เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
การปกครองท้องถิ่นแห่งราชอาณาจักรสเปน By อนันต์ คงเครือพันธุ์
  • รีวิวเว้ย (639) รีวิวเว้ย × สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

    สมัยที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่ในคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ในวิชาเรียนของสาขาการเมืองการปกครองจะมีวิชาบังคับ (ในสมัยนั้น) ที่ว่าด้วยเรื่องของ "การเมืองการปกครองท้องถิ่น" ที่นักศึกษาในสาขาปกครองจะต้องลงเรียนกันทุกคน และในวิชาเรียนนั้นเองที่ช่วยสร้างความรับรู้ในเรื่องของ บทบาท หน้าที่ ความสำคัญ และความสัมพันธ์ระหว่างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยกับกลไกของการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่อาจจะเรียกได้ว่าความคิดในยุคแรกต้ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นจะเป็นเรื่องของความมุ่งหมายในการกระจายอำนาจไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศสยาม และมุ่งหมายที่จะให้สนามท้องถิ่นนั้นคือพื้นที่ของการเรียนรู้ในเรื่องของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การเรียนการสอนในวิชาการเมืองการปกครองท้องถิ่นนั้นทำให้เราได้รับรู้ถึงรูปแบบต่าง ๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังที่ได้กล่าวไปแล้ว และรวมไปถึงได้รู้ถึงรูปแบบของการปกครองท้องถิ่นในต่างประเทศหลายประเทศที่กลายมาเป็นแม่แบบของการปกครองท้องถิ่นในประเทศไทย แต่ด้วยความหลากหลายของประเทศและข้อจำกัดในด้านของการเข้าถึงข้อมูลความรู้ในรูปของภาษาท้องถิ่น ทำให้หลายครั้งองค์ความรู้ต่าง ๆ ก็ขาดตกบกพร่องไปบ้างอันอาจจะเกิดจากปัญหาที่ได้กล่าวไป และอาจจะเกิดจากขาดการให้ความสนใจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
    หนังสือ : การปกครองท้องถิ่นแห่งราชอาณาจักรสเปน
    โดย : อนันต์ คงเครือพันธุ์
    จำนวน : 75 หน้า
    ราคา : หนังสือโดยสำนักงานสัญญาฯ

    ทำให้เมื่อสำนักงานสัญญาฯ ส่งหนังสือเรื่อง "การปกครองท้องถิ่นแห่งราชอาณาจักรสเปน" ซึ่งเป็นหนังสือเล่มที่ 3 ในชุด "เอกสารความรู้ว่าด้วยสถาบันการเมือง" มาให้อ่าน ทำให้เราเกิดคำถามแรกขึ้นทันทีว่า "สเปนมีการปกครองท้องถิ่นหน้าตาแบบไหนกัน (?)" เพราะเอาเข้าจริงความรับรู้ในเรื่องของ "สเปน" ในวงวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ในประเทศไทยอาจจะไม่ได้มีสูงมากนัก และโดยเฉพาะในส่วนของหนังสือวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เราอาจจะเห็นผ่านตาหนังสือในกลุ่มของประวัติศาสตร์สเปนของสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การวิเคราะห์ถึงผู้นำเผด็จการอย่างนายพลฟรังโก แต่เรื่องของการปกครองท้องถิ่นของสเปนนั้นแทบจะหายไปจากการรับรู้และการศึกษาในวงวิชาการในรูปของหนังสือวิชาการเราแทบไม่เคยเห็นผ่านตา

    นั่นทำให้หนังสือ "การปกครองท้องถิ่นแห่งราชอาณาจักรสเปน" จึงเป็นอีกหนึ่งงานวิชาการที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในบทที่หนังสือบอกเล่าเรื่องของการปกครองท้องถิ่นของสเปน ทั้งเรื่องของความเป็นมา รูปแบบ อำนาจหน้าที่ ที่ถูกกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ และรวมไปถึงการให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในฐานะหน่วยปกครองสำคัญที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคือหน่วยงานที่ถูกแช่แข็งมาโดยตลอด อีกทั้งทัศนะของหลายคนในสังคมยังคงมองว่าการเมืองท้องถิ่นในไทยคือสนามที่ไม่สำคัญ และเต็มไปด้วยการโกงกิน ทำให้หน่วยงานส่วนกลางต้องตั้งหน่วยงานขึ้นมาคลอบทับในฐานะของหน่วยงานกลางในการกำกับดูและ และตรวจสอบบนฐานของการ "จับผิด" เป็นสำคัญ 

    น่าแปลกใจที่ความตั้งใจของการกระจายอำนาจในประเทศไทยในรูปของหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งแต่ 2475 กระทั่งถึงปัจจุบัน (2563) มันก็ยังดูไม่ได้รับความสนใจและใส่ใจเท่าไหร่นักทั้งที่มันควรจะต้องเป็นหน่วยการปกครองแรก ๆ ที่ควรได้รับความสำคัญ เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น "อยู่ใกล้ประชาชน" มากที่สุด และเป็นพื้นที่ตั้งต้นในการแก้ไขปัญหาของประชาชนในประเทศ 

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in