“อะไรที่เป็นของของเรา เราก็มักจะดูแลและรักษาเป็นอย่างดี”
เพียงแค่หลักง่ายๆธรรมดาของมนุษย์ที่เมื่อเราเป็นเจ้าของสิ่งใดแล้ว เราจะต้องดูแลรักษาของของเราให้ดีที่สุด แต่หากมองมาในบริบทของสังคมของเราแล้ว อยากให้ทุกท่านได้ลองนึกดูว่าเราเป็นเจ้าของอะไรบ้าง ? เราเป็นเจ้าของถนนหรือไม่ เราเป็นเจ้าของต้นไม้สาธารณะหรือไม่ เราเป็นเจ้าของเสาไฟหรือไม่ เราเป็นเจ้าของโรงพยาบาลหรือโรงเรียนหรือไม่
สิ่งเหล่านี้เป็นของเราจริงแท้แน่นอน แต่ต้องยอมรับว่าเราทุกคนก็ต่างเป็นเจ้าของร่วมกัน เราต่างมีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์จากสิ่งๆนั้นได้ ซึ่งปัญหามีอยู่ว่าเมื่อเราเป็นเจ้าของแล้วเหตุใดเราจึงไม่ดูแลและรักษาสิ่งที่เป็นของเราให้ดี ดังอย่างที่เกิดปัญหาขึ้นมามากมาย เช่น ขับขี่บนทางเท้า ลักขโมยเสาไฟ ทิ้งขยะเกลื่อนกลาด อาชญกรรม เป็นต้น แท้จริงแล้วยังมีปัญหาอีกจำนวนมากที่ยังเกิดอยู่ในสังคมไทย เพียงแต่ว่าปัญหาที่ว่ามาเหล่านี้ ไม่ได้เกิดมาเพียงปัจจัยใดปัยจัยหนึ่งเท่านั้นแต่ยังมีปัจจัยอื่น ไม่ว่าจะเป็น ระบบของโครงสร้าง จิตสำนึก กฎข้อบังคับ และอื่นๆอีกมาก ที่ทำให้ปัญหาเหล่านี้ยังคงสะสมและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มทวีคูณมากขึ้น หากยังไม่มีแนวทางแก้ไขที่ดี
แต่ก็อย่าเพิ่งท้อใจไปเสียทีเดียว ยังมีหนทางแก้ไขอีกทางหนึ่ง ที่เกิดขึ้นจริงและประสบความสำเร็จแล้ว ที่โรงพยาบาลอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น กับภารกิจสร้างอำเภออุบลรัตน์ให้อยู่เย็นเป็นสุข และเป็นอำเภอที่น่าอยู่ที่สุดในโลก โดยมีแนวคิดที่ต้องการจะรักษาสุขภาพของผู้ป่วยให้มากกว่าการรักษาแบบธรรมดาทั่วไป แต่ยังรักษาไปถึงสภาพจิตใจ รวมถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย มุ่งเน้นที่ต้องการจะพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชน สร้างความสุขให้เกิดขึ้นกับทุกคน
นายแพทย์ อภิสิทธิ ธรรมวรางกูลผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์ ได้กล่าวไว้ว่าไม่ว่าจะรวยหรือจน เราทุกคนต่างมีจุดร่วมที่สำคัญที่สุดคือ “ความสุข” และหากป่วยเราก็คงไม่มีความสุข คงจะกลายเป็นความทุกข์กายและทุกข์ใจ หลายๆวงจรของสังคม ท้ายที่สุดแล้วก็มักจะมาจบที่โรงพยาบาล เป็นหน้าที่ของแพทย์ที่จะต้องดูแลรักษากายและใจของผู้ป่วย ซึ่งเมื่อจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น การรักษาก็เป็นที่ต้องการของผู้ป่วย นายแพทย์อภิสิทธิ์มองเห็นว่าหากไม่แก้ปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ ไม่ว่าจะสร้างอาคารสร้างห้องพักรองรับผู้ป่วยมากแค่ไหนก็คงไม่พอรองรับผู้ป่วยได้เลย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จำต้องดูแลและรักษาตั้งแต่ต้นตอของปัญหา โรงพยาบาลอุบลรัตน์เกิดปัญหาตามมา คือ จำนวนเตียงไม่พอรองรับผู้ป่วย เมื่อเตียงของผู้ป่วยติดกัน ก็ส่งผลให้เชื้อโรคแพร่ถึงกันได้ง่ายขึ้น การรักษาผู้ป่วยกับจำนวนแพทย์ไม่สอดคล้องกัน ทำให้ใช้เวลาค่อนข้างนานในการมารักษา ทางโรงพยาบาลจึงต้องการห้องพักรองรับผู้ป่วย พื้นที่ในการรักษาดูแลผู้ป่วย และต้องการสร้างสุขภาพของผู้ป่วยมากกว่าการรักษาตามปกติ จึงได้ร่วมมือกับนักปราชญ์ชาวบ้านชาวอีสาน และองค์กรอื่นๆอีกมากมาย จนเกิดเป็นมูลนิธิพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี จังหวัดขอนแก่น
แนวคิดหลักของโครงการนี้ คือ เน้นการมีส่วนร่วม ไม่ใช่เพียงแค่หมอ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ แต่หมายถึงการมีส่วนร่วมของทุกคน ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของโรงพยาบาลอุบลรัตน์ รูปแบบการทำงานของโรงพยาบาล อาศัยองค์ประกอบหลัก ของ PPP
1. Public คือรัฐก่อสร้างตึกหรือสนับสนุนทางการแพทย์
2. Praviate คือเอกชนสร้างอาคาร เครื่องมือแพทย์ การจ้างงานผู้พิการ
3. People คือ ประชาชนมีส่วนร่วม บริจาคเพื่อสุขภาพดี เมื่อเจ็บป่วยมีห้องพิเศษนอน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม บริจาควันละ 3 บาทปีละ 1000 บาทต่อปีเพื่อสมทบสร้างอาคารพิเศษ 6 ชั้น 80 ห้อง
ไม่เพียงแค่บริจาคเงินเพื่อสร้างอาคารแล้วเป็นอันเสร็จสิ้นไป ผู้บริจาคสามารถเข้าร่วมการอบรม workshop กิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับอาชีพและสุขภาพได้ เพื่อพัฒนาศักยภาพและต่อยอดอาชีพของตนเองได้ เมื่อทุกคนรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาล เป็นเจ้าของร่วมกัน มีหน้าที่ที่ต้องดูแลรักษาของตนเอง คนในชุมชนก็เริ่มเกิดจิตสำนึกที่ต้องการแบ่งปัน แม้ตนเองจะไม่ได้ป่วย ที่จะต้องนอนรักษา แต่ก็ยังต้องการบริจาคเผื่อคนที่เจ็บป่วยให้ได้รับการรักษาที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงาม และเป็นการบรรลุเป้าหมายอย่างหนึ่งคือการให้ทุกคนเข้าใจถึงการแบ่งปันซึ่งกันและกันมากขึ้น
ในส่วนของเงินบริจาค ทางโรงพยาบาลจะนำเงินส่วนหนึ่งไปมอบเป็นทุนการศึกษาให้นักเรียนในชุมชนที่สนใจต้องการจะเรียนเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วย เมื่อศึกษาเสร็จก็กลับมาพัฒนาชุมชน พัฒนาโรงพยาบาลให้ก้าวหน้าต่อไปอีก ถือเป็นการพัฒนาศักยภาพคนที่ดีอีกทางหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นช่วยให้เด็กๆในชุมชนได้รับการศึกษาทีดีอีกด้วย
ใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มของผู้ป่วยในโรงพบาลอุบลรัตน์เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมและประทับใจมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กที่ป่วยปวดบวม หรือ คณะพระสงฆ์ที่เข้ามารับการรักษาและทุกคนต่างก็บอกว่ามีความสุข และขออนุโมทนาบุญให้แก่คนที่บริจาคด้วย เป็นการให้เป็นสิ่งที่ไม่มีสิ้นสุดและยังเป็นสิ่งที่สวยงาม” คงต้องยอมรับด้วยความสัตย์จริงว่าเป็นเช่นนั้นจริงการที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น เป็นสิ่งที่มีความหมายทำให้เกิดความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับจริงๆ
โครงการที่เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลอุบลรัตน์แห่งนี้แสดงให้เห็นถึงการร่วมมือของประชาชนที่เข้มแข็งความสามัคคีและพลังของชุมชนอันมากมายที่เป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาและต่อยอดต่อไปในอนาคตนอกเหนือจากการส่งเสริมความสุขที่โรงพยาบาลแล้วยังมีโครงการสร้างศูนย์อาชีพช่วยเหลือคนพิการที่กลุ่มคนพิการลุกขึ้นมาสร้างและดำเนินการเองทั้งหมดในระแวกเขตพื้นที่เขื่ออุบลรัตน์ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งถึงแนวทางและกระบวนการของคนพิการว่ามีวิธีจัดการอย่างไรและแนวโน้มของโครงการศูนย์อาชีพคนพิการจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต
สำหรับพื้นที่อื่นที่ยังเข้าไม่ถึงการรักษาที่ดี ยังมีโรงพบาบาลอีกมากที่เครื่องมือทางการแพทย์ไม่พอเตียงรองรับผู้ป่วยไม่พอหรือมีปัญหาเช่นเดียวกันกับที่โรงพยาบาลอุบลรัตน์เคยประสบมาหรือเนื่องจากปัยจัยอื่นจากผู้ป่วยด้วย เช่น ไม่รู้ว่าตนเองมีสิทธิได้รับการรักษาหรือ ปัญหาทางด้านการเงิน เป็นต้น หากโครงการเช่นนี้ได้มีโอกาสเกิดขึ้นในหลายๆพื้นที่ ได้เริ่มจัดการกับปัญหาและรับฟังคนในชุมชนมากขึ้นก็คงเป็นสิ่งดีแน่นอน
สุดท้ายสำหรับโครงการที่โรงพยาบาลอุบลรัตน์ ถือเป็นโครงการที่ดีมากอีกหนึ่งโครงการ การพัฒนาคน พัฒนาชมชุน เป็นสิ่งที่สำคัญ ทุกคนในพื้นที่สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียม ถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในด้านการรักษาได้ดีอีกทางหนึ่ง ผ่านการให้ความสำคัญกับการรับฟังปัญหาฟังเสียงจากคนในพื้นที่ ทำให้การแก้ไขได้อย่างถูกต้องและตอบสนองความต้องการได้ครบถ้วน ซึ่งการเริ่มต้นจากจุดเล็กๆคือรากฐานที่มั่นคงที่สำคัญ ที่จะช่วยให้ทุกคนความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพมากขึ้น ให้ประเทศเกิดการพัฒนาและก้าวต่อไปในอนาคต
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in