เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
เลาะตะเข็บอำนาจประวัติศาสตร์การศึกษาไทย By ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
  • รีวิวเว้ย (1131) รีวิวเว้ย × สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    คำพูดที่บอกว่า "เยาวชนสร้างชาติ" คงเป็นเรื่องจริงที่อยากจะปฏิเสธ เพราะเมื่อถึงวันหนึ่งและช่วงเวลาหนึ่งเยาวชนคนรุ่นใหม่ก็จะกลายมาป็นกำลังสำคัญในการสร้างชาติและสังคมในกาลต่อมา แต่ก่อนหน้าที่พวกเขาจะเติบโตขึ้นมาจนถึงจุดที่ต้องมารับหน้าที่แทนคนรุ่นก่อน แล้วใครกันที่สร้าง (วิธีคิดของ) เยาวชน (?) ปฏิเสธไม่ได้ว่า "ระบบการศึกษา" ของสังคมหนึ่ง ๆ นับเป็นกลไกสำคัญของการวางรากฐานของการสร้างคนรุ่นใหม่ในสังคม และผลผลิตของระบบการศึกษาจะมีหน้าตาออกมาเป็นแบบไหน ก็ขึ้นอยู่กัลการกำหนดรูปแบบของระบบการศึกษา น่าสนใจว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสังคมไทยเป็นสังคมที่เน้นการขายแนวคิดเรื่องของ "เยาวชนสร้างชาติ" หากแต่ระบบการศึกษาที่สร้างพวกเขาเหล่านั้นอีกทอดหนึ่งเอื้อให้พวกเขาเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติ หรือมันมุ่งสร้างให้พวกเขาเป็นเพียงผลผลิตในแบบที่รัฐไทยชาติไทยต้องการแต่เพียงเท่านั้นกันแน่
    หนังสือ : เลาะตะเข็บอำนาจประวัติศาสตร์การศึกษาไทย
    โดย : ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
    จำนวน : 352 หน้า

    "เลาะตะเข็บอำนาจประวัติศาสตร์การศึกษาไทย" หรือชื้อเต็ม ๆ ของหนังสือคือ "เลาะตะเข็บอำนาจประวัติศาสตร์การศึกษาไทย ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการศึกษาในสังคมไทย  จากการรวมศูนย์อำนาจของรัฐ  การรัฐประหาร  และระบบราชการ  ตั้งแต่  พ.ศ.2490-2562 (On Thai Education)" หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของการสืบย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ในเรื่องของ "การจัดการศึกษา" ของสังคมไทย ที่ถูกสร้างและกำหนดขึ้นใหม่ภายใต้วิธีคิดแบบ "รวมศูนย์อำนาจของรัฐ" ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 กระทั่งถึง พ.ศ. 2562

    เนื้อหาของ "เลาะตะเข็บอำนาจประวัติศาสตร์การศึกษาไทย" พาผู้อ่านย้อนกลับไปทำความเข้าใจที่มาที่ไป และพัฒนาการของระบบการศึกษา การจัดการศึกษา และเบื้องหลังของการกำหนดรูปแบบการศึกษาของสังคมไทยตั้งแต่ช่วงหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ที่ระบบการศึกษากลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญของการสร้างความชอบธรรมของรัฐ และการปลูกฝังค่านิยมของรัฐให้กับเด็กและเยาวชนผ่านรูปแบบของการจัเการศึกษา ภายใต้ระบบการศึกษาแบบอำนาจนิยมที่มีเป้าประสงค์ของการสร้างชาติผ่านระบบการศึกษา

    โดยที่ "เลาะตะเข็บอำนาจประวัติศาสตร์การศึกษาไทย" พาผู้อ่านไปทำความเข้าใจระบบการศึกษาในแต่ละยุคนับเนื่องตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ต่อมาจนถึงช่วงเวลาของการสร้างการศึกษาเพื่อสู่ภัยคอมมิวนิสต์ กระทั่งยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ จนถึงเหตุการณ์หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 ที่ไม่ว่าจะยุคไหน ช่วงเวลาใด การเข้าครอบงำระบบการศึกษาเพื่อสร้างคนในแบบที่รัฐและผู้ครองอำนาจอยากได้นับเป็นเรื่องสำคัญมาตลอดช่วงประวัติศาสตร์ของสังคมไทย

    เนื้อหาของ "เลาะตะเข็บอำนาจประวัติศาสตร์การศึกษาไทย" แบ่งออกเป็น 7 บท ที่จะแบ่งเนื้อหาออกเป็นช่วงเวลาต่าง ๆ และในแต่ละบทจะประกอบไปด้วยหัวข้อ พัฒนาการ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาที่มีความเกี่ยวโยงและเกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาของไทย โดยเนื้อหาแบ่งเป็นดังนี้

    บทที่ 1 บทนำ

    บทที่ 2 การศึกษารวมศูนย์ของไทยหลังรัฐประหาร 2490 จนถึง รัฐประหาร 2500 (พ.ศ. 2490-2500)

    บทที่ 3 การศึกษารวมศูนย์ของไทยในห้วงสงครามเย็น (พ.ศ. 2500-2525)

    บทที่ 4 การศึกษาไทยยุคเศรษฐกิจฟองสบู่กับตลาดการศึกษาที่ขยายตัว (พ.ศ. 2525-2540)

    บทที่ 5 การศึกษาไทยกับฉันทามติหลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 (พ.ศ. 2540-2549)

    บทที่ 6 การศึกษาไทยหลังรัฐประหาร และฉันทามติที่ขาดการมีส่วนร่วม (พ.ศ. 2549-2562)

    บทที่ 7 บทสรุป

    เมื่ออ่าน "เลาะตะเข็บอำนาจประวัติศาสตร์การศึกษาไทย" จบลง น่าสนใจว่าระบบการศึกษาของไทยมุ่งเน้นไปที่เรื่องของการสร้างระบบการศึกษาผ่านรูปแบบของรัฐรวมศูนย์ บ้างบังคับสร้างผ่านนโยบาย บ้างบังคับสร้างผ่านเม็ดเงิน และบางกรณีก็บังคับผ่านมาตรฐานต่าง ๆ ที่ส่วนกลางเป็นคนกำหนด น่าสนใจว่าในยุตปัจจุบันที่มีการพูดถึงประเด็นเรื่องของ "การกระจายอำนาจ" กันอยู่เนือง ๆ หากระบบการศึกษาและการจัดการศึกษาอยู่ภายใต้แนวคิดของ "การกระจายอำนาจทางการศึกษา" ให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการออกแบบกิจกรรม และจัดการเรียนการสอนของตัวเองโดยไม่ต้องยึดกุมกัลมาตรฐานการศึกษาโดยส่วนกลาง น่าสนใจว่ารูปแบบของการศึกษาจะออกมาหน้าตาเป็นเช่นไร และเนื้อหา-หลักสูตรการศึกษาจะมีความหลากหลายและน่าสนใจขนาดไหนกัน

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in