แม่นาคพระโขนง บ้านผีปอบ กระสือ กระหัง และอีกสารพัดเรื่องผีเป็นเรื่องเล่าที่เราคุ้นเคย
เรื่องราวเหล่านี้สร้างความหลอน สะท้อนความกลัว ฟังหรือดูหนังผีบางเรื่องก็อาจนอนไม่หลับได้
แล้วกัมพูชามีเรื่องผีขนหัวลุกรึเปล่า
ในรายวิชาปริทัศน์วัฒนธรรมเขมร ได้เชิญวิทยากรมาทั้งสิ้น 2 ท่าน ใน 2 หัวข้อ
สัปดาห์แรก รศ. ดร. ชาญชัย คงเพียรธรรม จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้บรรยายเรื่อง “ผีในวรรณกรรมเยาวชนเขมร” ซึ่งก็ให้คำตอบของคำถามด้านบนได้เป็นอย่างดี
กัมพูชานับถือ “ผี” (ขโมจ) มากมาย ตั้งแต่ “เนียะตา” ซึ่งเป็นผีบรรพบุรุษของแต่ละครอบครัว หมู่บ้าน ตลอดจนประเทศ อาจารย์ได้เล่าถึงเนียะตาที่สำคัญของกรุงพนมเปญอย่าง “ยายเพ็ญ” ซึ่งเป็นเศรษฐินีแห่งริมแม่น้ำจตุมุข ผู้ถมดินหลังบ้านของตนเป็นวัดสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปที่ลอยมาในต้นตะเคียน ซึ่งปัจจุบันคือ วัดพนม ในกรุงพนมเปญนั่นเอง
ในวรรณกรรมกัมพูชา “ผี” เป็นองค์ประกอบสำคัญของเรื่อง โดยเฉพาะในวรรณกรรมเยาวชนที่มีเรื่อง “ผี” มากมาย เช่น เรื่อง “ผีในป่าช้า” หรือ “ผีต้นหางนกยูง” เป็นต้น การตั้งชื่อเรื่องผีเหล่านี้สามารถจำแนกได้เป็น 5 แบบ คือ
1) ตั้งตามประเภทของผี อาทิ ผีกระสือ กระหัง
2) ตั้งตามชื่อผี เช่น ผีชื่อ “ตาเจก” ก็ตั้งชื่อเรื่องว่า “ผีตาเจก” เป็นต้น
3) ตั้งตามชื่อสถานที่ที่ปรากฏผี เช่น เรื่อง “ผีในป่าช้า”
4) ตั้งตามสิ่งของที่สำคัญของเรื่อง เช่น ตะเกียงส่องผี
5) นำอนุภาคที่สำคัญของเรื่องมาเป็นชื่อเรื่อง
แต่ไม่ว่าจะตั้งชื่อเรื่องอย่างไรก็ตาม การเล่าเรื่องจะเป็นลักษณะการเล่าเรื่องโดยมุมมองของบุคคลที่ 3 ที่รู้ทุกอย่าง ที่มีฉากเป็นสถานที่ทั้งที่ที่ควรเจอผี เช่น วัด ป่าช้า บ้านร้าง หรือที่ที่ไม่ควรเจอผี อย่างในช่องแอร์ ในตู้เย็น เป็นต้น ผีเหล่านี้มักแสดงอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ โดยมักทำให้คนป่วยหรือคนตาย
สาเหตุที่วิญญาณเหล่านี้ไม่ไปผุดไปเกิดอาจมีความสอดคล้องกับหลักการทางพระพุทธศาสนา คือ มีจิตผูกพันอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ทรัพย์สมบัติ ลูกหลาน เป็นต้น รวมถึงยังสอดคล้องกับความเชื่อของคนในสังคม คือ การตายผิดธรรมชาติ การหลอกหลอนของผีเหล่านี้จึงเกี่ยวข้องกับสิ่งที่พวกเขาผูกพันนั้นเอง
ผีและการหลอกหลอนในวรรณกรรมอาจเป็นตัวแทนของ “คุณค่า” ทางสังคมบางประการที่สืบเนื่องจากวัฒนธรรมจารีต ซึ่งเห็นได้ชัดในวรรณกรรมเยาวชนกัมพูชาที่ใช้ “ผี” เป็นเครื่องมือในการควบคุมและหล่อหลอมพฤติกรรมของคนในสังคมให้เป็นไปตามทำนองคลองธรรม อาทิ ไม่ประพฤติผิดในกาม ตั้งมั่นในความกตัญญู เลี้ยงดูบิดามารดา เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาในสังคมสมัยใหม่ที่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเข้ามาแทนที่คุณค่าดั้งเดิม ผีเหล่านี้จึงควบคุมให้คนที่ถูกหลอกหลอนปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทางสังคม ผีจึงสิ้นสภาพของตนไป นอกจากนี้ ผีในวรรณกรรมกัมพูชายังเป็นตัวแทนของประวัติศาสตร์บาดแผลของคนกัมพูชาด้วย ดังจะเห็นได้จากเรื่องผีบางส่วนมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับ “เขมรแดง” ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเจ็บปวดของชาวกัมพูชาจากการถูกสังหารหมู่และบ่อนทำลายอารยธรรมของตนไปจนเกือบสิ้นเชิงด้วย
ผีในวรรณกรรมเยาวชนกัมพูชาจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ “ผี” เท่านั้น แต่ยังเป็นภาพแทนของคุณค่าดั้งเดิมที่ยังเป็นคุณค่าหลักของสังคม การหลอกหลอนคือการจัดระเบียบและรักษาคุณค่าเหล่านั้นไว้ ทั้งยังเตือนใจให้คนในสมัยใหม่ใส่ใจคุณค่าแบบเดิม
และเรื่องผีจะยังคงอยู่ในสังคมต่าง ๆ เสมอไป ไม่ว่าจะเพราะความบันเทิง จารีต หรือธำรงสังคมก็ตาม
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in