เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Cinema Storiesheathers
Yasujiro Ozu's Noriko Trilogy

  • เราเพลิดเพลินกับหนังของโอสุมาก อาจจะเป็นเซ็ตหนังที่ดูแล้วรู้สึกสุขใจที่สุดในรอบหลายเดือน ( หรือปี ) เป็นหนังที่ทำให้กลับมาอยากดูหนังอีกครั้ง หลังจากที่ช่วงหนึ่งเริ่มห่างหายจากโรงภาพยนตร์ เหมือนดูๆไปเพราะหน้าที่การงาน ช่วงนั้นไร้อารมณ์อยากดูหนังใดใดทั้งสิ้น แผ่นเรื่องเก่าๆที่ซื้อมาเก็บไว้แต่ยังไม่ได้แกะซองพลาสติกก็มีอีกเพียบ จนได้มาเจอกับ Tokyo Story นี่แหละ ดูจบแล้วต้องรีบไปตามหาเรื่องอื่นๆของโอสุมาดูต่อ





    Tokyo Story ( Yasujiro Ozu, 1953 ) 



    ‘Tokyo Story’ เป็นหนังขาวดำยุคหลังของโอสุ นำแสดงโดย Setsuko Hara หนึ่งในนักแสดงญี่ปุ่นที่สวยงามและเจิดจรัสที่สุดตลอดกาล เธอรับบทเป็น Noriko ลูกสะใภ้ของครอบครัวหนึ่ง สามีของเธอเสียชีวิตในสงคราม นอกจากเรื่องนี้แล้ว Setsuko Hara ยังรับทเป็น Noriko (ตัวละครหญิงสาวยุคหลังสงครามที่มีลักษณะคล้ายกัน แต่ก็ไม่ใช่คนเดียวกัน) ในหนังของโอสุอีก 2 เรื่อง

    คนส่วนใหญ่จึงเรียกเหมารวมหนังทั้ง 3 เรื่องนี้ว่า Noriko Trilogy’ อันประกอบไปด้วย

    1. Late Spring (Banshun) , 1949
    2. Early Summer (Bakushu) , 1951
    3. Tokyo Story (Tokyo Monogatari) , 1953



    Setsuko Hara
    Late Spring ( Yasujirō Ozu, 1949 )




    Yasujiro Ozu เป็นเหมือนบรมครูของวงการหนังญี่ปุ่น ช็อตคลาสสิคของเขา นักเรียนภาพยนตร์ทุกคนต้องเคยได้ยิน มันคือมุมเสื่อตาตามิ (Tatami shot) เฟรมภาพที่ให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังนั่งอยู่บนพื้น เฝ้าดูเหตุการณ์ค่อยๆเกิดขึ้นและดำเนินไป โอสุแทบจะไม่เคลื่อนกล้องเลย ครั้งแรกที่เราเห็นกล้อง Dolly-in ในหนังของเขา เราถึงกับต้องชะโงกหน้าเข้าไปดูใกล้ๆจอว่าไม่ได้ตาฝาด


    ความโชคดีอย่างหนึ่งของเรากับการดูหนังที่มีมาตั้งแต่เด็ก คือมักจะมีหนังที่เราได้ดูในช่วงเวลาที่ – แทบจะเรียกได้ว่า – เหมาะสมที่สุดในชีวิตอยู่เสมอ ถ้าได้ดูตอนโตกว่านี้ หรือเด็กกว่านี้ หรือเมื่อวานนี้ มันอาจจะไม่ทำงานกับเรามากเท่านี้

    เราดู ‘Noriko Trilogy’ ในช่วงที่ขอเรียกว่ากึ่งกลางที่สุดของชีวิต ( ตามที่เคยคิดไว้เล่นๆว่าตัวเองน่าจะตายตอนอายุ 50 บวกลบ ) เราดู ‘Tokyo Story’ ช่วงก่อนวันเกิดครบรอบอายุ 25 ปีนิดหน่อย ดู ‘Early Summer’  หลังจากนั้นนิดหน่อย และดู ‘Late Spring’ ในวันนั้นพอดี

    ช่วง 30 นาทีสุดท้ายของทั้ง 3 เรื่องทำงานกับเราอย่างมหาศาล เหมือนมันช่วยคลายความกังวลใจที่สุดในชีวิตที่สะสมมาหลายปี เหมือนจู่ๆเราก็เข้าใจชีวิตมากขึ้น ในพริบตานั้นเลย เราเห็นรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ความว่างเปล่า ความทุกข์ที่เราเคยรู้สึกว่าทนไม่ได้อีกแล้ว จริงๆจากนี้ก็ใช่ว่าตอนนี้จะทนได้แล้วนะ แค่เข้าใจมันมากขึ้น (และทนได้มากขึ้นนิดหน่อย) 

    วลีที่ว่า ‘As good as it gets’ เป็นสิ่งที่เราไม่มีวันเข้าใจตอนอายุ 15-16 แน่นอน เราเพิ่งเข้าใจมันตอนนี้เอง เราเพิ่งนึกขึ้นมาได้ว่าทำไมเราถึงอยากทำหนังหนักหนา เพิ่งจดจำได้ว่าวินาทีที่หนังช่วยชีวิตเรา มันเป็นยังไง ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราคงทนไม่ได้เลย แค่ได้ยินพ่อแม่ทะเลาะกันเราก็ทนไม่ได้แล้ว ความจริงเราคิดถึงเรื่องความตายบ่อยมากตั้งแต่ยังเด็ก เราจะตายเมื่อไหร่ เราจะตายแบบไหน เราชอบคิดว่าตัวเองไม่กลัวตาย แต่เรากลัวเจ็บ ถ้าความตายนั้นเงียบสงบและไม่เจ็บปวด เราไม่กลัวเลย แต่พอถึงเวลาที่มันใกล้ความตายขึ้นมาจริงๆ ( เช่นเวลาที่ป่วยมากๆ หรืออยู่ในจุดที่อาจเกิดอุบัติเหตุได้ ) เรากลับตัวชาตั้งแต่หัวจรดเท้า โคตรกลัวตายเลย แต่ตอนนี้เรากลับไม่ค่อยคิดถึงเรื่องการตายหรือการมีชีวิตอยู่มากเท่าไหร่แล้ว แค่ใช้ชีวิตต่อไป ใช้เท่าที่เราใช้ได้ เท่าที่มันมีให้เราใช้



    เขียนมาตั้งยาว ไม่ได้เกี่ยวกับโอสุเท่าไหร่เลย เพ้อเจ้อเรื่องตัวเองล้วนๆ แต่รู้สึกโชคดีจริงๆที่ ณ เวลานี้ ตอนนี้ ตอนที่มาถึงอีกจุดหนึ่งของชีวิต เราได้ดูหนังทั้ง 3 เรื่องที่ว่ามา

    กิเลสใหญ่หลวงที่สุดที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น คืออยากได้ดีวีดีชุด ‘Late Ozu’ ของ The Criterion Collection มาก เพิ่งเห็นว่าใน Amazon ขายราคาไม่ทำร้ายกันเท่าไหร่ด้วย ภาพจากหนังยุคถ่ายสีของโอสุสวยงามมาก รู้สึกว่าต้องได้ดูแบบภาพเนี้ยบคมชัดเท่านั้น ชีวิตคนเราแม่งนิพพานได้ด้วยการดูหนังจริงๆ ดูในโน้ตบุ๊คขนาดจอ 15 นิ้วนี่แหละ



    ❋ เขียนไว้เมื่อต้นปี 2016 หลังจากอายุ 25 ได้ไม่นาน


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in