เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
มัจฉา ปักษี ผีเสื้อ By ศริญญา อรุณขจรศักดิ์
  • รีวิวเว้ย (1036) "ครั้งหนึ่งจวงจื่อฝันไปว่าตนเป็นผีเสื้อ ขยับกระพือปีกบินไปรอบ ๆ อย่างสุขสำราญใจ เริงเล่นไปตามใจปรารถนา มันหารู้ไม่ว่ามันคือจวงจื่อ พลันเมื่อตื่นขึ้นและพบว่าตัวเองเป็นจวงจื่ออย่างแน่แท้ แต่เขากลับไม่แน่ใจว่าเป็นจวงจื่อที่ฝันไปว่าตัวเองเป็นผีเสื้อ หรือว่าเป็นผีเสื้อที่ฝันเป็นจวงจื่อกันแน่ ระหว่างจวงจื่อและผีเสื้อ จะต้องมีความแตกต่างบางอย่าง นี่เรียกว่าการแปรเปลี่ยนของสรรพสิ่ง" (จวงจื่อ: บทที่ 2 สรรพสิ่งคือหนึ่งเดียว) ข้อความท่อนดังกล่าวที่ตัดเอามาจากคัมภีร์จวงจื่อ ฉบับสมบูรณ์ เป็นหนึ่งในหนังสือที่เราเคยใช้เรียนในวิชาปรัชญาการเมืองเบื้อต้นที่คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และเป็นหนึ่งในชุดหนังสือประกอบการเรียนที่ยากที่สุดเท่าที่เราเคยอ่านมา (ความรู้สึกในตอนที่เรียนครั้งแรก) เพราะเราไม่เข้าใจเลยแม้แต่น้อยว่าความหมายของข้อความต่าง ๆ ที่ปรากฏในหนังสือจวงจื่อ ฉบับสมบูรณ์, หลุนอีว์ ขงจื่อสนทนา และวิถีแห่งเต๋า ทั้ง 3 เล่มนี้เกี่ยวข้องกับวิชาที่เรียนอย่างไร เพราะตัวบทในหนังสือทั้ง 3 เล่มดูจะไม่เหมือนกับตัวบทของหนังสือเล่มอื่น ๆ ที่เคยเรียนผ่านมาในวิชาก่อนหน้า เพราะแทบทุกข้อความ ทุกตัวอักษรของหนังสือทั้ง 3 เล่ม เราในฐานะของผู้อ่านและผู้เรียน ต้องตีความ ทำความเข้าใจ ค่อยขบคิดไปกับข้อความแต่ละคำแต่ละประโยค รวมถึงการอ่านข้อความเดียวกันโดยคนแต่ละคนก็อาจจะเข้าใจหรือตีความข้อความนั้น ๆ ได้แตกต่างกันออกไป นั่นทำให้การเรียนวิชาปรัชญาการเมืองในตอนนั้นมันเป็นเหมือนการบำเพ็ญบุญบารมีอะไรสักอย่าง แต่ก็น่าแปลกที่หนังสือ จวงจื่อ ฉบับสมบูรณ์, หลุนอีว์ ขงจื่อสนทนา และวิถีแห่งเต๋า ทั้ง 3 เล่มนี้เป็นหนังสือที่เราหยิบมันมาอ่านซ้ำอยู่บ่อยครั้งนับตั้งแต่เรียนจบและเป็นหนังสือในวิชาเรียนที่เราเปิดอ่านมันมากกว่าเล่มอื่นที่ใช้เรียนมาเสียอีก ความน่าสนุกของหนังสือทั้ง 3 เล่มในการเปิดเพื่อ "อ่านใหม่" ในแต่ละครั้ง ข้อความ ประโยค และคำต่าง ๆ ในหนังสือในทุกครั้งมี่เปิดอ่านตัวเราจะรับรู้เนื้อความของมันต่างออกไปจากครั้งก่อนที่เปิดเสมอ บ้างครั้งรับรู้เปลี่ยนไปจากครั้งก่อนอย่างมาก หรือบางครั้งอาจจะเปลี่ยนเพียงเล็กน้อย แต่ทุกครั้งที่กลับมาอ่านใหม่ไม่มีครั้งไหนเลยที่เราจะรับรู้มันเหมือนที่อ่านไปครั้งก่อนหน้า
    หนังสือ : มัจฉา ปักษี ผีเสื้อ: อุปลักษณ์สัตว์และการผดุงชีวิตในปรัชญาของจวงจื่อ
    โดย : ศริญญา อรุณขจรศักดิ์
    จำนวน : 352 หน้า

    "มัจฉา ปักษี ผีเสื้อ: อุปลักษณ์สัตว์และการผดุงชีวิตในปรัชญาของจวงจื่อ" หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของการอ่านเรื่อง "อุปลักษณ์สัตว์" ที่ปรากฏในหนังสือ "จวงจื่อ"

    มีการให้ความหมายของอุปลักษณ์เอาไว้ว่า "อุปลักษณ์ (metaphor) หมายถึง การเปรียบเทียบความเหมือนระหว่างสองสิ่ง โดยที่สิ่งทั้งสองเป็นสมาชิกของกลุ่มทางความหมายที่ต่างกันหรือเป็นคนละวงมโนทัศน์กัน สิ่งที่ เป็นต้นทางของการเปรียบเทียบเรียกว่า source domain และเรียกสิ่งที่เป็นปลายทางของการเปรียบเทียบว่า target domain"

    "มัจฉา ปักษี ผีเสื้อ: อุปลักษณ์สัตว์และการผดุงชีวิตในปรัชญาของจวงจื่อ" พาเราไปทำความเข้าใจเรื่องของการหยิบเอาสัตว์และการกระทำที่เกี่ยวกับการผดุงชีวิตมาขยายความจากตัวบทของหนังสือ โดยที่ผู้เขียนได้ขยายความเรื่องของสัตว์และการผดุงเพื่อให้ผู้อ่านเห็นถึงความสัมพันธ์บางประการระหว่างสัตว์ ธรรมชาติ การผดุงชีวิตและความเป็นมนุษย์ ซึ่งนอกจากที่ "มัจฉา ปักษี ผีเสื้อ: อุปลักษณ์สัตว์และการผดุงชีวิตในปรัชญาของจวงจื่อ" จะพาเราไปทำความเข้าใจในตัวบทต่าง ๆ ดังที่กล่าวไปก่อนหน้าแล้ว หนังสือยังเปรียบเทียบตัวบทของจวงจื่อกับตัวบทของขงจื่อในเรื่องของ "ตัวตน" และยังขยายความให้ผู้อ่านเห็นถึงความแตกต่างของสำนักคิดทั้ง 2 ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ "มนุษย์" จากคนละมุมมอง

    "มัจฉา ปักษี ผีเสื้อ: อุปลักษณ์สัตว์และการผดุงชีวิตในปรัชญาของจวงจื่อ" แบ่งเนื้อหาออกเป็นบทต่าง ๆ ดังนี้

    บทนำ

    บทที่ 1 ทฤษฎีอุปลักษณ์ และการใช้อุปลักษณ์ใน จวงจื่อ

    บทที่ 2 มนุษย์ สัตว์ และโลกธรรมชาติใน จวงจื่อ

    บทที่ 3 อุปลักษณ์สัตว์ที่สำคัญใน จวงจื่อ

    บทที่ 4 ผู้ล่า ผู้เลี้ยง ผู้แล่เนื้อสัตว์: การผดุงชีวิตและการปกครองใน จวงจื่อ

    บทที่ 5 บทสรุป

    นอกจากเนื้อหาในบทต่าง ๆ แล้ว "มัจฉา ปักษี ผีเสื้อ: อุปลักษณ์สัตว์และการผดุงชีวิตในปรัชญาของจวงจื่อ" ในส่วนของอภิธานคำศัพท์และเชิงอรรถของหนังสือเล่มนี้ ยังช่วยให้ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจเนื้อหาของหนังสือได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องกลับไปอ่านหนังสือต้นทางเพื่อกลับมาทำความเข้าใจใน "มัจฉา ปักษี ผีเสื้อ: อุปลักษณ์สัตว์และการผดุงชีวิตในปรัชญาของจวงจื่อ" อีกต่อหนึ่ง

    "ผู้คนต่างละทิ้งธรรมชาติดั้งเดิมไปเพราะสิ่งภายนอก ผู้คนสามัญต่างเสี่ยงชีวิตเพื่อผลประโยชน์ เหล่าขุนพลต่างเสี่ยงชีวิตเพื่อชื่อเสียง เหล่าขุนนางชั้นสูงต่างก็เสี่ยงชีวิตเพื่อวงศ์ตระกูล หมู่ปราชญ์นั้นเล่าก็เสี่ยงชีวิตเพื่อโลก ผู้คนหลากหลายชนชั้นเหล่านี้ต่างดำเนินชีวิตตามวิถีทางที่แตกต่างกันไป และต่างได้รับการยกย่องด้วยอาการต่าง ๆ ทว่า มีสิ่งที่เหมือนกันคือ ต่างทำลายธรรมชาติดั้งเดิมลงและพร้อมที่จะสังเวยชีวิตเพื่อบางสิ่งบางอย่าง" (จวงจื่อ)

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in