอกสีผิวของเธอให้ดูขาวเกินจริงหรือพยายามทำให้เธอดูเป็นคนตะวันตกจึงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยากโดยเฉพาะเป็นการกระทำจากค่ายการ์ตูนดังที่เป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆทุกเชื้อชาติและสีผิวทั่วโลกอย่างดีสนีย์

    แต่ทว่าในเว็บไซต์หลักของดิสนีย์ได้เปลี่ยนรูปตัวละครใหม่อีกครั้งในปี 2015 มู่หลานคนเดิมที่คุ้นเคยได้กลับมาพร้อมกับการออกแบบใหม่และเผยแพร่บนเว็บไซต์ princess.disney.com มู่หลานที่ได้รับการออกแบบใหม่โดยไม่ได้อยู่ในกรอบคิดของตะวันตก

    การที่ฉันได้เติบโตขึ้นพร้อมกับมีการศึกษาที่ช่วยเปิดโลกให้กว้างกว่าในวัยเด็กทำให้มุมมองในการมองสิ่งต่างๆเปลี่ยนไปแน่นอนว่าทุกสิ่งในโลกไม่ได้มีเพียงแค่ด้านเดียว ในกรณีของมู่หลานก็ไม่ได้มีเพียงแค่ความประทับใจและความสนุกที่ได้จากการดูการ์ตูนเรื่องนี้เท่านั้น เมื่อได้พิจารณาให้ละเอียดยิ่งกว่าเดิมจะพบว่าบางด้านที่ถูกนำเสนอผ่านการ์ตูนอาจไม่สวยงามเท่าที่เราคิดไว้ในวัยเด็ก มู่หลานอาจเป็นได้แค่ความเป็นอื่นในสายตาคนผิวขาว แต่สำหรับฉันแล้วมู่หลานจะอยู่ในฐานะฮีโร่วัยเด็กไปตลอด



    ทั้งหมดนี้คือการวิเคราะห์การ์ตูนเรื่องโปรดโดยอาศัยสิ่งที่ได้เรียนรู้มาในวิชานี้ จะเห็นได้ว่าในบทความที่ส่งอาจารย์ไปนี้จะเน้นไปที่ตัวละครเอกของเรื่องอย่างมู่หลานเป็นหลัก ซึ่งที่จริงแล้วยังมีประเด็นเรื่องเพศอื่นๆที่สามารถนำมาวิเคราะห์ได้อีก ทั้งเรื่องเพลงประกอบและตัวละคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของหลี่ชาง ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) คนแรกของจักรวาลดีสนีย์ (?) เลยก็ว่าได้ เอาเป็นว่าถ้าไม่ขี้เกียจจนเกินไปและถ้าจัดการชีวิตให้ยุ่งเหยิงได้น้อยลงกว่านี้ ก็อยากจะลองวิเคราะห์เรื่องราวในมุมมองด้านอื่นเหมือนกัน ขอบคุณที่ติดตามกันมาจนถึงตรงนี้นะคะ 

    สวัสดีค่ะ


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in