เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
ให้คนดีปกครองบ้างเมือง By ประจักษ์ ก้องกีรติ
  • รีวิวเว้ย (1141) ตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่เมื่อเราได้ยินใครสักคนพูดว่าตัวเขานั้นเป็น "คนดี" หรือเมื่อมีใครสักคนมาชมคุณว่าคุณนี่เป็น "คนดี" คุณกลับรู้สึกไม่ค่อยดีกับการได้ยินหรือการถูกเรียกว่าเป็น "คนดี" สักเท่าไหร่ สำหรับเราเองความรับรู้และความเปลี่ยนแปลงในเชิงการกำหนดความหมายของคำว่า "คนดี" น่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างจริงจังก็เมื่อการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เริ่มต้นขึ้น หลังจากนั้นในความรับรู้ของตัวเราคำว่า "คนดี" ก็กลายเป็นคำที่ดูตลกและน่าขยะแขยงไปพร้อม ๆ กัน อาจะด้วยคำดังกล่าวกลายเป็นเครื่องมือของคนบางกลุ่มในการสร้าง "ความชอบธรรม" ต่อการกระทำอันผิดมนุษย์ (ที่มีสติพึงทำ) รวมไปถึง "ความดี/คนดี" ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการไล่ล่า ทำร้าย ทำลาย คนที่ถูกติดตราในช่วงเวลาดังกล่าวในฐานะของคู่ตรงข้ามของ "ความดีงาน" เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วคู่ตรงข้ามเหล่านั้นย่อมต้องถูกทำลาย และเป็นการทำลายเพื่อรักษาหรือส่งเสริมความดีงานให้เจริญสถาพรยิ่ง ๆ ขึ้นไป
    หนังสือ : ให้คนดีปกครองบ้างเมือง: การเมืองวัฒนธรรมของขวาไทย
    โดย : ประจักษ์ ก้องกีรติ
    จำนวน : 184 หน้า

    "ให้คนดีปกครองบ้างเมือง: การเมืองวัฒนธรรมของขวาไทย" หนังสือวิชาการขนาดไม่ยาว (ในรอบหลายปีของฟ้าเดียวกัน) ที่ว่าด้วยเรื่องของการศึกษาแนวคิดในเรื่องของ "ความดี" และ "คนดี" ที่ในช่วงเวลาหนึ่งมันถูกใช้ในการสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มคนดี (เหลือแสน) อย่างกลุ่ม กปปส. โดยที่ในคำนำผู้เขียน และคำนำของสำนักพิมพ์ได้อธิบายถึงหนังสือ "ให้คนดีปกครองบ้างเมือง: การเมืองวัฒนธรรมของขวาไทย" เอาไว้ว่า

    "หนังสือเล่มนี้มุ่งศึกษาปรากฏการณ์ กปปส. ระหว่างปี 2556 - 2557 และชี้ให้เห็นการต่อสู้ในเชิงการเมืองวัฒนธรรมเพื่อกำหนดหรือสร้างคำนิยามความหมายชุดใหม่ให้กับสิ่งที่ตนเรียกร้อง ที่สำคัญประจักษ์ชำแหละอัตลักษณ์การเป็นคนดีและการเมืองแบบคุณธรรมที่ถูกสร้างขึ้นให้เป็นคู่ตรงข้ามกับฝั่งที่ กปปส. มองว่าเป็นศัตรู ซึ่งก็คือรัฐบาลยิ่งลักษณ์และผู้สนับสนุนที่ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์และไม่อยู่ในขอบเขตของพื้นที่รับผิดชอบทางศีลธรรมของผู้ชุมนุม กปปส. ในแง่หนึ่ง คำอธิบายและการวิเคราะห์ของประจักษ์ก็ช่วยไขข้อข้องใจให้เราได้ว่าทำไมมือปืนป๊อปคอร์นจึงกลายเป็น 'ฮีโร่' ของเหล่าคนดีขึ้นมาได้ " (น. (11))

    "หนังสือเล่มนี้จึงมิใช่หนังสือที่ว่าด้วยอดีต แต่คือหนังสือที่ว่าด้วยการเมืองวัฒนธรรมไทยร่วมสมัย ในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านของอำนาจนำที่ชนชั้นนำจารีตหวาดวิตกต่อกระแสความเปลี่ยนแปลง การเคลื่อนไหวทางการเมืองของขบวนการ กปปส. ที่บันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้คือ อาการป่วยไข้ที่สะท้อนวิกฤตของสังคมการเมืองไทย และอาการเช่นนี้อาจจะปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่อใดก็ได้เมื่อระเบียบอำนาจของคนดีสั่นคลอน" (น. (23))

    ซึ่งหนังสือ "ให้คนดีปกครองบ้างเมือง: การเมืองวัฒนธรรมของขวาไทย" มุ่งอธิบายและอ่านปรากฏการณ์ กปปส. ผ่านแนวคิดและหลักทฤษฎี 4 ทฤษฎีด้วยกันได้แก่ (1) ทฤษฎีที่ผสมผสานแนวคิดเรื่องพื้นที่ความรับผิดชอบทางศิลธรรม (2) ทฤษฎีเรื่องของการลดทอนความเป็นมนุษย์ (3) ทฤษฎีเรื่องของความรุนแรงเชิงศิลธรรม และ (4) ทฤษฎีเรื่องของขบวานการอนารยะและอนารยะขัดขืน เพื่อเป็นการตีแผ่ให้เห็นถึงการเมืองเชิงวัฒนธรรม (ไทย) ภายใต้การเคลื่อนไหวในนามของ "คนดี" ของกลุ่ม กปปส. ในเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมา

    สำหรับเนื้อหาของ "ให้คนดีปกครองบ้างเมือง: การเมืองวัฒนธรรมของขวาไทย" ถูกแบ่งออกเป็น 5 บทหลัก และเสริมด้วยคำนำเสนอของธงชัย วินิจจะกูล โดยเนื้อหาแบ่งออกเป็นดังต่อไปนี้

    คำนำเสนอ เพราะคนดีได้ปกครองตลอดมา บ้านเมืองเราจะลงแดง

    คำนำผู้เขียน

    บทที่ 1 จาก 6 ตุลาฯ ถึงการ "ปฏิวัตินกหวีด": ศีลธรรม ความรุนแรง และการเมืองของความไม่เสมอภาค

    บทที่ 2 "รักประชาธิปไตย ต้องไม่ไปเลือกตั้ง": การต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม การขัดขวางการเลือกตั้ง และการขับไล่รัฐบาล

    บทที่ 3 สงครามของ "คนดี": การลดทอนความเป็นมนุษย์ และความรุนแรงเชิงศีลธรรม

    บทที่ 4 "การปฏิวัตินกหวีด": อนารยะขัดขืนและการเมืองของความไม่เสมอภาค

    บทที่ 5 มรดกของนกหวีด

    เมื่ออ่าน "ให้คนดีปกครองบ้างเมือง: การเมืองวัฒนธรรมของขวาไทย" จบลง เราจะพบว่าการเปลี่ยนความหมายของคำว่า "คนดี" ในช่วงเวลาที่เกิดการชุมนุมทางการเมืองของ กปปส. นั้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนความหมายในความรับรู้ในเรื่องของ "คนดี" ไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ คำว่าคนดีในช่วงเวลาต่อมากลายมาเป็นคำว่า "คนดี" (ในเครื่องหมายคำพูด) ซึ่งการเปลี่ยนความหมายและความเข้าใจของข้อความดังกล่าวอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจากการชุมนุม กปปส. เสียทีเดียว หากแต่คำว่า "คนดี" ถูกใช้เป็น "เครื่องมือทางการเมือง" เพื่อสร้างความชอบธรรมและสร้างความมีอำนาจให้กับการกระทำต่าง ๆ ในนามของ "ความดีงาม" มาเนินนาน และดูทรงแล้ว "คนดี" คงถูกเปลี่ยนความหมายในการใช้งานไปตลอดกาลอันเป็นผลมาจาก "คนดี แบบ กปปส." นี่แหละ

    หมายเหตุ: หนังสือเล่มนี่ถ่ายปกแบบหน้าตรงได้ยากมาก เพราะปกหนังสือถูกออกแบบมาให้เห็นเงาสะท้อน ประหนึ่งว่าคนในเงาสะท้อนของปกนั้นเป็น "คนดี" แต่ถ้าเป็นคนดีแบบที่ปรากฏในหนังสือ เราขอเป็นคนเลวยังดีเสียกว่า

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in