ที่จริงมีวรรณกรรม รวมทั้งหนังที่เคยพูดถึงโรคหลายบุคลิกมาก่อนแล้ว และค่อนข้างโด่งดังจนนับเป็นไบเบิ้ลของหนังคน 2 บุคลิกเลยคือ "เรื่องวิปลาสของด็อกเตอร์จีคอลกับมิสเตอร์ไฮด์" (Strange Case of Dr Jekyll and Mr Hyde) ในปี 1886 ของปรมาจารย์วรรณกรรมแนวสยองขวัญแห่งสก็อตแลนด์ Robert Louis Stevenson เล่าถึงการสืบสวนถึงเรื่องราวอันแสนพิศดารชวนให้ขนลุก ของชายผู้เป็นนักกฏหมายแสนดีปกติธรรมดาคนหนึ่ง Dr. Henry Jekyll กับอีกหนึ่งตัวตนปีศาจของเขา Edward Hyde ซึ่งถือเป็นแรงบรรดาลใจสำหรับหนังและคาแร็คเตอร์ของตัวละคร 2 ขั้วบุคลิกที่เกิดขึ้นมากมายในเวลาต่อมา
จนกระทั่งมาถึง SPLIT
ตามที่เราบอกไปข้างต้นว่า หนังไม่ได้หยิบประเด็นที่แปลกใหม่อะไรมานำเสนอ เพียงแต่ ชยามาลัน สามารถผสานเอกลักษณ์ในงานกำกับของตัวเองกับไอเดียความพิศวงของโรคหลายบุคลิกได้ดี จนมันออกมาดูลึกลับ น่าสงสัยใคร่รู้ และดูสดใหม่จนผู้ชมรู้สึกตื่นเต้นไม่น้อยกับการได้เห็นตัวละครโรคหลายบุคลิกกับพล็อตเรื่องจิตๆที่สุดโต่งเช่นนี้
เอ็ม ไนท์ ชยามาลัน หากใครที่ได้ติดตามผลงานของเขามาตลอด จะพบว่าเขาเป็นพวกที่หลงใหลเรื่องราวปรัมปรา และตำนานลึกลับเป็นพิเศษ เขามักใช้แรงบรรดาลใจจากสิ่งรอบๆตัว เรื่องเล่าปากต่อปาก รวมทั้งนิทานที่ลูกชอบ เอามาปรับเป็นบทหนัง (การ์ตูนที่ลูกชอบเรื่องล่าสุดที่ ชยามาลัน หยิบมาทำหนังคือ The Last Airbinder) และโลเคชั่นการถ่ายทำของเขาส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่ฟิลาเดเฟีย และ เพนซิลเวเนีย เมืองที่เขาอยู่ หากในหนังเรื่องนั้น เมือง ไม่ได้มีส่วนสำคัญอะไรมากนักกับเนื้อเรื่อง เอกลักษณ์นอกเหนือจากนั้น และยังเป็นจุดขายที่เขาใช้หากินมาได้จนถึงทุกวันนี้ คือบทหนังแบบ Plot Twist
ในยุคที่ "ตอนจบแบบหักมุม" ยังไม่ได้เป็นสไตล์การกำกับที่นิยมแบบปัจจุบัน The Sixth Sense จึงเป็นงานที่เซอร์ไพรซ์ผู้คน และมันระเบิดฟอร์มของชยามาลันให้ขึ้นแท่นเป็นผู้กำกับที่คนติดตามรอคอยผลงานชิ้นต่อไปทันทีในยุคนั้น ผู้ชมเฝ้ารอว่า เขาจะ Twist ยังไงให้เราได้อึ้งกันอีก ซึ่งผลงานชิ้นต่อๆมา ก็มีที่ อึ้งบ้าง ไม่อึ้งบ้าง แต่ชยามาลันนับว่าเป็นผู้กำกับที่มีลายเซ็นต์ในหนังขัดเจนมากคนหนึ่ง เมื่อเราได้ดูหนังของเขา เราจะรู้สึกทันที การเปิดบทสนทนาแบบนี้ มุมกล้องแบบนี้ รวมทั้งกลิ่นไอในหนังแบบนี้ คือ สไตล์ของชยามาลัน
และสิ่งที่ในระยะหลัง ชยามาลัน พยายามใส่ลงมาทั้งในงานโปรดิวเซอร์ งานเขียนบท หรือ งานกำกับ
คือ ความเชื่อในเรื่องของ
"Devil"
ปีศาจ
ในผลงานชิ้นแรกของชยามาลัน คือ Prayingwith Anger (1992) เขาเล่าเรื่องการพยายามตามหาความเชื่อมโยงของเด็กอเมริกันคนหนึ่งกับเชื่อสายอินเดียของเขาเอง ซึ่งเกือบจะถอดแบบชีวิตของชยามาลันมาเลย (และเขาแสดงเองด้วย น่าจะเป็นที่มาของความสนุกเล็กๆน้อยของเขาที่ต่อมาก็ไป cameo หนังตัวเองเกือบทุกเรื่อง)เพราะเขาเป็นคนอินเดียที่มาเติบโตที่อเมริกา ในผลงานต่อๆมาเขาก็ยังพยายามสอดแทรกเรื่องของบาป พระเจ้า ความเชื่อ ศาสนา ผี ปีศาจภูตพราย รวมทั้ง "อสูร" ลงมาในงานอยู่เสมอ โดยไม่พยายามชี้นำว่า สิ่งที่จับต้องไม่ได้เหล่านี้ มีจริงหรือไม่ ตัวละครในหนังของเขามักประกอบไปด้วยคนสองแบบ คือ คนที่เชื่อและไม่เชื่อ ใน The Visit (2015) ก็เช่นกันตัวละครสองพี่น้องมักจะมีชุดแนวคิดที่ค้านกัน อีกคนชื่ออีกคนไม่เชื่อ เรื่องราวจะดำเนินไปแบบที่ให้คนดูตั้งคำถาม สนุกกับการคาดเดาและเขาจะเฉลยในตอนท้ายว่า ที่คนดูพยายามคาดเดา ที่ตัดสินกันไปแล้วน่ะมันตรงกับบทสรุปจริงๆหรือไม่
เพราะฉะนั้น หนังของชยามาลันในยุคหลัง มันจึงไม่สำคัญแล้วว่า คนดูจะเดาถูกหรือเดาไม่ถูก เพราะสิ่งที่ชยามาลันพยายามอย่างมากในการทำให้มันเป็นจุดเด่นในสไตล์ของเขา แทนที่คำว่า "จบหักมุม" คือ การดำเนินเรื่องที่ทำให้ผู้คนคาดเดาและตื่นเต้นตลอดเวลาไปจนหนังจบ คำเฉลยมันใช่เรื่องสำคัญที่สุดอีกต่อไป ซึ่งความพยายามนั้นสำเร็จเป็นอย่างดีใน The Visit (2015) และอีกครั้งกับ SPLIT ที่แทบจะเฉลยทุกอย่างมาแล้วในตัวอย่างภาพยนตร์ ... แต่อย่างที่บอกไว้
ตอนจบไม่ได้สำคัญเท่าสิ่งที่พยายามอธิบายมาตลอดทั้งเรื่อง
"อสูรมีจริง คุณไม่เชื่อเหรอ?"
ชยามาลันเคยวางโปรเจ็คนึงไว้เมื่อ 5-6 ปีก่อน มันคือ The Night Chronicles โดยเขาวางแผนไว้ว่าจะปล่อยหนังที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันออกมาทีละเรื่อง เรื่องแรกคือ Devil (2011) ที่ให้ John Erick Dowdle มากำกับแทน โดยเขียนบทจากไอเดียที่ชยามาลันวางไว้แล้วทั้งหมด โดยคาดว่าจะมีหนังเรื่องต่อมาออกฉายในปี 2014 แต่เพราะกระแสจาก Devil ค่อนข้างย่ำแย่ โปรเจคหนังชุดของ The Night Chronicles จีงถูกพับไปโดยปริยาย จนกระทั่งมาถึง Split ที่มีความใกล้เคียงกับไอเดียที่เคยเกิดขึ้นใน Devil พอสมควร คือ การที่ตัวละครพยายามตั้งคำถามกับคนดู และ กับตัวละครในหนังด้วยกันเอง
"ปีศาจมีจริงคุณไม่เชื่อเหรอ?"
ที่จริงการเล่าเรื่องใน SPLIT ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน มันไม่ได้ตื่นเต้นตรงแค่การพยายามหนีหรือมีชีวิตรอด แต่หนังพาเราไปดูปูมหลังของตัวละครแต่ละตัวเทคนิคการนำเสนอเหมือนกับใน Devil ไม่ผิดเพี้ยน ตัวละครแต่ละตัวถูกจับมาอยู่รวมกันในพื้นที่ปิด แล้วอดีตและเรื่องราวเลวร้ายของแต่ละคนก็ถูกรื้อคุ้ยออกมาแต่ ณ ทีนี้มีแค่ตัวละคร 2 ตัวเท่านั้นที่อดีตของทั้งคู่ถูกชำแหละทึ้ง คือ ของตัวเดนนิส และ เคซี่ย์ ด้วยปมเดียวกับสิ่งที่ชยามาลัน เคยใช้ไปแล้วใน Devil คือ "Devil come in any shapes" ปีศาจจะมาในรูปร่างใดก็ได้ (ตรงนี้ไม่แน่ใจภาษาอังกฤษตามนี้เป๊ะไหมไม่ได้ดูนานแล้ว)
สำหรับเคซี่ย์ ปีศาจก็คือลุงของเธอ สำหรับเดนนิสปีศาจของเขาก็คือแม่ ซึ่งการเผชิญหน้ากับปีศาจตั้งแต่เด็กทำให้ตัวตนของพวกเขาแตกสลาย ภาวะ DID ตามที่เราเกริ่นไปด้านบนนั้นก็คือกลไกการป้องกันตัวทางจิตใจอย่างหนึ่ง ด้วยการสร้างบุคลิกต่างๆขึ้นมาเพื่อแบกรับความเจ็บปวดแทน โดยอีกบุคลิกนึงอาจจดจำความเจ็บปวดนั้นไว้ทั้งหมด ขณะที่อีกบุคลิกอาจไม่มีความทรงจำที่เจ็บปวดนั้นๆเลยก็ได้ใน SPLIT ก็เช่นกัน หนังให้เราเห็นเด็กน้อยผู้บอบช้ำทางจิตใจอย่างสาหัส และทั้งคู่ต่างเติบโตมาในร่างอสูรคนละแบบ เคซีย์คือภาพของคนปกติธรรมดาแต่จิตใจด้านชาจนถึงขั้นใจดำ ผู้ซุกซ่อนบาดแผลทั้งทางจิตใจและทางร่างกายไว้ ขณะที่เดนนิสนั้นชยามาลันพยายามทำให้เขาเป็นภาพของ "อสูร" ที่จับต้องมองเห็นได้จริง
ในเทคนิคการถ่ายทำใน SPLIT ชยามาลันก็ใส่ใจเรื่องการสื่อสัญลักษณ์เป็นพิเศษ เช่น แพทริเซีย ตัวละครนึงในหนังเป็นบุคลิกของหญิงสาว แถมยังเป็นชื่อเดียวกับคนเขียน All Of Me ที่เราเกริ่นไว้ต้นเรื่อง และฉากแรกที่แพทริเซียโผล่มา เรายังได้เห็นว่าเธอสวมสเว็ตเตอร์สีแดง – สีแดง นอกจากหมายถึงผู้หญิงแล้ว ในไบเบิ้ล สีแดงยังหมายถึงบาป และ การไถ่บาปด้วย โทนหนังของเรื่องโดยปกติของหนังชยามาลัน มักเป็นสีอมส้มอบอุ่น และ ฟ้าทังสเตน ใน SPLIT ก็ยังคงใช้โทนสีเหลือง-ฟ้าเกือบตลอดทั้งเรื่อง จนกระทั่งซีนเฉลยเรื่อง อสูร แสงสีแดงก็ถูกนำมาใช้ในหนังทันที เพื่อพยายามสื่อว่า หนังมันเริ่มจะ หักมุม แล้วนะจ๊ะเธอ
แต่ไม่ใช่แบบที่คุณคิดหรอกนะ
สิ่งที่ SPLIT พยายามแตกต่างจากหนังเรื่องอื่นๆของตัวชยามาลันเอง คือ แม้เขาจะพยายามปูเนื้อหามาด้วยความ เชื่อ/ไม่เชื่อ รวมทั้งประเด็น ปีศาจ ตัวประหลาด อสูร เช่นเดิม แต่ส่วนที่ต่างออกไป คือการพยายามทำให้หนังเรื่องนี้ เชื่อมต่อไปยังหนังเรื่องอื่นๆด้วย ซึ่งในที่นี้ ชยามาลันได้เฉลยไว่ในตอนจบของ SPLIT (รวมทั้งเฉลยจากบทสัมภาษณ์ของเขาเอง) ว่า นี่คือหนังที่มีความเชื่อมต่อกับ Unbreakable (2000) หนังซุปเปอร์ฮีโร่แนวจิตวิทยาที่เขาเคยกำกับมาแล้วนั่นเอง
โดยชยามาลันได้ทุบหัวเราอีกครั้งด้วยการเฉลยถึงความเชื่อมโยงกับ Unbreakable เพื่อให้เราระลึกถึงฉากสัญลักษณ์ต่างๆมากมายที่โผล่มาในหนัง เขาทิ้ง Hint ไว้ให้ติดตามไว้แล้ว ซึ่งเทคนิคการทิ้ง Hint (นัย) แบบนี้ชยามาลันเคยทำมาแล้วเช่นกันตอน The Sixth Sense ที่หลังจากได้รู้ตอนจบสุดอึ้งแด-รก ชยามาลันก็ให้ตัวละครนึกย้อนเอาเองให้คนดูเห็นๆไปเลยว่าเค้าทิ้ง Hint ไว้ให้เราไว้ตรงไหนบ้าง แต่ใน SPLIT เขาเลือกให้คนดู ไประลึกเอาเองว่า มันมี Hint อยู่ในฉากไหนบ้าง (ฉากหนึ่งคิดว่าน่าจะใช่แน่ๆคือ ฉากที่ที่เดนนิสนำดอกไม้ไปวางที่รางรถไฟ)
สรุปแล้วความพิเศษมากๆของ SPLIT ที่หลายคนบอกว่าทำให้เขากลับมาท็อปฟอร์มอีกครั้ง มันไม่ใช่แค่การนำพล็อตคนหลายบุคลิกมาทำหนัง แต่เป็นการที่เขาผสานเอกลักษณ์และจุดเด่นในงานกำกับรวมทั้งการเขียนบทของตัวเอง จากหนังเรื่องต่างๆ มารวมอยู่ใน SPLIT ได้อย่างครบถ้วน เฉียบคมและลงตัว แม้แต่การพยายามทำ Plot Twist เขาก็ยังพยายามที่จะไม่ให้หยุดแค่ที่การเฉลยว่า "เชื่อหรือไม่เชื่อ" หรือ "มีหรือไม่มี" แบบที่ผ่านๆมา แต่ได้ทิ้งคำถามที่มีความหมายมากกว่านั้น ชยามาลัน ไม่ได้ต้องการ "พิสูจน์" อีกต่อไป มันมาไกลกว่านั้นแล้ว SPLIT คือความสุดโต่งที่อาจกำลังพยายามบอกเราว่า "มาดูกันสิว่า ไอ้ความเชื่อพวกนี้ จะไปได้ไกลสักแค่ไหนกัน"
และ SPLIT อาจไม่ได้หมายความถึงแค่ ความแบ่งแยกของบุคลิกในตัวละคร
แต่นี่อาจเป็นเป็นการเฉลยไว้ตั้งแต่ชื่อเรื่องแล้วก็ได้
"นี่มันหนังภาคแยก (Spin-off) นะจ๊ะ"
"ยินดีต้อนรับเข้าสู่ The Night Universe"
Bottom Line :
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in