เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
แม่ ฉัน และอัลไซเมอร์ By ชลจร จันทรนาวี
  • รีวิวเว้ย (1130) "นี่มึงเป็นอัลไซเมอร์รึเปล่า" เป็นคำที่หลายคนหยิบมาใช้เมื่อเวลาที่เราต้องการพูดกับใครสักคนในกรณีที่เขาหลงลืมอะไรบางอย่าง แต่เอาเข้าจริงอัลไซเมอร์ อาจะไม่ใช่แค่เรื่องของการลืมหรือการจำอะไรไม่ได้ในแบบที่ภาพจำของสังคมหยิบมาพูดถึงในกรณีที่ลืมนั่นลืมนี่ หลายปีก่อนเราอาจจะพอจำหนังเรื่อง "ความจำสั้นแต่รักฉันยาว" ที่ตัวเอกของเรื่องเป็นโรคอัลไซเมอร์ และกำลังค่อย ๆ สูญเสียความทรงจำของตัวเองลงในทุก ๆ วันที่เวลาเดินไปข้างหน้า หากแต่ฉากจบของหนังก็จบลงตรงที่อาการของโรคอัลไซเมอร์ในตัวเอกของเรื่องยังไม่ร้ายแรงนัก ด้วยเพราะตัวของหนังเป็นหนังรักไม่ใช่หนังชีวิตที่ต้องฉายให้ดูภาคต่อที่ไม่น่าดูเสียเท่าไหร่หากตัวเอกของเรื่องลืมไปแม้กระทั่งวิธีการใช้ชีวิต ซึ่งในชีวิตจริงของผู้ป่วยและคนที่ต้องรับผิดชอบดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ มันจะเริ่มขึ้นหลังจากที่เนื้อเพลงท่อนที่ร้องว่า "โปรดจงมั่นใจ ฉันขอสัญญาจะจำทุกเรื่องราว ไม่ว่าร้ายหรือดี สุขหรือทุกข์ใจ ฉันจะทบทวน เรื่องราวของเธอตลอดไป เผื่อวันสุดท้ายที่ฉันหายใจ จะได้ไม่ลืมเธอ จะได้ไม่ลืมเธอ" จบลง เพราะสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์แล้ว แค่เขาไม่ลืมตัวตนของเองนั้นก็ดีมาก ๆ แล้ว
    หนังสือ : แม่ ฉัน และอัลไซเมอร์
    โดย : ชลจร จันทรนาวี
    จำนวน : 176 หน้า

    "แม่ ฉัน และอัลไซเมอร์" หนังสือขนาดสั้นที่ว่าด้วยเรื่องราวของครอบครัว และตัวคนที่ต้องคอยทำหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วย "อัลไซเมอร์" ซึ่งก็คือ "แม่" ของผู้เขียน ที่ต้องเผชิญกับอาการป่วยของโรคอัลไซเมอร์ที่มันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตของแม่ของผู้เขียน ซึ่งทำให้การใช้ชีวิตของทั้งแม่ ครอบครัว และตัวผู้เขียนเปลี่ยนไปอย่างถาวร

    สำนวนและการบอกเล่าที่ปรากฎใน "แม่ ฉัน และอัลไซเมอร์" อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการบอกเล่าที่ไม่อยากดึงให้เราในฐานะของผู้อ่านต้องอยู่ในอารมณ์ที่ดราม่าจนเกินไปนัก หากแต่เนื้อหาของ "แม่ ฉัน และอัลไซเมอร์" คือการขยายให้ผู้อ่านได้เห็นภาพความยากลำบากของการดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ โดยเฉพาะเมื่อหน้าที่นั้นตกเป็นของคนเพียงคนเดียวที่ต้องคอยดูแลผู้ป่วยเกือบตลอด 24 ชั่วโมง และเกือบตลอดชั่วชีวิตของผู้ป่วยที่ต้องอยู่กัลผู้ดูแล

    เนื้อหาทั้ง 13 ตอน ที่อยู่ใน "แม่ ฉัน และอัลไซเมอร์" พยายามบอกเล่าประสบการณ์และสิ่งที่ผู้เขียนต้องเผชิญ โดยที่ตัวผู้เขียนได้ลดทอนความลำบากและความดราม่าของเรื่องต่าง ๆ ลง ผ่านเสียงหัวเราะ และการทำให้มันเป็นเรื่องเล่าที่ดูไม่ซีเรียสจนเกินไปนัก หากแต่ผู้อ่านที่ครอบครัวมีผู้ป่วยอัลไซเมอร์อยู่ร่วมบ้าน เราจะรู้ว่าเรื่องเล่าที่ปรากฎใน "แม่ ฉัน และอัลไซเมอร์" และเสียหัวเราะที่อยู่ในเล่ม คือความพยายามในการลดทอนความรู้สึกที่ยากจะอธิบายในเรื่องของความยกลำบากต่อการรับมือและการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์

    หลังจากอ่าน "แม่ ฉัน และอัลไซเมอร์" ทำให้เราย้อนกลับมามองแม่ของเรา ที่ต้องทุ่มเทเวลาในการดูแลยายที่เป็รอัลไซเมอร์ พ่วงกับอาการหูใกล้หนวก ซึ่งทุกครั้งที่เรากลับบ้านเรามักจะเห็นภาพแม่ตื่นแต่เช้ามืดเพื่อไปตลาดซื้อของมาทำกับข้าวให้ยาย พายายอาบน้ำและทำกิจกรรมต่าง ๆ ก่อนที่ตัวเองต้องออกไปทำงาน และกลับบ้านมาก็วนซ้ำกิจกรรมแบบเดิม และซ้ำแบบเดิมมาตลอดนับตั้งแต่วันที่ตาเสียไปเกือบ 10 ปีแล้ว ทุกครั้งที่กลับไปบ้านนาน ๆ ครั้งสิ่งที่ทำได้ก็แค่เรื่องก๊อก ๆ แก๊ก ๆ เพื่อแบ่งเบาภาระที่แม่ต้องแบกรับ เพราะเรารู้ว่าการที่คนหนึ่งคนต้องดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์นั้นไม่ง่าย และก็ไม่รู้ว่าจะต้องดูแลกันไปอีกนานแค่ไหน หรือนานจนกว่าฟ้าจะจัดสรร

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in