เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
ถอดรหัสประเด็นการศึกษาไทย: ใต้พรมแห่งความดีงาม
  • รีวิวเว้ย (836) หลายวันก่อนรุ่นน้องคนหนึ่งมาเล่าให้ฟังว่าผู้อำนวยการที่โรงเรียน (ผอ.) ต่อว่ารุ่นน้องคนดังกล่าวในฐานะครูว่า "ไม่มีความรู้เรื่องระบบราชการ ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ราชการคือการฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด" เราในฐานะของคนเรียน "รัฐศาสตร์" ได้ฟัง ผอ.โรงเรียน ผู้ในมุมนั้นก็ได้แต่พิมพ์ตอบรุ่นน้องไปว่า "ก็ว่าทำไมระบบการศึกษามันถึงไม่เจริญไปไหนเลย" เอาเข้าจริงการที่ครูมองว่า "ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ราชการ (ครู) = การฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด" มันก็ดูตลก แปลก และผิดฝาผิดตัวไปสักหน่อยโดยเฉพาะทัศนะคติของคนที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน แทนที่เขาจะเข้าใจว่า ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ราชการ (ครู) = การสอนหนังสือให้ดี สร้างบรรยากาศในห้องเรียนให้เป็นมิตรกับผู้เรียน แต่ทำไมหวยดันไปออกที่การฉีดวัคซีน แต่ก็พออนุมานได้ว่าผู้อำนวยการคนนี้ไม่ได้มีใจรักการสอนเท่าไหร่นัก บางครั้งอาจจะต้องตั้งคำถามย้อนกลับไปว่า "ครั้งสุดท้ายที่ ผอ. ได้สอนหนังสือมันคือเมื่อไหร่กัน (?)" สิ่งนี้คือภาพสะท้อนของความไร้ประสิทธิภาพของระบบการศึกษาในโรงเรียนไทย เพราะมันชัดเจนมากว่าครูผู้สอนไม่ได้ทำหน้าที่หรือมีส่วนในการกำหนดนโยบายการเรียนการสอนในระดับนโยบาย แต่คนที่คิดนโยบายและบังคับใช้นโยบายในระดับของการบริหารงานกลับเป็นคนที่ "ไม่เคยสอน" หรือ "เคยสอนเมื่อนานมาแล้ว" และในเมื่อการศึกษาคือระบบที่ต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลง ให้สอดรับกับกระแสโลกอยู่ตลอดเวลา เมื่อทั้งรัฐมนตรีประจำกระทรวง ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูใหญ่ กลุ่มผู้ที่มีส่วนในการกำหนดนโยบายการศึกษากลับไม่รู้ ไม่เข้าใจ และไม่เคยรับฟังความเห็นของผู้ปฏิบัติงาน มันจึงไม่น่าแปลกใจที่ระบบการศึกษาไทยในช่วงเวลานี้อยู่ในสภาพคล้ายสำนวนไทยที่ว่า "มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ"
    หนังสือ : ถอดรหัสประเด็นการศึกษาไทย: ใต้พรมแห่งความดีงาม
    โดย : คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์
    จำนวน : 144 หน้า
    ราคา : 180 บาท

    "ถอดรหัสประเด็นการศึกษาไทย: ใต้พรมแห่งความดีงาม" หนังสือเล่มเล็กที่ถอดเอาประเด็นของหนังนือออกมาจากงานวิจัยที่ว่าด้วยเรื่องของ "การสำรวจและรื้อถอนมายาคติทางการศึกษาในสังคมไทย" โดย "คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ที่ได้ทำการสรุปเนื้อหาของเล่มงานวิจัยออกมาเป็นบทย่อย ๆ ในหนังสือ "ถอดรหัสประเด็นการศึกษาไทย: ใต้พรมแห่งความดีงาม" ที่แต่ละบทของหนังสือจะว่าด้วยเรื่องของมายาคติในระบบการศึกษา ที่ส่งผลต่อโครงสร้างของระบบการศึกษาไทยทั้งระบบ ที่หลายคนอาจจะหลงลืมหรือละเลยว่าสิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญบางประการที่ส่งผลต่อระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน

    เนื้อหาใน "ถอดรหัสประเด็นการศึกษาไทย: ใต้พรมแห่งความดีงาม" ประกอบไปด้วยเรื่องของ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในหัวข้อ "ถ่างหรือถมความเหลื่อมล้ำ ? ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในทักษะศตวรรษที่ 21" เรื่องของความกดดันต่อการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในหัวข้อ "เมื่อการสอบเข้ามหาลัยไม่ใช่แค่เรื่องของผู้เรียน" เรื่องของความเสมอภาคในการเข้าถึงระบบการศึกษาในหัวข้อ "ไม่ควรมีใครยอมศิโรราบ เพื่อให้ได้มาซึ่งความเสมอภาคทางการศึกษา" เรื่องของการใช้ความรุนแรงและการลงโทษในการจัดการห้องเรียนในหัวข้อ "คำถามถึงพระคุณที่สาม ที่ยังใช้ความรุนแรงจัดการห้องเรียนและการลงโทษ" และหัวข้อสุดท้ายว่าด้วยเรื่องของมายาคติเรื่องเพศที่เป็นเรื่องต้องห้ามในโรงเรียน ในหัวข้อ "ขังเด็กไทยไว้ในความกลัว ด้วยมายาคติเรื่องเพศในห้องเรียน"

    โดยที่เนื้อหาในบทต่าง ๆ ของ "ถอดรหัสประเด็นการศึกษาไทย: ใต้พรมแห่งความดีงาม" เป็นการสะท้อนในเห็นภาพที่ถูกซ่อนเอาไว้ใต้พรมของระบบการศึกษาไทย ที่ในท้ายที่สุดแล้วสิ่งเหล่านี้คือเครื่องมือในการบันท่อนศักยภาพของผู้เรียน คือกลไกในการทำร้าย ทำลาย ทั้งผู้เรียนและผู้สอน ซึ่งผลสะท้อนกลับมาก็คือภาพของระบบการศึกษาไทยโดยกระทรวงศึกษาที่เราไม่สามารถเรียกมันได้ว่า "สมบูรณ์" หรือไม่แน่ใจว่าควรจะเรียกมันว่าวินาศนับตั้งแต่ครั้งอดีตกระทั่งปัจจุบัน ที่ความวินาศมาจากปัญหาที่ถูกทำให้มองไม่เห็น หากอยากพัฒนาระบบการศึกษาของไทยให้ดีขึ้น อย่างแรกที่ผู้กำหนดนโยบายต้องทำ ครู ผู้ปกครองและนักเรียนต้องมองเห็นร่วมกัน ก็คือมองเห็นกองขยะที่ระบบการศึกษากวาดรวมกันไว้ใต้พรมจนมันปูดโปนขึ้นมา

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in